Pay it forward โมเดลธุรกิจสุดน่ารัก ที่อยากชวนคนมาส่งต่อความอิ่มให้กัน

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา





Main Idea
 
 
  • ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ เราได้เห็นหลายคนออกมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโต๊ะแจกอาหาร การบริจาคเงิน แต่มีอีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจนั่นคือ Pay it forward
 
  • โดย Pay it forwrad เป็นโมเดลน่ารักๆ ที่อยากชวนคนมาส่งต่อความอิ่มและความสุข ต่างประเทศจะมีโมเดลแบบนี้ในร้านกาแฟที่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินซื้อกาแฟล่วงหน้าให้คนยากไร้ได้ เช่น ร้านกาแฟ Cafe on the cop ในประเทศอังกฤษ 




       ย้อนกลับไปในสมัยก่อน มีภาพยนตร์น้ำดีชื่อ Pay it forward เป็นเรื่องราวของเด็กชายที่คิดทฤษฎีดังกล่าวขึ้นเพื่ออยากสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม เขาส่งต่อความสุขให้ผู้อื่นด้วยหลักคิดง่ายๆ นั่นคือการช่วยเหลือใครบางคนในสิ่งที่เขาไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ แล้วคนที่ได้รับก็ส่งต่อความสุขออกไปเรื่อยๆ นี่แหละคือการ Pay it forward
               

     ซึ่งในโลกแห่งความจริง  Pay it forward ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแบ่งกันความสุขในสังคม อย่างเช่น สิ่งที่เรียกว่าSuspended Coffee หรือ Caffè Sospeso ของชาวอิตาเลียนที่แปลว่าซื้อเอาไว้ก่อน ต่างประเทศจะมีโมเดลดังกล่าวในร้านกาแฟที่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินซื้อกาแฟล่วงหน้าให้คนยากไร้ได้ เช่น ร้านกาแฟ Cafe on the cop ในประเทศอังกฤษก็มีการนำโมเดลนี้ไปใช้ โดยเปิดให้ลูกค้าที่มีกำลังซื้อและอยากแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้อื่นสามารถจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่ากาแฟ แล้วติดคูปองเอาไว้บนกระดาน หากใครที่อยากดื่มกาแฟแต่ไม่มีกำลังซื้อก็สามารถดึงคูปองนี้แล้วมารับกาแฟได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายเงิน

               



     โมเดล Pay it forward นี้กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่น่ารักและเหมาะกับช่วงเวลาวิกฤตอย่างในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะคนที่กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ตกงาน โดนลดเงินเดือน บางครั้งการขอรับบริจาคก็เป็นเรื่องน่าหนักใจเกินไป แต่การได้กินอิ่มท้อง ได้ดื่มกาแฟ ได้กินขนมปังอุ่นๆ สักก้อน อาจเป็นความสุขที่มากกว่า
               

     ในประเทศไทยก็มีการทำขึ้นมาเป็นโครงการต่างๆ หรือแม้แต่ร้านอาหารเองที่หยิบเอา Pay it forward มาเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจ เช่น โครงการปันกันอิ่ม เริ่มต้นขึ้นโดยเครือข่ายพุทธิกา ความคิดดังกล่าวมาจากคนที่อยากจะแบ่งปันหรือคนที่อยากทำบุญ ซึ่งร้านอาหารต่างๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งปันได้





      โดยทางร้านอาหารจะมีหน้าที่เป็นผู้รับฝากอาหารและลูกค้าที่มาใช้บริการที่ต้องการแบ่งปันก็จ่ายเงินล่วงหน้าให้ผู้อื่น จากนั้นเมื่อผู้รับ กินอิ่ม ก็เขียนคำขอบคุณใส่ลงไปในกระดาษแปะเอาไว้ที่ร้าน ผู้ให้ก็อิ่มใจ ผู้รับก็อิ่มท้อง ร้านอาหารต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วม อาทิ ข้าวมันไก่ตอน แม่สำเนียง ในย่านพระราม 2, ร้าน 999 กาแฟโบราณ, ร้าน Coffee jar, ร้าน ปัง ปัน บุญ เป็นต้น
               

     และล่าสุดที่จังหวัดระยองก็มีการเริ่มต้นแคมเปญแบ่งปันความอิ่ม – Pay it forward Thailand เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทั้งตัวกลางอย่างร้านอาหาร คนที่อยากให้และคนที่ขาดรายได้มาเจอกัน กลายเป็นแคมเปญดังกล่าวขึ้น โดยผู้ที่ริเริ่มคือ “วีรพงศ์ สุวรรณกรสกุล” คุณหมอที่จังหวัดระยองและมีร้านอาหาร ร้านกาแฟต่างๆ ทยอยเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ร้านข้าวแกงแสนตุ้ง ปากซอยเรือนจำเก่า, ร้านน้ำเต้าหู้ ตลาดหมอสาโรจน์, ร้านเป็ดย่างจิวแปะธง, ร้านโจ้กนายจั๊ว เป็นต้น
               




     สำหรับร้านอาหารที่หยิบโมเดลดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ นั่นคือร้าน Ramenga ราเมงอะ ที่เสิร์ฟราเมงคุณภาพดี ราคาเข้าถึงง่าย เจ้าของร้านได้สร้างโครงการปั่นอิ่ม ที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากกินราเมงแต่มีกำลังทรัพย์ไม่พอสามารถหยิบป้ายรูปชามราเมงที่ติดอยู่บนกระดานมาแลกรับราเมงได้ฟรีหรือร้าน Coffee tree ในย่านนนทบุรีก็ได้มีการทำ Pay it forward ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยคุณสามารถฉีกคูปองที่ติดอยู่หน้าร้านแล้วไปแลกรับอาหารและเครื่องดื่มได้ฟรี 1 ชุด




               
     ข้อดีของการทำ Pay it forward สำหรับธุรกิจต่างๆ ในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้นั่นคือการได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม ลูกค้าเองที่มีกำลังทรัพย์มากพอและอยากหาช่องทางในการแบ่งปัน เขาก็จะคิดถึงคุณเป็นอันดับแรก เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่ได้เลือกร้านที่อร่อย ดูดี ถ่ายรูปสวยเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาเลือกร้านที่จะช่วยเติมเต็มทางด้านจิตใจได้ด้วย
 
               

     เพียงแค่การแบ่งปันเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่เราสามารถทำได้ก็ช่วยส่งต่อความสุขให้ผู้อื่นและสร้างสังคมที่น่าอยู่ไปด้วยกันได้แล้ว  SME ที่สนใจก็สามารถนำแนวคิดดีๆ แบบนี้ไปทำให้ธุรกิจของตนเอง “น่ารัก” ขึ้นได้นะ
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน