สถาบันอาหารชี้ทาง SME ติดอาวุธนวัตกรรม นำอาหารไทยเกาะเทรนด์ Future Food

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea           
 
 
  • การนำนวัตกรรมมาเป็นหนึ่งในส่วนผสมของธุรกิจอาหาร จะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถตอบโจทย์เทรนด์โลกที่กำลังต้องการอาหารอนาคต (Future Food) ที่ออกแบบโภชนาการหรือคุณลักษณะพิเศษเพื่อผู้บริโภคแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ
 
  • อาหารเดลิเวอรียังมีโอกาสไปต่อ แต่ต้องเพิ่มเติมองค์ประกอบบางอย่างให้อร่อย สะดวก ขนส่งง่าย กินแล้วสุขภาพดี หาก SME ทำได้จริง รับรองว่ามีอนาคต มาติดตามเรื่องนี้ไปพร้อมกัน!


 
 
      ในช่วงเวลาวิกฤต อุตสาหกรรมหนึ่งที่เติบโตอย่างโดดเด่นสวนกระแส หนีไม่พ้นอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่คนจำเป็นต้องบริโภคเพื่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะบรรดาอาหารกระป๋อง เช่น อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง รวมทั้งอาหารพร้อมทานและอาหารแช่แข็ง ที่ได้รับความนิยมสูงในการเป็นเสบียงในช่วงกักตัวอยู่กับบ้าน


     แต่ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างค่อยๆ คลี่คลายคืนสู่ภาวะปกติ “อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์” ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร แนะนำให้ SME มองให้ไกลกว่าเดิม โดยยกระดับอาหารที่มีให้เป็นอาหารอนาคต (Future Food) หรืออาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ โดยมีวัตกรรมเข้าไปเป็นหนึ่งในส่วนผสม ซึ่งโลกกำลังเคลื่อนไปในทิศทางดังกล่าว ทางสถาบันอาหารเองก็พร้อมที่จะนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุน SME อย่างครบวงจร





     “ทุกวันนี้ผู้คนห่วงใยสุขภาพมากขึ้น Future Food  จึงเป็นโอกาสของ SME ผู้ประกอบการตัวเล็กที่คล่องตัว และปรับเปลี่ยนตัวเองได้เร็ว กลุ่มอาหารที่น่าสนใจคือ Functional Food  หรือการออกแบบอาหารที่มีคุณสมบัติหรือโภชนาการเฉพาะเพื่อผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เช่น อาหารสร้างภูมิต้านทานโรค โดยใส่กระชายขาวที่มีฤทธิ์ต้านโควิด-19 ลงไป อาหารเพื่อการชะลอวัย อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ทารก หรือแม้แต่ซิงเกิลมัม ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในต่างประเทศ เป็นอาหารให้พลังงานสูง สำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทั้งทำงาน เลี้ยงลูก ดูแลบ้านคนเดียว แต่ในเมืองไทยอาหารกลุ่มนี้ยังมีน้อยอยู่


     นอกจากนี้ ยังมีอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคต่างๆ อย่างโรคที่เกี่ยวข้องกับไต ตับ คอเลสเตอรอลสูง ฯลฯ เช่น อาหารแคลอรี่ต่ำ ปราศจากน้ำตาล ทางสถาบันเคยพัฒนาเมนูอาหารที่ใช้ไข่ขาวออกมา เพื่อให้ผู้ป่วยทำรับประทานที่บ้าน SME ก็สามารถต่อยอดทำเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)  ดูได้  โดยไม่ต้องทำเยอะ แต่ได้มาก เช่น ทอดมันกุ้งไข่ขาว สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการเพิ่มโปรตีน โดยทำเป็นสินค้าที่ทำง่าย ทานง่าย เก็บรักษาได้นาน” ผอ.สถาบันอาหารชี้โอกาส





     ปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีหัวคิดสร้างสรรค์ หรือกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านฝีมือดี ลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ทำอาหารขาย โดยใช้กลไกการเดลิเวอรีและสื่อออนไลน์ในการขายโดยไม่ง้อหน้าร้าน ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในสายตาของผู้อำนวยการอนงค์มาโดยตลอด เธอเสริมว่า หากคิดจะเติบโตและอยู่ยาวในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะสร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยต่างๆ และแม้แต่สถาบันอาหาร ก็มีบริการที่พร้อมช่วย SME หน้าใหม่สร้างนวัตกรรมลงไปในอาหาร


     “อีกโมเดลที่น่าสนใจที่กำลังเป็นเทรนด์นิยมในต่างประเทศคือ การสร้างพื้นที่ครัวที่เรียกว่า Shared Kitchen เพื่อให้คนมีฝีมือด้านการทำอาหารได้เช่าใช้กัน โดยครัวผลิตอาหารนั้นผ่านการตรวจสอบด้านสุขลักษณะที่ดีตามมาตรฐาน GMP มีแอปลิเคชั่นจองเวลา จองวัตถุดิบให้เสร็จ แทนที่ผู้ประกอบการจะอยู่หลังบ้าน ก็ไปที่ครัวกลางที่ได้มาตรฐานในชุมชน ประกาศทางออนไลน์เลยฉันจะมาทำผัดไทยวันนี้ เวลานี้ ใครอยากออเดอร์ก็สั่งเข้ามาได้ พร้อมส่ง ก็เป็น Business Model ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงขาขึ้นของฟู้ดเดลิเวอรี่”





     ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าอาหารนั้นมีหลากหลาย นอกเหนือจากความอร่อยสูตรใครสูตรมัน หัวใจสำคัญที่ SME ควรคำนึงถึงทุกครั้งในการพัฒนาสินค้าประเภทนี้คือ สุขภาพ และ ความสะดวก อาหารที่มีอนาคตต้องช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่สำคัญต้องกินสะดวก เป็นสินค้ากลุ่ม Ready to eat, Ready to cook เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง ผู้อำนวยการอนงค์แนะให้ผู้ประกอบการลองนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่า ใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยถนอมอาหาร และคุณลักษณะพิเศษ เป็นการขยายอายุอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น โดยที่คุณภาพอาหารก็ต้องรักษาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง


     “อีกสิ่งที่ SME ต้องคำนึงถึงคือ บรรจุภัณฑ์ ยุคนี้เราใช้วิธีการขนส่งเดลิเวอรีค่อนข้างมาก ดังนั้นแพ็กเกจจิ้งนอกจากต้องสวยงาม มีข้อมูลโภชนาการพร้อมมูล ยังต้องแข็งแรงแน่นหนาพอสมควร เวลาขนส่งไปไหน กล่องต้องไม่บุบ และรักษาสภาพอาหารข้างในไว้ได้ และอาจต้องคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแพ็กใหญ่ เพราะผู้บริโภคคงไม่ได้ออกมานอกบ้านบ่อยๆ เหมือนสมัยก่อน





     ขณะเดียวกันเครื่องปรุงรสก็จำเป็น SME ควรพัฒนาซอสปรุงสำเร็จรูปในซองเดียว เช่น ซอสผัดไทย ซอยผัดกะเพรา ขายคู่ไปกับสินค้าที่เป็น Ready to cook เพื่อให้ง่ายต่อการทำอาหารกินเอง กรณีผู้บริโภคยังไม่มั่นใจอาหารข้างนอก อย่างที่สถาบันอาหารเรามีการทำแกงเลียงฟรีซดราย เติมน้ำร้อนทิ้งไว้ 5 นาที ก็จะได้กินแกงเลียงรสชาติเหมือนต้นตำรับ เรียกว่าทุกอย่างต้องง่าย สะดวก อยู่ได้นาน เรื่องมาตรฐานห้ามต่อรอง”


     ส่วนใครที่มีไอเดีย หรือมีสูตรลับของบรรพบุรุษ อยากจะเติมนวัตกรรมทำให้เป็นอาหารอนาคต ก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาหรือใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่สถาบันอาหารได้ ผู้อำนวยการอนงค์พร้อมช่วยสานฝันให้กับ SME เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นฮับของ Future Food ในอาเซียน และติดหนึ่งใน 10 ของประเทศส่งออกอาหารโลกในอนาคต
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย