ฟัง “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” พลิกเกม V Farm สู่สนาม Plant-Based Food ด้วยกลยุทธ์ที่มีคนรุ่นใหม่เป็นตัวช่วย

TEXT : กองบรรณาธิการ





     “วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย)” คือเจ้าของแบรนด์ “วี ฟาร์ม” (V Farm) ที่จำหน่ายข้าวโพดหวานพร้อมทาน ข้าวโพดฝักข้าวโพดถ้วย ข้าวโพดตัดท่อน น้ำนมข้าวโพด และชุดรวมนึ่ง (ข้าวโพด มันม่วง และฟักทอง) ซึ่งวางขายอยู่ในเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นหลัก มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี     
           

     หลายคนอาจจะพอทราบว่าเจ้าของแบรนด์นี้คือ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้มีประสบการณ์เป็นทั้งผู้บริหารองค์กรชั้นนำ อย่าง ฟริโต-เลย์ ไทยแลนด์, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, ทีเอ ออเร้นจ์ (ทรู คอร์ปอเรชั่นในปัจจุบัน) ฯลฯ เคยเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ และนักการเมือง มีผลงานความสำเร็จพิสูจน์ให้เห็นมาหลายสิบปี


     เรื่องใหม่ที่เกิดกับ วี ฟู้ดส์ ในวันนี้คือ การไปลงทุนในบริษัท Food Tech Startup สัญชาติไทย “มอร์มีท” ที่ผลิตและจัดจำหน่ายโปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) หนึ่งในเทรนด์ที่กำลังมาแรง โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันอย่าง “ลาบทอดจากพืช” ภายใต้แบรนด์ วี ฟาร์ม


     แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แค่เรื่องเดียวที่พวกเขากำลังทำ ทว่าคือจุดเริ่มต้นของเรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดกับ วี ฟู้ดส์ ในปีนี้



 

รีแบรนดิ้ง “วี คอร์น” สู่ “วี ฟาร์ม” ทรานฟอร์มธุรกิจสู่ Plant-Based Food


     เมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน  อภิรักษ์ พลิกบทบาทจากผู้บริหารมืออาชีพมาเป็นผู้ประกอบการ SME โดยจับธุรกิจข้าวโพดหวานพร้อมทาน และส่งเสริมการวิจัยสายพันธุ์ข้าวโพด Golden Sweet Corn ไปพร้อมกับส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวโพด เปิดตัวสู่ตลาดด้วยการส่งข้าวโพดขายในเซเว่นเป็นเจ้าแรก ภายใต้แบรนด์ วี คอร์น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ทุกตัวที่ตามมาก็ล้วนเกี่ยวกับข้าวโพดทั้งนั้น


     ทว่าวันนี้พวกเขาเลือกที่จะปรับกลยุทธ์โดยการรีแบรนด์ใหม่ในชื่อ “วี ฟาร์ม” (V Farm) เพื่อบอกเป็นนัยว่าจะไม่ได้ทำแค่ข้างโพด แต่จะกระโดดไปสู่โลกของ Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช


     “จริงๆ กระแสนี้มันเกิดก่อนโควิดด้วยซ้ำ คือคนไทยใส่ใจสุขภาพมากขึ้นยิ่งช่วงกินเจที่ผ่านมายิ่งเห็นชัดว่าคนไทยตื่นตัวในเรื่องนี้ บวกกับเทรนด์ของ Plant-Based Food ที่เป็นที่นิยมทั้งในอเมริกาและยุโรป รวมถึงอีกหลายประเทศ เราเลยเห็นโอกาสที่จะขยายพอร์ตมาทำ Plant-Based Food จนได้มาเจอมอร์มีท ซึ่งเป็น Food Tech Startup ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้พูดถึงการร่วมลงทุนอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่มองว่าจะทำงานร่วมกันโดยเราเอาผลิตภัณฑ์ของมอร์มีทซึ่งเป็นโปรตีนจากพืชมาอยู่ในพอร์ตสินค้าของเรา จนพัฒนาสูตรมาสู่ตัวลาบทอด ภายใต้แบรนด์ วี ฟาร์มในเวลาต่อมา”


    การร่วมลงทุนกับมอร์มีท เป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้กับวี ฟู้ดส์ เวลาเดียวกันก็ทำการรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดเดิมที่ใช้ชื่อ วี คอร์น มาเป็น “วี ฟาร์ม” ทั้งหมด เพื่อประกาศจุดเริ่มต้นของเกมธุรกิจใหม่ ที่จะไม่ได้มีแต่ข้าวโพดอีกต่อไป



 

จากแบรนด์ไทย ปูทางสู่ Regional Brand


     การรีแบรนด์ใหม่ ขยายพอร์ตสินค้า โดยเน้นการเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและ Plant-Based เพื่อปูทางสู่การเป็นแบรนด์แห่งภูมิภาค หรือ Regional Brand ที่จะเติบใหญ่ในตลาดต่างแดนอนาคต


     “เราอยากให้แบรนด์ วี ฟาร์ม เป็น Regional Brand นั่นคือเหตุผลที่เราทรานส์ฟอร์มตัวเองมาเป็น  Plant-Based Food เพราะทำให้เราสามารถมีสินค้าที่มีเชลฟ์ไลฟ์ที่นานขึ้น และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับการไปจำหน่ายในต่างประเทศมากขึ้น เรามองว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ว่าในไทยหรือต่างประเทศก็มีไลฟ์สไตล์ที่ใกล้เคียงกัน นั่นแปลว่าถ้าเราทำให้แบรนด์สำเร็จในประเทศไทย หรือเป็นผู้นำตลาดในไทยได้ ก็จะสามารถขยายไปต่างประเทศได้เช่นกัน โดยผ่านกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือคนที่เคยกินอาหารไทย ไม่ว่าจะสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกงหรือไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราจะมุ่งไปในอนาคต”


     การมาถึงของโอกาสใหม่ นำมาสู่การปรับพอร์ตธุรกิจ จากเดิมที่มีกลุ่มข้าวโพดพร้อมทานอยู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ น้ำนมข้าวโพดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นกลุ่มชุดรวมนึ่งและอื่นๆ ในปีนี้จะขยับมาเป็น ข้าวโพดประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ น้ำนมข้าวโพดกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือกลุ่ม Plant-Based จากที่ขายผ่านเซเว่นเป็นหลักก็กระจายความเสี่ยงโดยไปสู่กลุ่มร้านเพื่อสุขภาพ ซูเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด ตลอดจนช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายไปตลาดต่างประเทศ และพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมทานที่มาจาก Plant Based Protein ร่วมกับมอร์มีทเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต



 

ทำงานกับคนรุ่นใหม่ สร้างองค์กรสู่ Next Generation  


     การไปลงทุนในบริษัท Startup เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่อยู่นอกองค์กร ขณะที่ใน วี ฟู้ดส์ เองก็ปรับองค์กรให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานด้วยมากขึ้น หลัง 5 ปีก่อน ลูกชาย “อนรรฆ โกษะโยธิน” เริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดให้กับ วี ฟู้ดส์ โดยปักหมุดว่า ปี 2564 นี้ จะเป็นปีแห่ง Next Generation ของพวกเขา  


     “ผมเองอยู่ในธุรกิจนี้มานานมากแล้ว ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต เพราะพวกเขาจะมีไอเดียใหม่ๆ มี Innovation มันจึงเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้เรามีคนรุ่นใหม่ในองค์กรประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่อนาคตจะต้องเพิ่มขึ้นอีก โดยเราจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาท ให้มีโอกาสในการที่จะขับเคลื่อนบริษัทของเรา และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราเลือกมาร่วมงานกับ Food Tech Startup อย่างมอร์มีท เพราะเราก็อยากเรียนรู้เขา วิธีการคิดของเขามันเร็ว คิด Innovation อะไรได้มากกว่าผมที่เป็น SME ที่อาจจะอยู่แต่ในกรอบเดิมๆ วันนี้เราอยากก้าวออกจากกรอบความคิดเดิม แล้วก็ใช้วิธีคิดแบบคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะเข้าใจกลุ่มเป้าหมายยุคนี้ได้มากกว่าคนในวัยผม”



 

     ทำไมคนที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต ถึงยอมรับว่าเขาแก่เกินไปที่จะขับเคลื่อนองค์กรด้วยตัวเองในวันนี้ แต่ต้องยอมถอยให้กับคนรุ่นใหม่ อภิรักษ์บอกเราว่า เพราะองค์ความรู้ วิธีคิด และบางโมเดลธุรกิจที่ผ่านพ้นมาอาจใช้ไม่ได้อีกแล้วในยุคนี้
               

     “ผมมองว่าปัญหาหลักของ SME คือเราอาจจะยึดติดกับความสำเร็จในอดีต อย่างผมเองมีประสบการณ์เคยอยู่บริษัทใหญ่ เคยดูสินค้ามาหลายตัว ก็อาจจะไปติดกับบิสสิเนสโมเดลเดิมๆ ซึ่งมันไม่ฟิตกับยุคนี้ ผมมองว่า องค์กรสมัยใหม่ต้องใช้นวัตกรรมนำ อย่างที่เขาเรียกว่า IDE (Innovation Driven Enterprise) ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของไอเดียด้วย ไอเดียใหม่ๆ ที่เอามาใช้คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือหากลุ่มเป้าหมายใหม่ ซึ่งมองว่าคนรุ่นใหม่น่าจะช่วยทำเรื่องนี้ได้ดีกว่าคนรุ่นผม


     ต้องยอมรับองค์ความรู้ในอดีตของผมบางเรื่องอาจใช้ได้ แต่บางเรื่องก็ใช้ไม่ได้เพราะโลกมันเปลี่ยนไป และนั่นคือสาเหตุที่ทำไมเราต้องมีคนใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร ผมคิดว่า SME วันนี้ควรปรับวิธีคิด วิธีการทำงาน โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับผิดชอบมากขึ้น ต้องยอมที่จะปรับเปลี่ยน เพราะถ้าเรายังคงทำทุกอย่างเอง ก็คงคิดแบบเดิมต่อไปเหมือนสมัยก่อน ซึ่งมันไม่ได้เวิร์คในสมัยนี้ ฉะนั้นเราต้องยอมเปลี่ยน ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้คิดและทำมากขึ้น” เขาย้ำ



 

     วันนี้ วี ฟู้ดส์ ประเทศไทย เติบโตเป็นธุรกิจร้อยล้าน แต่ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้คนทำงานไม่มาก อภิรักษ์บอกเราว่า  เขาไม่ได้ต้องการให้ วี ฟู้ดส์ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ เพราะแม้จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของเงินทุนหรือทรัพยากร แต่การตัดสินใจจะช้า แต่ยังต้องการเป็นผู้ประกอบการที่มีแพสชั่นในการทํางาน เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับความตั้งใจของเขา


     ในยุคที่โลกธุรกิจต้องการพลังขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ ก็ได้เวลาที่คนรุ่นเก่าจะต้องยอมถอยให้กับคลื่นลูกใหม่นี้
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น