“โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” 8 ปี ล้างหนี้ 50 ล้าน ปรุงเสน่ห์กาแฟอีสานมุ่งสู่ตลาดโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว





     กาแฟอาราบิก้าหอมกรุ่น เสิร์ฟให้สัมผัสท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ของอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีผลผลิตกาแฟคุณภาพส่งให้กับร้านกาแฟทั่วประเทศ มีผลิตภัณฑ์กาแฟและเครื่องสำอางจากกาแฟพรีเมียม สร้างชื่อแบรนด์ “โรงคั่วกาแฟ” (Coffee Factory) จนเป็นที่รู้จักกันถ้วนทั่ว


     เบื้องหลังความสำเร็จคือชายที่ชื่อ “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” เจ้าของธุรกิจ “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” อดีตเด็กหนุ่มที่เคยสร้างธุรกิจร้อยล้านได้ตั้งแต่ในวัย 20 ต้นๆ แต่ก็ต้องจบลงด้วยการเจ๊ง! ในเวลาเพียง 4 ปี ต้องแบกรับหนี้สินนับ 50 ล้านบาท เคยผ่านชีวิตที่มืดแปดด้าน จนมาพบทางออกเมื่อได้เริ่มต้นธุรกิจกาแฟครบวงจรที่วังน้ำเขียว     


      เขารับมือกับทุกเรื่องราวที่ผ่านมาอย่างไร มาฟังคำตอบที่จะเปลี่ยนความคิดคุณไปพร้อมกัน



 

     Q :  ก่อนจะมาเป็นโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว ทราบว่าคุณเองก็เคยล้มเหลวมาก่อน ตอนนั้นทำอะไร แล้วความล้มเหลวที่ว่าหนักหนาแค่ไหน


     A : ผมเรียนจบนิเทศศาสตร์ แต่อยากเป็นผู้ประกอบการเพราะโดยนิสัยของผมแล้วชอบเป็นนักขายมาตลอด ไม่ชอบทำงานรูทีน เลยมาเริ่มธุรกิจแรกของตัวเองทำพวกนำเข้าอะไหล่คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อยู่ที่ดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนนั้นมีรายได้อยู่ที่ปีละประมาณ 120 ล้านบาท แต่ทำได้ประมาณ 4 ปี ปรากฎปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทำให้ธุรกิจผมเสียหายอย่างหนัก จนต้องปิดตัวลงในปีต่อมา ผมเริ่มทำธุรกิจตอนอายุ 24 ปี แต่ต้องมาเป็นหนี้ 50 ล้านบาท ตอนอายุ 29 ปี มันแย่มาก แล้วผมเองก็ยังเด็กด้วย ไม่มีที่ปรึกษา ไม่ได้มีสติสตางค์อะไรเลย ไม่รู้จะไปทางไหนมันมืดแปดด้านไปหมด เพิ่งเข้าใจในตอนนั้นเองว่า คำว่ามืดแปดด้านเป็นยังไง


     สุดท้ายผมตัดสินใจกลับบ้านคิดว่าจะไปหาวิธีตั้งสติก่อนแล้วค่อยออกมาเผชิญโลกใหม่อีกครั้ง ค่อยมาคิดว่าจะจัดการกับหนี้ 50 ล้านบาทนั้นยังไง เลยตัดสินใจไปบวช  พอได้สติกลับมาผมก็ออกมาดำเนินชีวิตเพื่อที่จะมารับผิดชอบกับสิ่งที่ต้องทำนั่นคือจัดการกับหนี้ที่ผมมี



 

     Q : คุณกลับมาเริ่มต้นใหม่ยังไง แล้วใช้วิธีไหนจัดการกับหนี้ก้อนโตนั้น


     A : ผมมาคิดว่าต้องมองหาธุรกิจใหม่ทำ จังหวะมีโอกาสเดินทางไปเที่ยววังน้ำเขียว เขาใหญ่ เพราะต้องการพักผ่อนสมอง ปรากฎไปเจอที่ดินอยู่แปลงหนึ่งที่อำเภอวังน้ำเขียว เห็นแล้วรู้สึกชอบมาก ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า เราต้องตั้งหลักแล้วทำตัวเองให้แข็งแรงให้ได้ก่อน ก็เริ่มจากทำเกษตรพอเพียงโดยเอาทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ เพื่อให้มีปัจจัย 4 ดำรงชีวิต โดยเริ่มจากเช่าที่ดินแปลงหนึ่งจำนวน 5 ไร่ ที่วังน้ำเขียว ปลูกผักปลูกข้าวทำเกษตรพอเพียง ประมาณ 1 ปี ทั้งทำกินเองที่เหลือก็แบ่งขาย


     จนวันหนึ่งผมไปจับจุดได้ว่า มีคนที่เอากาแฟอาราบิก้าไปลองปลูกที่วังน้ำเขียว ได้มีโอกาสไปเจอก็เลยเกิดไอเดียว่ากาแฟอีสานเป็นอาราบิก้าที่ผลผลิตดีมาก งามมาก ด้วยอากาศมันเย็น อุณหภูมิดี ดินก็ดี และที่นั่นเป็นเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วด้วย ในตลาดก็ไม่ค่อยมีใครทำกาแฟอีสาน ส่วนใหญ่ยังเป็นภาคเหนือกับภาคใต้มากกว่า ผมทดลองปลูกและผลผลิตก็ค่อนข้างดี เลยเริ่มศึกษาที่จะแปรรูปกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกบนพื้นที่อีสาน ก็ไปศึกษาทางภาคเหนือ ถามคนที่รู้ ไปกินไปนอนกับเขา เพื่อศึกษาวิธีการแปรรูปกาแฟ แล้วก็กลับมาเริ่มต้นทดลองพัฒนากับวังน้ำเขียว ปรากฏว่ามันมีรสชาติที่ดีมีเอกลักษณ์มีความหอมละมุนลิ้น เป็นคาแรกเตอร์ของกาแฟอีสาน เลยจุดประกายว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนได้รู้ว่าเรามีกาแฟดีๆ อยู่ที่วังน้ำเขียว



 

     Q : คุณเริ่มสร้างแบรนด์กาแฟให้กับวังน้ำเขียวอย่างไร ทำอย่างไรให้เป็นที่รู้จักขึ้นมาหลังจากนั้น


     A : ผมมีโรงเลี้ยงวัวเก่าๆ อยู่โรงหนึ่ง ก็เลยประยุกต์มาเป็นร้านกาแฟแบบแฮนด์เมด เพราะว่าเราไม่มีทุน เริ่มจากการคั่วกาแฟด้วยกระทะทองเหลืองกับเตาถ่าน คั่วเองบดเองดริปเอง ตั้งชื่อว่า “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” โดยเริ่มทำเป็นธุรกิจจริงจังเมื่อประมาณปี 2557 โดยใช้เงินก้อนสุดท้ายที่ 2 แสนบาท มาทำ ภายหลังก็ได้ SME D Bank มาช่วยด้วย เราเริ่มปลูกกาแฟกัน แล้วก็มีชาวบ้านที่ปลูกก็เอาผลผลิตมาแปรรูปกับเราและทดลองปลูกเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นพอโลกโซเชียลแชร์เรื่องของพวกเราออกไป คนมากมายก็สนใจที่จะมาดูเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ทำกาแฟในภาคอีสานและแปรรูปเองด้วยวิถีแฮนด์เมด เราก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักขึ้นมา


     เริ่มขยายจากตรงนั้น มีทุนก็ค่อยๆ มาต่อยอด จนวันนี้เรากลายเป็นโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว ที่ครบวงจรและมีชาวบ้านในชุมชนที่ปลูกกาแฟอยู่เบื้องหลัง ส่งผลผลิตให้โรงคั่วกาแฟเพื่อแปรรูป โดยตอนนี้เรามีโปรดักต์อยู่ประมาณ 20 รายการ ที่เป็นกาแฟคั่วสดซึ่งส่งให้กับร้านกาแฟรายย่อยทั่วประเทศ แล้วก็พัฒนาสินค้ามาเรื่อยๆ จากการลองผิดลองถูก จนเราเริ่มมีคุณค่าทางแบรนด์ที่เข้มแข็ง ตลาดทั่วประเทศยอมรับ และพัฒนามาสู่ Cosmetic Coffee  ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกาแฟพรีเมียม โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “โรงคั่วกาแฟ” หรือ Coffee Factory ทำพวก แชมพู  สบู่  ครีมอาบน้ำ ฯลฯ ที่คนต้องใช้ทุกวัน กลายเป็นว่า Cosmetic Coffee เป็นอะไรที่แปลกใหม่ และคนก็ให้ความสนใจอย่างมาก



 

     Q : จากโรงคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ ทำไมถึงกลายเป็นเครื่องสำอางจากกาแฟไปได้ แล้วสินค้าใหม่นี้สร้างโอกาสให้กับโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว ในวันนี้อย่างไร


     A : เนื่องจากการแข่งขันในตลาดกาแฟค่อนข้างสูง และต้องยอมรับว่า คนส่วนใหญ่ยังยึดติดว่ากาแฟที่ดีต้องปลูกในภาคเหนือหรือภาคใต้เท่านั้น แต่คนยังไม่ได้ยอมรับกาแฟอีสานสักเท่าไร เราจึงต้องหาวิธีทำให้คนยอมรับกาแฟของเรา โดยนำเสนอว่าเราเป็นกาแฟที่ปลูกแบบออร์แกนิก 100 เปอร์เซ็นต์ เราทำด้วยหัวใจของพวกเราที่เป็นกลุ่มเกษตรกร แล้วกาแฟอาราบิก้าของเรามีคาแรกเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ มีความหอม ได้บอดี้ มีความละมุน และมีกลิ่นที่มีเสน่ห์ ซึ่งแตกต่างจากภาคอื่น และเรายังมีคาเฟอีนแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้ในเรื่องของสุขภาพด้วย แต่ว่าที่ผ่านมากาแฟเราเหลือเยอะ โดยเรามีเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟอยู่ที่ประมาณ 50 ครอบครัว พื้นที่รวม 100 ไร่ ผลิตกาแฟได้ประมาณ 20 ตันต่อปี คราวนี้เกษตรกรตาดำๆ ที่ผมดูแลอยู่ เขาปลูกแล้วจะไปส่งขายที่ไหนถ้าไม่มีตลาด เพราะเขามั่นใจว่าเด็กหนุ่มคนนี้จะเป็นตลาดให้เขาได้ จะเป็นรายได้เสริมให้เขาได้ ผมเลยต้องแบกรับความรับผิดชอบตรงนั้นด้วยการกลับมาคิดว่า จะทำยังไงให้ผลผลิตขายออกไปได้ แล้วกลับมาเป็นรายได้สู่ชุมชน


     ในปี 2559-2560 ผมเลยพัฒนามาเป็น Cosmetic Coffee ที่ใช้กาแฟพรีเมียมมาทำ ซึ่งกลายเป็นว่าทุกคนยอมรับและกาแฟเรามีไม่พอผลิตขาย โดยผลผลิตของเราถูกนำมาทำกาแฟแปรรูป เช่น เมล็ดกาแฟคั่ว  กาแฟดริปสำเร็จรูป ชาดอกกาแฟ ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มเครื่องสำอาง เช่น แชมพู  สบู่  ครีมอาบน้ำ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตในมือที่มีปีละ 20 ตัน เริ่มไม่พอ เราเลยต้องเซ็น MOU และช่วยเหลือเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในภูมิภาคอื่นด้วย ซึ่งการมาทำ Cosmetic Coffee  ทำให้เรามีกำไรดีกว่าเดิมเยอะมาก อย่างปกติเราขายเมล็ดกาแฟไปให้ร้านกาแฟจะได้กำไรประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์  แต่พอเป็นเครื่องสำอางเราได้กำไร 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งแตกต่างกันมาก


     ผมเองวางแผนที่จะทำให้คนทั้งโลกได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของคนไทย ที่มาจากผลิตผลของคนไทย ให้คนทั้งโลกมองเห็นว่าสินค้าของเรามีมาตรฐานที่ดีและมีคุณภาพที่ดีจริงๆ ที่จะส่งต่อให้กับผู้คนบนโลก ซึ่งในอนาคตก็หวังที่จะให้แบรนด์ โรงคั่วกาแฟ หรือ Coffee Factory  เติบโตไปในระดับโลกได้



 

     Q : กลับมาถึงเรื่องหนี้สินที่มีอยู่ คุณใช้เวลานานแค่ไหนในการจัดการหนี้ทั้งหมดนั้น และบทเรียนในอดีตสอนอะไรคุณ ส่งผลต่อการทำธุรกิจในวันนี้อย่างไร


     A : ผมใช้เวลา 8 ปี ก็สามารถปลดหนี้ 50 ล้านบาทได้สำเร็จ ซึ่งสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมาก็คือ การทำธุรกิจเราต้องหมุนตามโลกให้ทัน สภาพสังคมแวดล้อมที่มันเปลี่ยน เราต้องขยับตัวตามอยู่ตลอดเวลา และต้องยอมรับว่าระหว่างทางเราอาจต้องเจอกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม ใครจะคิดว่าวันหนึ่งน้ำจะท่วมดอนเมือง ท่วมกรุงเทพฯ ใช่ไหม หรือใครจะคิดว่าวันหนึ่งเราจะเจอกับสงครามชีวะ สงครามโรคระบาด ที่กระทบถึงกันหมด เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าเราไม่ปรับตัว ไม่พัฒนาเรื่องของการบริหารจัดการ ตลอดจนตัวสินค้า เราก็คงจะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องไม่ยึดติดแต่ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา


     โดยส่วนตัวผมยังเชื่อว่ามันมีโอกาสในวิกฤตเสมอ ถ้าเรามาถูกช่อง ถูกจังหวะ ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ที่วิธีคิดของพวกเราทั้งนั้น ถามว่าวันนี้ผมกลัวการเป็นหนี้ไหม ยอมรับว่ากลัว เพราะว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าเราไม่มีหนี้ เรากินอิ่มนอนหลับ ไม่ต้องเอามือก่ายหน้าผาก แค่มีบ้านหลังเล็กๆ มีที่สักแปลงหนึ่งเราก็สามารถสร้างอาหารขึ้นมาได้แล้ว แต่ถ้าเราเป็นหนี้มันมีความเครียด ฉะนั้นเราต้องทำตัวให้เป็นหนี้ให้น้อยที่สุด แต่ถ้าการเป็นหนี้นั้นสามารถต่อยอดธุรกิจขึ้นไปได้ แล้วเรามีกำลังที่จะมาใช้มัน ก็ทำได้และน่าทำ ฉะนั้นต้องวิเคราะห์ให้ดีๆ ในระดับที่เรารับได้


      สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมในวันนี้ มาจากการตกผลึกการใช้ชีวิตกับตัวเอง รู้ว่าผมต้องการชีวิตแบบไหน อยากทำอะไร มีเป้าหมาย มีความฝัน มีแรงบันดาลใจทุกๆ วัน ที่จะเดินไปถึงความฝันและมีความสุขระหว่างทาง ผมมองว่าการมีแรงบันดาลใจในชีวิตมันสำคัญมาก เพราะถ้าวันไหนที่เราหมดแรงบันดาลใจ หรือไม่มีพลังใจ เราจะไม่มีชีวิตชีวา มันไม่อยากจะทำอะไร ห่อเหี่ยวไปหมด แล้วสิ่งใหม่ๆ ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยเพราะว่าเราสิ้นหวัง อย่างตัวผมเองที่ใช้หนี้ 50 ล้านบาทได้ เพราะว่าพลังใจล้วนๆ ผมใช้เงิน 2 แสนบาท มาต่อยอดจนกลายเป็นปิดหนี้ได้ มีกระแสเงินสดหลายสิบล้านบาท ทั้งหมดนี้เพราะพลังในตัวล้วนๆ ไม่ใช่เงิน เงินมันแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น
 

     สำหรับผมธุรกิจนี้มีคุณค่า เพราะว่ามันมีผลกำไรที่เป็นผลกำไรชีวิตด้วย ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจเดิมที่ผมทำ ซึ่งผลกำไรชีวิตก็คือความสุข มันไม่ใช่แค่เงินที่จับต้องได้ แต่มันเป็นความสุข โดย 50 เปอร์เซ็นต์คือกำไรที่เป็นตัวเงิน ที่ผมสามารถใช้หนี้สิน ดูแลครอบครัวและคนรอบข้างได้ แต่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ มันคือกำไรชีวิตที่ทำให้ผมมีความสุขในทุกๆ วันที่ได้ทำงานนี้
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน