‘จำศีล คิดบวก อย่ายอมแพ้’ วิชั่น “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” เคลื่อนทัพการค้าชลบุรีข้ามพ้นวิกฤตไวรัส

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand




Main Idea
 

 
  • หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ประเทศไทย จนนำมาซึ่งมาตรการในการรับมือ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการค้า การลงทุน ตลอดจนพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการในหลายจังหวัดต้องประสบปัญหา
 
  • “ชลบุรี” คือหนึ่งในจังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งหลังเจอกับวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการผลิต ต้องรับมือกับโจทย์ใหญ่ เป็นความท้าทายที่จะต้องประคับประคองตัวเอง ให้อยู่รอด รักษาการจ้างงาน และฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ 
 
  • SME Thailand  มีโอกาสพูดคุยกับ  “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี เพื่อรับฟังสถานการณ์ผู้ประกอบการเมืองชลบุรี หลังเจอพิษโควิด-19 เข้าเล่นงาน และแนวทางการรับมือของพวกเขา 




     “ชลบุรี” คือหนึ่งในจังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งกำลังประสบกับวิกฤตโควิด-19 อย่างสาหัส โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการผลิต การต้องรับมือกับโจทย์ใหญ่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์เช่นนี้ คือความท้าทายสำคัญของผู้ประกอบการ ที่จะต้องประคับประคองตัวเอง เพื่อให้อยู่รอด รักษาสถานภาพการจ้างงาน และร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ 


       SME Thailand พูดคุยกับ  “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี และเจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวตราไก่แจ้ เพื่อรับฟังสถานการณ์ผู้ประกอบการเมืองชลบุรี หลังเจอพิษโควิด-19 เข้าเล่นงาน และแนวทางการรับมือของพวกเขา
 





     ภาพรวมของผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่เกิดกับผู้ประกอบการในจังหวัดชลบุรีเป็นอย่างไร


     ธีรินทร์ : สถานการณ์โควิด-19 สร้างวิกฤตให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดชลบุรีค่อนข้างมาก อย่างที่ทราบกันว่าชลบุรี เรามีธุรกิจในทุกๆ สาขา ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผลิต ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบตั้งแต่ชุดแรก หลังทัวร์จีนเริ่มน้อยลง แต่ก็ยังมีต่างชาติอย่าง รัสเซีย และยุโรป เข้ามาบ้าง แต่พอเชื้อเริ่มแพร่กระจายไปในหลายประเทศ ลูกค้าก็หายไปเกือบหมดแล้ว ตอนนี้ในส่วนของโรงแรมก็ปิดให้บริการ ซึ่งพอโรงแรมได้รับผลกระทบ ซัพพลายเชนทั้งหมดก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าและบริการให้กับทางโรงแรม


       จากนั้นก็เริ่มกระทบไปสู่ชีวิตของคน และผู้ประกอบการในหลายธุรกิจ พอโรคระบาดเริ่มเข้ามาถึงประเทศไทย คนก็ออกไปจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ในบางธุรกิจเริ่มมีปัญหาเรื่องซัพพลายเชน อย่าง อุตสาหกรรมยานยนตร์ ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน การส่งออกก็เริ่มมีปัญหา นี่เป็นภาพใหญ่ที่โดนกระทบในช่วงแรกๆ และเป็นโดมิโน่ต่อมาในส่วนผู้ประกอบการ SME เพราะพอเกิดการเลิกจ้าง ผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าจะเป็น อพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร ทั้งในเมืองหรือว่าตลาดทั่วไป ก็เริ่มซบเซาตามกันไป ถือว่าวิกฤตโควิด-19 สร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการเรามากพอสมควร และตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมาก็ไม่เคยเจออะไรที่หนักขนาดนี้
 




     ผู้ประกอบการชลบุรีส่วนใหญ่คือภาคการท่องเที่ยว และภาคการผลิต ทั้งสองกลุ่มมีการปรับตัวในช่วงนี้อย่างไร



     ธีรินทร์ : ในส่วนภาคการท่องเที่ยว อย่างแรกเลยคือโรงแรมเกือบทั้งหมดปิดตัวลงแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการทำคือ มองหาความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ให้หยุดงานไปจะช่วยเขาอย่างไร ประกันสังคมจะมีส่วนช่วยอะไรบ้าง ตลอดจนธนาคาร แหล่งเงินกู้ต่างๆ ที่เขาพยายามหา แล้วก็เริ่มพูดคุย ประสานงาน ขอรับความช่วยเหลือ หรือว่าอะไรที่เป็นนโยบายจากทางภาครัฐที่จะมาช่วยสนับสนุนเขาได้ในเวลานี้ ก็เริ่มมองหาพวกนี้


     อย่างธุรกิจโรงแรม ผมมองว่าเหมือนเรากำลังจำศีล คือพยายามทำยังไงให้สามารถอยู่รอดในช่วงวิกฤตตรงนี้ได้ เพราะคงไม่มีรายได้เข้ามา รายได้เรียกว่าเป็นศูนย์ ทำยังไงให้เราสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ และพนักงานก็อยู่ด้วยได้ ก็เริ่มมีการพูดคุยกัน


     ส่วนผู้ประกอบการในฝ่ายผลิต ตอนนี้ก็เป็นกังวลในเรื่องของซัพพลายที่จะเข้ามาจากต่างประเทศ ตลอดจนความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นในสถานประกอบการที่ยังดำเนินธุรกิจได้อยู่ ก็ต้องมีการดูแลในเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน เพื่อให้มีความเสี่ยงในการติดโรคน้อยที่สุด อาจทำในเรื่อง Social Distancing การเว้นระยะห่าง นโยบายการให้ทำงานที่บ้าน หรือการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเรื่องการขาย การติดต่อลูกค้า ทำยังไงให้ความปลอดภัยตรงนี้ที่ลูกค้าก็ไม่อยากเจอเราเราก็ไม่อยากเจอลูกค้า เพราะต่างคนต่างต้องเว้นระยะห่าง ก็สามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วย ใช้โอกาสนี้ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการร์ปัจจุบันให้รอดไปให้ได้
 





     จากสถานการณ์ดังกล่าว มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบหนัก ถึงขนาดถอดใจหรือตัดสินใจเลิกกิจการไปเลยบ้างไหม


     ธีรินทร์ : ความจริงทางหอการค้าชลบุรีเรายังมีการพูดคุยกับสมาชิกและประชุมกันอยู่เหมือนเดิม ผมว่ากลับถี่ขึ้นด้วยซ้ำ เพราะว่าเราใช้โปรแกรมซูมในการติดต่อประสานงาน และพูดคุยกัน ตอนนี้ถามว่าทุกคนได้รับผลกระทบไหม เชื่อว่าทุกคนได้รับผลกระทบหมด แต่ถามว่าถึงกับถอดใจไหม เวลานี้เรายังไม่มีการถอดใจ แต่ยังคงแชร์ประสบการณ์ และแชร์ปัญหาของแต่ละคนเพื่อหาทางรับมือ


    อย่าง หอการค้าเราเองก็มีการสอบถามสมาชิกแต่ละท่านว่า มีความต้องการหรืออยากจะให้ภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลืออะไรบ้าง ยังขาดอะไรที่จะมาช่วยให้สามารถฝ่าอุปสรรคช่วงนี้ไปได้ เราเองมีการทำงานร่วมกับทางหอการค้าไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อนำปัญหาของผู้ประกอบการสมาชิกของเราในชลบุรี ไปพูดคุยกับทางหอการค้าไทย เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายกลับมาช่วยผู้ประกอบการในพื้นที่ของเรา


     เราพูดคุยกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ เรียกว่าทั้งช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน วันนี้บางคนอาจยังขายดี แต่บางคนรายได้ก็ตกลง ขณะที่บางคนยอดขายหายไป 70-80 เปอร์เซ็นต์ เราก็ช่วยกัน แชร์ข้อมูล ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ความจริงตอนนี้ภาครัฐก็ออกนโยบายในการช่วยเหลือหลายอย่าง แต่บางทีผู้ประกอบการสมาชิกของเรา บางท่านก็อาจยังไม่รู้ ซึ่งพอมีนโยบายดีๆ เราก็จะเอามาแชร์กันในกลุ่มสมาชิก และประชุมออนไลน์กันมากขึ้น มากกว่าช่วงปกติด้วยซ้ำ มันจึงเหมือนเราอยู่ไกลกันก็จริง แต่กลับรู้สึกใกล้กันมากขึ้น  และวิกฤตนี้ทำให้เรารู้เลยว่า เรารักกันมากขึ้น
 

     มาตรการหรือนโยบายที่ภาครัฐออกมาสามารถช่วยเหลือ SME ได้มากน้อยแค่ไหน และยังมีอะไรที่อยากให้เพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของ SME เวลานี้ได้มากขึ้น


     ธีรินทร์ : การช่วยเหลือของภาครัฐ ผมอยากให้เร่งให้เร็วและชัดเจน อย่างตอนนี้มีประกาศ ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรมออกมา  แต่ในความจริงแล้ว ผมเชื่อว่าหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม หรือแม้กระทั่งต่างอุตสาหกรรมเองก็ได้รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน บางธุรกิจก็กึ่งๆ ปิดไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะยอดขายหายไป 80-90 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็ต้องฝืนทนรันธุรกิจไปก่อนเพื่อที่จะเลี้ยงพนักงาน แต่ผมเชื่อว่าคงประคองอยู่ได้ไม่นาน ถ้าเกิดภาครัฐคิดไปในรูปแบบเดียวกัน แล้วมองว่า ธุรกิจไหนที่จะต้องช่วย ผมอยากให้ออกนโยบายมาเลย โดยเฉพาะเรื่องของ ค่าแรง ว่าจะมีส่วนช่วยยังไงได้บ้าง เพราะสถานการณ์ตอนนี้มันเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ถ้ายิ่งนานไปก็อาจทำให้ตัวเจ้าของธุรกิจเองที่ไม่ใช่แค่โรงแรม อาจจะไม่ไหว และไม่มีกำลังที่จะไปซัพพอร์ตพนักงานต่อ เนื่องจากไม่มียอดเข้ามาเลย แล้วที่ผมกังวลมากคือ ปัญหาสังคมจะตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น


     อีกเรื่องคือ ความช่วยเหลือจากธนาคาร ผมอยากให้เร่งดำเนินการให้เร็ว เพราะบางส่วนยังต้องใช้เวลาในการติดต่อผมเข้าใจว่าตอนนี้ธนาคารก็ค่อนข้างยุ่ง ตอนนี้มีนโยบายออกมาให้พักชำระหนี้ แต่ปัญหาในเรื่องของดอกเบี้ยก็ยังรันอยู่ ในช่วงพักชำระ 3-6 เดือนตรงนี้ ในส่วนตัวอยากให้ผลักดันว่า เป็นไปได้ไหมว่า ดอกและต้นในช่วงที่พักชำระเราขอเวฟไปเลย โดยที่ไม่เอาไปจ่ายในภายหลัง เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้มันบีบบังคับมาก และยังไม่รู้เลยว่า สิ้นปีนี้ทุกอย่างจะกลับมาปกติหรือเปล่า


     ผมว่าทุกๆ ธุรกิจ ยังไงตอนนี้ก็อยู่ในสถานการณ์ของการประคับประคอง เหมือนเป็นช่วงจำศีล น้อยมากที่จะยังขายอยู่ นอกจากกลุ่มสินค้าที่จำเป็นจริงๆ ในสถานการณ์แบบนี้จึงอยากให้ลองพิจารณาช่วยเหลือทุกคน เพราะอย่างที่บอกว่าวันนี้ผู้ประกอบการทุกรายยังต้องมีภาระ รวมถึงรายได้ไม่มี ที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ อะไรที่เป็นยาแรง ยาเร็วได้ มันเป็นสิ่งที่จะต้องเร่งและทำให้เร็ว เพราะไม่อย่างนั้นยิ่งปล่อยให้ยาวไป มันจะมีผลตามมาไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจหรือสังคม



 

     อยากให้ฝากข้อคิดสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่กำลังเผชิญสถานการณ์วิกฤตอยู่ในตอนนี้ ว่าควรจะรับมืออย่างไร และสร้างพลังบวกให้กับตัวเองอย่างไร


     ธีรินทร์ : สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้คือ กำลังใจ อย่าให้กำลังใจของพวกเราไม่ดี เราต้องมีกำลังใจที่ดี และต้องไม่คิดที่จะยอมแพ้ ผมมองว่าในทุกวิกฤตมันมีความเหนื่อยแน่นอน แต่ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส สำหรับคนที่พร้อมจะปรับตัวไปกับมัน อย่างวันนี้มีโรคระบาดเข้ามา ธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จหรือทำในรูปแบบเดิมๆ วันนี้ต้องเปลี่ยน และต้องเปลี่ยนให้เร็ว เพราะเราไม่สามารถทำอะไรที่เหมือนเดิมได้อีกต่อไปในช่วงวิกฤต วันนี้เราต้องเรียนรู้ เทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามา ช่วยให้เราใกล้กันมากขึ้นกว่าเดิม แต่เราจะจัดการยังไงจากความใกล้กันด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ทำยังไงที่วันนี้เราจะเจอลูกค้าได้เร็วขึ้น ขายได้เร็ว เรียกทุกคนประชุมได้เร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดอะไรได้มากขึ้น พยายามมองพวกนี้ให้เป็นข้อบวกให้กับเรา และเป็นพลังให้เราสู้ต่อไป พยายามดึงข้อบวกของการเปลี่ยนแปลงมาเป็นพลัง อย่ายอมแพ้


      ผมมองว่าใครที่สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลงตัวเอง สำคัญที่สุดคือต้องเร็ว จะกลายเป็นคนที่เข้มแข็ง แล้วก็อยู่รอดได้และถ้าเราสามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ ผมเชื่อว่าธุรกิจจะสามารถผ่านได้แทบทุกสถานการณ์ในอนาคต เหตุการณ์นี้จะเป็นตัววัดอย่างหนึ่ง ก็อยากเป็นกำลังใจทุกคน ให้ผ่านช่วงนี้ไปด้วยกัน  



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน