รวมคำสอนจาก “3 ตัวแม่” ที่เจอวิกฤตชีวิต แต่ยังกลับมารุ่งทั้งธุรกิจและครอบครัว

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • การต้องเป็นทั้งแม่และผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งต้องดำรงบทบาทนั้นระหว่างที่ชีวิตเจอกับวิกฤตสุดสาหัสด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งท้าทายและวัดใจกว่าเดิมเป็นหลายเท่า แต่สำหรับคุณแม่นักสู้ที่ผ่านวิกฤตมาอย่างโชกโชน การมีลูกๆ อยู่ข้างกาย คือขวัญและกำลังใจของพวกเขา และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ยังอยากมีชีวิตอยู่และสู้ต่อ
 
  • ติดตามเรื่องราวของ 3 ตัวแม่นักธุรกิจ “เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง” แห่งหมูทอดเจ๊จง  “เจ๊ง้อ-ณชนก แซ่อึ้ง”  ผู้ก่อตั้ง ครัวเจ๊ง้อ   และ “เจ๊เช็ง-กรภัคร์ มีสิทธิตา” แห่ง ฟาสเทคโน ผู้ผ่านชีวิตและการต่อสู้มาอย่างสาหัส แต่พวกเธอฟันฝ่ามันมาได้ ด้วยยาใจที่ชื่อ “ลูก”
 
  • ประสบการณ์ในชีวิต กลั่นกรองเป็น “คำแม่สอน” ที่ให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ และเดินห่างจากทางที่แม่พลาด โดยหวังว่าลูกๆ จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง  ไม่ต้องพานพบชีวิตที่ยากลำบาก และวิกฤตสุดสาหัสเหมือนรุ่นแม่






 
       “จงช่วยคนที่ลำบาก และอย่าเอาเปรียบใคร”
       คำแม่สอนฉบับ “เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง”
 

     
        เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง
คือเจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง  หมูทอดร้อยล้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังย่านคลองเตย เจ๊จงเคยผ่านชีวิตที่สาหัสสากรรจ์ เป็นหนี้เป็นสิน มีปัญหาครอบครัว แถมยังต้องอยู่แยกกับลูกๆ โดยลูกสาวคนโตต้องไปอยู่กับย่าตั้งแต่ 3 ขวบ ลูกชายคนเล็กแยกไปอยู่กับสามีที่เลิกรากัน ตัวเองอยู่กับลูกสาวคนที่สองที่ยังติดแม่ เธอบอกว่าทำงานเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่เป็นไร แต่การที่ลูกไม่อยู่กับเรามันทำใจไม่ได้ เธอบอกว่า ครั้งหนึ่งเคยคิดจะไปทำงานเมืองนอกเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ด้วยซ้ำ แต่ก็รู้ว่าคงไปไหนไม่ได้  เพราะการต้องห่างจากลูกมันเจ็บปวด


       “ถ้าเจ๊ไป ใจเจ๊ต้องขาดแน่ๆ” เธอว่า






       สุดท้ายจึงตัดสินใจไปรับลูกชายคนเล็กกลับมาอยู่กับตัวเอง ส่วนลูกสาวที่อยู่กับย่าพอเรียนจบก็รับมาทำงานด้วยกัน จากจุดนั้นเองที่ทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นสู้อีกครั้ง และพยายามทำทุกอย่างให้ดีขึ้น  ยอมอดให้ลูกอิ่ม เพื่อเอาตัวเองให้รอดพ้นจากวิกฤต และนำพาครอบครัวให้ไปสู่ชีวิตที่ดีกว่านี้ให้ได้


        เจ๊จงบอกว่าเธอเลี้ยงลูกแบบให้อิสระ เลี้ยงเหมือนเพื่อน ไม่เคยบังคับว่าต้องเรียนอะไร เรียนที่ไหน หรือต้องมาช่วยธุรกิจครอบครัวในวันหนึ่ง เพียงแต่จะทำให้ลูกเห็นว่าธุรกิจของแม่เป็นแบบนี้ ทำแล้วจะได้อะไร ซึ่งทุกวันนี้ลูกๆ ทั้ง 3 และลูกบุญธรรมอีก 1 ก็มาช่วยสานต่อธุรกิจหมูทอดเจ๊จงกันทุกคน


       คำแม่สอนที่เจ๊จงมักจะบอกลูกๆ เสมอ คือจงช่วยคนที่ลำบาก รู้จักแบ่งปัน และไม่ให้เอาเปรียบคนอื่น


       “สิ่งที่พยายามปลูกฝังลูกๆ คือเขาต้องรู้จักแบ่งปัน พยายามให้ลูกเห็นว่า คนลำบากกว่าเรายังมีอีกเยอะ อย่างลูกชายบุญธรรมเจ๊ ตอนน้ำท่วมปี’54 เขาเปิดร้านอาหารแล้วย่ำแย่มาก ตอนนั้นหมดเนื้อหมดตัว พอมาช่วงโควิดเขาขายของได้และขายดีกว่าปกติด้วยซ้ำ เจ๊ก็คุยกับเขาว่า เห็นไหมว่าตอนสมัยน้ำท่วมเราลำบากขนาดไหน แล้วตอนนี้เราไม่ลำบากใช่ไหม แต่มีคนอื่นที่ลำบากกว่าเราอีกเยอะ ฉะนั้นไปดูสิว่าเราพอจะช่วยใครได้บ้าง อย่างน้อยก็ช่วยเขาไป เจ๊เชื่อว่าเรื่องพวกนี้มันทำให้เราอยู่กันได้ ถ้าเราไม่โลภ และรู้จักการแบ่งปัน


        สมัยก่อนเจ๊เคยขายข้าวแกงบุฟเฟต์ แล้วมีสองแม่ลูกมากิน ลูกกินเก่งมาก สองจานไม่อิ่ม ส่วนแม่เขาก็บอกว่าเขากินไม่คุ้มเลย เจ๊เลยบอกว่าโอเคถ้าคิดว่ากินไม่คุ้มก็ไม่ต้องจ่าย จ่ายเฉพาะของลูกก็พอ แล้วเขาก็จ่ายเจ๊แค่ 20 บาทของลูกจริงๆ  ปรากฏมีอีกคู่หนึ่งหนักกว่านั้น คือแม่มากินคนเดียวแล้วแอบป้อนข้าวให้ลูกด้วย ซึ่งลูกเขาก็อยู่มัธยมแล้ว เจ๊ก็แอบคิดอยู่ในใจว่าทำไมเขาถึงเอาเปรียบฉันขนาดนี้ แต่พอได้คุยกันถึงได้รู้ว่า เขาก็ลำบากต้องเลี้ยงลูก 4 คน เลิกกับสามี แล้วเขาไม่มีจริงๆ หลังจากนั้นมาเจ๊ไม่เคยคิดอีกเลย มากินเลยกินให้อิ่ม ไม่มีจ่ายก็ไม่ว่า เจ๊คิดแค่ว่าถ้าคนมีเขาคงไม่อะไรกับเราหรอก แล้วก็ไม่ได้ว่ามาสิบคนแล้วจะเป็นแบบนี้ทั้งสิบคนเสียเมื่อไหร่  บางวันมีแค่คู่เดียว มันจะขาดทุนซะขนาดไหนกันเชียว” เจ๊จงเล่า






       อีกเรื่องที่เจ๊จงให้ความสำคัญ และนำมาเป็นคำสอนลูกคือไม่ให้เอาเปรียบคนอื่น เพราะเราเองก็ไม่ชอบให้ใครเอาเปรียบ ฉะนั้นจงอย่าเอาเปรียบใคร ซื่อสัตย์ และให้ใจกัน


       “เวลาเกิดวิกฤตเจ๊รู้ว่าจุดนั้นมันสาหัสแค่ไหน แต่เราต้องแยกให้ออกว่า งานคือส่วนหนึ่งที่เราต้องทำ ต้องดิ้นรน มีภาระจะต้องใช้หนี้เขา แต่เราก็ต้องใส่ใจลูกๆ ด้วย เจ๊จะเป็นคนที่พยายามทำให้ลูกรู้อยู่เสมอว่าเรารักเขา แล้วสุดท้ายเจ๊ก็คิดว่าพวกเขาก็ต้องรักเราเหมือนกัน เอาภาษาหยาบๆ ของเจ๊ก็คือ กูโคตรรักพวกมึงเลย แต่เชื่อว่าพวกมึงก็ต้องรักแม่ เจ๊จะพูดอย่างนี้ เวลาเกิดปัญหาอะไรเราจะคอยปกป้องเขา คอยช่วยเขา  ให้เขารู้ว่าทุกอย่างเราทำเพื่อเขาจริงๆ
ทุกวันนี้เจ๊เตรียมตัวอยู่เสมอว่าวันหนึ่งอาจจะไม่มีเจ๊ เพราะเราไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้เราจะยังอยู่ไหม หรือว่าชั่วโมงข้างหน้าเจ๊อาจจะจากไปแล้วก็ได้ แต่ก็เชื่อว่าลูกๆ ต้องอยู่กันได้ เพราะสิ่งที่เราทำเขามองเห็น  มีบ้างที่อาจไม่เหมือนแม่ แต่เขาพยายามมีแม่อยู่ในนั้น เท่านี้ก็พอใจแล้ว”
 




 
      “ชีวิตผิดพลาดได้ แต่ต้องเรียนรู้และแก้ไข”
        คำแม่สอนฉบับ “เจ๊ง้อ-ณชนก แซ่อึ้ง”
 


        เจ๊ง้อ-ณชนก แซ่อึ้ง  ผู้ก่อตั้ง ครัวเจ๊ง้อ  คือหญิงสู้ชีวิตที่ใช้อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า ทำซาลาเปา จนมาขายอาหารเลี้ยงดูลูกๆ 5 ชีวิต ถึงเจ๊ง้อจะมีชีวิตที่ยากลำบาก ความรู้ไม่มีเพราะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็พยายามส่งเสียลูกๆ ให้ได้รับการศึกษาที่ดีทุกคน โดยลูกชายส่งเรียนกรุงเทพคริสเตียน ส่วนลูกสาวส่งเข้าอัสสัมชัญคอนแวนต์ เพื่อให้มีความรู้ที่ดี มีเพื่อนและสังคมที่ดี





        เจ๊ง้อไม่เคยบังคับลูกๆ ให้มาสานต่อธุรกิจ เพราะกิจการครัวเจ๊ง้อมีหุ้นส่วนที่ทำด้วยกันมาช่วยบริหารอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงเลือกให้อิสระลูกๆ ได้ทำในสิ่งที่ชอบ โดยปัจจุบันมีลูกสาว 2 คนที่มาดูแลครัวเจ๊ง้อ คือ “ลินดา” ลูกสาวคนโต และ “นุสรา” ส่วนลูกชายคนโตแยกไปทำสวนส้มโออย่างจริงจัง  ลูกชายคนรองที่เคยดูแลสาขารัชดาเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนคนเล็กแม้จะทำอาหารอร่อยเหมือนแม่ แต่เลือกไปขายเสื้อผ้าอยู่แถวประตูน้ำ
               

        เจ๊ง้อเป็นคนขยัน อดทน ชอบสอนลูกๆ โดยทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เช่น การเลือกดูแลกิจการด้วยตัวเองในทุกขั้นตอน ทุกเช้าตื่นไปจ่ายตลาด เลือกวัตถุดิบที่ดี ใช้ของสด มีคุณภาพ ไม่เอาเปรียบลูกค้า ทำดีให้เห็นเป็นตัวอย่าง
               

        “แม่ง้อชอบบอกว่า เวลาจะทำอะไรต้องใจเย็นๆ หากเกิดอะไรขึ้น หรือมีเหตุขัดข้องก็ให้ใช้สติในการแก้ปัญหา และต้องอดทน การดูแลคนจำนวนมากๆ หลายคนก็หลายจิตใจ ฉะนั้นเราต้องได้ใจทีมงานให้ได้ก่อน และต้องยอมรับข้อผิดพลาด มนุษย์ผิดพลาดได้แต่อย่าให้ผิดบ่อย ผิดครั้งหนึ่งก็ต้องเรียนรู้และแก้ไข เพราะถ้าผิดบ่อยๆ แปลว่าเราไม่ได้เรียนรู้ที่จะปรับปรุงแก้ไขอะไรเลย”




               

        “ลินดา บูรณะชน” ลูกสาวคนโตเจ๊ง้อ ผู้บริหารครัวเจ๊ง้อสาขากาญจนาภิเษก สรุปคำแม่สอนฉบับเจ๊ง้อให้เราฟัง
               

         ทุกวันนี้เจ๊ง้อ ไม่ได้เป็นเพียงแม่ของลูกๆ ทั้ง 5 แต่ทว่ายังเป็น “แม่ง้อ” ของพนักงานทุกคนที่ยังคงติดปากเรียกเธอว่าแม่มาจนถึงทุกวันนี้อีกด้วย 
 




               
       “ต้องวัดรอยเท้าให้ไกลกว่าแม่”
       คำแม่สอนฉบับ “เจ๊เช็ง-กรภัคร์ มีสิทธิตา”
 
           


       เจ๊เช็ง-กรภัคร์ มีสิทธิตา
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด เจ้าของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ “Fasttech”  คือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกๆ ทั้ง 3 คน จุดเปลี่ยนชีวิตของเธอเกิดขึ้นเมื่อวิกฤตปี 2540 สามีขอแยกทางแถมยังต้องแบกรับหนี้สินสูงถึง 129 ล้านบาท ขณะที่ลูกๆ “เอี่ยว-ธณายุ” , “อิ่ว-ธนกฤษ”  และ “เอิน-พะณิชา” อยู่ในวัยเพียงแค่ 12 , 6 และ 4 ขวบเท่านั้น
               

        ตอนนั้นเธอเจ็บจุกจนอยากฆ่าตัวตาย แต่ลูกๆ คือเหตุผลเดียวที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่และสู้ต่อ เธอรีบตั้งหลักสิ่งเดียวที่คิดในตอนนั้นคือทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกเรียนจบ และมีการศึกษาที่ดี เพราะนั่นคือสิ่งที่แม่อย่างเธอพอจะทำให้ลูกๆ ได้
               



       การผ่านชีวิตที่ยากลำบากทำให้เธอมีบทเรียนมากมายมาสอนลูก โดยเฉพาะวันหนึ่งเมื่อลูกสาว “เอิน-พะณิชา มีสิทธิตา” ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจนั่งเป็น MD ฟาสเทคโนในปัจจุบัน วันที่โควิด-19 เข้ามาเยือนประเทศไทย และสาหัสสากรรจ์ไม่แพ้วิกฤตที่แม่เคยเจอเมื่อปี’40


      “พี่จะบอกลูกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องไม่ไปตามกระแสคนอื่น ทำไมคนอื่นไม่ดีเราต้องไม่ดีไปด้วย ชีวิตเราถ้าคนอื่นไม่ดีเราต้องดี ดีเพราะอะไร เพราะเราลงมือทำ ไม่ใช่ดีเพราะดวงชะตาหรือนั่งรอฟ้าประทานพรมันไม่ใช่ พี่สอนลูกว่าอย่าอยู่นิ่ง อย่าอยู่เฉย คนอื่นไม่ดีแต่เราต้องดี อย่างตอนโควิด ทำไมคนที่ขายหน้ากาก ขายเจลแอลกอฮอล์เขาขายได้เป็นร้อยล้าน นั่นคือวิกฤตเป็นโอกาสของเขาใช่ไหม แล้วเราล่ะ สินค้าของเราดีอยู่แล้ว ทำยังไงให้คนเห็น ลองมาทำออนไลน์จริงจังดูไหม ซึ่งตอนนี้ลูกสาวก็มาทำออนไลน์เต็มตัว จ้าง Marketing จ้างทีมเข้ามาเป็นเรื่องเป็นราวมาก
               

       นอกจากเรื่องนี้สิ่งที่พี่สอนลูกอยู่เสมอคือ ต้องรู้จักกตัญญูและเป็นผู้ให้ สองสิ่งนี้คือสิ่งที่เชื่อว่าทำให้ตัวพี่เองผ่านวิกฤตมาได้  ไม่ว่าจะเป็นความกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และผู้ที่มีพระคุณต่อเรา เชื่อไหมว่ามันจะเป็นปาฏิหาริย์ที่กลับมาช่วยเราได้จริงๆ และต้องเป็นผู้ให้เท่าที่เราให้ได้ เพราะแม้วันที่เราลำบาก ก็ยังมีคนที่ลำบากมากกว่าเรา ฉะนั้นถ้ามีโอกาสต้องช่วยเหลือเขา


       ตามมาด้วยต้องขยัน ซื่อสัตย์ และอดทน ชีวิตจะไม่มีคำว่าจน ตอนลูกเรียนมหาลัย เวลาปิดเทอมถ้าเขาอยากได้เงินต้องลงมาช่วยงานจะได้ชั่วโมงละ 40 บาท ถ้าไม่ยอมลงไปเอาแต่เล่นคอมอยู่บนบ้านเขาก็จะไม่ได้เงิน และไม่ว่าจะทำอะไรเขาต้องใช้สติ อย่าใช้แต่แรง เพราะใช้แรงแต่ไม่มีสติสุดท้ายก็เจ๊งไม่ว่าจะทำอะไร พี่สอนเขามาแบบนี้”





       กรภัคร์ บอกเราว่า ลูกๆ ทั้ง 3 ต่างมีความถนัด ชีวิต และวิธีคิดที่ต่างกัน เป็น 3 คน 3 สไตล์ ซึ่งสิ่งเดียวที่เธอปรารถนาในตัวลูกๆ วันนี้คือ อยู่ได้ด้วยตัวเอง ทำได้ด้วยตัวเอง และวัดรอยเท้าให้ใหญ่กว่าแม่ให้ได้  


       “ทุกอย่างจะรอแต่แม่ไม่ได้ เขาต้องวัดรอยเท้าให้ใหญ่กว่าแม่ถึงจะเป็นคนเก่ง ไม่ใช่ว่าเกินกว่าแม่ไปแล้วแม่จะโกรธ ลูกต้องได้เกินกว่าแม่อยู่แล้วด้วยความที่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป พี่จะบอกลูกตลอดเลยว่า วัดรอยเท้าให้ไกลกว่าแม่แล้วอีกหน่อยลูกของเขาก็ต้องเก่งกว่าเขาเช่นกัน พี่เป็นเจเนอเรชั่นที่ 1 ลูกๆ เป็นเจน 2 ส่วนหลานๆ ก็เจน 3 ลูกๆ ของเขาเขาจะทำยังไงต่อ ก็ต้องคิดแบบเดียวกันนี้


      ถามว่าวันนี้พี่คาดหวังอะไรกับลูกๆ บ้าง พี่คาดหวังอย่างเดียวก็คือให้เขาทำธุรกิจแล้วอยู่รอดโดยไม่มีหนี้สิน โตในจังหวะและโอกาสที่เข้ามา แต่ถ้าจังหวะและโอกาสยังไม่มาอย่าไปกระเสือกกระสนเพราะยุคสมัยมันเปลี่ยน เอาที่เราพออยู่ได้และไม่เป็นหนี้เป็นสินยังไงเราก็มีความสุข เพราะเวลาเป็นหนี้มันทุกข์มาก บอกลูกเสมอว่าทำยังไงก็ได้จะทำน้อยทำมากขอแค่ยังได้ทำ แต่ทำแล้วอย่าเป็นหนี้ได้ไหม ทุกวันนี้มีบ้าน มีรถ มีโรงงาน มีธุรกิจ มีทุกอย่างแล้ว ถ้าเราไม่เว่อร์วังเราอยู่ได้แน่นอน”


       กรภัคร์ ฝากคำแม่สอนลูกไว้ในตอนท้าย แม่ผู้เคยผ่านวิกฤตมาอย่างสาหัส และยังอยากให้ลูกๆ ได้วัดรอยเท้าให้ไกลกว่าแม่
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย