เช็คสุขภาพรายได้ครัวเรือนไทย หลังโควิดพ่นพิษใส่ยาวกว่าที่คิด

 
 
Main Idea 
 
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงรุนแรงในต่างประเทศ โดยล่าสุด (1 มิ.ย. 2563) จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 6.4 ล้านคน 
 
  • ในประเทศไทย รัฐบาลทยอยผ่อนปรนความเข้มงวดในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เป็นผลให้ธุรกิจ ร้านค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ  ขณะที่มาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบ COVID-19 ของภาครัฐจะทยอยสิ้นสุดลงในช่วงเดือนมิถุนายนนี้
 
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการสำรวจสภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงวันที่ 21-28 พฤษภาคม 2563 พบหลายประเด็นที่น่าสนใจและผู้ประกอบการ SME ต้องจับตา
 
___________________________________________________________________________________________
 
 
 
     หลังไวรัส COVID-19 เข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทย ส่งผลกระทบสู่ผู้คนในทุกหย่อมหญ้า ไล่ตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่ กิจการขนาดเล็ก ไปจนผลกระทบที่เข้าสู่ภาคครัวเรือน สะท้อนถึงกำลังซื้อ กำลังทรัพย์ ของผู้บริโภคคนไทยที่ถูกสั่นคลอนตามไปด้วย


     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการสำรวจสภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงวันที่ 21-28 พ.ค. 2563 พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ 


 
  • คนว่างงานเดือน พ.ค. 9.6 เปอร์เซ็นต์ เซ่นพิษ COVID-19

     รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการสุ่มสำรวจภาวะการมีงานทำของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบจำนวนผู้ว่างงาน คิดเป็น 9.6 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ โดย 61.4 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้ว่างงานที่ทำการสำรวจ มีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของ COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ  และอีก 38.6 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้ว่างงาน มาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ COVID-19 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 2 และค่อยๆ ปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากที่ภาครัฐทยอยผ่อนปรนความเข้มงวดในการบังคับใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำของไวรัส COVID-19 จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ ครั้งที่ 2 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะติดตามประเด็นการจ้างงานของครัวเรือนไทยนี้อย่างต่อเนื่องและนำผลมารายงานในระยะถัดไป


     นอกจากนี้ เมื่อสอบถามมุมมองของครัวเรือนไทยต่อสภาวะการมีงานทำของตนเอง พบว่า 6.4 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ (ที่มีงานทำ) มองว่า บริษัทที่ตนเองทำงานอยู่มีโอกาสสูงที่จะปิดตัวลงในไม่ช้าจากผลกระทบของ COVID-19 ในขณะที่ 17.4 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ (ที่มีงานทำ) มองว่า มีโอกาสสูงที่บริษัทจะปรับลดพนักงานและตนเองจะถูกเลิกจ้าง ซึ่งครัวเรือนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มักเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และทำงานอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง 



 
 
  • คนตระหนักเรื่องออมเงิน และหารายได้หลายช่องทาง

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของเงินออมและการสร้างรายได้หลายช่องทางมากขึ้น หลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยจากการสำรวจมุมมองการวางแผนดำเนินชีวิตหลังเผชิญกับ COVID-19 ของครัวเรือนไทย 3 กลุ่ม แบ่งตามการใช้สิทธิ์เยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 พบรายละเอียดดังนี้ 
 

กลุ่มที่ 1 : กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน”  
พบว่า หลังมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” สิ้นสุดลง ครัวเรือนที่ได้รับสิทธิ์มาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ส่วนใหญ่ 35.5 เปอร์เซ็นต์ พยายามหางานรับจ้างชั่วคราว (ฟรีแลนซ์) แบบเดิมทำไปก่อน อีก 25.6 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนไปค้าขายออนไลน์ 


กลุ่มที่ 2 : กลุ่มแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และใช้สิทธิ์เงินชดเชยจากประกันสังคมกรณี COVID-19 
พบว่า หลังจากที่สิ้นสุดช่วง 3 เดือนที่ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมแล้ว แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 47.4 เปอร์เซ็นต์ เลือกที่จะกระจายความเสี่ยงทางด้านรายได้ผ่านการมีอาชีพเสริมเพิ่มเติม อย่างน้อย 1 อาชีพ อีก 18.0 เปอร์เซ็นต์ จะกลับเข้าทำงานบริษัทเดิม หากมีการรับคนเพิ่ม และอีก 11.3 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนไปค้าขายออนไลน์แทน 


กลุ่มที่ 3 : กลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ “เราไม่ทิ้งกัน” และไม่ได้ใช้สิทธิ์เงินชดเชยกรณี COVID-19 จากประกันสังคม 
พบว่า หลังจากที่เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ แรงงานกลุ่มนี้ตระหนักถึงความสำคัญของวินัยทางการเงินของตนเองมากขึ้น โดย 43.8 เปอร์เซ็นต์ ของแรงงานกลุ่มนี้เริ่มเก็บออมมากขึ้นและระมัดระวังการใช้จ่ายในปัจจุบัน อีก 28.4 เปอร์เซ็นต์ มองหาอาชีพเสริมเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้หลายช่องทาง และอีก 22.9 เปอร์เซ็นต์ ลดการก่อหนี้ทุกรูปแบบ และพยายามปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิมให้เร็วที่สุด


 
  • Social Distancing ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน

     มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่  จากผลสำรวจ พบว่า แม้ในปัจจุบันจะมีการผ่อนปรนให้ธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่ 95.5 เปอร์เซ็นต์ กลับได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในลักษณะที่แตกต่างกัน โดย 52.5 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้และผลประกอบการลดลง ทั้งนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ 25.4 เปอร์เซ็นต์ อยากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากที่มาตรการเยียวยาในช่วงก่อนหน้าสิ้นสุดลง 


 
  • สรุป

     ผลการสำรวจข้างต้นชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้า โดยวิถีปกติใหม่ (New normal) ที่สะท้อนจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในการดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งเข้ามาแทนที่ภาคเกษตรกรรมที่แต่เดิมช่วยดูดซับแรงงานส่วนเกินจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายของครัวเรือนกลับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ระมัดระวัง และเร่งสร้างวินัยทางการเงินของตนเองเพิ่มขึ้น 


     นี่จึงเป็นโจทย์เร่งด่วนสำหรับภาครัฐ ทั้งในเรื่องของการออกมาตรการเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรองรับจำนวนผู้ว่างงานใหม่หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง และการออกมาตรการส่งเสริมการออมที่เอื้อต่อแรงงานหลายกลุ่ม เช่น แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ  แรงงานที่มีรายได้น้อย เป็นต้น 
 

     สำหรับผู้ประกอบการ SME เศรษฐกิจครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ตลอดจนพฤติกรรมการออมที่มากขึ้น ส่งผลต่อการใช้จ่ายและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งกระทบต่อรายได้ของ SME  อย่างเลี่ยงไม่ได้  นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องประคับประคองตัวเอง และวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อให้ผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปให้ได้   


 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน