เปิด 5 ตำนานไก่ย่างชื่อดัง เกิดจากไหนและใครเก่าแก่ที่สุด?

TEXT : กองบรรณาธิการ




               
     ถ้าพูดถึงหนึ่งในเมนูอาหารยอดนิยมของคนไทยที่หากินง่าย อร่อย ถูกปาก แถมในอดีตที่การเดินทางยังไม่สะดวกเท่าทุกวันนี้ ผู้คนก็มักจะพกพาติดตัวไปกินด้วยระหว่างทางเสมอ ก็คือ “ข้าวเหนียว ไก่ย่าง” ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็ล้วนมีสูตรเด็ดเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป จนปัจจุบันไม่ได้เติบโตอยู่แค่ในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังกระจายออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วย


      ดังนั้นวันนี้เราจึงขออาสาพาไปทำความรู้จักกับ 5 ตำนานไก่ย่างชื่อดังเมืองไทย “วิเชียรบุรี - เขาสวนกวาง –บางตาล – ห้วยทับทัน - จีระพันธ์” สูตรไหนเป็นของจังหวัดอะไร และใครเก่าแก่ที่สุด ลองมาทำความรู้จัก” แบบให้ถึงกึ๋นกันไปเลย!



 

“วิเชียรบุรี” ไก่ย่างริมทางที่มีขายเกือบทุกหัวถนน


แหล่งกำเนิด : เพชรบูรณ์
อายุ : 59 ปี


      ถ้าพูดถึงไก่ย่างริมทางที่มีการปิ้งขายกันมากสุดในเวลานี้ มองไปหัวถนนที่ไหนก็เห็นคงไม่มีใครเกิน “ไก่ย่างวิเชียรบุรี” ไก่เนื้อแน่น นุ่ม หนังกรอบอย่างแน่นอน ซึ่งต้นกำเนิดนั้นมาจากอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามชื่อของไก่ย่างนั่นเอง


       โดยหากจะย้อนไปเมื่อราว 50 กว่าปีก่อน สมัยนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นป่ารก มีเส้นทางสัญจรหลักเพียงเส้นเดียว คือ ถนนสายชัยวิบูรณ์ (ปัจจุบัน คือ ทางหลวงหมายเลข 21) ด้วยความที่ถนนหนทางยังกันดารเป็นถนนลูกรังอยู่ เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณสามแยกวิเชียรบุรีซึ่งมีความร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ผู้คนจึงมักใช้เป็นจุดแวะพักริมทาง บ้างก็เพื่อรอต่อรถโดยสารประจำทางที่วิ่งเพียงวันละไม่กี่รอบ จึงมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเริ่มนำอาหารมาวางขาย หนึ่งในนั้น คือ “นายทรวง ซึ่งจ่าย (ตาแป๊ะ)” ชาวจีนอพยพที่นำไก่ย่างมาปิ้งขาย ด้วยรสชาติอร่อยถูกปาก จึงมีลูกค้าติดใจแวะซื้อติดตัวไปรับประทานด้วยระหว่างทาง จากร้านริมทางจึงเริ่มเปิดเป็นร้านให้นั่งขึ้นมาได้ เมื่อปี 2505 โดยใช้ชื่อว่า “ร้านตาแป๊ะ” เช่นเดียวกับหลาย ๆ ร้านที่เริ่มขายมาพร้อม ๆ กัน เช่น ร้านบัวตอง จึงทำให้ไก่ย่างวิเชียรบุรีเริ่มเป็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้น


      กระทั่งราวปี 2525 เมื่อ “สันติ เศวตวิมล” หรือ “แม่ช้อยนางรำ” คอลัมนิสต์ชื่อดังของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้มีโอกาสมารับประทาน จนเกิดติดใจในรสชาติทั้งสูตรของไก่หมักและน้ำจิ้ม จึงนำไปเขียนแนะนำ และตั้งแต่นั้นมาไก่ย่างวิเชียรบุรีจึงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นนั่นเอง โดยเอกลักษณ์ที่ทำให้ไก่ย่างวิเชียรบุรีเป็นที่นิยมมากขึ้น ก็คือ หนังไก่กรอบ หอมกลิ่นเครื่องเทศ สุกทั่วถึงพอดี เพราะมีเคล็ดลับก่อนนำไปขึ้นย่างบนเตาจะมีการนำไก่มาต้มให้สุกระดับหนึ่งก่อนเพื่อให้เลือดแห้ง จากนั้นจึงนำไปย่าง นอกจากทำให้สุกทั่วถึงแล้วอย่างถึงแล้ว ยังช่วยให้หนังไก่กรอบด้วย นอกจากนี้อีกส่วนน่าจะเป็นเพราะ 2 น้ำจิ้มสูตรเด็ด คือ น้ำจิ้มแจ่วที่เป็นพริกป่นใส่กับน้ำมะขาม และน้ำจิ้มกระเทียมดอง ราคาขายปัจจุบันจะอยู่ที่ตัวละ 100 – 150 บาท แล้วแต่ไซส์ และประเภทของไก่ว่าเป็นไก่บ้าน หรือไก่เนื้อ


      ปัจจุบันร้านต้นตำรับก็ยังคงขายประจำอยู่ที่บริเวณสามแยกวิเชียรบุรี มีการแตกสาขาออกไปหลายร้าน บ้างก็ผุดขึ้นมาใหม่รวม ๆ แล้วกว่า 30 - 40 ร้านเห็นจะได้ และด้วยรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์เป็นที่นิยม จึงมีการนำไปกระจายขายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วย บ้างก็ทำเป็นลักษณะแฟรนไชส์ขายสูตร บ้างก็ขายส่งตัววัตถุดิบ จึงไม่แปลกว่าเพราะเหตุใดเราจึงเห็นร้านไก่ย่างวิเชียรบุรีตั้งขายอยู่แทบทุกหัวถนน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในส่วนนี้มิได้มีการการันตีออกมาแน่ชัดว่าใครเป็นเจ้าของตัวจริง แต่ที่แน่ ๆ หากเอ่ยถึงต้นตำรับก็ต้องที่สามแยกวิเชียรบุรีนั่นเอง



 

“เขาสวนกวาง” ไก่ย่างขายาว บนถนนมิตรภาพ


แหล่งกำเนิด : ขอนแก่น
อายุ : 49 ปี
               

      นอกจากไก่ย่างวิเชียรบุรีแล้ว อีกหนึ่งตำนานไก่ย่างที่นิยมขายอยู่ริมทางกระจายไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ก็คือ “ไก่ย่างเขาสวนกวาง” ไก่ย่างชื่อดังของแดนดินถิ่นอีสาน ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากอำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น โดยแต่เดิมนั้นเป็นสูตรไก่ย่างที่ขายอยู่ริมทางรถไฟเขาสวนกวางมาก่อน ต่อมาเมื่อมีถนนมิตรภาพตัดผ่านเข้ามา จึงเริ่มมีการนำมาขายอยู่ริมถนนกันมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าหาซื้อได้ง่ายขึ้น
               

      ช่วงแรกนั้นไก่ย่างสวนกวางก็เหมือนกับไก่ย่างทั่วไป ไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก กระทั่งปี 2515 - 2516 “นายจงพวง แซ่อึ้ง” พ่อค้าชาวจังหวัดกำแพงเพชรได้เข้ามาปักหลักทำมาหากินอยู่ที่อำเภอเขาสวนกวาง เมื่อเห็นว่ามีชาวบ้านมีการขายไก่ย่างกันมาก โดยมักใช้เป็นไก่บ้านที่เลี้ยงเองมาปิ้งขาย จึงเกิดความคิดอยากนำไก่พันธุ์มาขายให้กับชาวบ้านเพื่อจะได้มีรายได้เพิ่ม  โดยเป็นไก่สามสายพันธุ์ มีลักษณะพิเศษ คือ เนื้อจะเหนียว แต่มีความยืดหยุ่นคล้ายไก่บ้าน หนังบาง มันน้อย แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่นัก ภายหลังจึงทดลองนำมาหมักและย่างขายเอง ปรากฏว่าขายดี จึงได้มีการตั้งเป็นร้านขึ้นมาใช้ชื่อว่า “ไก่ย่างวรรณา เขาสวนกวาง” ซึ่งนำมาจากชื่อของลูกสาวคนเล็ก


      ต่อมาเมื่อ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้มาชิมไก่ย่างของทางร้าน แล้วนำไปเขียนแนะนำลงในคอลัมน์เชลล์ชวนชิมในนิตยสารฟ้าเมืองไทย พร้อมให้ป้ายการันตีความอร่อยจากเชลล์ชวนชิมเมื่อปี 2530 จึงทำให้ชื่อเสียงของร้านและไก่ย่างเขาสวนกวางเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเมื่อเห็นว่าไก่ย่างเขาสวนกวางได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 2537 นายอำเภอเขาสวนกวางในเวลานั้นจึงได้มีการจัดงานเทศกาลไก่ย่างเขาสวนกวางขึ้น ก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของไก่ย่างเขาสวนกวางเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก ภายหลังจึงเกิดการรวมตัวของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าและจัดตั้งเป็นชมรมไก่ย่างเขาสวนกวางขึ้นมา เพื่อย่างส่งขายทั่วประเทศ จนกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าโอทอปที่ขึ้นชื่อหลักของจังหวัดไปในที่สุด นอกจากนี้ยังมีบางฟาร์มที่จัดขายส่งเป็นวัตถุดิบให้กับร้านริมทางนำไปย่างขายเหมือนกับไก่ย่างวิเชียรบุรีก็มีบ้างเช่นกัน แต่อาจไม่เยอะเท่า
 

       เอกลักษณ์ที่ถือเป็นจุดเด่นของไก่ย่างเขาสวนกวาง ก็คือ เป็นไก่ย่างขายาว ตัวไม่อ้วน กำลังดี เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าไก่ย่างเขาสวนกวางส่วนใหญ่มักใช้ไก่ตัวผู้อายุประมาณ 55 วัน ทำให้เนื้อไม่เยอะเกินไป ไม่มีมัน และนุ่มหวานกำลังดี นอกจากตัวไก่แล้วเอกลักษณ์ที่ถูกพูดถึงอีกอย่าง ก็คือ กรรมวิธีการย่างโดยจะย่างเป็นไก่ทั้งตัว โดยจะย่างอยู่บนกะละมังเคลือบขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนเตาย่างอีกทีหนึ่ง เป็นวิธีที่ทำให้ไก่สุกเร็วขึ้น เพราะมีกะละมังช่วยเก็บความร้อนนั่นเอง



 

“บางตาล” ต้นตำรับไก่ย่างสีเหลือง ไม้ย่างรูปใบพัด


แหล่งกำเนิด : ราชบุรี
อายุ : 70 กว่าปี


      “ไก่ยางบางตาล” มีจุดกำเนิดมาจากหมู่บ้านบางตาล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ จะเป็นไก่ย่างเนื้อสีเหลือง ซึ่งหมักด้วยเครื่องเทศและสมุนไพรหลายชนิดหลักๆ คือ กระเทียมไทย พริกไทยเม็ด และขมิ้น จึงมีรสชาติเข้มข้นเผ็ดร้อนนิดๆ และมีสีเหลืองสวยงาม
               

     โดยจุดเริ่มต้นที่มาของไก่ย่างบางตาล ก็เป็นไก่ย่างตำนานที่มีการริเริ่มขายอยู่ริมทางสถานีรถไฟมาก่อน ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 70 กว่าปีก่อน สถานีรถไฟคลองบางตาลเป็นสถานีใหญ่ของจังหวัดราชบุรี จึงมักเป็นจุดแวะพักสำคัญของเส้นทางรถไฟสายใต้ยุคนั้น ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นรถจักรไอน้ำจึงต้องมีการจอดเติมเชื้อเพลงจากน้ำและฟืนที่นี่ ทำให้เกิดการค้าที่คับคั่ง โดยเล่าต่อกันมาว่าผู้ที่นำสูตรไก่ย่างสีเหลืองมาขายเป็นคนแรกๆ คือ “นายเม่งเพียง แซ่เตียว” ชาวจีนไกลโพ้นที่อพยพเข้ามาอยูในไทย โดยคนส่วนใหญ่มักเรียกว่า “ตาแปะ ไก่ย่าง” ซึ่งด้วยรสชาติที่อร่อยถูกปาก และหอมสมุนไพรเข้มข้นภายหลังจึงมีคนนำไปทำตามบ้าง จนกลายเป็นสูตรเฉพาะตัวของไก่ย่างบางตาลในที่สุด
               

       จนปัจจุบันในพื้นที่หมู่บ้านบางตาล ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟบางตาล มีการประกอบอาชีพทำไก่ย่างขายกันมาก จนหลายคนขนานนามให้ว่า “หมู่บ้านไก่ย่าง” เพื่อกระจายส่งไปขายตามแหล่งพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กลางวิสาหกิจชุมชน หรือ OTOP ไก่ย่างจากจังหวัดราชบุรีอีกด้วย
               

      โดยเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของไก่ย่างบางตาล นอกจากสีเหลืองสวยงาม และรสชาติเข้มข้นจากสมุนไพรแล้ว ไก่บางตาลส่วนใหญ่จะไม่นิยมย่างขายทั้งตัว แต่จะย่างขายเป็นส่วต่างๆ เช่น เนื้ออก สะโพก ปีก ไม้ไผ่ที่ใช้ปิ้งจะผ่าเป็น 3 ซีก เวลาเสียบย่างแล้วจะเหมือนกับรูปใบพัด ด้วยรสชาติที่เข้มข้นปรุงมาพอดีแล้ว จึงมักรับประทานเปล่าๆ กับข้าวเหนียว โดยไม่ต้องใช้น้ำจิ้มนั่นเอง



 

“ห้วยทับทัน” ไก่ย่างไม้มะดันชื่อดัง


แหล่งกำเนิด : ศรีสะเกษ
อายุ : 84 ปี
               

      นับเป็นอีกหนึ่งไก่ย่างที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร สำหรับ “ไก่ย่างห้วยทับทัน” หรือที่หลายคนมักนิยมเรียกว่า “ไก่ย่างไม้มะดัน” เนื่องจากเป็นสูตรพิเศษเพราะใช้ไม้มะดันมาเสียบย่างขาย โดยจุดเริ่มต้นของไก่ย่างห้วยทับทันนั้นมีจุดกำเนิดมาจากอำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกหนึ่งไก่ย่างที่ริเริ่มขึ้นมาจากการเป็นไก่ย่างริมทางรถไฟ
               

      โดยเริ่มมีการย่างขายกันตั้งแต่ที่สมัยมีการจัดตั้งสถานีรถไฟขึ้นมาสายกรุงเทพ-อุบลราชธานี ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านตัวอำเภอจึงเริ่มมีการขยับขยายนำไปขายริมทางมากขึ้นดังที่เห็นอยู่เช่นปัจจุบันนี้ โดยว่ากันว่าผู้ริเริ่มคิดค้นสูตรไก่ย่างไม้มะดันขึ้นมา ก็คือ “นายโพธิ์ นิลล้อม” ราวปี 2480 เนื่องจากเห็นว่าเมื่อมีทางรถไฟตัดผ่านเข้ามาเริ่มมีผู้คนสัญจรผ่านไปมามากขึ้น จึงคิดทำไก่ย่างขาย ส่วนที่ใช้ไม้มะดัน ก็เนื่องจากเป็นไม้หาง่ายในพื้นที่ และส่วนใหญ่ชาวบ้านเองก็มักนำมาใช้ย่างประกอบอาหารกันอยู่แล้ว โดยไม่ได้มีการคิดมาก่อนเลยว่าไม้ย่างดังกล่าวจะช่วยเพิ่มเอกลักษณ์ให้กับสูตรไก่ย่างท้องถิ่นมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เนื่องจากเป็นผลไม้รสเปรี้ยว หลังจากย่างเสร็จแล้วรสชาติของไก่ที่ได้จึงมีความเปรี้ยวแบบกลมกล่อมที่เป็นเอกลักษณ์ผสมลงไปด้วย โดยนอกจากจะช่วยส่งเสริมรสชาติให้กับไก่แล้ว การใช้ไม้มะดันมาย่างยังสามารถทนความร้อนได้ดี ทำให้ไม้ไม่บิดงอ หรือไหม้ง่ายๆ ด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมชาวห้วยทับทันจึงยังคงใช้ไม้มะดันย่างไก่มาจนถึงทุกวันนี้
               

     ด้วยความสุดยอดนี้เอง ผสมกับรสชาติการปรุงที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น จึงทำให้ในปี 2546 ไก่ย่างห้วยทับทันถูกคัดเลือกให้เป็นอาหารขึ้นโต๊ะรับรองผู้นำแต่ละประเทศในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคด้วย ชื่อเสียงของไก่ย่างทับทันจึงเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากความพิเศษที่ได้จากไม้มะดันแล้ว ตัวไก่ห้วยทับทันเองก็มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจด้วย โดยจะใช้เป็นไก่สามสายพันธุ์ผสม ได้แก่ ไก่โรดไอส์แลนด์ ไก่ซุปเปอร์ฮาโก้ และไก่พื้นเมือง เนื้อไก่จึงเหนียวเด้งกินอร่อย


      ปัจจุบันไก่ย่างไม้มะดันนอกจากจะขายอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 226 (สุรินทร์ - ศรีสะเกษ) มากกว่า 40 -50 ร้าน และบริเวณหน้าสถานีรถไฟห้วยทับทันแล้ว ยังถูกคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาวของจังหวัดศรีสะเกษอีกด้วย



 

“จีระพันธ์” ตำนานไก่ย่างประจำงานวัด


แหล่งกำเนิด : อยุธยา
อายุ : 79 ปี
               

       มาถึงลำดับสุดท้าย คือ “ไก่ย่างจีระพันธ์” อีกหนึ่งไก่ย่างในตำนานที่ถูกปากของใครหลายคน โดยประวัติความเป็นมาของไก่ย่างจีระพันธ์นั้นจะไม่เหมือนกับไก่ย่างพื้นบ้านอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากเกิดขึ้นมาจากเจ้าของเพียงคนเดียว แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งไก่ย่างขวัญใจคนไทยทุกเพศทุกวัยเนื่องจากใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์ย่างขายตามงานวัด และงานประจำปีต่าง ๆ
               

      โดยจุดเริ่มต้นของไก่ย่างจีระพันธ์นั้น กำเนิดขึ้นมาจาก “ประจวบ - สง่า อักษรพันธ์” สองสามีภรรยาซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดอยุธยา เมื่อปี 2485 โดยช่วงแรกนั้นไม่มีการตั้งชื่อร้านแต่อย่างใด แต่เนื่องจากมีลูกสาว 2 คน และมี 1 คนได้เสียชีวิตลง ด้วยความรักและคิดถึงภายหลังจึงนำชื่อลูกสาวมาตั้งเป็นชื่อร้านว่า “ไก่ย่าง จิระพันธ์” ภายหลังเมื่อได้ให้หลายชายชื่อ “อับดุลเลาะห์ อาดำ” ที่ช่วยงานมาตลอดเป็นผู้สืบทอดสูตรและรับช่วงดูแลกิจการต่อไป ซึ่งก็เป็นผู้เดียวกับที่สร้างชื่อเสียงและทำให้ไก่ย่างสูตรดั้งเดิมนี้เป็นที่รู้จักมาเช่นทุกวันนี้
               

      โดยหลังจากได้เป็นผู้รับหน้าที่สืบทอดสูตรต่อมาจากป้าแล้ว นายอับดุลเลาะห์ได้มีการบุกเบิกตลาดเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงได้มีการตั้งชื่อแบรนด์ขึ้นมาใหม่เป็น “ไก่ย่าง จีระพันธ์” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อเดิมมาจนทุกวันนี้ โดยในช่วงแรกนั้นใช้วิธีเร่ขายบนรถซูบูรุแถวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ย่านซอยกิ่งเพชร ด้วยเอกลักษณ์ของสูตรไก่ย่างมุสลิมสูตรพิเศษที่มีสีเหลืองทองจากหญ้าฝรั่น ทาด้วยน้ำกะทิ ทำให้เนื้อไก่ที่ได้นุ่มชุ่มลิ้น และมีกลิ่นหอม จึงทำให้ลูกค้าบอกต่อ จนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
               

      นอกจากเร่ขายบนรถแล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ไก่ย่างจีระพันธ์ใช้เพื่อสร้างแบรนด์ขึ้นมา จนเป็นที่รู้จักดีของผู้บริโภคชาวไทย ก็คือ การออกร้านตามงานวัดและงานเทศกาลต่างๆ ด้วยความที่มีพี่น้องเยอะและช่วยกันค้าขาย จึงทำให้แม้ออกเพียงงานเดียว แต่ก็มีการตั้งบูธขาย 3 – 5 ที่ในงานเดียวกันเลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่หลายคนจะจดจำภาพไก่ย่างจีระพันธ์ว่าเป็นไก่ย่างประจำงานวัด ทั้งที่สูตรต้นตำรับก็เป็นของชาวมุสลิม
               

      โดยปัจจุบันไก่ย่างจีระพันธ์อยู่ในการดูแลของทายาทรุ่นที่ 3 นอกจากจะขยับขยายมีร้านสาขาใหญ่โตถึง 3 แห่งในกรุงเทพฯ แล้ว คือ สาขาพระรามเก้า, เกษตรถนนนวมินทร์ และสยามพารากอน ยังมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัยอีกด้วย เช่น บริการรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่โดยใช้ชื่อว่า  “จีระพันธ์ แคเทอริ่ง” นอกจากให้บริการไก่ย่างแล้ว ยังมีอาหารยอดนิยมมุสลิมอื่นๆ ด้วย เช่น ข้าวหมกไก่ ซุปหางวัว ไปจนถึงเมนูอีสาน เช่น ส้มตำ ลาบ น้ำตก


       และที่ผ่านมาไม่นาน คือ การขายแฟรนไชส์ไก่ย่างจีระพันธ์ ซึ่งปกติเวลาขายที่ร้านมักจะขายเป็นตัว จึงทำเป็นแฟรนไชส์เสียบไม้ย่างขายเล็กๆ พร้อมรับประทานได้เลยในราคาไม้ละ 15 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของการออกงานเอง ซึ่งเป็นลักษณะโดดเด่นของธุรกิจก็ไม่ได้ทิ้งไปไหน ยังคงมีการตั้งเป้าให้สามารถออกได้ปีละ 30 – 40 งานด้วยดังเดิม


      และนี่คือ เรื่องราวที่มาของ 5 ตำนานไก่ย่างชื่อดังของเมืองไทย ที่อดีตเคยนิยมอย่างไร ปัจจุบันก็ยังนิยมอย่างนั้นนั่นเอง




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไมบันไดต้องมีแบรนด์? ฟังเฉลยจาก "ลายวิจิตร" ผู้คิดโซลูชั่นบันไดสำเร็จรูป พาธุรกิจโต 10 เท่า

โดยส่วนใหญ่ในธุรกิจ B2B การสร้างแบรนด์ อาจดูไม่ค่อยมีความจำเป็นมากเท่ากับ B2C ที่ขายปลีกโดยตรงถึงผู้บริโภค ยิ่งเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในงานต่างๆ ตัวอย่างเช่น บันได แต่แล้วทำไม? บันได ต้องมีแบรนด์ ไปดูกัน

คำสารภาพจากแม่ค้าประตูน้ำ ยอมออกจาก Comfort zone สู่โลกออนไลน์ เมื่อความสำเร็จเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ช่วงนี้มักได้ยินเสียงบ่นของพ่อค้าแม่ค้าหนาหูว่า เศรษฐกิจไม่ดีและไม่ใช่เศรษฐกิจไม่ดีแบบธรรมดา แต่เป็นเศรษฐกิจที่แย่สุดๆ รับรู้ได้จากแม่ค้าหลายรายได้โพสต์คลิประบายความในใจจนกลายเป็นไวรัล

บ้านต้นไม้ร้อยหวัน โฮมสเตย์ที่อยากให้คนมาใช้ชีวิตเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ

บ้านพักแนวโฮมสเตย์รักษ์วิถีชุมชน ที่อยากชวนคนให้มาอยู่กับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ รับเฉพาะลูกค้าจองล่วงหน้าเท่านั้น