“555 เปเปอร์พลัส” ร้านในตำนานเด็กยุค’90 รอดตายจากการถูกดิสรัป เพราะพลิกมาทำแพ็กเกจจิ้ง

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 
 


Main Idea
 
 
  • กว่า 20 ปีของการที่จดหมาย และการ์ดถูกแทนที่ด้วยอีเมล และอีการ์ด และสังคมได้ก้าวเข้าสู่ยุค Paperless ธุรกิจผลิตซองกระดาษและเครื่องเขียนถูกดิสรัป และ “555 เปเปอร์พลัส” ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบ
 
  • ไปดูกันว่าภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 3 แบรนด์เครื่องเขียนเก่าแก่ขวัญใจวัยรุ่นยุค’90 แห่งนี้ใช้กลยุทธ์อย่างไรในการปรับตัวจนทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในยุคดิจิทัล
 
 
               

     หากย้อนกลับไปยุค’90 เชื่อว่าวัยรุ่นสมัยนั้นที่ชมชอบการเขียนจดหมายจะต้องสรรหาซองและกระดาษเขียนจดหมายเข้าคู่กันมาใช้ ซึ่งแบรนด์ที่มีให้เลือกหลากหลายลวดลายมากที่สุดก็เห็นจะมาจากบริษัท 555 เปเปอร์พลัส นี่เอง แต่ทว่าเมื่อมาถึงจุดที่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่กระดาษ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเมื่อความนิยมในการส่งข้อความผ่านกระดาษถึงกันลดน้อยลง
                  

     “สุดารัตน์ เลิศสีทอง”
รองกรรมการผู้จัดการ 555 เปเปอร์พลัส ทายาทรุ่น 3 ของตระกูล เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในการรับมือกับคลื่นเทคโนโลยีที่เข้ามาในรูปอีเมล อีการ์ด ไปจนถึงยุค Paperless ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระดาษ สุดารัตน์ เล่าว่า คุณปู่ของเธอเริ่มต้นธุรกิจผลิตเครื่องเขียนและซองจดหมายภายใต้บริษัท “สีทอง 555” เมื่อราว 80 ปีก่อน โดยซองจดหมายที่ผลิตมีเพียงซองสีขาวเท่านั้น
               




     ต่อมาในรุ่นคุณพ่อของสุดารัตน์ ทายาทรุ่น 2 เข้ามาบริหาร ได้มีการปรับผลิตภัณฑ์ เพิ่มซองจดหมายหลากสีสัน ผลิตกระดาษเขียนจดหมาย ผลิตการ์ดอวยพร และเซ็ตกระดาษและซองจดหมายลายเดียวกัน พร้อมกับเปิดช็อปในห้างชื่อร้าน “555 เปเปอร์พลัส” สาขาแรกที่ห้างมาบุญครอง ก่อนขยายไปยังห้างอื่นอีกหลายสาขา เป็นที่นิยมชมชอบของวัยรุ่นสมัยนั้น
               

     กระทั่งเข้าสู่ยุคการบริหารของทายาทรุ่นที่ 3 ประกอบด้วยลูกๆ ทั้ง 4 คน สุดารัตน์เริ่มมองเห็นกระแส Disruption จากการที่ผู้คนหันไปใช้อีเมลและอีการ์ด ซึ่งกระทบต่อธุรกิจผลิตซองจดหมาย กระดาษเขียนจดหมาย และการ์ดอวยพรแน่นอน เธอจึงเริ่มมองหาสินค้าใหม่ที่จะมาทดแทน ด้วยความที่จบมัณฑนศิลป์ ทำให้สุดารัตน์มีพื้นฐานในการออกแบบ และสามารถนำองค์ความรู้มาต่อยอดธุรกิจ โดยเล็งที่กล่องของชำร่วย กล่องของขวัญ และกล่องสำเร็จรูป
               

     “ที่ผ่านมา บางคนเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วนิ่งเฉย เพราะคิดว่าไม่กระทบเป็นการมองเข้าข้างตัวเองคิดว่า สู้กระแสได้ คิดเข้าข้างตนเองว่าสามารถทานกระแสได้แต่สุดท้ายวันนี้กระดาษเขียน การ์ด กลายเป็นของสะสมเป็นนิชมาร์เก็ต ซึ่งในการทำธุรกิจไม่สามารถจะอยู่รอดได้หากรายได้ลดลง คนที่อยู่รอดได้ต้องปรับตัวก่อน เห็นเทรนด์ที่กำลังมาและกำลังจะหายไปได้ก่อนคนอื่น” สุดารัตน์สะท้อนมุมคิด
               



     จากกล่องของขวัญสำเร็จรูป ก็มีการขยายมาผลิตกล่องขนมและกล่องอาหาร โดยคิดว่าถ้าลูกค้ามีสินค้าและจะจ้างผลิตกล่องจากโรงงาน ก็จะต้องจ้างผลิตจำนวนมาก 555 เปเปอร์พลัสจึงทำกล่องขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ผลิตสินค้าต่างๆ ออกมาจำหน่าย ซึ่งกล่องสำหรับใส่ขนม ทางบริษัทผลิตมานานเกือบ 10 ปีแล้ว แต่มาเป็นกระแสขายดีเนื่องจากเกิดวิกฤตโควิด ช่วงที่ผู้คนกักตัวเองที่บ้าน ก็เริ่มทำขนม ทำอาหารเพื่อแจกหรือขายมากขึ้น
               

     อย่างไรก็ตาม  แม้ยอดขายกล่องในช่วงโควิดจะดี แต่โดยภาพรวมของ 555 เปเปอร์พลัสได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เพราะทุกอย่างหยุดนิ่ง ไม่มีอีเวนต์ ไม่มีสัมมนา จนปลายเดือนมีนาคมประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ร้าน 555 เปเปอร์พลัส ทั้ง 8 สาขา ในห้างก็ต้องปิดชั่วคราว แทบไม่มีรายได้เข้ามา
               

     “ตั้งแต่เริ่มทำงานในปี 2540 มาไม่เคยเผชิญกับภาวะแบบนี้ ไม่ว่ายอดขายตกลงแค่ไหนแต่ไม่ถึงขั้นยอดขายเป็นศูนย์ เป็นครั้งแรกที่ร้านทุกสาขาปิดพร้อมกันเพราะอยู่ในห้างสรรพสินค้า ส่วนช่องทางออนไลน์มีอยู่แล้ว แต่ช่วงแรกๆยอดขายช่องทางออนไลน์ไม่ได้ขึ้นมาเยอะเพราะคนยังนิ่งๆ งงๆ กันอยู่”
               




     กระทั่งปลายเดือนเมษายนต้นเดือนพฤษภาคมเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเข้ามาเมื่อยอดขายในช่องทางออนไลน์บูมขึ้นมา สุดารัตน์ วิเคราะห์ว่า พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปเริ่มทำขนมของกินกันมากขึ้น และใช้ช่องออนไลน์ในการสั่งซื้อสินค้า ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อทางออนไลน์ของบริษัทเพิ่มขึ้น 30-40 เปอร์เซ็นต์
               

     อย่างไรก็ตาม สุดารัตน์ ระบุว่า แนวทางการทำธุรกิจหลังโควิด ต้องปรับตัวมากขึ้น แม้ว่ายอดขายออนไลน์เข้ามาเยอะแต่กำไรไม่ได้เยอะมากเพราะการแข่งขันรุนแรงทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่แข่งจากประเทศจีน ทำให้ขายในราคาเดิมไม่ได้จึงต้องพยายามทำให้ต้นทุนถูกที่สุด
               

     “จากเดิมที่มองว่าต้นทุนเป็นเรื่องของตัววัตถุดิบ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกคนมีความสามารถในการลดต้นทุนได้ทั้งการจัดการไม่ใช่โยนไปที่ตัววัตถุดิบอย่างเดียว ทุกส่วนทุกคนสามารถมีส่วนในการลดต้นทุนหมด อะไรที่ไม่เคยทำก็ต้องทำ เช่น การไลฟ์สดขายสินค้าแทนที่จะรอตอบคำถามจากลูกค้าเท่านั้น และต้องยอมลดกำไรลงเพื่อให้ยอดขายได้เท่าเดิมด้วยการจัดโปรโมชั่นกระตุ้น ที่สำคัญต้องเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานว่าทุกคนต้องทำได้ เพื่อให้มีรายได้เข้ามาเลี้ยงองค์กร “
               




     หลังเผชิญมรสุมโควิด สุดารัตน์ ได้ประชุมพนักงานเพื่อระดมสมอง วางแนวทางในการปรับตัวรับมือกับวิกฤตที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจแบบถอนรากถอนโคน “เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไปสู่สังคมออนไลน์มากขึ้น ฉะนั้นต้องปรับเปลี่ยนการทำงานที่ตอบสนองกับความต้องการลูกค้ามากขึ้น เร็วขึ้น ช่วยลูกค้าให้สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะถ้าลูกค้าทำขนมอร่อยแล้วใส่กล่องธรรมดาขนมจะถูกซื้อไปกิน แต่ถ้าทำอร่อยแล้วกล่องสวย ขนมจะถูกซื้อเป็นของฝากด้วย”
               

     ล่าสุด 555 เปเปอร์พลัส กำลังเตรียมเพิ่มบริการออกแบบและพิมพ์สติ๊กเกอร์ติดบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ลูกค้าที่สั่งซื้อกล่องกับบริษัทอยู่แล้วสามารถใช้บริการแบบครบวงจร ไม่ต้องแยกสั่งกระจัดกระจาย แนวคิดนี้เกิดจากความต้องการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาลูกค้าเกี่ยวกับการดีไซน์ เช่น โลโก้แบบนี้เหมาะกับแพ็กเกจแบบไหนที่จะทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น
               

     สุดารัตน์ได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจของ 555 เปเปอร์พลัส ว่าประกอบด้วยการไม่หยุดนิ่ง และต้องมองเทรนด์ให้ออก เช่น เมื่อเริ่มเห็นแล้วว่าคนเริ่มไม่ใช้กระดาษเขียนจดหมายแล้วหันไปส่งอีเมลแทนก็ต้องพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากที่สุด
               




     นอกจากนั้นยังต้องคิดหรือมองในมุมของลูกค้า เอาใจเขามาใส่ใจเรา หากลูกค้ามีข้อข้องใจเกี่ยวกับสินค้า เช่น ไม่แน่ใจว่าบราวนี่อบในถาดขนาด 7x8 นิ้วจะต้องตัดกี่ชิ้น และบรรจุกล่องขนาดเท่าใด พนักงานควรมีข้อมูลและสามารถตอบคำถามได้อย่างหมดจด ทั้งยังให้ความช่วยเหลือลูกค้าในการต่อยอดธุรกิจ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแพ็กเกจจิ้งเพื่อให้สินค้าโดดเด่นและดึงดูดใจผู้ซื้อขึ้น รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้ลูกค้าด้วย และสุดท้ายพัฒนาทีมงานให้ก้าวไปพร้อมๆ กันเพราะการทำงานเป็นทีมเวิร์กนั้นเป็นสิ่งสำคัญ
               

     และนี่คือตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจในตำนาน ที่ไม่อยากถูกกลืนหายไปในวันโลกเปลี่ยน
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​