MUJI เจ้าแห่งความเรียบง่าย ที่ตัดแม้กระทั่งโลโก้ออกจากสินค้า

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 

    ทำธุรกิจเรียบง่ายสไตล์ MUJI
 
 
  • คำนึงถึงประโยชน์การใช้งานที่แท้จริง มากกว่าชื่อเสียงความโด่งดัง
 
  • ออกแบบให้เรียบง่าย แต่คลาสสิก ไม่ตามเทรนด์ เพื่อการใช้งานที่ยั่งยืนกว่า
 
  • มีความรับผิดชอบ ให้ความสำคัญกับทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงผู้บริโภค 
 


               

     ถ้าพูดถึง “MUJI” แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์สัญชาติญี่ปุ่น เชื่อว่าหลายคนคงจดจำภาพเอกลักษณ์ของความเรียบง่าย สินค้าสีเอิร์ธโทน ไม่มีลวดลายสีสันฉูดฉาดแบบนี้ได้เป็นอย่างดี แต่เคยคิดสงสัยกันไหมว่าเพราะเหตุใดความเรียบง่ายสไตล์มูจินี้ จึงสามารถครองใจผู้คนทั่วโลกได้ จนขยายสาขาออกไปได้เกือบหนึ่งพันแห่งทั่วโลก มีมูลค่าธุรกิจมากกว่าหลายแสนล้านบาท ต้องเรียบง่ายแค่ไหนถึงจะประสบความสำเร็จได้แบบนี้ คงไม่ใช่แค่รูปแบบการออกแบบสินค้าอย่างเดียวเป็นแน่นอน วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักความเรียบและง่าย จนสามารถมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจขึ้นมาได้แบบมูจิกัน



 
               
     ย้อนกลับไปในช่วงปี 2493 ที่ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีกิจการขนาดใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น ผู้ผลิตและเจ้าของธุรกิจต่างๆ ต่างเร่งผลิตสินค้าออกมาขายเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาด กระทั่ง 20 กว่าปีผ่านมา หรือราวปี 2520 – 2521 สินค้าเริ่มเกิดภาวะล้นตลาด ธุรกิจค้าปลีกในญี่ปุ่นต่างแข่งขันกันตัดราคาสินค้าเพื่อเอาตัวรอด ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาด้อยคุณภาพตามไปด้วย
               

     ด้วยเหตุนี้ “Seiji Tsutsumi” (เซจิ ซึซูมิ) ประธานห้างสรรพสินค้า “Seiyu” (เซยู) หนึ่งในธุรกิจที่ประสบปัญหาเช่นกันในเวลานั้น ได้มองเห็นอนาคตของธุรกิจว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นอีกต่อไปอาจทำให้ธุรกิจไปได้ไม่รอด จึงเกิดแนวคิดผลิตสินค้าแบบ Private Brand ขึ้นมา



             

     แบรนด์มูจิ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2523 หรือราว 40 ปีก่อน ด้วยการผลิตสินค้าหลายสิบชนิด เพื่อส่งไปขายยังห้างร้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องครัว ของใช้ในชีวิตประจำ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ โดยแปลกที่การเกิดขึ้นของแบรนด์มูจินั้น เซจิ ซึซูมิ ไม่ได้ต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นสินค้ามีชื่อเสียงหรือที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคทั่วไป แต่เขาต้องการให้ผู้บริโภคจดจำความเรียบง่าย แต่มีคุณภาพมากกว่า ซึ่งสวนกระแสกับหลักการทำตลาดทั่วไป


     โดยหลังจากทดลองผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายได้ไม่นาน มูจิก็ได้มีการเปิดร้านของตัวเองขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2526 ณ เมืองโอยาม่า และในภายหลังจากจึงได้แยกตัวออกจากธุรกิจหลักและก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่เพื่อบริหารงานของตัวเองขึ้นมา ภายใต้ชื่อว่า “Ryohin Keikaku” โดยหลังจากนั้นจึงเริ่มขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ และเปิดตัวสาขาแรกขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ในปี 2534 และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในปี 2541


     ซึ่งหากจะลองดึงความเรียบง่ายแบบมูจิออกมา อาจพอแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ



 
 
เรียบง่าย จนไม่ใส่ยี่ห้อ


     จริงๆ แล้วความเรียบง่ายของแบรนด์มูจิถูกคิดและออกแบบไว้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว โดยมาจากคำว่า “Mujirushi Ryohin” (มูจิรุชิ เรียวฮิน) หรือ MUJI ในภาษาญี่ปุ่น มีความหมายประมาณว่า ไม่มีต้องแบรนด์ ไม่มีต้องยี่ห้อ แต่เป็นสินค้าคุณภาพดี จึงไม่แปลกหากสังเกตดูที่สินค้าของมูจิแทบทุกชิ้นจะไม่มีโลโก้ติดอยู่เลย เช่นเดียวกับรายชื่อนักออกแบบแม้จะมีอยู่มากมาย แต่แบรนด์ก็ไม่เคยเปิดเผย เพราะต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงและสัมผัสคุณภาพของสินค้าได้มากกว่าที่จะให้ความสนใจกับสิ่งอื่น


     โดยหลักการผลิตสินค้าของมูจิจะตั้งอยู่บนกฏ 3 ข้อ คือ 1. การคัดสรรวัสดุที่ดี 2. การปรับปรุงพัฒนากระบวนการต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และ 3. การสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เรียบง่าย ซึ่งในการผลิตสินค้าแต่ละครั้งมูจิจะมุ่งผลิตในปริมาณมากๆ เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง เพื่อนำมาขายในราคาต่ำ




 
เรียบง่าย ผู้หญิงใช้ได้ ผู้ชายก็ใช้ดี               


     ด้วยความเรียบง่ายของมูจิ จึงทำให้กลายเป็นสินค้าที่มีลักษณะอยู่กลางๆ ไม่มากเกินไป แต่ก็ไม่น้อยจนเกินไป จึงทำให้มีความคลาสสิก ใช้ได้นาน ไม่ตกยุค และจากความเรียบง่ายดังกล่าวจึงทำให้เกิดความเป็นสากล มีความเป็น Unisex อยู่ในตัวด้วย คือ สินค้าชิ้นเดียวกัน แต่สามารถใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง


 
 
เรียบง่าย ไม่เหลือภาระทิ้งไว้ให้โลก


     อีกลักษณะโดดเด่นของแบรนด์มูจิที่สัมผัสได้ คือ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ใช่แค่โทนสีแบบธรรมชาติเท่านั้นที่สัมผัสได้ แต่สินค้าหลายชิ้นของมูจิยังถูกผลิตขึ้นมาจากเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ถุงเท้า ซึ่งผลิตมาจากเส้นด้ายที่เหลือจากการตัดเย็บแต่ละครั้ง หรือสินค้าตกเกรด เช่น สีเพี้ยน ผิดไซส์ แทนที่จะถูกนำไปกำจัดทิ้งก็กลับนำมาจำหน่ายในราคาที่ถูกลง และหากลองสังเกตง่ายๆ มูจิจะจำหน่ายสินค้าที่เป็นภาชนะใส่สิ่งของเพื่อสนับสนุนการใช้ซ้ำค่อนข้างมากด้วย


     ปัจจุบันมูจิมีร้านสาขาทั่วโลกอยู่ราว 928 แห่ง (ข้อมูลปี 2561) ตั้งอยู่ใน 28 ประเทศ โดยแบ่งเป็นร้านที่ประเทศญี่ปุ่นเอง 419 สาขา และต่างประเทศ 457 สาขา ยังไม่นับรวมธุรกิจคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรม หมู่บ้านต่างๆ อีกมากมาย โดยคิดเป็นรายได้ล่าสุดในปี 2560 แบรนด์มีรายได้อยู่ที่ 111,356 ล้านบาท กำไร 8,858 ล้านบาท โดยมีมูลค่ารวมของธุรกิจอยู่ที่ 236,176 ล้านบาท


     และนี่เอง คือ ที่มาความเรียบง่ายสไตล์มูจิที่ไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตัวตนในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ระบบความคิด วัตถุประสงค์การก่อตั้งแบรนด์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเสน่ห์ความเรียบง่ายแบบมูจิ ที่มองดูเผินๆ เหมือนกับไม่มีอะไร จึงสามารถโดนใจผู้บริโภคได้มาจนถึงทุกวันนี้







 
www.smethailandclub.com      
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น