ฟังทายาทโรงงานรองเท้า 40 ปี บอกวิธีเปลี่ยนธุรกิจให้เก๋า ด้วยวัสดุผ้าจากเศษขยะธรรมชาติ

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : RANG & TEMBINE





Main Idea
 
 
     ไอเดียชุบชีวิตแบรนด์รุ่นเก่าให้เก๋า
 
 
  • สรรหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้สร้างความแตกต่างจากธุรกิจเดิม
 
  • เลือกวัสดุธรรมชาติ อย่าง เศษใบไม้ กากกาแฟ ขุยมะพร้าว ฯลฯ รับแนวคิด Up-cycling
 
  • ออกแบบให้สินค้าใช้งานได้จริง คงทน แข็งแรง และดีไซน์น่าใช้
 
  • วางแผนการส่งออก ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายรักษ์โลก
 
  • ใช้ความร่วมมือจากเครือข่ายในอุตสาหกรรม เติมเต็มสิ่งที่ขาด
 

 
               
     “ไม่ชอบรองเท้าที่ทำกันมา มันดูแก่และไม่ใช่สไตล์เรา”
               

      นี่คือคำบอกเล่าของ “ปัทม์ ปัญญานุตรักษ์”  ทายาทรุ่น 3 หจก.วัฒนกิจฟุตแวร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าผ้าใบแบบสวม หรือ Slip on shoes แบรนด์ RANG (แรง) ที่หลายคนคุ้นตาดี กิจการที่อยู่มานานกว่า 40 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 2520)


               

     ปัทม์ คือลูกสาวของ “นริศรา ธรรมสาธุ” เธอเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน หลังเรียนจบวิศวเคมี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เธอไม่ได้โตมาทางสายธุรกิจและไม่มีความรู้เรื่องดีไซน์ แต่มี Passion ที่อยากสานต่อธุรกิจครอบครัวและต่อยอดโอกาสใหม่ๆ ให้กับโรงงานรองเท้าของที่บ้าน  
               

     นั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไฟแรง ได้มาเจอกับรุ่นพี่วัยเก๋าอย่าง “พลัฏฐ์ บุญพลอยเลิศ” นักสร้างสรรค์วัสดุผ้าจากเปลือกไม้ธรรมชาติ แบรนด์ KEAPAZ (เคียพาส) ที่ป้อนให้กับวงการออกแบบ หนทางชุบชีวิตใหม่ให้ธุรกิจรุ่นเก่าจึงเริ่มต้นขึ้น



               
           
วัสดุธรรมชาติ เปลี่ยนโฉมแบรนด์รุ่นเก๋า


     รองเท้าผ้าใบ คัทชูหญิง-ชาย รองเท้าส้นสูง ขึ้นรูปด้วยผืนผ้าที่ทำมาจากแกลบ กากกาแฟ และขุยมะพร้าว รองเท้าผู้สูงอายุที่ใช้ขุยมะพร้าวเหลือทิ้งมาทำให้เป็นผ้าและขึ้นรูปเป็นรองเท้าสวมใส่สบาย กระเป๋าสุดเท่มีสไตล์ไม่ซ้ำใคร  ที่ใช้วัสดุธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นใบไม้ที่ร่วงโรย กากกาแฟ หรือแกลบ แต่ละใบมีลวดลายไม่ซ้ำ มาพร้อมกล่องเก็บรองเท้าและกระเป๋าวัสดุเดียวกัน รับแนวคิด Up-cycling หรือการเอาวัสดุที่ใช้งานแล้วมาทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้มากที่สุด กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้งานได้จริง ทนทานต่อการใช้งานด้วยพื้นผิวที่ทนความร้อนและความชื้น ดีไซน์ให้แมทช์กับชุดในหลายโอกาส


     นี่คือเรื่องใหม่ๆ ที่ทายาทอย่างปัทม์ ทำให้กับธุรกิจของครอบครัว จากจุดเริ่มต้นแค่ต้องการหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้ในการทำรองเท้า จนเจอกับผ้าจากเศษวัสดุธรรมชาติของแบรนด์ KEAPAZ จึงเริ่มพัฒนาร่วมกัน เพื่อนำความเป็นธรรมชาติมาอยู่บนสินค้าแฟชั่นอย่างลงตัว





     “เราต้องการหาวัสดุอย่างอื่นมาทดแทนหนังหรือผ้าที่อาจจะก่อให้เกิดมลพิษ อยากทำรองเท้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เลยนำกากกาแฟ ขุยมะพร้าว แล้วก็แกลบนำมาขึ้นรูปเป็นผ้ารองเท้า อย่างผ้าใบที่เราใช้กากกาแฟผสมกับขุยมะพร้าว เพื่อเป็นทางเลือกให้คนยุคใหม่ที่ชื่นชอบธรรมชาติแนวรักษ์โลกหันมาใช้รองเท้านี้ดู ที่สำคัญมันยังมีคุณสมบัติที่กันน้ำ กันรอยขีดข่วน ซึ่งคล้ายกับหนังทั่วไปเลย  ส่วนกระเป๋า เราทำรองเท้าอยู่แล้วก็เล็งเห็นว่าสามารถทำตัวผ้าจากใบไม้ขึ้นมาได้ด้วย ซึ่งถ้านำมาทำรองเท้าอาจจะดูไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ เลยเพิ่มไลน์ผลิตขึ้นมาใหม่เป็นกระเป๋าใช้ชื่อแบรนด์เป็น TEMBINE (เต็มใบ) อย่าง ถุงผ้าที่ทำจากดอกลีลาวดี ใบโพธิ์ ใบจามจุรี อะไรพวกนี้ ซึ่งสามารถนำมาเย็บเป็นกระเป๋าได้เลย ก็จะเป็นลวดลายของมันเอง ซึ่งแต่ละใบก็จะมีใบเดียวในโลกไม่เหมือนกันเลย”


     กระเป๋า TEMBINE ดีไซน์ออกมาให้เหมาะกับการใช้งานจริง บางใบทำมาจากกากกาแฟ แกลบ และใบโพธิ์แห้ง บางใบผสมรำข้าวและขุยมะพร้าว บางใบมีต้นธูปฤาษี หรือใช้ร่วมกับผ้าฝ้ายธรรมชาติก็มี เพิ่มดีกรีความพิเศษให้กับกระเป๋ารักษ์โลกของพวกเขา



 
 
แบรนด์ใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มเติมโอกาสธุรกิจ


     การทำสินค้าใหม่ใช้เวลาในการพัฒนา เช่น ต้องวิจัยร่วมกับตัวกาวที่นำมาใช้ ความยืดหยุ่นทนต่อแรงดึงของผืนผ้าจากธรรมชาติเมื่อนำมาทำเป็นรองเท้าหรือกระเป๋า การหาความลงตัวของวัสดุ ดีไซน์ และฟังก์ชั่นการใช้งาน  เธอบอกว่าใช้เวลาพัฒนาอยู่ร่วม 1 ปี


     แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นอะไรที่คุ้มค่า เมื่อลองเทียบกับรองเท้าดั้งเดิมของครอบครัวที่ขายกันเริ่มต้นที่ 259 บาท แต่รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติ ตั้งราคาเริ่มต้นที่ 1,200 บาท ขยับมูลค่าขึ้นมาอีกหลายเท่า อีกผลพลอยได้สำคัญคือโอกาสในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังมีอยู่เยอะมาก


     “มีโอกาสไปออกบูธที่ญี่ปุ่นงาน Lifestyle Tokyo ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดีเพราะว่าคนญี่ปุ่นชื่นชอบเรื่องธรรมชาติมาก นอกจากนี้ยังได้ส่งตัวอย่างสินค้าไปโซนยุโรป ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีเช่นกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้สินค้ามีความคงทนมากขึ้น เพราะอย่างรองเท้าอายุการใช้งานก็ควรต้องนานหน่อย เพราะต้องใช้แรงเดิน ตอนนี้ก็กำลังพัฒนาเรื่องตัวผ้าอยู่” เธอเล่าโอกาส


     เมื่อถามถึงเป้าหมาย ปัทม์ บอกว่า อยากนำพาแบรนด์จากธรรมชาติไปโลดแล่นอยู่ในตลาดโลก เพราะต้องยอมรับว่าตลาดในประเทศไทยยังไม่ค่อยยอมรับมากนักเมื่อเทียบกับต่างชาติ จึงอาจยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา แต่มั่นใจว่าเทรนด์สินค้ารักษ์โลกยังสดใสแน่นอนในอนาคต



 
 
โลกธุรกิจยุคใหม่ อยู่ได้ด้วยความร่วมมือ


     RANG  เป็นตัวอย่างของแบรนด์ไทย ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่พยายามมองหาโอกาสให้ธุรกิจรุ่นเก่าได้มีอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ปัทม์ บอกเราว่าแม้จะเข้ามาสาสนต่อธุรกิจได้ไม่นานนัก แต่การทำอะไรหลายอย่างก็ไม่ได้ยาก เพราะมีทั้งคอนเน็กชันและเครือข่ายความร่วมมือของคนในอุตสาหกรรม ความรู้และโอกาสหลายอย่างเก็บได้จากการออกงานแสดงสินค้า และงานแสดงนวัตกรรมต่างๆ อะไรที่ยังขาดหายก็หาจากงานสัมมนา รวมถึงการทำ Business Matching ใช้ความร่วมมือและเชี่ยวชาญของคนอื่น มาเติมเต็มโอกาสให้กับธุรกิจของพวกเขา


     “การที่เราจะเริ่มจากพัฒนาตัววัสดุขึ้นมาเองมันต้องใช้เวลา และตัวเราเองไม่ได้มีความพร้อมหรือพื้นฐานในการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ก็ต้องอาศัยการไปร่วมกับหน่วยงานวิจัยของภาครัฐ ซึ่งแบบนั้นมันต้องใช้เวลานาน เลยมองว่าถ้าเราไปเดินดูตามงานที่จัดแสดงวัสดุใหม่ๆ แล้วเจอตัววัสดุที่สามารถนำมาใช้กับสินค้าของเราได้ แล้วลองทำงานร่วมกันดู ก็น่าจะช่วยต่อยอดโอกาสของเราไปได้เร็วขึ้น” เธอบอกในตอนท้าย
   

     การแสวงหาโอกาส จับมือกับเพื่อนใหม่ๆ และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย คือคำตอบที่ทำให้โรงงานรองเท้ากว่า 40 ปี ยังคงมีลมหายใจและมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาสร้างอนาคตให้กับธุรกิจของพวกเขาได้ในวันนี้
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น