รู้จัก GREENIQUE นักสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากของดีเพชรบูรณ์ ผู้แปลง “ความสุข” เป็นกำไรสู่ธุรกิจ

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : GREENIQUE
 
 
 

 
Main Idea


แนวคิดธุรกิจในแบบ “ไม่จำกัดความสุข”
 
  • นำของเหลือใช้ทางการเกษตร ตามแนวคิด Circular Economy  และวัตถุดิบจากท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า
 
  • ยกระดับผลิตภัณฑ์ไทยให้เป็นสินค้าคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สู่สายตาชาวโลก
 
  • เน้นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกไม่ทำร้ายโลกและสิ่งแวดล้อม
 
  • สร้างรายได้สู่ชุมชน เติบโตไปพร้อมสังคมและโลก
 
  • วัดความสำเร็จด้วยดัชนีความสุข ไม่ใช่ผลกำไรทางธุรกิจ   
 




               คนทำธุรกิจในยุคก่อนอาจมีกำไรสูงสุดเป็นเป้าหมาย มียอดขายและชื่อเสียงเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ แต่สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พวกเขามองหาความสุข และความหมายของชีวิต อยากทำธุรกิจที่ดีทั้งต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม อยากใช้กำลังเล็กๆ ของตัวเอง ทำสิ่งดีๆ ตอบแทนให้กับโลกใบนี้บ้าง    
              




     เช่นเดียวกับ GREENIQUE (กรีนีค) ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมเพื่อสุขภาพ บำรุงผิวกาย สมุนไพร และสปา จากเมืองมะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์  ผลงานของ “วันนิวัติ ดวงพัตรา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไม่จำกัดความสุข จำกัด ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความสุข และมีความสุขเป็นเป้าหมาย
 
 
เมื่อลูกหลานเมืองมะขามหวานกลับไปทำธุรกิจที่บ้านเกิด


     วันนิวัติ เกิดที่ จ.เพชรบูรณ์ หลังเรียนจบจากคณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาก็มีฝันเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป ที่อยากมาทำงานในเมืองหลวง อยากไปต่างประเทศ มีโอกาสทำงานในหลายๆ หน่วยงาน ทั้งในบริษัทการตลาดข้ามชาติ โรงแรม อีเวนต์ ธุรกิจขนส่ง ฯลฯ





     “ผมเองทำงานมาหลายอย่าง รู้สึกว่าทุกอย่างล้วนมีข้อจำกัดในชีวิต เลยมองว่าความสุขที่แท้จริงน่าจะเป็นอะไรที่กลับมาสู่พื้นฐานรอบๆ ตัวเรา ณ จุดที่ตัวเรายืนอยู่  เพราะความสุขมันน่าจะไม่มีข้อจำกัดไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เลยอยากหาธุรกิจที่ตัวเองชอบทำที่บ้านเกิดใน จ .เพชรบูรณ์ จึงเป็นที่มาของ บริษัท ไม่จำกัดความสุข จำกัด” เขาเล่า


     หลายคนอาจเริ่มธุรกิจจากการเห็นโอกาส แต่วันนิวัติบอกเราว่า สำหรับเขาเริ่มทุกอย่างจากความชอบล้วนๆ โดยที่ยังไม่ได้เห็นโอกาสอะไรด้วยซ้ำ รู้แค่ว่าเขาชอบธุรกิจบริการ สนใจเรื่องการนวด และอยากเปิดร้านนวดเป็นของตัวเอง จึงตัดสินใจไปเรียนนวดจนได้รับใบประกอบวิชาชีพ เริ่มศึกษาแพทย์แผนไทยและลงลึกความสนใจไปเรื่อยๆ
ถามว่าลงลึกแค่ไหน ก็แค่ลงไปจนถึงกลุ่มเกษตรกรที่เพาะปลูกวัตถุดิบ เก็บชั่วโมงการนวดจากลูกค้าที่เป็นเกษตรกร ได้เจอกับเหล่า Young Smart Farmer เครือข่ายเกษตรกรรุ่นในจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้ได้เห็นปัญหาของภาคเกษตร เห็นคนที่มีไฟและมีพลังที่จะทำอะไรเพื่อบ้านเกิด ก่อเป็นแรงผลักดันให้เขาคิดทำผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
 



 
ต่อยอดความชอบสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากของดีเมืองเพชรบูรณ์


     หลังได้ไปคลุกคลีกับกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ ทำให้เห็นปัญหาของภาคเกษตรหลายอย่าง ทั้งคุณภาพของวัตถุดิบที่ไม่แน่นอน ปัญหาด้านการทำตลาด เศษขยะที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงพืชสมุนไพรต่างๆ ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือชูเป็นจุดขายในผลิตภัณฑ์และการทำตลาด


     จึงเกิดความคิดที่อยากทำผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) โดยประยุกต์ใช้วัสดุจากธรรมชาติที่เป็นของเหลือใช้ทางการเกษตร ตามแนวคิดแบบ Circular Economy  (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และวัตถุดิบจากท้องถิ่น มาสกัดและเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จนเป็นที่มาของแบรนด์ GREENIQUE ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก Health & Wellness ที่เน้นนำพืชสมุนไพร ผลผลิตจากภาคเกษตร ในชุมชนท้องถิ่น จ.เพชรบูรณ์ มาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ใช้กระบวนการผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกไทยให้เป็นสินค้าคุณภาพที่พร้อมส่งออกไปประกาศศักดาในตลาดโลก





     โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการในตลาด มีดีไซน์ที่โดดเด่น และมีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น  มูสโฟมมะขาม สบู่น้ำมันธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์บาล์มบำรุงส้นเท้าจากเปลือกกล้วยหอมทอง ที่ทำออกมาในรูปแบบของบาล์มแท่ง เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งคว้ารางวัลมาจากหลายเวที และวางขายอยู่ในเพชรบูรณ์เป็นหลัก
 
 
ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตสินค้า แต่คือการทำงานเพื่อตอบแทนชุมชนและสังคม


     “บริษัทไม่จำกัดความสุข ไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่เราเริ่มจากจ้างคนทำงานที่เป็นเด็กๆ ในพื้นที่ โดยผมอาจไม่ได้มีเงินจ้างพวกเขาเยอะแยะมากมาย ก็จ้างเป็น Part Time และใช้พนักงานประจำบางส่วน เลือกจ้างเด็กนักเรียนเพื่อให้เขามีรายได้ ขนาดคนตัดหญ้าผมก็เอาผู้สูงอายุมาทำ เลือกคนที่เขามีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ แต่ไม่ได้คิดอะไรไกลนะ ผมทำเท่าที่ทำได้ ผมรู้ว่าความยั่งยืนตลอดไปมันไม่มีอยู่จริงหรอก แต่อย่างน้อยการที่เราทำอย่างนี้มันสามารถช่วยทุกคนได้ สามารถทำธุรกิจอะไรก็ตามที่ช่วยคนในเพชรบูรณ์ บริษัทไม่จำกัดความสุขจะไม่มีทางโตได้เลยถ้าผมมัวแต่คิดจะเอาผลประโยชน์หรือผลประกอบการเพียงอย่างเดียว เอาทุกอย่างไว้คนเดียว แบบนั้นมันไม่ใช่เป้าหมายของผม” เขาบอกจุดยืน





    วันนิวัติ บอกอีกว่า จุดยืนในการทำธุรกิจของเขาคือไม่ทำงานกับคนที่เห็นแก่ตัว จะไม่เอามาเป็นคู่ค้าด้วย แต่จะเลือกทำงานกับคนที่มีแนวคิดเดียวกัน สามารถทำร่วมกันได้เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมานับเป็นความโชคดีที่ได้รับการเกื้อหนุนจากเพื่อนฝูงกลุ่ม Young Smart Farmer และคนในท้องถิ่นอย่างดี ทำให้ธุรกิจค่อยๆ เติบโตขึ้นมาได้


     “ตอนนี้ผมยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายตัวที่อยากทำและบางตัวก็อยู่ระหว่างการพัฒนา ผมมองว่าอย่างน้อยเราได้ทำอะไรที่ช่วยส่งเสริมเกษตรกรทางอ้อมก็ยังดี ให้คนได้รู้จัก ให้ต่างชาติได้รู้เสียทีว่าวัตถุดิบหลายตัวของเรา มันไม่ใช่แค่กินเป็นอาหาร แต่ยังเป็น  Food For Your Skin ที่ช่วยเรื่องผิวพรรณของเขาได้ด้วย ผมจะเอาวัตถุดิบใน จ.เพชรบูรณ์ที่ผมอยู่ เอาไปพูดเอาไปขายไปอธิบายให้ทุกคนได้ฟัง โดยมีงานวิจัยไปอ้างอิง ผมอยากทำเรื่องพวกนี้เพราะเป็นการส่งเสริมเกษตรกรของเราทางอ้อมด้วย”





     วันนี้ธุรกิจเดินทางมา 3 ปี เขายอมรับว่า ยังคงไปได้ไม่ไกลนัก และเติบโตแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ตัวเขาเองก็ไม่ได้มีเป้าหมายระยะยาวอะไร และถ้าจะให้นิยามความสำเร็จที่เขาอยากไปให้ถึง ก็ไม่ได้มีเรื่องตัวเลขทางธุรกิจปนอยู่ในนั้น


     “ผมอยากทำให้บริษัทไม่จำกัดความสุขเป็นองค์กรที่อยู่ได้ พอมีรายได้มาหล่อเลี้ยงคนในชุมชนของเรา ให้น้องๆ ที่มาทำงานกับเรามีเงินจ่ายค่าหอ มีเงินจ่ายค่าเทอม ให้คุณลุงที่ตกงานมีรายได้จากการมาช่วยงานเรา  มีเงินหล่อเลี้ยงพวกเขา แค่นี้ผมก็ว่าเพียงพอแล้ว ผมมีความสุขแล้ว แค่นี้ก็คือความสำเร็จของผมแล้ว ส่วนที่บอกว่าอยากให้ธุรกิจเติบโตไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ผมมองว่ามันไม่ใช่ความจริงสำหรับผม เพราะชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างเปลี่ยนไปได้ทุกวันเ







   ถามว่าทำไมถึงต้องทำอะไรให้เพชรบูรณ์ อาจเพราะผมอยู่ที่นี่ แล้วผมก็ไม่รู้จะไปช่วยอะไรใครได้ถ้าเกิดจะให้ไปช่วยในสิ่งที่ไกลตัว อย่างเช่น ถ้าจะให้ผมไปช่วยประเทศไทย ผมก็คงช่วยไม่ได้ ไปช่วยคนกรุงเทพ คนเชียงใหม่ ผมคงไม่มีความสามารถพอที่จะไปทำอย่างนั้น ก็ขอช่วยคนในชีวิตผม คนในครอบครัว คนในบริษัท คนในเพชรบูรณ์ที่ใกล้ตัวผมก่อน ผมไม่ได้มีความฝันที่ยิ่งใหญ่อะไรเหมือนคนอื่นเขาหรอก ทำเล็กๆ แบบเล็กมากๆ ไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่เลย” เขาทิ้งท้ายไว้แค่นั้น
 
     
     และนี่คือเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ที่ทำธุรกิจเป็นเครื่องมือไปสู่ความสุข ระหว่างทางของการทำงาน ไม่เพียงสร้างผลลัพธ์กับหัวใจของเขา แต่ยังส่งผลถึง ผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับอานิงส์จากการมีอยู่ของ “บริษัทไม่จำกัดความสุข” แห่งนี้ด้วย
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ