“ไอริณ” ธุรกิจทายาทเกลือสมุทร 120 ปี ต่อยอดเกลือทะเลสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ทำรายได้หลัก 10 ล้าน โต 400% ในโควิด

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ไอริณ





     “นาเกลือขุนสมุทรมณีรัตน์” คือชื่อของธุรกิจผลิตและจำหน่ายเกลือสมุทรเก่าแก่ของ จ.สมุทรสาคร ที่อยู่ในสนามนาเกลือมานานถึง 120 ปี และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยพื้นที่นับ 7 พันไร่ วันนี้เจเนอเรชั่นที่ 5 ได้ลุกมาต่อยอดธุรกิจครอบครัว โดยนำเกลือทะเลมาผลิตเป็นสินค้านวัตกรรม เริ่มต้นจากเงิน 2 แสนบาท ใช้คนแค่ 5 คน ปลุกปั้นธุรกิจใหม่ ทำรายได้หลัก 10 ล้านบาท ส่งขายทั่วไทย ส่งออกไปถึง ลาว กัมพูชา ฝรั่งเศส มาซิโดเนีย และอินเดีย ฯลฯ ทั้งยังโตได้ถึง 400 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่เกิดวิกฤตโควิด-19


     นี่คือเรื่องราวของคนหนุ่มที่ชื่อ พอเจตน์ มณีรัตน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลักซ์นา จำกัด ทายาทรุ่นที่ 5 ธุรกิจเกลือสมุทรร้อยปี ที่อยากให้ธุรกิจครอบครัวไปต่อได้ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่อย่างเขา
 



 
เปลี่ยนของเสียเป็น “คุณค่า” ต่อยอดสิ่งใหม่ด้วยนวัตกรรม


      การเข้ามาสานต่อธุรกิจกงสีที่อยู่มานานกว่าร้อยปี และแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยตลอดที่ผ่านมา ทำให้ทายาทเริ่มศึกษาจุดแข็งจุดอ่อนของธุรกิจครอบครัว จนพบว่า แม้นาเกลือจะเป็นธุรกิจที่ผูกขาดโดยธรรมชาติเนื่องจากต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการทำ แต่ก็เป็นธุรกิจต้นน้ำที่รัฐควบคุม ทำให้ไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ ขณะที่ในโลกยังมีคู่แข่งที่สำคัญ อย่าง อินเดียและออสเตรเลีย ซึ่งทั้งหมดยังทำเกลือได้ต้นทุนถูกกว่าไทย เกลืออินเดียนำเข้ามาขายในไทยแค่กิโลกรัมละบาท ทำให้ผู้ผลิตในไทยต้องลดราคาไปสู้กับเขา กำไรเลยเหลือน้อยนิดแทบไม่คุ้มกับการทำ


     “ผมมานั่งคิดว่า ถ้าเราจะทำให้ธุรกิจนี้ยั่งยืนต่อไปในอีก 100 ปีข้างหน้าได้จะต้องทำยังไง จะต่อยอดไปแบบไหน เพราะถ้ายังทำแบบเดิมต่อไปแรงจูงใจในการทำต่อมันน้อย แต่ถ้าเราเลิกทำคนไทยก็ไม่มีเกลือบริโภคใช่ไหม เพราะคนยังต้องใช้เกลือสมุทรในการทำอาหาร ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารของบ้านเราอยู่ เลยมาดูที่ธุรกิจของเรา เราทำนาเกลือแล้วยังมีอะไรจากตัวเกลือที่เราจะไปต่อยอดได้บ้าง ซึ่งพบว่าเกลือที่เราทำออกมามันไม่ได้มีแต่เกลือเท่านั้น แต่ยังมีคอนเทนต์อื่นๆ ด้วย  เช่น แป้งร่ำ ดีเกลือฝรั่ง ดีเกลือไทย และดอกเกลือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราผลิตได้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราจะทิ้งลงทะเลไปไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์ต่อ ทั้งที่อย่างตัวดอกเกลือและดีเกลือ อยู่ในตำรับยาไทยโบราณด้วยซ้ำ ฉะนั้นมันต้องมีอะไรดี เราเลยเริ่มศึกษาและมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนจะใช้ได้ทุกวัน” พอเจตน์ บอกจุดเริ่มต้นของเขา


     เขาไม่ได้เริ่มจากไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจเดิมของครอบครัว แต่ระหว่างที่ยังช่วยงานกงสี เขาลองแยกมาตั้งบริษัทใหม่โดยชักชวนเพื่อนๆ ที่มีความเก่งในด้านต่างๆ อย่าง นักวิทยาศาสตร์เคมี นักกฎหมาย และนักจิตวิทยา  บวกความเชี่ยวชาญของเขาที่เรียนจบมาทางด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ก่อตั้ง บริษัท ลักซ์นา จำกัด ขึ้นในปี 2555 มุ่งนำคุณประโยชน์ของเกลือทะเลไทยมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มจากทำสบู่และเจลอาบน้ำจากดอกเกลือ ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “IRIN” (ไอริณ) ที่มาจากคำว่าเกลือ ตั้งใจให้เป็นแบรนด์พรีเมียมอารมณ์เดียวกับ Marks & Spencer ใครจะคิดว่าสุดท้ายแป้ก! ต้องเจ็บตัวอยู่นานถึง 3 ปี



 

ทำธุรกิจต้องลดอีโก้ และเข้าใจลูกค้า


     พอเจตน์ ยอมรับว่าเขาไม่ได้เริ่มต้นด้วยความสำเร็จ ชีวิตไม่ได้มีอะไรง่ายดายขนาดนั้น แต่เกือบล้มหายตายจากไปแล้วใน 3 ปีแรกของการทำธุรกิจ


      “ตอนนั้นเราวางตำแหน่งตัวเองว่าจะเป็นสินค้าพรีเมียม พูดตรงไปตรงมาคือหน้าตาเหมือน Marks & Spencer เลยเพราะเราคิดว่ามันจะดี ตอนนั้นขายเจลอาบน้ำขนาด 200 ml อยู่ที่ 180 บาท  ปรากฏว่าขายไม่ได้เลยเพราะเราไม่ได้ฟังลูกค้าว่าราคาที่เขาซื้อกันอยู่ในตลาดมันเท่าไร เขาต้องการจ่ายแค่ครึ่งหนึ่งของราคาขายที่เราตั้งไว้ พอตอนหลังมาทำ Business Plan จริงๆ  ผมถึงได้รู้ว่า ไม่ใช่ว่าเราอยากจะขายที่ไหนก็ขายได้ แต่อยู่ที่ว่าลูกค้าของเราอยู่ที่ไหน และเราก็ต้องปรับสินค้าของเราให้สอดคล้องกับตลาดนั้นด้วย มันไม่ได้อยู่ที่เราอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่ลูกค้า ถามว่าตอนนั้นเฟลแค่ไหนเราผลิตออกมาเป็นหลักแสนยูนิต ปรากฏขายได้แค่หลักพัน มันเลยเริ่มมีปัญหา ตอนนั้นผมมีทางเลือกแค่ว่า จะทิ้งหรือจะสู้ต่อ ผมเลยไปปรึกษาพี่ๆ ที่เป็น SME หลายคน เขาบอกว่าส่วนใหญ่ SME จะเจ๊งกันใน 3 ปีแรก แต่ถ้ารอดจาก 3 ปีนี้ไปได้เราก็จะไปต่อได้ เขาพูดว่าสิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือ คุณจะสู้ไหมแล้วจะปรับตัวตามลูกค้าไหม ถ้าสู้โดยการปรับตัวตามลูกค้าคุณก็อยู่ได้ แต่ SME ส่วนมากเราจะยึดติดกับอีโก้ ฉันจะขายในแบบที่ฉันจะขาย มั่นใจในสิ่งที่ผิด สุดท้ายก็ไปไม่รอด”
               

       เมื่อคิดว่าจะสู้เขาก็กลับมาเริ่มต้นใหม่โดยอดทนทำแบบไม่ได้เงินเลยใน 3 ปีแรก จากสินค้าพรีเมียมไกลตัวผู้บริโภค เขากลับมาปรับรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สื่อสารได้มากขึ้น และราคาเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เวลาไปออกงานแสดงสินค้าที่ไหนก็เลือกรับฟังคำแนะนำจากลูกค้า และนำมาปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ก่อนออกสินค้าใหม่จะทำการทดสอบตลาดทุกครั้งไม่ใช่คิดเองเออเองอีกต่อไป พยายามหาเวทีประกวดทุกปี และตั้งเป้าว่าต้องได้รางวัลอย่างน้อยปีละ 1 รางวัล เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและมีคนช่วยประชาสัมพันธ์ให้ฟรีๆ จนสามารถต่อยอดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันไอริณกลายเป็นสินค้าที่มีขายแทบทุกที่ ทั้งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม ร้านขายสินค้าสมุนไพร ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ร้านจำหน่ายสินค้าสุขภาพ ไล่ไปจนตลาดส่งออก และออนไลน์



 
               
ใช้คน 5 คน ขับเคลื่อนธุรกิจ เติบโตได้ 400 เปอร์เซ็นต์แม้ในวิกฤต
 

      บริษัท ลักซ์นา เริ่มต้นด้วยแบรนด์ไอริณ มีผลิตภัณฑ์อยู่ประมาณ 5 SKU พอถึงปี 2563 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 พวกเขาสามารถพัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นมามากถึง 20  SKU จากการทำธุรกิจแบบ B2C สามารถแตกแบรนด์ใหม่มาเจาะตลาดกลุ่ม B2B ได้สำเร็จ ทำให้ธุรกิจที่เคยมียอดขายหายไปกว่าครึ่ง ตลาดส่งออกหายวับไปกับโควิด กลับมาเติบโตได้ถึง 400 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดของพวกเขา


      “ในปีโควิคที่ผ่านมาเป็นปีที่ผมมียอดขายสูงสุดตั้งแต่เปิดบริษัทมาเลยก็ว่าได้ โดยเราโตประมาณ  400 เปอร์เซ็นต์ และไม่ได้โตจากผลิตภัณฑ์เดิมแต่โตจากผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น สารพ่นฆ่าเชื้อที่ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ มันเริ่มจากมีลูกค้ามาขอให้ทำ ผมก็ขอตัวอย่างเขามาและทดลองทำ โดยจดอย.ให้เรียบร้อย ปรากฏเราทำได้สำเร็จจึงได้ไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเฉพาะปีที่ผ่านมาเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ถึง 20 SKU เพราะว่าช่วงนั้นมันว่าง ทำให้มีเวลาทำอะไร ตอนที่ยอดขายเราหายไป 50  เปอร์เซ็นต์ ผมเดินไปหาลูกค้าเลย ถามเขาว่ามีปัญหาอะไร อยากได้อะไรไหม พอได้ข้อมูลมา ก็บอกว่าเดี๋ยวผมทำให้เองทั้งที่ผมก็ยังไม่เคยทำ แต่ด้วยความที่เราเป็น SME เราเล็กฉะนั้นผมทำได้เร็ว ใช้เวลาแค่ 2-3 สัปดาห์ ก็สามารถพัฒนาสินค้าใหม่ออกมาได้แล้ว” เขาเล่าจุดแข็ง


       ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคชะตาหรือฟ้าช่วย แต่เกิดจากการยอมลดอีโก้ตัวเองลงและฟังเสียงของลูกค้าให้มากขึ้น


      “จุดเริ่มต้นของสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่โชคอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่ผมฟังเสียงลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร มันคือการทิ้งอีโก้ของตัวเองเป็นครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ผมทิ้งอีโก้แบบนี้บ่อยมาก มองว่าเราต้องยอมปล่อยวาง จะมัวแต่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เราเคยทำสำเร็จ หรือเคยทำได้ดีในอดีตตลอดไปไม่ได้”





      พอเจตน์ เริ่มต้นธุรกิจของเขาด้วยเงินลงทุน 2 แสนบาท วันนี้ธุรกิจขยับมาเติบโตแตะหลัก 10 ล้านบาท หนึ่งในสิ่งที่น่าทึ่งคือ จนถึงวันนี้พวกเขายังใช้คนทำงานแค่ 5 คนเท่านั้น


      “จนถึงปัจจุบันผมก็ใช้คนงานแค่ 5 คนเท่านั้น ส่วนหนึ่งเรามีไปจ้างโรงงานผลิตด้วย แต่เราก็มีโรงงานของตัวเองด้วย แต่โรงงานของเราใช้คนแค่ 2 คน ผลิตสินค้าเองอยู่ที่ประมาณ 1 ตันต่อวัน  ที่เหลือเราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย” เขาบอกความไม่ธรรมดาที่เกิดขึ้น


      คนหนุ่มตั้งโจทย์ตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกิจว่า ไม่ต้องการแบกภาระในเรื่องลูกจ้างประจำ แต่เลือกหาคนเก่งมาเติมเต็มในสิ่งที่ขาด ด้วยโมเดล Sharing Economy


      “ผมมองว่า การที่เราจะรับคนเข้ามาทำงาน แล้วการจะไล่เขาออกมันยากมาก แต่ถ้าเราใช้วิธีคิดแบบ Sharing Economy เราไม่จำเป็นต้องแบกภาระเรื่องนี้เลย ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน เรื่องของระบบบัญชีหรืออะไร เราก็ใช้ระบบบัญชีสำเร็จรูป ใช้ Application ต่างๆ เข้ามาช่วยได้ แต่ตัวนวัตกรรมมันอยู่กับเรา หรืออย่างเรื่องโรงงานผลิต ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้การที่เราจะขยายโรงงานมันไม่ใช่เรื่องที่ควรทำเลย แต่เรามองไปในอุตสาหกรรมเรามีเพื่อนตั้งเยอะตั้งแยะที่เขามีกำลังการผลิตเหลือเฟือ และกำลังมองหาออเดอร์อยู่ ผมก็ไปใช้บริการของเขา ซึ่งปัจจุบันผมใช้โรงงานหลายที่มาก ที่เชียงใหม่ก็ใช้ โรงงานตัวเองที่นครปฐมก็มี และโรงงานที่เพชรบุรีเราก็ใช้ โดยใครเก่งด้านไหนเราก็ใช้ด้านนั้น และเหมือนได้ช่วยเพื่อนๆ ไปด้วย” เขาสะท้อนความคิด
 

      วันนี้ธุรกิจใหม่กำลังไปได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทอดทิ้งธุรกิจเดิมของครอบครัว พอเจตน์ เล่าให้ฟังว่า เขาได้ช่วยพัฒนาแบรนด์เกลือบรรจุถุงให้กับธุรกิจกงสี รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องปรุงที่จะเริ่มในปีนี้ โดยอะไรที่เป็นโอกาสให้กิจการของครอบครัวได้เติบโตและไปต่อ ทายาทอย่างเขาก็พร้อมลงมือทำเสมอ โดยใช้ความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยและความเข้าใจลูกค้า นำพาธุรกิจให้ยังคงแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนสู่อนาคต
 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน