Penguin Eat Shabu จากชาบูสู่เดลิเวอรี! ส่งออเดอร์ความสนุก ปลุกความสุขลูกค้า

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา 
 

 
 
Main Idea
 
  • เมื่อวิกฤตคือความทุกข์ใจสำหรับใครหลายคน แต่ถ้าเราต้องอยู่กับวิกฤตไปนานๆ บางทีเราอาจจะต้องพลิกมุมกลับ ปรับมุมมองและทำให้ปัญหาที่เจอกลายเป็นเรื่องสนุกเหมือนการเล่นเกม! 
 
  • อย่างร้าน Penguin Eat Shabu ที่ต้องผันตัวเองแบบฉับพลันจากร้านชาบูมาสู่เดลิเวอรีและคิดค้นแคมเปญสนุกๆ คว้าใจลูกค้าในช่วงกักตัวจนทำให้ออเดอร์พุ่งและ Sold out เร็วที่สุดเพียงแค่ 1 นาทีเท่านั้น! 

___________________________________________________________________________________________
 
 

     ช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ร้าน Penguin Eat Shabu (เพนกวินกินชาบู) เข้ามาสร้างสนุกในวงการอาหารด้วยตัวแบรนด์ที่มีความชัดเจน มีโลโก้เพนกวินสุดน่ารักพร้อมกับชื่อร้านที่จำง่าย นอกจากนี้ยังมีการผูกมิตรกับลูกค้าด้วยความเป็นกันเอง เน้นความสนุกสนาน ทำให้พวกเขาเป็นร้านชาบูที่อยู่ในใจของใครหลายคนและขยายตัวมาเรื่อยๆ ด้วยตนเองโดยไม่ขายแฟรนไชส์ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 9 สาขา ด้วยกันอีกทั้งยังมีแผนการเปิดสาขาใหม่ 3 สาขาในปีนี้ 
ทว่า..พิษโควิดจึงทำให้แผนการต่างๆ ต้องพับใส่กระเป๋าไปเสียก่อน


     “ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี” ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Penguin Eat Shabu ได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ของธุรกิจในช่วงเวลาวิกฤต ณ ขณะนี้ ซึ่งทางร้านเองเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากเป็นร้านบุฟเฟต์ ส่งผลให้ต้องปรับตัวอย่างหนัก


     “สถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างหนัก เพราะเราต้องมีการปรับตัวหมดทุกอย่างเลย จากที่ไม่เคยทำเดลิเวอรีก็ต้องทำ ประมาณ 5 วัน หลังจากที่มีนโยบายห้ามนั่งรับประทานที่ร้าน เราก็เริ่มคิดเดลิเวอรีขึ้นมาทดลองเอง เอาพนักงานมาส่งเองก่อน” เขาเล่า 




     Penguin Mystery Box เป็นแคมเปญสุดเก๋ที่ทาง Penguin Eat Shabu ได้ริเริ่มหลังจากคิดทำเดลิเวอรี ซึ่งแคมเปญดังกล่าวเป็นเมนูข้าวกล่องแบบสุ่มที่ลูกค้าจะไม่สามารถรู้ได้ว่าตนเองจะได้รับเมนูอะไร โดยทางร้านจะเปิดรับออเดอร์เป็นรอบ สร้างความสนุกและตื่นเต้นให้ลูกค้าจน Sold out เร็วที่สุดเพียงแค่ 1 นาทีเท่านั้นเอง! 


     “ที่เราทำตัวนี้เพราะอยากทดลองเป็นระบบ Pre-order ก่อน เพื่อให้เราสามารถวางเส้นทางในการส่งได้ แล้วก็มาดูทีมงานของเราว่ามีกี่คนที่พร้อมจะส่ง เพราะถ้าเราทำแบบสั่งปุ๊บได้ปั๊บ แล้วเราทำไม่ได้ เดี๋ยวจะพัง เราเลยทำแคมเปญเป็นกล่องปริศนาขึ้นมาเพื่อให้เรามีโอกาสได้วางคิวการส่งล่วงหน้า ลูกค้าเองก็จะรู้สึกสนุกด้วยเพราะเขาไม่รู้ว่าจะได้รับเมนูอะไร แต่ละรอบเราจำกัดอยู่ที่ 300-500 ออเดอร์ ซึ่งหมดเร็วสุดอยู่ที่ 1 นาที แต่ว่าตอนนี้เราไม่ได้ทำตัวนี้แล้ว เราพยายามที่จะเล่นอะไรสนุกๆ แปลกๆ ไปเรื่อยๆ” ธนพงศ์เล่าถึงสิ่งที่ทำในช่วงเริ่มต้นเดลิเวอรี







     หลังจากการเกิดขึ้นของแคมเปญ Penguin Mystery Box ก็ได้มีแคมเปญอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ชาบูพร้อมหม้อ ซึ่งจัดเป็นเซ็ตชาบูมาพร้อมกับเนื้อสัตว์ น้ำซุป ชุดผักและหม้อชาบู นอกจากนี้ยังมีแคมเปญล่าสุดนั่นคือชาบูคนโสด เป็นชาบูที่สามารถรับประทานได้คนเดียวมาพร้อมกับหม้อไซส์เล็ก แถมยังพ่วงความสนุกด้วย Tinder Plus แอปพลิเคชันหาคู่ยอดฮิตที่มอบให้ลูกค้าฟรี 100 ออเดอร์แรก  


     “ตัวชาบูคนโสด พอดีเราได้หม้ออันเล็กมา เราเลยต้องหาแคมเปญอะไรที่เหมะสำหรับการกินคนเดียว เลยคิดทำเป็นชาบูคนโสดขึ้น เราอยากให้ลูกค้าเขาสนุก อยากมีส่วนร่วม เป็นการสร้างความสนุกบนโลกโซเชียล เกิดกระแสการบอกต่อ เรื่องของ Feedback ก็ดีขึ้น ยอดขายดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่อยู่ในจุดที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายขนาดนั้นเพราะเราดูแลพนักงานค่อนข้างเยอะ”


     ในปัจจุบัน ร้าน Penguin Eat Shabu คงเหลือพนักงานเกือบ 100 คนจากประมาณ 200 คน ซึ่งหนึ่งในการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่จำเป็นต้อง Lean ธุรกิจให้คล่องตัวที่สุดเพื่อประคองตัวได้ในช่วงวิกฤต 
“เราก็เหมือนร้านทั่วไป ใครที่ยังไม่ผ่านโปรหรือว่าทำพาร์ทไทม์ก็ต้องหยุดจ้างก่อน มีใครจะกลับบ้านไหม แล้วดูว่าพนักเหลือกับเราเท่าไหร่ เราก็ดูแลกันต่อไป” เขาเล่า




     ซึ่งทางร้านเองก็มีนโยบายดูแลพนักงานในช่วงโควิดที่น่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนอาหาร ของใช้และดูแลที่พักให้แก่พนักงานแล้ว ล่าสุดมีบริการใหม่สำหรับพนักงานโดยเฉพาะ นั่นคือ Penguin Barber ตัดผมให้แก่พนักงาน เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลพนักงานแบบน่ารักที่ธุรกิจต่างๆ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ยาก 


     โดยธนพงศ์ได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญที่จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้


     “เราต้องมองให้เป็นเรื่องสนุก เพราะว่าเราต้องอยู่กับมันไปอีกนาน ต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ทดลองอะไรที่ไม่เคยทำ อย่ามีกรอบให้กับตัวเอง” 
เขาปิดท้ายไว้เช่นนั้น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ SME ท่านอื่นก็สามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองได้ เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร