เจาะกึ๋น “โอ้กะจู๋” ขายผักสลัดอย่างไรให้ได้ 600 ล้าน พนักงานเกือบพันคนใน 10 ปี

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : โอ้กะจู๋





Main Idea
 
 
     สูตรลับธุรกิจตำรับ “โอ้กะจู๋”
 
 
  • ไม่ตั้งเป้าว่าจะโตแค่ไหน แต่เริ่มจากเล็ก แล้วค่อยๆ ขยาย
 
  • ทำธุรกิจไปพร้อมกับการแก้ปัญหา
 
  • คุณภาพคือหัวใจ ต้องควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทาง
 
  • สร้างองค์กรคนรุ่นใหม่ กล้าแสดงความเห็น มีทักษะที่หลากหลาย
 
  • ชีวิตผิดพลาดได้ อย่าไปกลัวความล้มเหลว
 

 

     จากความฝันเล็กๆ ของเด็กมัธยม ที่กลายเป็นจริงหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ในเวลาไม่ถึง 10 ปี ชื่อของ  “โอ้กะจู๋” ธุรกิจที่เริ่มต้นจากสองเพื่อนสนิท “อู๋-ชลากร เอกชัยพัฒนกุล” และ “โจ้-จิรายุทธ ภูวพูนผล” กลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผักสลัดออร์แกนิก ร้านอาหารสุขภาพที่มีเมนูจัดหนักจัดเต็มและอร่อย จนคนต้องต่อคิวซื้อ มีสาขา 14 สาขา มีฟาร์ม 4 ฟาร์ม มีศูนย์กระจายสินค้า ครัวกลาง พนักงานเกือบพันคน ในปีที่ผ่านมามีรายได้รวมถึงกว่า 643 ล้านบาท!


     คำถามเดียวที่เราอยากรู้ เมื่อได้พบกับหนึ่งในผู้ก่อตั้งอย่าง อู๋-ชลากร เอกชัยพัฒนกุล  CEO บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ระหว่างมารับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 16 คือทำอย่างไรธุรกิจเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากคนแค่ 2-3 คน ถึงมาไกลขนาดนี้ได้ อะไรคือหัวใจของความสำเร็จ ไปหาคำตอบจากเขาคนนี้กัน




 
ไม่ตั้งเป้าว่าจะโตแค่ไหน เริ่มจากเล็ก แล้วค่อยๆ ขยาย


     หลายคนทำธุรกิจโดยเริ่มจากตั้งเป้าหมายไกลๆ ว่าอยากเติบโตไปแค่ไหน แต่กับอู๋กับโจ้ พวกเขาไม่ได้คิดการใหญ่ขนาดนั้น แต่เริ่มจากจุดเล็กๆ โดยทำโรงเรือนขนาด 6 x 30 เมตร ซึ่งเป็นโรงเรือนหลังแรก แล้วทยอยปลูกผัก ค่อยๆเรียนรู้ลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 2 ปี จนฟาร์มผักพร้อมก็ขยับมาเปิดร้าน โดยเริ่มจากร้านเล็กๆ ขนาด 15 ที่นั่ง ขายแค่กาแฟและสลัด จากนั้นพอลูกค้าเริ่มเยอะขึ้นมีคำถามและความต้องการเพิ่มขึ้น ก็ค่อยๆ เติมเต็มสิ่งเหล่านั้นให้กับลูกค้า


     “เราเปิดร้านแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมปี 2555 ช่วงนั้น Instagram กำลังดัง ลูกค้ามาทานด้วยความที่เราให้ขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ ลูกค้ามาถ่ายรูปเลยกลายเป็นการโฆษณาให้เราไปในตัว พอปลายปีเป็นช่วงไฮซีซันของเชียงใหม่คนมาเที่ยวกันเยอะ ลูกค้าก็เริ่มถามว่ามีแค่กาแฟกับสลัดเองเหรอ มีอย่างอื่นอีกไหม เรามาคิดว่าจะเพิ่มอะไรอีกดีเลยได้ไอเดียเพิ่มเนื้อพวกสเต็กเข้ามา ลูกค้าก็ตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มถามว่าเมื่อไหร่จะมาเปิดที่กรุงเทพฯ บ้าง แต่ตอนนั้นเรายังมีข้อจำกัดหลายอย่าง หนึ่งเลยคือถ้าเราจะเปิด 1 สาขาสมัยนั้น เราจะต้องมีแปลงผักถึงประมาณ 20 ไร่  เพราะผักของเรามี 23 ตัว เรียกว่าเป็นจุดอ่อนของเราเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าเราไม่มีที่ปลูกผัก เราก็เปิดสาขาไม่ได้ เลยต้องมาแก้ปัญหาเรื่องฟาร์ม และทดลองเปิดสาขา 2 ที่เชียงใหม่ โดยเสมือนว่าสาขานี้เป็นแฟรนไชส์อะไรแบบนี้ ว่าเราจะยังสามารถบริหารได้หรือไม่ พยายามทดลองเรียนรู้ จนปี 2558  ก็มาเปิดที่สยามสแควร์”



 
 
ทำธุรกิจไปพร้อมกับการแก้ปัญหา


     ชลากร ยอมรับว่า ธุรกิจของพวกเขาเริ่มต้นด้วยข้อจำกัด ตั้งแต่ข้อจำกัดในเรื่องปริมาณการผลิต ข้อจำกัดในเรื่องระยะทางและการขนส่ง ข้อจำกัดในเรื่องประสบการณ์ และความเป็นเด็กบ้านนอกที่ไม่ได้เชี่ยวสนามในกรุงเทพมากนัก ฉะนั้นสิ่งที่พวกเขาทำได้เมื่อต้องเดินหน้าธุรกิจต่อก็คือ เรียนรู้ รับมือและแก้ปัญหาข้อจำกัดเหล่านั้น


     “อย่างในส่วนของฟาร์ม เราก็มีทีม R&D มาช่วยกันคิดวิธีใช้พื้นที่เท่าเดิมแต่ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ก็เริ่มใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำเป็น Smart Farm สามารถควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณการจ่ายน้ำตามสภาพอากาศผ่านระบบอัตโนมัติ พัฒนาตัวโรงเรือนให้เป็นระบบปิด (EVAP) มีระบบหมุนเวียนอากาศ มีการทดลองปลูกแบบต่างๆ จนเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องฟาร์มได้”
 

     ในส่วนของการขยายสาขามาเมืองหลวง ที่พวกเขาบอกว่าต้องเสียค่าเช่าสูงกว่าเชียงใหม่เป็นสิบเท่า และเจอปัญหาเรื่องการขนส่ง เพราะต้องส่งผักส่งวัตถุดิบซึ่งเป็นของสดใหม่จากฟาร์มเชียงใหม่ จึงต้องเริ่มจากการเปิดเล็กๆ เพื่อดูความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการก่อน ลองหาวิธีแก้ปัญหา หาแนวทางแก้ไขให้ลงตัว ภายหลังเมื่อธุรกิจได้รับการตอบรับมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ในการขยายสาขาอื่นๆ ตามมา จึงลงทุนเปิดศูนย์กระจายสินค้า และครัวกลาง 


     “ตอนที่เปิดสาขาแรกในกรุงเทพฯ เรายังไม่ได้มีการทำเรื่องของการขนส่งอะไร แต่พอเริ่มมีสาขาที่ 4- 5- 6 เราทำศูนย์กระจายสินค้าอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กระจายสินค้าที่มีการขนส่งผักอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าสามารถเปิดสาขาเพิ่มขึ้นได้ก็เท่ากับค่าใช้จ่ายในศูนย์กระจายสินค้าจะถูกแชร์ออกไปและถูกลง เราเลยเปิดเพิ่มปีละ 4 สาขา ขณะเดียวกันก็สร้างทีมเทรนนิ่งพนักงานเพื่อรองรับในการเปิดแต่ละสาขาด้วย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 14 สาขา และเราลงทุนเองทั้งหมด”



 

คุณภาพคือหัวใจ ต้องควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทาง


     โอ้กะจู๋ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพเป็นหัวใจ นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาบอกว่า เลือกที่จะค่อยๆ โต โตเมื่อพร้อม มากกว่าโตแบบก้าวกระโดด โดยทุกกระบวนการผลิตทำด้วยความตั้งใจและใจรัก เริ่มตั้งแต่ในฟาร์ม ลงลึกไปถึงขั้นตอนการหมักปุ๋ยอินทรีย์ กรรมวิธีการเพาะปลูก จนกระทั่งถึงการจัดเตรียมวัตถุดิบที่พิถีพิถันในทุกขั้นตอน และเน้นความสดใหม่ของผักทุกวัน ตั้งแต่เริ่มเก็บเกี่ยวจากฟาร์มที่เชียงใหม่ ส่งตรงมายังกรุงเทพฯ โดยผักทุกจานจะถูกจัดเตรียมและเสิร์ฟให้ลูกค้าภายใน 28 ชั่วโมง ภายหลังการเก็บเกี่ยว ที่สำคัญผักเกือบทั้งหมดมาจากฟาร์มของตัวเอง


     “ก่อนหน้านี้เราเคยไปส่งเสริมชาวบ้านปลูก แล้วเขาทำทั้งไฮโดรโปนิกส์และออร์แกนิก ทีนี้เรารับในส่วนของผักออร์แกนิกเขามา แต่ลูกค้าที่มารับผักไฮโดรโปรนิกส์จากเขา เขาก็เคลมว่าส่งที่โอ้กะจู๋ด้วย เลยกลายเป็นว่าอาจเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าเราใช้ผักไฮโดรโปนิกส์ พอเจออย่างนี้เลยคิดว่าไม่ได้แล้ว เพราะอันนี้เป็นหัวใจของเราเลย เราต้องทำเอง  แต่ก็ไม่ได้ทำเองทั้งหมด คือส่วนที่เป็นผักใบเราปลูกเอง แต่ในขณะเดียวกันพวกมะเขือเทศ แตงกวาญี่ปุ่น ที่ต้องปลูกบนพื้นที่สูงเราก็ไปส่งเสริมเกษตรกรปลูก อย่างที่แม่แจ่ม ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 4 ครอบครัวที่ปลูกผักแล้วส่งให้กับเรา”


     แม้จะขยายสาขาจนมีเป็นสิบสาขา แต่พวกเขาก็ยังใช้การลงทุนเอง เมื่อถามว่าทำไมไม่เลือกระบบแฟรนไชส์ที่น่าจะช่วยให้โอ้กะจู๋ขยายสาขาได้เร็วกว่านี้ ชลากรบอกเราว่า ไม่เลือกวิธีนี้ในตอนนี้ เพราะยังรู้สึกว่าไม่สามารถไปควบคุมแฟรนไชซีได้ทั้งหมด ยังไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ ดังนั้นหากมีการทำอะไรที่นอกเหนือการควบคุม เช่น ในปีที่ผลผลิตน้อยลง แฟรนไชซีไปใช้ผักของที่อื่นแล้วเกิดปัญหาก็จะส่งผลเสียหายต่อแบรนด์ของพวกเขาด้วย แต่หากมีความพร้อมในอนาคตก็อาจเลือกใช้โมเดลนี้


     สาขาที่ลงทุนเอง เน้นอย่างมากกับการให้บริการของพนักงาน โดยใส่ใจตั้งแต่การปรับ Mindset ของพนักงานเพื่อให้บริการลูกค้าเหมือนคนในครอบครัวอย่างมีมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา


     “ถ้าถามว่า  Key Success ของเราอยู่ที่ตรงไหน ผมว่าเป็นเรื่องของคุณภาพ และความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีให้กับเรา เพราะอย่างที่บอกการทำฟาร์มมันเป็นข้อด้อยในการขยายสาขาของเราก็จริง แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดแข็งของเราที่เจ้าอื่นอาจจะทำได้นะแต่ไม่อยากทำ นอกจากนี้การมีฟาร์มลูกค้าเรายังได้ไปเห็นไปสัมผัสด้วยตัวเองว่า เราปลูกผักอินทรีย์ เราทำปุ๋ยมาใช้เองจริงๆ เขาก็จะยิ่งมีความเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้โกหกเขา และนำมาสู่การเชื่อมั่นในแบรนด์ในที่สุด นอกจากนี้เรายังรักษามาตรฐานคุณภาพของอาหารให้ดีอย่างต่อเนื่องมา เพราะนี่คือหัวใจ” เขาย้ำ



 
 
สร้างองค์กรคนรุ่นใหม่ กล้าแสดงความเห็น มีทักษะที่หลากหลาย


     โอ้กะจู๋เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันบริหารโดย “อู๋-ชลากร” “โจ้-จิรายุทธ” และหุ้นส่วนอีกคนคือ “ต้อง-วรเดช สุชัยบุญศิริ” โดยทั้ง 3 คนแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน จิรายุทธ ดูแลฟาร์มผัก ชลากรดูแลด้านการตลาด ร้านอาหารและเมนูอาหาร ส่วนวรเดชดูแลเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ ระบบโลจิสติกส์ ไปจนถึงเรื่องเครื่องจักรต่างๆ จนปัจจุบันสวนผักขยายตัวเป็น 4 ฟาร์ม รวมพื้นที่กว่า 200 ไร่ ผลิตผักป้อน 14 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่


     จากธุรกิจที่เริ่มจากคนแค่ 3 คน วันนี้พนักงานของพวกเขามีอยู่เกือบ 1 พันคนแล้ว โดยชลากรบอกเราว่าพนักงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุเฉลี่ยที่ประมาณ 20-30 ปี  
 

     “เราเป็นองค์กรที่ค่อนข้างเปิด อย่างเมื่อก่อนเวลาเราทำงานแล้วเจอผู้ใหญ่บอกว่าห้ามนะ ยังรู้สึกไม่ชอบเลย ดังนั้นผมจะบอกน้องๆ เสมอว่า มีอะไรเรามาแชร์กัน  ทำได้หรือไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยพอเขาได้แสดงความเห็น เขาจะรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของ ซึ่งนั่นจะทำให้องค์กรของเราเติบโตไปได้  ถึงแม้ในอนาคตผมอาจจะลดบทบาทลง แต่เชื่อว่า DNA แบบนี้จะถูกปลูกฝังไปอยู่ในตัวพนักงานทุกคน ผมอยากให้โอ้กะจู๋อยู่อย่างยั่งยืนไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ในขณะเดียวกันก็คิดถึงพนักงานที่อยู่กับเราที่ต่อสู้มาด้วยกัน มองว่าเขาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ดังนั้นเราต้องรักษาและเติบโตไปด้วยกัน” เขาบอกวิสัยทัศน์


     คนทำงานในโอ้กะจู๋มีทักษะที่หลากหลาย หนึ่งคนสามารถทำได้หลายอย่าง แม้แต่พนักงานเสิร์ฟก็อาจผันตัวมาเป็นไรเดอร์ หรือพนักงานส่งอาหารได้ พวกเขาพยายามจัดกิจกรรมที่ทำให้ผู้บริหารและพนักงานได้สื่อสารกันตลอดเวลา มีการแชร์ความคิดและเรียนรู้ไปด้วยกัน เลือกพาทีมงานออกไปประชุมนอกสถานที่เพื่อไปเปิดหูเปิดตาและกลับมาถกคิดกันต่อว่าจะปรับกับธุรกิจของพวกเขาอย่างไร ภายใต้กรอบใหญ่ๆ ที่ทีมบริหารให้ไว้ และไม่เกิดความเสียหายต่อองค์กร


     “มีหลายไอเดียมากที่มาจากพนักงาน อย่างการเปิดสาขาเขาจะมาแชร์ให้ฟังว่า ที่ตรงนี้มีคอนโดแบบนี้ๆ เราควรจะทำการตลาดแบบนี้ดีไหม ซึ่งเราก็โอเค ทำเลย ถ้าไม่ได้เกิดความเสียหายก็อยากจะให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งผิดหรือถูกเราไม่ว่ากันอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช่ทั้งเขาและเราก็แค่จะได้รู้ว่าวิธีนี้ไม่เวิร์คเท่านั้นเอง  และถึงแม้บางอย่างเรารู้ว่ามันอาจจะไม่เวิร์คแต่ก็ยังอยากให้เขาได้ลองอยู่ดี เขาจะได้กล้าตัดสินใจและกล้าที่จะเสนอไอเดีย แต่ถ้าเราบอกว่าไม่เอา เขาก็จะไม่กล้าคิดอะไรออกมาอีก” เขาบอก



 
 
ชีวิตผิดพลาดได้ อย่าไปกลัวความล้มเหลว


     โอ้กะจู๋ไม่ได้เริ่มต้นด้วยคำว่าประสบความสำเร็จ ระหว่างการทำธุรกิจพวกเขาเจอเรื่อง “ผิดพลาด” อยู่บ่อยครั้ง แต่ชลากรบอกเราว่า เป็นเรื่องปกติที่การทำธุรกิจจะเจอกับความผิดพลาด เพราะหลายอย่างที่ทำล้วนเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา


     “ตั้งแต่เริ่มทำมาก็มีข้อผิดพลาดมาตลอด ยิ่งช่วงแรกๆ ยิ่งผิดพลาดเยอะมาก ทั้งเรื่องของการบริการ เพราะเราเริ่มมาจากเล็กมาก อย่างในช่วงไฮซีซั่นของปีแรกที่เราเปิด เราก็บริการลูกค้าไม่ทัน อาหารทำไม่ทัน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน พอรู้แล้วก็ค่อยๆ หาทางแก้ปัญหา เพิ่มคนเข้าไป เพิ่มอุปกรณ์เข้าไปที่จะช่วยลดเวลา จ้างทีมเอาท์ซอร์ซ (Outsource) ที่เป็น Training มาสอนเด็กเราว่าต้องทำยังไง เรื่องที่หนักสุดก็คือการไม่ได้มี Backup ในเรื่องของระบบหลังบ้าน ทำให้พอเราโตมากขึ้น เปิดสาขามากขึ้น แต่ว่าหลังบ้านเราไม่ได้มอง พอเจอปัญหาก็เริ่มกลับไปมองว่าแท้จริงแล้วเราเปิดสาขาเยอะเกินไปหรือเปล่า ก็ต้องหาทางแก้ไข โดยหาทีมที่จะมาซัพพอร์ตเราในการขยายสาขา จ้างคนมาเพิ่ม หาผู้รู้มาแนะนำ


     หรืออย่างพอเปิดสาขาเยอะขึ้น แต่กำลังการผลิตที่ครัวกลางของเราทำไม่ทันทั้งๆ ที่เราประเมินไว้แล้ว ทำให้มีช่วงหนึ่งที่เราต้องปิดร้านตั้งแต่ 2 ทุ่ม เพราะว่าผักหมด ของไม่ได้หมดนะแต่ผักหมด เราก็ต้องปิดเพราะไม่อยากจะเสิร์ฟสเต็กที่มีแต่เนื้อแล้วก็เป็นจานโล่งๆ หรืออย่างเรื่องโรงเรือนพัง เริ่มจากเหล็กก็พัง เปลี่ยนเป็นไม้ก็พังอีก ก็ต้องมาใช้วัสดุที่ผสมผสานทั้งไม้และเหล็ก นี่คือตัวอย่างของเรื่องผิดพลาดจากความไม่รู้ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับเรา ผมถึงบอกว่าเรื่องผิดพลาดมันมีอยู่ทุกวัน เพียงแต่รู้แล้วว่าพลาดตรงไหนก็แก้ไขไปเท่านั้นเอง” เขาย้ำ


     ชลากรบอกเราว่า เขาไม่กลัวความล้มเหลว เพราะว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ก็เจอความล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้เสมอ และถ้าวันนี้เขาจะกลับไปอยู่ที่จุดๆ เดิม ไม่ได้เติบโตมาขนาดนี้ เขาก็รับได้
เมื่อถามว่า ทำธุรกิจกับเพื่อนยังไงให้แฮปปี้ ไม่มีความขัดแย้งจนเกิดเป็นปัญหา ชลากรตอบแค่ว่า


     “ผมกับโจ้เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ ม.3 เรารู้จักกันมาเกินครึ่งชีวิตแล้ว จนรู้ว่าแต่ละคนคิดยังไง แค่มองตาก็รู้แล้วว่าชอบหรือไม่ชอบ อยากได้ ไม่อยากได้ ถามว่าความขัดแย้งในเนื้องานมันมีอยู่แล้วเป็นปกติ บางอย่างถ้าเราเห็นตรงกัน เราก็คงไม่มาไกลขนาดนี้ ฉะนั้นเวลาทำงานถ้ารู้สึกว่ามีปัญหา ก็แค่นั่งคุยกัน แล้วก็แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน พอเราประชุมเสร็จก็ยังไปเฮฮากันได้ต่อ แค่นี้เอง”


     และนั่นก็คือเหตุผลที่ร้านโอ้กะจู๋ ความฝันในวัยเด็กของอู๋กับโจ้ ยังคงยืนหยัดและเติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้    
 
 








www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอ

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง