ฉีกตำรากู้วิกฤตฉบับ “เล้งเส็ง กรุ๊ป” ค้าส่งเมืองสกล ที่เกิดนวัตกรรมเพราะไวรัส

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand





Main Idea
 
 
  • ในบางครั้งการมาถึงของวิกฤตอาจทำให้บางธุรกิจถึงคราวล่มสลาย แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ธุรกิจที่ดิ้นรนต่อสู้ ได้ค้นพบหนทางสว่างที่เหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับ “นกฟินิกซ์” ที่ก่อเกิดจากเถ้าถ่าน กลายเป็นธุรกิจที่สดใหม่และไฉไลยิ่งกว่าเก่า
 
  • เช่นเดียวกับ “เล้งเส็ง กรุ๊ป” ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเมืองสกลนคร ที่มีธุรกิจครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด มีเครือข่ายร้านค้ากว่าหมื่นร้าน วิกฤตโควิด-19 เหมือนเหรียญสองด้าน ที่อาจทำให้พวกเขาเกิดความกลัว แต่เวลาเดียวกันก็เห็นโอกาสที่จะได้ทำอะไรหลายอย่างซึ่งไม่เคยทำมาก่อน   
 
  • ที่มาของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดในวิกฤตไวรัส และกำลังต่อยอดโอกาสให้พวกเขาอย่างมากทั้งในวันนี้และอนาคต นวัตกรรมที่ว่าไม่ได้แค่ช่วยสร้างการเติบโตให้กิจการของตัวเอง แต่ทว่ายังเป็นเครื่องมือที่ทำให้ลูกค้าเติบโตอย่างแข็งแกร่งไปพร้อมกับพวกเขาด้วย
 
 
 
     “พายุลูกนี้มันโถมใส่เราทั่วถึงทุกคน ไม่แยกว่าคนแก่หรือคนหนุ่ม ไม่แยกธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ไม่แยกว่าอยู่จังหวัดไหน วิกฤตสมัยก่อนอาจจะกระทบแค่เมืองหลวงเป็นหลัก แต่วิกฤตรอบนี้ชัดเจนว่า..เราทุกคนโดนเหมือนกันหมด”


     “สมหวัง เดชศิริอุดม” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เล้งเส็ง กรุ๊ป ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่แห่งจังหวัดสกลนคร บอกการมาถึงของพายุลูกใหญ่ที่ชื่อ โควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจภูธรอย่างพวกเขาต้องหวาดตระหนก และรีบคิดหาวิธีรับมืออย่างเร่งด่วน เพื่อประคองธุรกิจหลักอย่างค้าส่งค้าปลีก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด มีเครือข่ายร้านค้ากว่าหมื่นร้านค้า ตลอดจนร้านนม ธุรกิจฟิตเนส สระว่ายน้ำ และสนามบอล ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างทั่วถึงและยุติธรรม ให้รอดพ้นจากภัยไวรัสครั้งนี้ให้ได้




 
วิกฤตคือเหรียญสองด้าน ใต้ความกลัวมี “โอกาส” ซ่อนอยู่เสมอ


     ท่ามกลางการตื่นตระหนกในวิกฤต สมหวังบอกว่า หนึ่งความจริงที่ได้เรียนรู้คือ สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่โควิด แต่คือ “พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน” ซึ่งเขาเชื่อว่าถ้าธุรกิจสามารถมองเห็น และยอมรับได้เร็ว ก็จะลดความเสี่ยงลงได้ ที่สำคัญจะมองเห็น “โอกาส” ที่ซ่อนอยู่ในนั้น


     “คงเหมือนที่เขาว่า รู้อะไรไม่เท่ารู้งี้ วันนั้นถ้าเรารู้ว่ามันจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้แล้วสต๊อกแมส สต๊อกเจลแอลกอฮอล์ไว้ วันที่โควิดมาเราขายระเบิดระเบ้อเลย เพราะฉะนั้นเหรียญมีสองด้านเสมอ ในวิกฤตย่อมมีโอกาส อย่างช่วงแรกที่โควิดมาสิ่งที่เรากลัวคือ เราจะขายของไม่ได้ แต่กลายเป็นว่าช่วงนั้นคนกักตุนสินค้า กลายเป็นของเราขายหมดจนไม่มีของขายให้ลูกค้า เราเลยเริ่มกลับมาตั้งหลักว่า ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมันยังมีมุมที่เรามองไม่เห็น เลยเรียกประชุมทีมงานแล้วกลับมานั่งวิเคราะห์ให้เห็นทุกมิติว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นมีอะไรที่เราต้องระวัง อะไรที่ต้องปรับ และอะไรที่ต้องเสริมเข้าไปอีกบ้าง”
 

     เขาเทียบให้พนักงานเห็นว่า ถ้าติดโควิคมีโอกาสตายสูงและเราไม่รู้ด้วยว่าโควิดมาจากไหน หน้าตาเป็นยังไง เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องกลัวตายก่อน ถ้ากลัวตายก็ต้องหาวิธีป้องกัน เพราะคนที่ไม่ตายคือคนที่ป้องกันไว้ก่อน ฉะนั้นวิธีง่ายๆ คือใส่แมส ล้างมือ ไม่เอามือไปจับตาจับจมูก กลับมาที่ธุรกิจ เมื่อทุกคนมีโอกาสติดโควิด เพราะฉะนั้นบริษัทก็มีโอกาสปิดเช่นกัน ถ้าอย่างนั้นเราอยากอยู่ในกลุ่มที่ปิดหรืออยู่ในกลุ่มที่รอด เขาโยนคำถามให้ทีมงานไปอย่างนั้น





     “ถ้าอยากรอดก็กลับมาคุยกันว่าเราจะทำยังไงให้รอด อย่างธุรกิจฟิตเนสที่ต้องปิดไป เด็กก็กลับมาบอกว่าหนูมีคอร์สสอน เรามาทำคอร์สออนไลน์ดูไหม จากนั้นเราก็แบ่งคน คนส่วนหนึ่งเราเอามาทำเรื่องค้าส่งเดลิเวอรี่ จาก B2B  (Business to Business) เราก็เริ่มทำ B2C  (Business to Consumer) ในจังหวัด เรารู้ว่าคนอยากอยู่บ้านใช่ไหม ไม่เป็นไรเราเลยพัฒนาไลน์แอดของเราขึ้นมาแล้วส่งของให้ถึงบ้านเลย โดยที่ใช้ทีมงานจากฟิตเนสนี่แหละมาช่วย เพราะทีมค้าส่งค้าปลีกเขามีงานเต็มอยู่แล้ว  ส่วนร้านกาแฟ มันต้องปิดบางส่วนเพราะคนต้องซื้อกลับบ้าน พอไม่ต้องมานั่งที่ร้านเราก็ลดคอร์สโดยปิดแอร์ปิดไฟในส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน  เปิดแอร์เฉพาะโซนที่ลูกค้ามารับของ ร้านนมก็ปรับเวลาในการทำงาน


     สุดท้ายทีมใหญ่ของเราคือค้าส่งค้าปลีก ผมถามว่าถ้าร่างกายต้องปิดแมส ล้างแอลกอฮอล์ แล้วธุรกิจเราต้องทำยังไง วันนี้ผมรับปากพนักงานทุกคนคือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราจะไม่ทิ้งกัน เพราะฉะนั้นผมจะเป็นธุรกิจในสกลนครธุรกิจสุดท้ายที่จะยืนอยู่กับคุณ ใครจะเลิกหรือไม่เลิกไม่รู้ ผมรู้แค่วันนี้เราต้องยืนอยู่ด้วยกัน เราต้องไม่ทิ้งกัน แต่ถ้าคุณจะไม่ให้ผมทิ้งหรือเราจะอยู่ด้วยกันได้ คุณก็ต้องมาช่วยผม”




 
โมเดลฝ่าวิกฤต ที่คิดจากพนักงาน


     แม้วิกฤตจะนำมาซึ่งความหวาดกลัวในช่วงแรก แต่เมื่อทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจในเป้าหมายเดียวกันได้แล้ว เขาบอกว่า เหมือนได้ค้นพบกับการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ทุกคนมีความเป็นทีมเวิร์ค และเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น และการแก้ปัญหามากมายที่ตามมา ก็เกิดจากการคิดหาแนวทางของพนักงานทั้งสิ้น


     โดยพวกเขาเริ่มลดคอสต์ที่ไม่จำเป็น และหาเงินสด (Cash Flow) เข้าบริษัทให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าในวิกฤต “กำไร” ไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับ “เงินสด” ทีมบัญชีของเล้งเส็งกลับมาวิเคราะห์ข้อมูลว่าตอนนี้พวกเขามีเงินสดเหลือเท่าไร หากกิจการต้องปิดไปจะสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกคนได้อีกกี่เดือน ฝ่ายบัญชีจึงทำหน้าที่ชี้สัญญาณเตือนภัยสำหรับทุกคน ขณะที่ทีมจัดซื้อต้องเข้าไปดูสต๊อกในบริษัท หาวิธีระบายของที่ค้างอยู่เพื่อหาเงินสดเข้ามาให้มากที่สุด จากนั้นโยนลูกไปที่ฝ่ายขายเพื่อให้รู้ว่าจะต้องขายอะไร และจะทำยังไงให้ขายของได้ และเปลี่ยนจากให้เครดิตร้านค้า มาเก็บเงินสดเข้าบริษัทให้มากขึ้น แนะนำให้ลูกค้าสต๊อกของน้อยลง  ในส่วนของทีมขนส่งและคลังสินค้า ก็ต้องช่วยกันบริหาร แท็กทีมกันทำงาน


     “ผมจะบอกเขาเสมอว่า วันนี้เงินที่ได้เข้ามาคือเงินเดือนของพวกคุณทุกคน ผมไม่รู้หรอกว่าวันไหนเขาจะประกาศให้เราปิด ฉะนั้นถ้าเราโกยเงินเข้ามาได้เยอะที่สุด ทุกคนจะรอดด้วยเงินก้อนนี้ และเราจะรอดไปด้วยกัน สิ่งที่เราทำก็คือเราให้ทุกทีมทำงานด้วยกัน เชื่อไหมว่าในช่วงโควิดกลายเป็นเราทุกคนรักกันมากขึ้น คุยกันเป็นทีมมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ที่สำคัญเราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เช่น วันนี้เรามี 12 จังหวัด เราก็ใช้โปรแกรมซูมมาประชุมกับสาขา คุยกันทุกวัน ทีมเราเริ่มเห็นเป้าหมายเดียวกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร และทุกคนรู้แล้วว่าเราต้องเอาตัวรอด”



 

แจ้งเกิดนวัตกรรมจากวิกฤตไวรัส


     จากจุดเริ่มต้นของการลดต้นทุน และคิดหาเงินสดเข้าบริษัท ทำให้พวกเขาเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาอีกเยอะมาก เช่น ทีมจัดส่งที่เริ่มวางแผนการส่งสินค้าเพื่อให้ทันเวลาเคอร์ฟิว จัดเตรียมของล่วงหน้า ทำงานเชิงรุก (Proactive) มากขึ้น มีระบบติดตามรถขนส่ง (Tracking)


     “กลายเป็นว่าวันนี้ตั้งแต่หน้าบ้านคือ หน้าร้านรวมถึงฝ่ายขาย บัญชี จัดซื้อ รวมถึงทางเราทำงานร่วมกัน จนเกิดนวัตกรรม อย่าง ขนส่งเขาสามารถวางแผนและติดตามได้เลย โดยเราเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีติดตามรถขนส่ง ว่าไปถึงไหนแล้ว เซลส์ก็จะได้รู้และบอกลูกค้าได้ว่าของไปถึงไหน อย่างไร รวมถึงจัดซื้อ หรือการเงินเอง ก็จะได้เริ่มวางแผนการจัดเตรียมสินค้าและเงินเข้าได้มากขึ้น”


     จากการเห็นออนไลน์มานานแต่ยังไม่ได้หยิบจับมาทำ เพราะเคยคิดแต่ว่าออนไลน์จะมาดิสรัปต์ธุรกิจออฟไลน์อย่างพวกเขา แต่วันนี้พวกเขาเลือกที่จะปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ เพื่อใช้เป็นสะพานเชื่อมโอกาสในวิกฤต โดยเริ่มเอาสินค้าของตัวเองเข้าไปวางอยู่ในแพลตฟอร์ม E-Marketplace จากเน้นลูกค้า B2B ก็เริ่มเอาเทคโนโลยีมาใช้กับลูกค้า B2C อย่างจริงจังขึ้น โดยใช้แพลตฟอร์มไลน์แอด  ให้ลูกค้าสามารถกดสั่งซื้อได้ แล้วมีเดลิเวอรี่ส่งถึงที่ ในส่วนลูกค้า B2B ที่เป็นฐานใหญ่ ก็เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มมาช่วยให้ร้านค้าสามารถกดสั่งซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงเข้าถึงรายละเอียดโปรโมชั่น และข้อมูลต่างๆ ที่พวกเขาอยากสื่อสารกับร้านค้าได้ง่ายขึ้น การทำงานกับสาขาก็ใช้เทคโนโลยีมาทำให้สื่อสารกันได้มากขึ้นแม้จะอยู่ไกล หรือแม้ประเทศไทยจะยังมีวิกฤตไวรัส



 
 
                ไม่ยอมตายแต่ขอเกิดใหม่อย่างนกฟินิกซ์


     เมื่อถามถึงอนาคต สมหวังบอกว่า เขามักจะถามตัวเองเสมอว่าธุรกิจจะสูญพันธุ์ในอีกกี่ปี เร็วหน่อยก็ 3-5 ปี ช้าหน่อยก็ 10 ปี แต่เขาเชื่อว่าธุรกิจสูญพันธุ์แน่ ถ้ายังอยู่นิ่งเฉย และวิกฤตอย่างโควิดนี่แหล่ะคืออัตราเร่งที่ทำให้รู้ว่า กำลังเข้าใกล้ความตายมากขึ้น


     “ผมบอกทีมงานว่าเรามีสองทางเลือกคือโตกับตาย แล้วเล่าให้เขาฟังว่า มันมีนกชนิดหนึ่งชื่อนกฟีนิกซ์ นกชนิดนี้ถึงวันนึงมันจะเผาตัวเองตายแล้ว แต่จะเกิดใหม่จากเถ้าถ่าน ซึ่งการเกิดครั้งนี้จะใหม่ขึ้น สดขึ้น และไฉไลยิ่งกว่าเดิม วันนี้เล้งเส็งเราจะเป็นมังกรที่จะเริ่มเผาตัวเองก่อน เราจะเลิกมองมิติเดิมๆ เราจะทำในสิ่งที่เรากลัว อย่างเรากลัวออนไลน์ฉะนั้นเราจะเข้าไปทำออนไลน์เพราะเราต้องการสดกว่าเดิม เราจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ส่วนทำยังไงให้ไฉไลขึ้น เราก็ต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เราต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไร แล้วตอบสนองให้ได้”


     เขาย้ำว่า เล้งเส็งอยู่ได้ด้วยร้านค้า ฉะนั้นสิ่งที่พวกเขาจะทำหลังจากนี้ คือพัฒนาแพลตฟอร์มให้ลูกค้าเอาไปใช้ ให้เทคโนโลยีไปช่วยลูกค้าได้ตรวจสุขภาพร่างกายตัวเอง  ทำให้คนที่เคยกลัวเทคโนโลยีมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะเชื่อว่าถ้าลูกค้าแข็งแรง เล้งเส็งก็จะแข็งแกร่งจตามไปด้วย


     “หลังจากนั้นเล้งเส็งต้องโกออนไลน์ หมายถึงเราจะมีช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงเรามากขึ้น ช่องทางจำหน่ายก็มีมากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ตอนนี้สิ่งที่เราทำคือพัฒนาระบบเพื่อตัวเอง เมื่อทำตัวเองให้แข็งแรงแล้ว เราก็ต้องเอาระบบนี้ไปช่วยให้ลูกค้าเราแข็งแรงไปกับเราด้วย เพราะถ้าเขาแข็งแรงก็ซื้อของผมได้มากขึ้น แต่ถ้าเขาต้องปิดไป ผมก็เหมือนขาหายไปข้างหนึ่ง”





     ในวันนี้ทุกคนล้วนเจอกับวิกฤต ความชอกช้ำที่ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม แต่เขายังย้ำว่า เหรียญมีสองด้านเสมอ และการมองสองด้านจะทำให้ทุกคนสามารถผ่านวิกฤตไปได้   


     “ผมจะย้ำเสมอว่าเหรียญมีสองด้าน ไม่อยากให้ทุกคนมองแค่ด้านบวกเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้เห็นทั้งสองด้านและเอาสิ่งที่เราเห็นนั้นมาตั้งสติและแก้ปัญหา โดยเราต้องกลัวก่อน ถ้าเราเอาความกลัวมาใช้มันจะเกิดประโยชน์มันจะมีพลังผลักดัน เพราะทุกคนจะรู้สึกว่ากลัวตาย กลัวเจ๊ง ฉะนั้นถ้าเราจะไม่ตาย เราต้องโต เราจะไม่เจ๊ง แต่เราต้องเจ๋ง เราก็จะเริ่มพัฒนาตัวเอง


     เราเป็น SME ตัวเล็ก เทียบไม่ได้กับรายใหญ่ในประเทศ สมัยก่อนเราเป็นปลาตัวเล็กเราอาจกลัวฉลาม แต่ถ้าวันนี้เราพัฒนาตัวเองให้เป็นปิรันย่า เหลาฟันของเราให้แข็งแรง และสร้าง Network ให้แข็งแกร่ง เมื่อนั้นเราจะกลายเปลี่ยนเป็นฝูงปิรันย่า แม้เจอฉลามเราก็รอด แต่การอยู่รอดครั้งนี้ไม่ใช่อยู่รอดแบบเดิม แต่เป็นการอยู่รอดโดยที่เราดิสรัปต์ตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาดิสรัปต์ให้เราตาย เราเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ เปลี่ยนจากต่างคนต่างอยู่มาเป็นร่วมมือกัน พัฒนาไปด้วยกัน กลายเป็นฝูงปิรันย่าที่น่ากลัวกว่าฉลาม และไม่ใช่แค่อยู่รอด แต่เราจะอยู่ได้ดีด้วย” เขาสรุปในตอนท้าย
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น