ตีแผ่ “แผนฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย” รอดไม่รอด-ไปต่อยังไง? ธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมหลังโควิด




Main Idea

 
 
     สรุปแผนฟื้นฟูท่องเที่ยวไทยฉบับททท.
 
 
  • ผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้เริ่มทำกิจกรรมปกติได้
 
  • ใช้เครื่องหมาย SHA ยกระดับสินค้าและบริการ
 
  • จัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
 
  • เลือกพื้นที่ในการเปิดให้เดินทางไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่
 
  • กระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศ
 
  • เปิดประเทศภายใต้ New Normal
 
  • ใช้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนำ และขยายฐานไปยังกลุ่มอื่นๆ
 


 

     การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวออกมาทั้งหมด 3 ระยะ ประกอบด้วย


ระยะที่ 1 เรียกว่า Lockdown Exit คือ

 
  • ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ให้เริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติได้
 
  • ใช้เครื่องหมาย SHA ยกระดับสินค้าและบริการ
 
  • จัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ


ระยะที่ 2 เรียกว่า Selective Open

 
  • เลือกพื้นที่ในการเปิดให้เดินทางได้ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ (คล้ายภูเก็ตและพัทยา Model)
 
  • กระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศ
 
  • โปรโมตธุรกิจที่ได้รับเครื่องหมาย SHA เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว


ระยะที่ 3 เรียกว่า Extensive Open

 
  • เปิดประเทศภายใต้ New Normal
 
  • ใช้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
 
  • ขยายฐานนักท่องเที่ยวไปยังกลุ่ม นักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมที่กลับมาเที่ยวซ้ำ (Revisit), การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel), การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism)



 

     ถ้าเราลองมองดูการวางแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของ ททท. สิ่งแรกเลยที่เห็นคือ “การวางระยะเวลาการฟื้นฟูที่ชัดเจน” จากระยะที่หนึ่งคือเริ่มต้นการคลาย Lockdown ไปจนถึงขั้น Exit ต่อมาเป็นระยะของการเลือกเปิดพื้นที่ซึ่งมองอีกมุมมันคือการ “ทดลอง” เปิดประเทศเพื่อรองรับการท่องเที่ยว แสดงถึงความพร้อมในการกลับมาเปิดประเทศของไทยที่มีแนวโน้มที่ดีกว่าหลายชาติในขณะนี้ และในขั้นสุดท้ายคือการเปิดประเทศเต็มตัวภายใต้มาตรฐาน New Normal ที่มีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นตัวเอกในการขยายรูปแบบการท่องเที่ยวและสร้างฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่นอกเหนือจาก Business กับ Leisure ที่ประเทศไทยเคยส่งเสริมมาก่อนหน้านี้


      ในระยะที่ 3 หากประเทศไทยสามารถปักธงประเทศที่เป็น First Target ของนักท่องเที่ยกลุ่ม Wellness Tourism ได้ Supply Chain ที่จะเติบโตเมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยับมูลค่ามาที่จุดสูงสุดเดิมเมื่อปี 2562 ที่เรามีรายได้ 3.3 ล้านล้านบาทกับจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน จะไม่ได้มีแค่ โรงแรม สายการบิน ผู้ประกอบการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว สปา ร้านอาหาร ฯลฯ แต่จะมีผู้เล่นใหม่เข้ามาคล้องในเชนนี้ ที่สำคัญคือ โรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานเสริมความงาม ศูนย์สุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และผู้ประกอบการสุขภาพรายย่อยอื่นๆ เช่น กลุ่ม OTOP ผู้ผลิตสมุนไพรเพื่อสุขภาพ สปาจากแหล่งธรรมชาติ กลุ่มผู้ผลิตอาหารแบบเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวส่งผลต่อรายได้ภาคการท่องเที่ยวต่อ GDP ของประเทศจากเดิมภาคการท่องเที่ยวมีรายได้คิดเป็น 21.6 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP (https://www.longtunman.com/20913) หากอ้างอิงจากตัวเลขเดิมจะกลายเป็น 32.4 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเป็นรายได้หลักของประเทศอย่างเต็มตัว





     สำหรับแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของ ททท. มีจุดที่น่าสนใจคือ


     1. เครื่องหมาย SHA (Safety and Health Association) เราจะเห็นว่าในแผนการฟื้นฟูในระยะที่ 1 และระยที่ 2 ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการที่ได้รับเครื่องหมาย SHA จริงอยู่ว่า ททท. เองต้องการสร้างความมั่นใจให้กับแขกผู้เข้าพักด้วยการโปรโมตมาตรฐาน SHA ว่ามีความปลอดภัยและได้รับการตรวจตราอย่างเข้มงวดก่อนการอนุมัติ แต่ในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าด้วยจำนวนบุคลากรของ ททท. และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงหน่วยงานใน สธ. ที่มีหน้าที่ต้องไปตรวจสอบมาตรฐานและข้อปฎิบัติเพื่ออนุมัติ SHA ดำเนินการตรวจสอบทั่วถึงด้วยตนเองหรือไม่? เพราะจากผู้ประกอบการทั่วประเทศหากต้องรอทีมงานไปตรวจสอบน่าจะกินเวลานานกว่าจะออกเครื่องหมายได้ ซึ่งทำให้ “ไม่ทัน” ต่อมาตรการ บางแห่งก็มีการใช้ Check List แล้วให้ส่งประเมินซึ่งหากผิดข้อตกลงแน่นอนว่า ก็จะได้รับบทลงโทษและมีการเพิกถอนเครื่องหมาย


     จุดนี้ที่ให้ความสนใจเพราะ SHA เป็นสิ่งสำคัญที่อยู่ในแผนทั้ง 2 ระยะ หากเกิดกรณีที่ “หลุด” ขึ้นมาเหมือนกรณีหญิงชาวฝรั่งเศสที่ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 และพบเชื้อในพื้นที่ฟิตเนสใน ASQ ยังเป็นคำถามตัวโตว่า “หลุดมาได้อย่างไร” เรื่องของเครื่องหมาย SHA อาจต้องกลับมาคิดทบทวนและหาทางเข้มงวดไม่ให้เกิดซ้ำอีกครั้ง แม้ปัจจุบันจะมีมาตรฐานการตรวจสอบอยู่แล้วก็ตาม เช่นเดียวกันกับ New Normal ในระยะที่ 3 ที่เราจะมีการควบคุมได้เข้มงวดแค่ไหน?





     2. คำถามต่อมาคือ “แล้วผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วม SHA” จะได้รับผลกระทบอย่างไร? และมีแนวทางการช่วยเหลือแบบใดให้พวกเขาเหล่านั้นบ้าง” เพราะบางแห่งไม่พร้อมที่จะขอเครื่องหมาย SHA แต่ก็มีแนวทางในการปฎิบัติของตนเองอยู่แล้วโดยได้รับคำปรึกษาจาก สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราจะช่วยเหลือและทำให้เขาเหล่านี้ที่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่แย่เหมือนกันอย่างไร? คิดว่าน่าจะเป็นอีกมุมหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องคงกำลังหาทางออกอยู่ เพราะหากปล่อยผู้ประกอบการเหล่านี้ไว้ข้างหลังก็จะกลายเป็นการ “ช่วยเฉพาะกลุ่ม” ไปอีก


     3. ประเด็นการเลือกพื้นที่ในระยะที่ 2 Selective Open แน่นอนว่าทุกพื้นที่มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กรณีนี้ถือว่าเหมาะสมที่วางไว้เป็นแผนในระยะที่ 2 เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต้องอาศัยการกำหนดข้อปฎิบัติที่เข้มงวดทั้งแผนเชิงรุก เชิงรับ การจัดการ Risk Management, Crisis Management, จำเป็นที่จะต้องมีการอธิบายและให้ความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่ายอย่างละเอียด





     4. การกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศตามแผนระยะที่ 2 จริงๆ กรณีนี้จะว่าไปหากจะด่วนสรุปเลยว่า โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่ประสบความสำเร็จจากยอดผู้ใช้สิทธิอันนี้ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะจริงๆ แล้วมีข้อจำกัดมากมายที่ทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวมองว่า “ยุ่งยาก” แม้จะทำให้ได้พักที่พักดีๆ ในราคาถูกก็จริง แต่ปัญหาโรงแรมฉวยโอกาสขึ้นราคาบ้าง ปัญหาการลงทะเบียนของนักท่องเที่ยว ปัญหาการเชื่อมต่อระบบของโรงแรม ข้อจำกัดการใช้สิทธิต้องจองล่วงหน้า 3 วันและห้ามเที่ยวในพื้นที่ ยังถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โครงการไม่สำเร็จ ซึ่งหากจะสรุปว่า “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่เวิร์ก อาจจำเป็นที่จะต้องขจัดปัญหาและข้อจำกัดนี้ไปให้หมดเสียก่อนจึงจะสรุปได้


     แต่ก็เข้าใจว่าด้วยระยะเวลาและความเดือดร้อนทำให้ต้องรีบนำมาตรการออกมาทดลองแบบ “ทำไปแก้ไปดูก่อน” จึงทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร อันที่จริงแล้วปัญหาและข้อจำกัดเหล่านี้ถ้ามองกันตามเนื้อผ้าและตามมุมมองของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว “มันไม่ควรจะมีตั้งแต่แรก” เพราะท้ายที่สุดทางโครงการก็มานั่งแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอยู่ดี ซึ่งน่าจะทำตั้งแต่แรก เช่น เริ่มมีการเห็นชอบให้เที่ยวในพื้นที่ได้ มีการพูดถึงการไม่ต้องจองล่วงหน้าถึง 3 วันได้ หรือแม้แต่ส่วนลดตั๋วเครื่องบินที่ไม่ต้องจองโรงแรมก็ขอลดหย่อนได้ ก็เริ่มถูกนำมาแก้ไขซึ่งก็ถือว่าเป็นการปรับปรุงไปในทางที่ดี


     5. จัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ตรงนี้อันดับแรกคงมีคำถามว่า "แล้วปกติที่ผ่านมาเราไม่มีการจัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวหรืออย่างไร" ตามความเข้าใจแล้วปกติการจัดเก็บข้อมูลก็จะถูกแบ่งระหว่างรัฐและเอกชนอยู่แล้ว กล่าวคือรัฐก็จะเก็บข้อมูลตั้งแต่ ตม. อยู่แล้ว ส่วนโรงแรมก็มีหน้าที่ส่งข้อมูลให้ราชการอยู่แล้วตาม พรบ.โรงแรม (รร 4, ตม,) และโรงแรมมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวแขกใน PMS (Property Management System) ในส่วนนี้การจะต้องเสียงบประมาณในการวางแผนการจัดเก็บใหม่อาจมีอีกตัวเลือก คือการนำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน น่าจะเป็นทางออกที่สะดวกและง่ายกว่า แต่หากมีการวางแผนการจัดทำ Big Data ก็จำเป็นที่จะต้องทำ Data Analytics ด้วยเช่นกัน เพราะถ้ามีข้อมูลมากแต่นำมาใช้ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์





     ท้ายที่สุดแล้วก็ยังเชื่อว่า ด้วยธรรมชาติของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นอีกปัจจัยหลักที่มนุษย์ต้องการและความตั้งใจของ ททท. กระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยว และผู้เกี่ยวข้องทุกคน แผนฟื้นฟูทั้ง 3 ระยะนี้ย่อมส่งผลดีกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างแน่นอน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้นเราคงต้องมาติดตามดูกันอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ที่ตัวแปรสำคัญคือการแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลย เป็น Uncertainty ตามหลัก VUCA จะส่งผลกระทบต่อแผนนี้มากน้อยแค่ไหน


     แต่ถึงอย่างไรโดยส่วนตัวแล้วขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย และโดยส่วนตัวผู้เขียนยินดีช่วยเหลือทุกทางให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ครับ
 
               
     (หมายเหตุ* ความคิดเห็นทั้งหมดเป็นทรรศนะส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือสถาบันใดทั้งสิ้น ผู้เขียนเสนอทรรศนะจากมุมมองส่วนตัวเท่านั้น)











 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น