ลูกค้าลด คนงดใช้เงิน และยังกลัวไวรัส ร้านอาหารรับมืออย่างไร?




Main Idea
 
 
  • จากธุรกิจที่เคยหอมหวาน วันนี้ “ร้านอาหาร” กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งการระบาดของโควิด-19 การหดตัวลงของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ และกำลังซื้อที่อ่อนแรงลง ส่งผลให้ธุรกิจต้องบอบช้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้
 
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 3.85-3.89 แสนล้านบาท หรือหดตัวลงถึง 9.7-10.6 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ปี
 
  • ในยุคที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยน ลูกค้าลดลง คนระวังการใช้จ่าย และยังกลัวพิษภัยของไวรัส ผู้ประกอบการร้านอาหาร ต้องเร่งปรับตัวสู่บรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจ (New Normal) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และยังอยู่รอดได้ในโลกใบใหม่นี้




      เป็นอีกปีแห่งความท้าทาย สำหรับคนในแวดวงธุรกิจอาหาร ที่มีผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME อยู่ในสนามเป็นจำนวนมาก เป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ที่คนนึกถึงเมื่ออยากมีกิจการเป็นของตัวเอง และติดโผธุรกิจที่มีคนล้มหายตายจากมากที่สุดเช่นกันในแต่ละปี


      ในวันที่โลกมีไวรัสตัวร้ายที่ชื่อโควิด-19 มาเยือน  “ธุรกิจร้านอาหาร” ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ และต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่เข้ามาปะทะหลากหลายทาง ทั้งการระบาดของโควิด-19 การหดตัวลงของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และกำลังซื้อที่อ่อนแรงลง ส่งผลให้ธุรกิจที่เคยถูกมองเป็นหนึ่งในความหวัง เป็นดาวจรัสแสง ต้องปรับหัวดิ่งลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 3.85-3.89 แสนล้านบาท หรือหดตัวลงถึง 9.7-10.6 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ปี เลยทีเดียว
 




      เตรียมรับมือ ลูกค้าลด คนวิตกไวรัส ระวังการใช้เงิน
                 

       จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่มาปั่นป่วนชีวิตของผู้คนอีก สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร นี่คือข่าวดีที่จะได้มาตั้งลำธุรกิจกันใหม่ เพื่อรื้อฟื้นรอยช้ำ และรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้นในยามวิกฤต
               

      ทว่าในความเป็นจริง ยังมีโจทย์ท้าทายที่รอคนทำธุรกิจอาหารอยู่ และการเปิดกิจการในยุคต่อจากนี้อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด





      ศูนย์วิจัยกสิกรไทย บอกโจทย์ท้าทายที่เร่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับตัว เริ่มจาก การที่ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ไม่เพียงแต่จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อวันที่ลดลง แต่คาดว่ามูลค่าการใช้บริการต่อมื้อของผู้บริโภคก็จะมีการหดตัวตามไปด้วย ทำให้กระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ ขณะที่ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จากต้นทุนแฝงที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สามารถรองรับช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มเติม หรือค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ทำความสะอาด เป็นต้น


     ซึ่งผลกระทบดังกล่าวคาดว่า จะเกิดขึ้นกับร้านอาหารเกือบทุกประเภท แต่มิติความรุนแรงจะแตกต่างกัน ดังนี้
 




      กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง
: ร้านอาหารเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant)


      ร้านอาหารเต็มรูปแบบ คือ ร้านอาหารที่มีบริการจำกัด ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ และสวนอาหารประเภทต่างๆ  กลุ่มนี้คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากร้านอาหารเหล่านี้เผชิญความท้าทายทั้งเรื่องรายได้และค่าใช้จ่าย


      โดยสัดส่วนรายได้ไม่น้อยกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ของร้านอาหารในกลุ่มนี้เกิดจากการเข้ามาใช้บริการของผู้บริโภคในร้านอาหาร รวมถึงรายได้จากค่าบริการและค่าเครื่องดื่ม ซึ่งคาดว่ารายได้ส่วนนี้จะลดลงจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลีกเลี่ยงหรือลดการทำกิจกรรมพบปะสังสรรค์ออกไปอีกระยะ นอกจากนี้ในช่วงแรกของการผ่อนปรนที่มีการจำกัดระยะห่างระหว่างบุคคลและจำนวนผู้ใช้บริการต่อโต๊ะ รวมถึงการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านซึ่งเป็นสินค้าที่มีกำไรต่อหน่วยสูง ทำให้ไม่เพียงส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการสร้างรายได้ภายในร้านเท่านั้น ทว่ายังส่งผลให้เกิดต้นทุนแฝงเพิ่มขึ้นจากทั้งค่าเสียโอกาสและความผันผวนของวัตถุดิบที่ต้องสั่งซื้ออีกด้วย


       สำหรับค่าใช้จ่าย ร้านอาหารในกลุ่มนี้มีต้นทุนคงที่ ที่สูงกว่าร้านอาหารประเภทอื่น อาทิ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าดูแลรักษาสถานที่ เป็นต้น ซึ่งต้นทุนนี้อาจมีสัดส่วนสูงถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ในร้านอาหารบางชนิด ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้จุดคุ้มทุนของธุรกิจและกำไรเฉลี่ยต่อหัวของผู้ประกอบการเปลี่ยนไป
 




       แนวทางปรับตัว
 
 
  • กระจายช่องทางสร้างรายได้ ให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มลูกค้าในช่องทางอื่นมากขึ้น เช่น นำเสนอคอร์สอาหารเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือนให้กับลูกค้าที่เปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน เป็นต้น
 
  • ปรับกระบวนการและรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อาทิ ลดจำนวนสาขาที่เป็น Full Service Restaurant และหันมาเปิดร้านประเภท Pop-up Store เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงลง หรือเปลี่ยนไปลงทุนใน Cloud Kitchen เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาทานอาหารในที่พักมากยิ่งขึ้น การทำธุรกิจรูปแบบเดิมอาจไม่คุ้มค่าเพราะจุดคุ้มทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
 
 


 

      กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัด : ร้านอาหารทั่วไป ร้านอาหารริมทาง และกลุ่มรถเข็น


        กลุ่มนี้เป็นร้านอาหารกลุ่มแรกที่ได้ประโยชน์จากการผ่อนปรนมาตรการจากภาครัฐ และยังมีสัดส่วนรายได้ของการซื้อกลับบ้าน (Takeaway) สูงกว่ากลุ่มแรก ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนก็ได้เข้าร่วมกับแอปสั่งอาหารมาแล้วก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้เริ่มมีการกระจายของช่องทางสร้างรายได้ นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังเป็น SME ขนาดเล็กและกลาง และเป็นร้านที่ไม่มีสาขา การปรับเปลี่ยนกระบวนการต่างๆ จึงทำได้ยืดหยุ่นและรวดเร็วกว่า แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้มีระบบและหรือกระบวนการต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานเท่าใดนัก ทำให้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อยกระดับธุรกิจของตัวเองให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานใหม่ในยุค Mew Normal
 


      แนวทางปรับตัว

 
  • ยกระดับมาตรฐานความสะอาดของร้านอาหารเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ และลดความกังวลของผู้บริโภค ทั้งในเรื่องความสะอาดของ วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงพนักงานและคนทำอาหารด้วย
 
  • เพิ่มความระมัดระวังในการบริหารจัดการวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง รวมถึงปรับลดความหลากหลายของเมนูลง เนื่องจากคาดว่าผู้บริโภคน่าจะยังไม่กลับมาใช้บริการมากนักหลังนโยบายผ่อนปรน รวมถึงจำนวนออเดอร์ในแต่ละวันที่ยังมีความผันผวน การจัดการสินค้าคงคลังและจำกัดประเภทของเมนู จะช่วยลดความสูญเสียจากต้นทุนได้
 
 




      นี่คือแนวทางการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหาร ในวันที่โลกเคลื่อนไปสู่บรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจ (New Normal) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนที่แปรเปลี่ยน ยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคคุ้นชินกับการใช้บริการออนไลน์และบริการจัดส่งถึงที่พักมากขึ้น ผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัดในการสร้างรายได้จากจำนวนลูกค้าที่อาจยังไม่กลับมาเท่าเดิม กำลังซื้อของผู้คนยังอ่อนแรง ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงเพิ่มขึ้น บวกกับการแข่งขันที่รุนแรง การปรับตัวจึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารยังคงอยู่รอดได้ในโลกใบใหม่ที่แสนท้าทายนี้
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน