สวยแบบมีสติ! “Projekt Glitter” กากเพชรจากพืช ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     แง่คิดการทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมในแบบ “Projekt Glitter”
 
 
  • การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สามารถทำได้กับทุกผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ขอเพียงตั้งใจจริง ก็ย่อมมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ
 
  • การนำความชื่นชอบของผู้คนมาผนวกรวมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้
 
  • แนวคิดรักษ์โลกนอกจากช่วยสร้างความโดดเด่นให้สินค้า ยังเป็นคุณธรรมในการทำธุรกิจ นำมาสู่การสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่โลกใบนี้
            


   

      ความสวยความงามเป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะกับสาวๆ ทั้งหลายที่ชื่นชอบการแต่งหน้าเป็นชีวิตจิตใจ แต่รู้ไหมว่าเครื่องสำอางหลายชนิด แม้เป็นเพียงชิ้นเล็กๆ แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่แตกต่างจากโฟมหรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากเลย


     จะดีกว่าไหม? หากความสวยของคุณสามารถช่วยดูแลโลกใบนี้ให้น่าอยู่แบบไม่ทำลายสภาพความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ของธรรมชาติไปพร้อมกันด้วย





     “Jeen Low” หญิงสาวชาวมาเลเซียผู้ชื่นชอบการแต่งแต้มสีสันอยู่บนใบหน้า ขณะเดียวกันก็มีหัวใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ ซึ่งจากการไปศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักรและใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับวัฒนธรรมในยุโรป ทำให้เธอได้สัมผัสและเห็นสีสันความงดงามจากเทศกาลงานรื่นเริงต่างๆ มากมาย ที่ผู้คนสวยใหญ่มักตกแต่งใบหน้าด้วยสีสันฉูดฉาด ซึ่งเธอมองว่าเป็นความสดใสและเรื่องน่าสนุก แต่ขณะเดียวกันเครื่องสำอางหลายชิ้นก็กลับส่งผลเสียทิ้งไว้ให้กับสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับเหล่า Glitter หรือกากเพชรที่มักนิยมนำมาใช้ในการแต่งหน้าสไตล์แฟนซี


     เมื่อต้องไปทำงานและอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี Jeen จึงคิดเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ของเธอ โดยการคิดผลิตกลิตเตอร์จากพืชขึ้นมาเมื่อปี 2559 โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Projekt Glitter” เพื่อใช้เป็นเครื่องสำอางเพิ่มความแวววับให้กับใบหน้าและร่างกาย ซึ่งเป็นเทรนด์นิยมในยุโรป โดยมองว่านอกจากความสวยงามที่ได้แล้ว ยังเป็นเรื่องของงานศิลปะและงานฝีมืออีกด้วย





     เจ้า Projekt Glitter นั้นถูกผลิตขึ้นมาจากเซลลูโลส ซึ่งเป็นแผ่นฟิล์มจากพืชธรรมชาติ โดยถูกนำมาจากเส้นใยของต้นยูคาลิปตัสที่ได้มาจากพื้นที่เพาะปลูกที่มีการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบในยุโรป จึงปลอดภัยและอ่อนโยนกับผิวมากกว่าเพราะไม่มีสารเคมีอันตราย ที่สำคัญยังสามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติภายในระยะเวลา 3 – 6 เดือนหลังจากที่มีการชะล้างออกไปแล้ว ต่างจากกลิตเตอร์แบบดั้งเดิมที่ผลิตขึ้นมาจากไมโครพลาสติกและไมโครบีดส์ ซึ่งกว่าจะย่อยสลายได้หมดต้องใช้เวลานานเป็นพันๆ ปีกันเลยทีเดียว


     โดยปัจจุบัน Projekt Glitter ถูกจำหน่ายอยู่ใน 7 ประเทศในโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้ว นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายในร้านค้าปลีกหลายแห่งทั่วเยอรมนีและสหราชอาณาจักร รวมถึง Anthropologie และ Dolls Kills ในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย


     มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด Jeen ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ในเอเชีย จึงตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจในกรุงเบอร์ลิน อีกทั้งทำไมจึงไม่ส่งสินค้ามาทำตลาดยังโซนเอเชียเลย เหตุผลเป็นเพราะว่าตลาดกลุ่มเป้าหมายและการใช้กลิตเตอร์ส่วนใหญ่นั้นเป็นวัฒนธรรมและความนิยมที่เกิดขึ้นในเทศกาลทางฝั่งยุโรปมากกว่านั่นเอง แต่อนาคตเธอก็มีแผนที่จะขยายมายังตลาดเอเชียด้วยเช่นเดียวกัน





     สำหรับราคากลิตเตอร์จากพืชอย่าง Projekt Glitter นั้น ค่อนข้างสูงกว่ากลิตเตอร์จากแบรนด์เครื่องอางทั่วไปในท้องตลาดอยู่ถึง 4 เท่าตัว นอกจากความยากในการผลิตแล้ว เหตุผลอีกข้อเป็นเพราะถูกผลิตอยู่ในเยอรมนี  ไม่ใช่ในจีนหรือโซนเอเชียที่มีค่าแรงถูกกว่านั่นเอง


     แต่ Jeen ให้แง่คิดว่าหากจะเปรียบเทียบถึงต้นทุนที่แท้จริง ควรมองที่ต้นทุนระยะยาวที่ต้องเสียไปกับการจัดการกลิตเตอร์พลาสติกที่กว่าจะย่อยสลายได้มากกว่า และแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง แต่ Jeen เลือกวางผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อความยั่งยืนมากกว่าจะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคซึ่งต้องการความสวยงามแค่เพียงอย่างเดียว โดยเธอมั่นใจว่าการมีอยู่ของ Projekt Glitter นั้นจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญให้กับผู้บริโภคที่วันหนึ่งคิดอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองขึ้นมา ดังนั้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จึงถือเป็นคนละกลุ่มกับแบรนด์แฟชั่นและเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่


     ถึงแม้วันหนึ่งแบรนด์ยักษ์ใหญ่จะหันมาลงเล่นในกลุ่มตลาดเครื่องสำอางเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมาบ้าง เธอก็มีความยินดีและดีใจมากกว่าจะมองเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ เพราะการจะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้องค์กรขนาดใหญ่ถือว่ามีอิทธิพลค่อนข้างมากในการจะเริ่มต้นหรือสิ้นสุดเทรนด์ที่สามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้บริโภคจำนวนมากได้ เพราะในเมื่อไม่ผลิตออกมาเสียแล้ว ผู้บริโภคก็ย่อมไปหาซื้อมาใช้ไม่ได้นั่นเอง


     Jeen มองว่าความหวังของเธอนั้นน่าจะอีกไม่ไกลเกินไปนัก เพราะเริ่มมีกฎหมายออกมาประกาศห้ามใช้ไมโครบีดส์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้ว ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของผู้บริโภคที่มองหาโซลูชั่นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นด้วยนั่นเองอย่างน้อยๆ ก็เริ่มต้นขึ้นแล้วในยุโรป





     ปัจจุบัน Projekt Glitter ได้รับคำสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์มากกว่า 1,000 รายการต่อปี ซึ่งแม้กลิตเตอร์จากพืชจะยังคงเป็นโปรเจกต์ที่น่าหลงใหลสำหรับเธอ แต่อนาคต Jeen ก็มีความสนใจที่จะแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าอื่นเพิ่มขึ้นมาด้วย


     โดย Jeen ได้ฝากทิ้งท้ายว่ากลิตเตอร์เป็นเครื่องสำอางที่ช่วยเพิ่มความหรูหราแวววับและน่าสนใจให้กับคุณได้ โดยหลอดหนึ่งสามารถอยู่ได้หลายเทศกาล ดังนั้นหากคุณห่วงใยต่อโลก ขณะเดียวกันก็ต้องการเปล่งประกายแบบไม่รู้สึกผิด ราคาของกลิตเตอร์ที่สูงขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นปัญหามากนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่คุณจะทิ้งไว้ให้กับโลกใบนี้ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ร่วมกัน
               

     แม้แต่ผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กๆ อย่างกลิตเตอร์ยังสามารถคิดค้นออกมาเพื่อโลกได้ ดังนั้นคงไม่ยากเกินไปหากเราจะลองคิดหาวิธีพัฒนาหรือปรับปรุงสินค้าขึ้นมาเพื่อช่วยดูแลโลกใบนี้ต่อไปได้บ้าง ได้มากบ้าง น้อยบ้างไม่เป็นไร ขอเพียงเริ่มต้นลงมือทำ ก็เรียกว่าสำเร็จไปกว่าครึ่งทางแล้วล่ะ   
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย