“ชวนเสวย” ขนมกล่องใส ที่จริงจังกับความอร่อย จนได้วางขายอยู่ในเลมอนฟาร์ม

TEXT : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea
 
  • “ชวนเสวย” แบรนด์ขนมไทยกินเล่นแบบง่ายๆ เช่น ครองแครง กลีบลำดวน ปั้นสิบ ที่เริ่มต้นธุรกิจจากบูธเล็กๆ ในห้างฯ  จนปัจจุบันสามารถส่งขนมขายให้กับร้านเลมอนฟาร์ม, Jiffy ปตท. และเบทาโกร เดลี่ ได้
 
  • วันนี้แม้จะผ่านเวลามากว่า 20 ปี แต่ชวนเสวยก็ยังคงเอกลักษณ์เหมือนเช่นเดิมกับแพ็กเกจจิ้งรูปแบบเรียบง่ายในกล่องใสและถุงพลาสติก เพื่อผลิตขนมคุณภาพดี อร่อย ดีต่อสุขภาพ และราคาไม่แพง ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกยุค




       ในโลกยุคปัจจุบัน แพ็กเกจจิ้งหรือหีบห่อที่สวยงามอาจเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญด่านแรกที่สร้างความประทับใจให้กับสินค้า และดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อขึ้นมาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่สินค้าจะได้รับการตอบรับที่ดีต่อเนื่องหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวสินค้าเองที่จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ซึ่งก็มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ไม่ได้ชูหน้าตาความสวยงาม แต่กลับมีลูกค้าซื้อซ้ำ เพราะติดใจในคุณภาพ รวมถึงสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย


       “ชวนเสวย” แบรนด์ขนมไทยในกล่องและถุงพลาสติกใสที่ขายมายาวนานกว่า 20 ปีก็เป็นหนึ่งในนั้น
               

      ด้วยรูปแบบแพ็กเกจจิ้งที่เรียบง่าย มีเพียงฉลากเล็กๆ บอกชื่อสินค้าที่ติดอยู่ด้านหน้า แต่ใครจะรู้ว่าภายใต้บรรจุภัณฑ์ที่อาจจะดูแสนธรรมดาเหมือนกับสินค้าทั่วไปนี้ กลับอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ จนได้รับการทาบทามให้เข้าไปขายอยู่ใน “เลมอนฟาร์ม” ซูเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงร้านสะดวกซื้ออีก 1-2 แบรนด์ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ
               




      “นันทินี ม้วนทอง” ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์ชวนเสวย เล่าย้อนที่มาให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นธุรกิจนั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณกว่า 20 ปีก่อน โดยส่วนตัวเธอเป็นคนชอบรับประทานขนมอยู่แล้ว เมื่อลาออกจากงานประจำจึงได้เปิดบูธเล็กๆ ในฟู้ดคอร์ท ห้างฯ เซ็นทรัลลาดพร้าว ทดลองขายขนมที่ชอบ
               

       “เราเริ่มจากร้านเล็กๆ ตอนแรกก็มีขนมอยู่แค่ไม่กี่อย่าง เริ่มจากเอาขนมของที่บ้านทำมาขายก่อน เช่น ข้าวตังหมูหยอง ครองแครง ข้าวเม่าหมี่ และทองพับ และก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ หลังจากไปเรียนทำขนมไทยเพิ่ม โดยขนมของเรานอกจากเน้นความอร่อยแล้ว ยังต้องดีต่อสุขภาพด้วย อย่างขนมเปี๊ยะปกติจะเป็นไส้ถั่วเขียวธรรมดา เราก็ใส่งาดำเพิ่มเข้าไป ซึ่งในสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครทำอะไรแบบนี้ ส่วนความหวานเราก็เน้นให้พอดี ไม่หวานเกินไป แต่ก็ไม่น้อยเกินไปจนไม่อร่อย ตอนนั้นมีเอาผักผลไม้อบแห้งหลากสีมาจัดเรียงวางขายใส่อยู่ในถุงเดียวกันด้วย ก็ช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามา ฝ่ายจัดซื้อจากห้างฯ ต่างๆ ก็เข้ามาติดต่อให้เอาสินค้าไปวางขาย สมัยนั้นก็มีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์, เอ็มโพเรียม และเดอะมอลล์อีกหลายสาขา แต่ทำไปได้สักระยะเริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมคุณภาพอย่างที่ต้องการได้ เพราะต้องดูทั้งการผลิตและบริหารจัดการร้านด้วย คือ เรามองว่าความอร่อยของขนม นอกจากสูตรที่ทำและส่วนประกอบที่ดีแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ขนมอร่อยได้ ก็คือ ความสดใหม่ แต่ถ้าจำนวนสาขาเยอะเราไม่สามารถทำได้ ก็เลยลดจำนวนสาขาลง จนตอนนี้เหลืออยู่แค่สาขาเดียวที่ตึกซีพีทาวเวอร์ สีลม ชั้นใต้ดิน” เธอเล่าที่มา
               




       แม้จะต้องปรับลดจำนวนสาขาลง จากสิบกว่าแห่ง จนเหลือเพียงแห่งเดียวในปัจจุบัน แต่สิ่งที่นันทินีนำมาชดเชยรายได้ที่หายไป ก็คือ การเป็นซัพพลายเออร์ส่งขนมเข้าไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อต่างๆ ซึ่งกำไรต่อชิ้นอาจไม่เท่ากับขายปลีก แต่ด้วยปริมาณที่มากกว่า และความสม่ำเสมอของยอดออร์เดอร์ที่ได้ ก็กลับกลายเป็นโอกาสที่ดูเหมือนจะมั่นคงและยาวนานกว่าเช่นกัน
               




       “เลมอนฟาร์มติดต่อเข้ามาก่อน เขาบอกว่าขนมของเราเป็นขนมเพื่อสุขภาพเข้าคอนเซปต์ร้านเขาพอดี ต่อมาก็มีร้าน Jiffy ปตท. และเบทาโกร เดลี่ ติดต่อเข้ามาเพิ่ม เราจึงเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากที่เน้นขายปลีกมาเป็นขายส่ง และมีหน้าร้านของตัวเองเพียงหนึ่งแห่งเท่านั้น เพื่อไว้พบปะกับลูกค้าผู้บริโภคตัวจริง” นันทินีบอกเล่าโอกาสของธุรกิจให้ฟัง
               




       ซึ่งหากจะมองดูแง่ความสำเร็จด้านการขายส่ง อีกสิ่งที่ทำให้ชวนเสวยประสบความสำเร็จได้รับความไว้วางใจในการส่งป้อนสินค้าให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะการใส่ใจศึกษาความชื่นชอบและนิยมของผู้บริโภคอยู่เรื่อยๆ ทำให้ขนมทุกตัวที่ส่งเข้าไปสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ส่งผลให้ร้านสามารถขายสินค้าได้ดี คุ้มค่ากับการลงทุน ไม่เหลือค้างเก็บเป็นสต็อกนั่นเอง
               

      “เวลาลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าที่ร้าน เราจะคอยสอบถามเขาอยู่เสมอว่า ชิมแล้วรสชาติเป็นยังไง อร่อยไหม ถูกใจไหม มีอะไรต้องปรับปรุงหรือเปล่า ก็เหมือนเป็นห้องวิจัยเล็กๆ ที่ทำให้เราได้พูดคุยกับลูกค้าได้โดยตรง โดยทำทั้งแบบที่เขาชอบ และแบบที่เราคิดว่าดี ก็นำเสนอไปให้ ถ้าตัวไหนลองทำออกมาแล้วไม่เวิร์ก เราก็ตัดเลย ไม่เสียเวลา ซึ่งพอเรามีข้อมูลและวิธีจัดการตรงนี้ได้ เราก็ไปคุยกับฝ่ายจัดซื้อได้ โดยมีการขายที่ร้านของเราเป็นตัวรับรองความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่าเมนูนี้คนชอบเยอะนะ ถ้าสั่งเข้าไปเขาขายได้แน่นอน คือ เรามองว่าการทำงานต้องมีความแม่นยำ เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาไปกับเรา เพราะทุกอย่างมีต้นทุนและค่าใช้จ่าย
               

      “ที่สำคัญอีกข้อสำหรับธุรกิจขนมถ้าอยากขยายเติบโต จะต้องมีการจัดการเข้ามาช่วยด้วย เช่น เรานวดแป้ง เราเป็นคนดูแลสูตร แต่เราสามารถจ้างคนให้มาช่วยขึ้นรูปขนมได้ เช่น ครองแครง ปั้นสิบ เสร็จแล้วก็เอามาทอดและฉาบ หรือขนมกลีบลำดวนก็เหมือนกัน มีขนมหลายอย่างเลยที่อยากทำมาก แต่ไม่สามารถทำออกมาขายได้ เพราะมันไม่สามารถจัดการได้”

               



       วันนี้แม้จะผ่านเวลามานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่หน้าตาแพ็กเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่ของขนมชวนเสวยก็ยังคงเอกลักษณ์เรียบง่ายไว้เหมือนเช่นเดิม เนื่องจากไม่ต้องการเพิ่มต้นทุนที่สูงให้กับลูกค้า แต่อยากเน้นที่ความอร่อยและคุณภาพของตัวสินค้ามากกว่า
               

      “ที่ยังใช้บรรจุภัณฑ์แบบนี้ เพราะเราไม่อยากเพิ่มต้นทุนให้กับลูกค้ามาก อยากให้เป็นขนมที่สามารถซื้อไปรับประทานได้บ่อยๆ ราคาไม่แพงเกินไป อร่อยถูกปาก และดีต่อสุขภาพ เพราะลูกค้าเองเขาก็มีเหตุผลในการที่จะเลือกซื้อขนมสักอย่าง และการที่ใส่กล่องหรือถุงพลาสติกใสแบบนี้ ก็ทำให้เขาสามารถเห็นสินค้าข้างในได้แบบเคลียร์คัตชัดเจนไปเลย ไม่ซ่อนเร้น ตรงไปตรงมา เห็นแล้วสามารถตัดสินใจซื้อได้เลย อีกอย่างเราไม่อยากสร้างความคาดหวังให้ลูกค้าด้วย ที่แพ็กเกจจิ้งภายนอกอาจดูสวยงาม แต่พอเปิดดูข้างในแล้วไม่ประทับใจ” เธอบอกสาเหตุของความเรียบง่าย




               

      หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการทำขนมไทยแล้ว เมื่อ 3 - 4 ปีก่อน นันทินียังได้เพิ่มไลน์การผลิตและแตกแบรนด์น้องใหม่ออกมาชื่อว่า “หมูแปรพักตร์” เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู ได้แก่ หมูเค็ม หมูสวรรค์ หมูฝอย แต่ยังคงคอนเซปต์อยู่ในกลุ่มของกินเล่น ของขบเคี้ยวเหมือนเช่นเดิม
               

      “ถ้าลองสังเกตดูดีๆ ด้วยรสนิยมการบริโภคของคนไทยจะชอบกินขนมขบเคี้ยวและของกินเล่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นของหวานหรือของคาวก็เอามากินเล่นได้หมด จากขนมไทยโบราณกินง่าย รับประทานเป็นของกินเล่นได้ เราเลยมีการเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปขึ้นมาด้วย อาทิ หมูเค็ม หมูฝอย หมูสวรรค์ โดยรสชาติส่วนใหญ่ที่คนไทยชื่นชอบ คือ หวาน เค็ม เผ็ด ดังนั้นเราจึงพยายามตอบโจทย์ ไม่ว่าขนมหรือของคาวก็จะมี 3 รสนี้ อย่างขนมก็พวกครองแครงเป็นต้น ในส่วนของหมูแปรพักตร์ถือว่าทำรายได้ให้กับชวนเสวยค่อนข้างดีเลย เพราะเราใช้หมูอนามัย ทำเสร็จแล้วก็จะมีการสลัดน้ำมันทิ้งให้หลงเหลือน้อยที่สุด ในการทำชิ้นหมูก็จะเลาะไขมันออกก่อนเท่าที่จะทำได้” นันทินีบอกเล่าให้ฟัง


       ปัจจุบันแบรนด์ชวนเสวยมีสินค้าอยู่ในร้านราวกว่า 20 อย่าง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ผลไม้แปรรูป 2.ขนมไทย และ3.ผลิตภัณฑ์หมูแปรรูป โดยนันทินีกล่าวว่า สินค้าทุกตัวที่มีอยู่ในจำหน่ายในร้านนั้น คือสินค้าที่ได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภคแล้วทั้งนั้น และทำออกมาหลายไซซ์ด้วยกัน หากซื้อฝากไซซ์ก็จะใหญ่ขึ้นมาหน่อย หากซื้อกินเองก็จะเล็กลงมา ตัวที่ขายดีเป็นพระเอกของร้าน คือ ครองแครงพริกไทยดำ ปั้นสิบปลา กลีบลำดวน

               



       สุดท้ายสำหรับใครที่คิดอยากทำธุรกิจขนมขายบ้าง นันทินีได้ฝากแง่คิดไว้ว่า
               

       “การทำขนม เราต้องรู้จักธรรมชาติของขนมด้วย ว่าขนมแต่ละชนิดมีวิธีการทำที่ถูกหลัก ถูกสูตร และถูกใจคนกินได้ด้วย อย่าดัดแปลงหรือใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป จนมันไม่กลายเป็นขนม ที่สำคัญอีกข้อ คืออย่าไปกลัวในส่วนประกอบของขนม เช่น ความหวาน เพราะบางทีความหวานก็มีเหตุผลของมัน เช่น การถนอมอาหาร ความอร่อย หรือหน้าตาขนม บางคนกลัวว่าจะหวานไปก็ลดน้ำตาลลง จนขนมบูดง่ายกว่าอายุที่ควรจะเป็น เราเชื่อว่าคนโบราณที่คิดขึ้นมา เขาคิดสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ณ ตอนนั้น ดังนั้นเราอย่าไปทิ้งสิ่งที่ดีที่สุด แค่ปรับให้พอดีพอ ไม่ต้องไปดัดแปลงอะไรมากก็ได้ อย่าลืมว่าเรากำลังทำขนมอยู่  ทำให้อร่อยๆ ก็พอ อย่าไปคิดเยอะ” เจ้าของร้านชวนเสวยกล่าวในตอนท้าย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง