Swensen’s ไอศกรีมแฟรนไชส์ระดับโลก ที่เกิดในสงครามโลกครั้งที่ 2

TEXT : กองบรรณาธิการ
 



Main Idea
 

5 ข้อที่ต้องรู้เกี่ยวกับไอศกรีม Swensen’s
 
  • ร้านไอศกรีม Swensen’s สาขาแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 2491 ณ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
 
  • “Earle Swensen’s” นายทหารเรือ คือ ผู้ให้กำเนิด โดยได้ทดลองทำไอศกรีมตั้งแต่ที่ยังเข้ารับราชการประจำการอยู่บนเรือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
 
  • เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2529 นำเข้าโดย “วิลเลียม อี.ไฮเนคกี้” ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
 
  • ปัจจุบันมีสาขาในไทยมากกว่า 300 แห่ง โดยแบ่งเป็นสาขาที่ลงทุนเอง 130 แห่ง และสาขาแฟรนไชส์ 170 แห่ง
 
  • รสชาติที่ขายดีตั้งแต่เริ่มต้น คือ รสวนิลา นอกจากนี้ Swensen’s ยังมีการพัฒนาและผลิตออกมาอีกกว่า 150 รสชาติทีเดียว
 
 
              
     ถ้าพูดถึงแบรนด์ร้านไอศกรีมที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้ หนึ่งในชื่ออันดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึงต้องมี “Swensen’s” ไอศกรีมแฟรนไชส์สัญชาติอเมริกันรวมอยู่ด้วยแน่นอน


     แต่รู้ไหมว่าต้นกำเนิดของไอศกรีมแสนหวานสุดพิเศษนี้ ที่มาไม่ได้หวานดังรสชาติที่ได้ลิ้มลองเลย เพราะเกิดขึ้นมาในสงครามโลกครั้งที่ 2


     ไอศกรีม + สงครามโลก มาเกี่ยวข้องกันได้ยังไง? ไปติดตามเลย





     จุดกำเนิดของไอศกรีม Swensen’s เริ่มต้นมาจาก “Earle Swensen’s” นายทหารเรือที่ได้เข้ารับราชการให้ประจำการอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเขาได้พบเครื่องทำไอศกรีมขนาดใหญ่อยู่บนเรือราวปี 2485 จึงได้ทดลองทำไอศกรีมรสชาติต่างๆ ออกมาแจกจ่ายให้กับเพื่อนๆ ทหารได้ลองชิม ถึงจุดนี้ถ้าลองนึกถึงชุดพนักงานในสเวนเซนส์ก็คงนึกออกว่ามีกลิ่นอายคล้ายกับชุดของกะลาสีเรือเช่นกัน


     โดยหลังจากปลดประจำการแล้ว เขาจึงได้มาเปิดร้านไอศกรีมของตัวเองขึ้นแห่งแรกที่หัวมุมถนน Union and Hyde เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2491 โดยได้นำนามสกุลมาตั้งเป็นชื่อร้าน





     จากความตั้งในการทำไอศกรีมออกมาให้ดี Earle จึงได้ตั้งคติในทำไอศกรีมของเขาเอาไว้ว่า “Good as Father Used to Make” หรือต้องทำให้ดีเทียบเท่ากับที่พ่อทำให้กินนั่นเอง โดยช่วงแรกที่เปิดร้านนั้นจะเป็นในลักษณะให้ซื้อกลับ ไม่ได้จัดพื้นที่ไว้ให้นั่งกินที่ร้าน กระทั่งต่อมาเมื่อเริ่มมีการเปิดขายแฟรนไชส์ จึงได้มีการปรับปรุงร้านใหม่ให้มีโต๊ะนั่งกิน รวมถึงเพิ่มเมนูอื่นๆ เข้ามาด้วย ไม่ได้มีแค่ไอศกรีมเพียงอย่างเดียว แต่มีอาหารกินง่ายๆ อย่างอื่นเข้ามาเสริมด้วย เช่น  แซนวิช และแฮมเบอร์เกอร์


     กระทั่งปี 2513 จึงได้ตัดสินใจขายกิจการโรงงานผลิตและร้านต่างๆ ให้กับนักลงทุน โดยเหลือไว้เพียงร้านดั้งเดิมที่ซานฟรานซิสโกเพียงแค่ 3 – 4 แห่งเท่านั้น





     หลังจากที่ Earle ได้เสียชีวิตลง ร้านไอศกรีม Swensen’s ที่แม้จะมีจุดกำเนิดมาจากอเมริกา ก็กลับมาเติบโตเบ่งบานอยู่ในประเทศโซนเอเชียเสียมาก โดยเฉพาะประเทศไทยเองที่ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 300 กว่าสาขานั่นเอง โดยกระจายตัวอยู่ในแทบทุกตัวเมืองในทุกจังหวัดของไทย ทั้งที่ลงทุนเองและสาขาที่เป็นแฟรนไชส์


     ซึ่งผู้ที่นำเข้ามา ก็คือ “วิลเลียม อี.ไฮเนคกี้” ชายชาวอเมริกันที่มาอาศัยอยู่ในเมืองไทยกับครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าธุรกิจแฟรนไชส์อาหารชื่อดังจากต่างประเทศ โดยเขาได้ติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์จากร้าน Swensen’s เข้ามาทำตลาดอยู่ในเมืองไทยเมื่อปี 2529 หรือเมื่อ 34 ปีที่แล้ว โดยเปิดตัวสาขาแรกขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว





     นอกจากบริหารร้าน Swensen’s ในไทยแล้ว บริษัท ไมเนอร์ฯ ยังได้รับสิทธิแฟรนไชส์ในการเปิดร้านไอศกรีม Swensen’s ในอีกกว่า 32  ประเทศทั่วทวีปเอเชียและตะวันออกกลางด้วย ซึ่งปัจจุบันขยายสาขาไปแล้วกว่า 5 ประเทศ คือ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และปากีสถาน   


     รสชาติไอศกรีมที่ขายดีที่สุดตั้งแต่เปิดร้านมาจนทุกวันนี้ของ Swensen’s ก็คือ รสวนิลา แต่ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนารสชาติอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วยมากกว่า 150 รสชาติทีเดียว





     โดยความสำเร็จตลอดระยะเวลากว่า 34 ปีที่ผ่านในไทยมาของ Swensen’s นั้น นอกจากรสชาติที่หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์แล้ว ต้องยอมรับว่าอาจเป็นเพราะฝ่ายผู้บริหารเองที่มีการปรับเปลี่ยนรสชาติของไอศกรีมให้เข้ากับรสนิยมของคนไทยมีการนำเอารสชาติที่คุ้นเคยและวัตถุดิบท้องถิ่นในประเทศเข้ามาใช้เพื่อดัดแปลงเป็นเมนูพิเศษต่างๆ อาทิไอศกรีมข้าวเหนียวมะม่วงและข้าวเหนียวทุเรียนที่วางขายประจำในทุกฤดูร้อนนั่นเอง


     และนี่คือ ที่มาของ Swensen’s แบรนด์ไอศกรีมแฟรนไชส์ระดับโลกที่เกิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแม้ปัจจุบันจะถูกเปลี่ยนมือและกระจายไปอยู่ในทั่วโลกมากเท่าไหร่ก็ตาม แต่รสชาติที่สืบต่อกันมาระยะเวลากว่า 70 ปีนี้ ยังคงเป็นไอศกรีมของ Swensen ชายผู้ให้กำเนิดตามชื่อที่ได้บัญญัติไว้ตั้งแต่เริ่มแรกนั่นเอง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง