ถอดบทเรียน ‘ฆ่าไม่ตาย’ ในแบบ CLASS Café ปรับตัวไวจนพ้นภัยทั้งไวรัสและพายุโนอึล

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย




 
Main Idea

How to ข้ามผ่านวิกฤตของ CLASS Café
 
  • ปรับมายด์เซ็ตยอมรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวทันที
 
  • ใช้นวัตกรรมพัฒนาโปรดักต์ ทั้งยืดอายุเครื่องดื่มและเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ
 
  • นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์และตัดสินใจในการทำการตลาดและทำโปรโมชันให้เหมาะสมกับแต่ละสาขา




      CLASS Café” เป็น SME ที่เติบโตด้วยวิธีคิดแบบ Startup โดยลงทุนขยายสาขาอย่างรวดเร็วจนมีถึง 30 สาขาในพื้นที่โคราช ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุดรธานี กรุงเทพฯ นครปฐม และระยอง แต่วิกฤตโควิด-19 ที่พัดโหมกระหน่ำทั่วโลกทำให้ “มารุต ชุ่มขุนทด” ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ CLASS Café ถึงกับออกปากว่า ปีนี้ยังไม่กล้าผลีผลามในเรื่องใดทั้งสิ้น แต่พยายามใช้เงินให้น้อยที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งแบบที่หากเจอเรื่องไม่คาดฝัน ธุรกิจก็จะยังสามารถคงอยู่ได้
              





      “เราปรับมายด์เซ็ต กระบวนการทำงานและโปรดักต์” มารุตบอกถึงวิธีการปรับตัวของธุรกิจ


      “เรามีมายด์เซ็ตแบบ Startup คือเป็นคนที่ปรับเปลี่ยนได้เร็ว ล้มเร็ว แล้วก็สามารถลุกขึ้นมาแล้ววิ่งต่อได้ทันที ฉะนั้น สิ่งแรกที่เราคิดคือถ้าสาขาจะต้องปิด เราก็ตัดใจปิดเลย 15 สาขา พอทำแบบนี้ทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสื่อสารกับทุกคนอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าเราช่วยกันก็จะสามารถไปรอดได้ กลายเป็นว่าทุกคนช่วยกันเสนอทุกวิถีทาง อะไรที่ทำได้เลยก็ลงมือทำทันที จึงเกิดเป็นกระบวนการใหม่ๆ เกิดขึ้น แล้วเราก็มีภาพที่อยากเป็น คนที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้” เขาเล่า



 
 
วิกฤตสร้าง “นวัตกรรม” และนวัตกรรมทำให้อยู่รอดในทุกวิกฤต
              

      ในขณะที่หลายคนอาจรอวันที่สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนโควิด-19 แต่สำหรับมารุตยอมรับว่าจากนี้จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นถ้าธุรกิจยังคงทำแบบเดิมหรือรอนักท่องเที่ยวให้กลับมา แล้วกู้เงินธนาคารมาอุดค่าใช้จ่ายทั้งหมด ท้ายที่สุดแล้วธุรกิจจะมีหนี้สินจำนวนมาก
              

      “พอไม่คาดหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม เราก็จะมีแรงสร้างสรรค์เรื่องใหม่ๆ ทำอย่างอื่นโดยไม่ต้องรอเวลา พอปรับตัวเองได้กลายเป็นว่า ไม่ใช่แค่รอดแล้ว แต่เรายังมีธุรกิจใหม่ที่ทำให้มีแรงขับเคลื่อนมากขึ้นอีกด้วย” เขาบอกโอกาส
              

      ผลลัพธ์ที่เริ่มต้นจากความคิดนั้น ทำให้วันนี้ CLASS Café ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในด้านสินค้าและกระบวนการทำงานใหม่ๆ ที่ทำให้สามารถอยู่รอดในช่วงวิกฤตที่ไม่ได้หมายถึงแค่โควิด-19 เท่านั้น
              





      เริ่มจากด้าน Food Innovation โดยยืดอายุโปรดักต์คือกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชาไทย ชาเขียว โกโก้ จากเดิมที่ลูกค้าต้องดื่มทันที กลายเป็นสามารถเอากลับไปใส่ตู้เย็นที่บ้านแล้วอยู่ได้นานถึง 15 วัน และผลิตน้ำผลไม้ Cold Pressed  ที่สามารถเก็บได้นานถึง 45 วัน


      ขณะเดียวกันก็ปรับกระบวนการทำงานใหม่ โดยผลิตให้มากขึ้น จากเดิมทำกาแฟทีละแก้ว เป็นทำทีละ 1,000 ลิตร เปลี่ยนกระบวนการจากองค์ความรู้จากคาเฟ่ที่เป็น “ภาคบริการ” ให้กลายเป็น “ภาคโรงงาน”


      “เราทำให้โปรดักต์กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า COVID-Proof คือพร้อมจะรับมือโควิด เมื่อไรที่มีระลอกที่ 2 โปรดักต์ต้องพร้อมไปอยู่ที่บ้านของลูกค้าได้ทันที และเป็นสิ่งที่คนต้องตุนเอาไว้ ธุรกิจก็จะขับเคลื่อนไปได้ เราจะเป็นคนที่ไม่โดนคลื่นถล่ม แต่เป็นคนที่พร้อมเดินอยู่เสมอ”
 



 
บทเรียนจากโควิด-19 ถึงพายุโนอึน


      ที่ผ่านมา CLASS Café เป็นธุรกิจที่นำข้อมูล (DATA) มาใช้ประโยชน์และช่วยในเรื่องการตัดสินใจในธุรกิจอยู่ตลอดเวลา เช่น คนภายนอกอาจจะเห็นว่าร้านอาหารหรือคาเฟ่บางแห่งมีลูกค้าเยอะมาก แต่เมื่อดูข้อมูลจริงๆ ช่วงที่ขายดีมีเพียง 2 ชั่วโมงต่อวัน เท่านั้น ส่งผลต่อการคิดและตัดสินใจทำการตลาดโปรโมชันต่างๆ และหลังจากเผชิญกับโควิด-19 มารุตใส่ใจดูข้อมูลมากขึ้นไปอีก วิธีนี้เองทำให้เขาสามารถตั้งรับ “พายุโนอึล” ที่พัดเข้ามาถล่มภาคอีสานเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี


      เมื่อพายุเข้า ประชาชนไม่ออกจากบ้าน นั่นเท่ากับยอดขายที่คาเฟ่จะดำดิ่งลงทันที สิ่งที่ CLASS Café ทำคือออกโปรโมชันรับมือพายุ โดยมีทั้งสั่งล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชันแล้วให้ลูกค้าขับรถมารับโดยที่มีทีมงานถือร่มไปส่งกาแฟให้ถึงรถ หรือเดลิเวอรีไปถึงบ้าน รวมทั้งมีเครื่องดื่มแบบขวดให้ซื้อไปกักตุนไว้ได้ด้วย


      “เราคาดการณ์ล่วงหน้าหลังจากมีการเตือนว่าพายุจะเข้า 3 วัน เรารู้ว่าสาขาไหนจะได้รับผลกระทบ สาขาไหนที่ทำเลนั้นมักจะน้ำท่วม ฉะนั้นโปรโมชันจะปรับเปลี่ยนเป็นบริการที่เหมาะกับสาขานั้นๆ นี่คือการใช้ข้อมูลมาทำ Micro Promotion ของแต่ละพื้นที่ สาขาก็จะอยู่ได้เพราะแต่ละเมือง แต่ละที่มีบริบทไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับที่เรามีข้อมูลว่าช่วงนี้โคราชมีอีเวนต์อะไร กรุงเทพฯ มีอีเวนต์อะไร เราก็เอามาประมวลผลก็จะเกิดโปรโมชันใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างยอดขายใหม่ๆ ให้กับเราได้”





      แม้ว่าปีนี้ CLASS Café จะไม่ได้เพิ่มจำนวนสาขา แต่พวกเขาได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจด้วยมายด์เซ็ต นวัตกรรม และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพ ทำให้ก้าวต่อไปของธุรกิจหลังจากนี้มั่นคงยิ่งขึ้น


      กลายเป็นธุรกิจที่ฆ่าไม่ตาย แม้ในวิกฤตไวรัสหรือพายุสาดซัดก็ตาม
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน