เศษหนังใครว่าต้องทิ้ง “THAIS” ฟื้นชีวิตหนังใหม่ด้วยการรีไซเคิล!

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา


 
 
Main Idea
 
  • “Thais Eco Leathers” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์เครื่องหนังที่ไม่ได้มีดีแค่ดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์และสีสันสวยงามสะดุดตาเท่านั้น หากแต่วัตถุดิบที่นำมาใช้นั้นน่าสนใจมากกว่า เพราะทำจากวัสดุที่ถูกมองว่าเป็นขยะแถมยังสร้างมลพิษ เพราะเศษหนังที่ถูกทิ้ง เมื่อเข้าไปสู่กระบวนการกำจัด ไม่ว่าจะนำไปเผา หรือฝังดินก็ล้วนส่งผลเสียต่อดิน น้ำ อากาศทั้งนั้น 
 
  • และนั่นจึงเป็นก้าวแรกที่ทำให้ “Thais Eco Leathers” ต้องการนำเศษหนังมารีไซเคิลให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดมลพิษ ลดขยะและต้องการให้สินค้า ECO ไม่ใช่แค่เทรนด์ หากแต่เป็นของใช้ส่วนหนึ่งของชีวิต!

___________________________________________________________________________________________
 

     สินค้าประเภทเครื่องหนังในปัจจุบันถือว่าได้รับความสนใจค่อนข้างมาก แน่นอนว่าเครื่องใช้ที่มีหนังเป็นส่วนประกอบนั้นย่อมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ความจริงแล้วนอกจากเสน่ห์หรือความนิยมในเครื่องหนังแล้ว ยังมีอีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง นั่นคือ กระบวนการการกำจัดเศษหนังที่เกิดขึ้นเกือบจะเท่ากับการปริมาณหนังดีที่ใช้ในการผลิตเครื่องหนังแต่ละครั้งจากตัดเย็บในโรงงานอุตสาหกรรม


 
  • จากกองขยะภูเขาเศษหนัง สู่แบรนด์เครื่องหนังสุดคูล
 
     จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ “Thais Eco Leathers” แบรนด์เครื่องหนังของไทยที่มีความพิเศษ โดยหนังที่นำมาใช้ทั้งหมดล้วนผลิตมาจากเศษหนังไร้ค่าที่ทางแบรนด์ฟื้นคืนชีวิตให้ใหม่ ด้วยการนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กลับไปสร้างมลภาวะกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างที่เคยเป็นแน่นอน




 
     โดยเราได้มีโอกาสพูดคุยกับความเจ๋งของผลิตภัณฑ์ตัวนี้ที่สร้างขึ้นเพื่อความยั่งยืนกับ Co-founder ธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล แห่งบริษัท ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จำกัด ซึ่งเขาได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ว่า เริ่มมาจากความชื่นชอบและสนใจในเครื่องหนังของตัวเขาเอง จึงเข้าไปเรียนรู้และศึกษาการตัดเย็บเครื่องหนัง จนวันหนึ่งเกิดความสงสัยว่า ในแผ่นหนังหนึ่งแผ่นนั้น ทำไมถึงถูกตัดมาใช้งานจริงได้เพียงแค่ 50-60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ส่วนที่เหลือต้องทิ้งเป็นขยะ 





     ซึ่งหมายความว่า ยิ่งใช้ไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดขยะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงได้เข้าไปปรึกษากับอาจารย์ผู้สอนว่าขยะเหล่านี้สามารถนำไปทำอะไรต่อได้บ้าง แต่คำตอบที่ได้กลับมา คือ มีคนถามแบบนี้เข้ามาเยอะมากๆ  แต่ก็ยังไม่เคยมีใครที่สามารถนำเอากลับมาใช้งานได้จริงๆ เลย จึงเป็นการจุดประเด็นทำให้อยากชุบชีวิตใหม่ให้กับเศษหนังขึ้นมาอีกครั้ง


     “นอกจากประเด็นความสงสัยที่เกิดขึ้นแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้เกิดแรงผลักดันรุนแรงจนทำให้เราอยากสร้างแบรนด์เพิ่มขึ้นมา คือ มีเหตุการณ์หนึ่งขณะที่ธันกำลังขับรถผ่านกองขยะที่เป็นเศษหนัง ก็ดันไปเห็นคนกำลังจะจุดไฟเผาเศษหนังเหล่านั้นทิ้ง จึงทำให้รู้สึกว่าเราจะนิ่งเฉยแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะขยะพวกนั้นสุดท้ายแล้วก็กลับมาทำร้ายโลก กลับมาทำร้ายเราอยู่ดี ก็เลยหันมาจริงจังกับการหาวิธีรีไซเคิล เพื่อจัดการขยะเศษหนังเหล่านั้นให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง จนในที่สุดก็กลายเป็นแบรนด์ THAIS ขึ้นมา เพื่อผลิตเครื่องหนังจากเศษหนังใช้แล้ว” ธันยวัฒน์เล่าถึงแรงผลักดันสำคัญ


 
  • เปลี่ยนเศษหนังให้กลายเป็นไลฟ์สไตล์โปรดักต์
 
     ฟังดูแล้วเหมือนเป็นวิธีและกระบวนการที่ง่าย แค่นำทุกอย่างกลับมารีไซเคิลและผลิตเป็นแผ่นหนังออกมาใหม่ แต่ความจริงแล้ว กระบวนการรีไซเคิลแต่ละอย่างไม่ว่าเศษหนังหรือขยะอื่นๆ เองจะต้องใช้ทรัพยากรค่อนข้างมากในกระบวนการจัดการ ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ได้เห็นภาพกองภูเขาขยะจากเศษหนังเหมือนที่ผ่านมา


     โดยธันยวัฒน์ได้อธิบายถึงผลเสียจากการกำจัดขยะเศษหนังไม่ถูกวิธีให้ฟังว่า



 

     “ปกติขยะเศษหนังที่เกิดจากการตัดเย็บของโรงงานผลิตในไทยนั้น หากเป็นโรงงานขนาดเล็กจะสร้างขยะอยู่ที่ประมาณ 10,000 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งมีวิธีการกำจัดอยู่ 2 อย่าง คือการนำไปเผากับการนำไปฝัง โดยปกติถ้านำไปเผาอยู่ในระบบที่โรงงานกำจัดจะทำให้เกิดมลพิษน้อยกว่าการเผาเดี่ยวๆ อยู่ข้างนอกที่กองขยะเลย แต่ไม่ว่าเผากำจัดแบบไหน ย่อมก่อให้เกิดก๊าซพิษขึ้นมาด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่สำคัญการเผาแต่ละครั้งจะหลงเหลือขยะที่เผาไหม้ไม่หมด สุดท้ายก็ต้องนำไปฝังกลบ ซึ่งหากเป็นเศษหนังด้วยแล้ว ก็ไม่ต่างจากการนำไปแช่น้ำจนเกิดก๊าซมีเทนที่ส่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อนเลย อีกทั้งน้ำใต้ดินก็จะได้รับสารเคมีจากหนังไปด้วย




     “เมื่อเปรียบเทียบระหว่างอุตสาหกรรมผลิตหนังกับอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้ว กระบวนการผลิตหนังล้วนจึงใช้สารเคมีที่เยอะและรุนแรงมากกว่าหลายเท่า ดังนั้นการนำเศษหนังมารีไซเคิลเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ก็เท่ากับว่าแบรนด์ THAIS ได้สามารถช่วยลดปริมาณขยะ และมลพิษให้กับโลกนี้ได้”


    ธันยวัฒน์กล่าวเพิ่มว่า การนำขยะมารีไซเคิลเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่นั้น ดูเหมือนจะเป็นวิธีช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่เขามองว่าการจะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้อย่างแท้จริง ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงด้วย เขาจึงให้ความสำคัญกับการนำสีสัน ลวดลาย และงานดีไซน์ต่างๆ เข้ามาใช้ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เกิดความสนใจมากขึ้น และนำไปเลือกใช้อยู่ในชีวิตประจำวันได้ 


 
  • เกื้อกูล เอื้อประโยชน์ ซึ่งกันและกัน
 
     กลับมาที่กระบวนการผลิตกันบ้าง ธันยวัฒน์เล่าว่าเศษหนังต่างๆ นี้พวกเขาได้มาจากโรงงานผู้ผลิตตัดเย็บหนังขนาดเล็ก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะโดยปกติแล้วเศษหนังที่เหลือจากการตัดเย็บ มักถูกส่งไปยังบริษัทรับกำจัดหนังอยู่แล้ว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ตันละ 2,600 บาท โดยเป็นราคามาตรฐานทั่วไป ซึ่งโรงงานบางแห่งที่มีการผลิตเยอะก็อาจต้องสูญเสียค่าการกำจัดสูงถึง 8,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้แบรนด์ก็มีเงื่อนไขเพียงข้อเดียว คือ ต้องแยกหนังออกจากขยะปนเปื้อนอย่างอื่นให้ด้วย ซึ่งการแลกกันนี้เรียกได้ว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยเขาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าในอนาคตอาจจะมีซื้อขายมากกว่าการเอื้อประโยชน์ต่อกันเช่นนี้ก็เป็นได้



 
     “สิ่งที่พวกเราพยายามจะทำ คือ การก่อกระแสรักษ์โลกหรือความยั่งยืนให้เกิดขึ้นผ่านผลิตภัณฑ์ เพราะแบรนด์ของเรามองว่าผลิตภัณฑ์เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ทำให้คนได้ทราบ และมองว่าผลิตภัณฑ์รักษ์โลกไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ แต่กลับเป็นเรื่องน่าสนุกและน่าสนใจมากกว่า อีกทั้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสมดุล สร้างความกลมกลืน สร้างความผาสุกให้กับโลกเราได้ รวมไปถึงทำให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความหมายเพิ่มมากขึ้น และสิ่งที่พวกเราทำนั้นไม่ใช้การเกาะกระแสรักษ์โลก หากแต่เป็นการสร้างกระแสรักษ์โลกให้กับสังคมไทย”




     และนี่คือ อีกหนึ่งความตั้งใจดีของผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ทำขึ้นมา โดยมิได้เพียงตอบโจทย์เพื่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานจริงจากผู้บริโภคด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริงต่อไป และทำให้ผู้บริโภคชาวไทยได้หันมามองเห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์รักษ์โลกกันมากขึ้น
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน