N-Do Fulltime กลุ่มคนทำเกษตรอินทรีย์เมืองพิษณุโลก ผู้เปลี่ยนชีวิตจำเจมาเอาดีกับธุรกิจเกษตร


TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : N-Do Fulltime





      กลุ่มเกษตรอินทรีย์ N-Do Fulltime (เอ็นดู ฟูลไทม์) คือการรวมตัวกันของคนทำเกษตรรุ่นใหม่ ที่ก่อตั้งโดย “นิภาพร ทับหุ่น” อดีตนักข่าวเจ้าของสวนลัชศิตา “อุษณีย์กรณ์ จุ้ยแหวว” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พนักงานขายประกัน และเจ้าของร้านขายสินค้าทางการเกษตร ที่ลุกมาปลุกปั้น แหลมโพธิ์ออร์แกนิกฟาร์ม และ “นริสา สุขโชติ” แอดมินบริษัทก่อสร้าง ที่ผันมาทำ สวนนริสา รวมถึงสมาชิกใหม่ “ลำเพย แป้นบูชา” แห่งสวนผักแม่ลำเพย


      พวกเขาคือลูกหลานชาวพิษณุโลก ที่ฝันอยากจะให้บ้านเกิดกลายเป็นสังคมเกษตรอินทรีย์ ผู้คนมีสุขภาพที่ดีและมีธุรกิจที่ยั่งยืนไปพร้อมกับคนพิษณุโลก กลุ่มเล็กๆ ที่มีชื่อน่ารักน่าชังจึงได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยโมเดลธุรกิจที่ไม่โดดเดี่ยว กำลังสร้างโอกาสดีๆ ให้กับผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์อย่างพวกเขา



 
 
            ได้เวลาคนกล้าคืนถิ่นไปทำเกษตรอินทรีย์ที่บ้านเกิด


      หลังเออร์ลี รีไทร์จากอาชีพนักข่าวที่ทำมานานกว่า 10 ปี “นิภาพร” ตัดสินใจกลับไปบ้านเกิดที่ จ.พิษณุโลก เธอเริ่มจากขอแบ่งที่ดินของแม่ที่เคยปล่อยให้เช่าประมาณ 3 ไร่ มาทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ตั้งชื่อว่า “สวนลัชศิตา” เรียนรู้จากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และเริ่มไปเข้าโครงการต่างๆ เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ที่ยังขาด เริ่มจากคนกล้าคืนถิ่น โครงการที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้รู้วิธีลงมือทำเพื่ออยู่ได้จริงในวิถีเกษตรยั่งยืน มีโอกาสไปร่วมกับกลุ่ม “สองแควออร์แกนิค” ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็น บริษัท สองแควออร์แกนิค จำกัด กลุ่มคนพิษณุโลกที่รักและห่วงใยในสุขภาพ ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรมือใหม่ โดยใช้หลักการเกษตรอินทรีย์ ปฏิเสธการใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่อทำให้สมาชิกในกลุ่มฯ และคนพิษณุโลกได้กินอาหารที่ผลิตเองอย่างสบายใจ


     การเข้าร่วมกับกลุ่มสองแควออร์แกนิค ทำให้ได้เริ่มทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS (Participatory Guarantee System) การรับรองมาตรฐานจากเกษตรกรผู้ผลิตด้วยกันเอง ซึ่งเป็นระบบการรับประกันคุณภาพที่ตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือ เครือข่ายทางสังคม และการแลกเปลี่ยนความรู้



               

     หลังจากนั้นสวนลัชศิตาก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีผลผลิตหลักเป็นพืชผักเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูป อาทิ กิมจิ ที่เข้ามาแก้ปัญหาผลผลิตล้นจำหน่ายไม่ทัน เพิ่มโอกาสในธุรกิจเล็กๆ ของเธออีกด้วย  


     “ตอนแรกที่ตัดสินใจกลับบ้าน ตั้งใจเลยว่าอยากทำเกษตร ด้วยความที่เดินทางมาเยอะเลยมีโอกาสเห็นคนทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรตามแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 แล้วรู้สึกว่าเขายิ้มกันทุกคนเลย แล้วเขาได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัว เราเห็นภาพนั้นมาตลอด พอมีโอกาสกลับบ้านก็เลยรู้สึกว่า อยากทำแบบนี้ ไม่อยากไปไหน อยากยิ้มอยู่กับบ้านบ้าง” เธอเล่าที่มาของการเข้าสู่โลกเกษตรอินทรีย์



 

เริ่มที่เกษตรอินทรีย์ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคนทำและคนกิน
               

       ด้าน “นริสา” เจ้าของสวนนริสา ก็เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน โดยหลังเรียนจบจากสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร มหาวิทยาลัยนเรศวร เธอทำงานประจำเป็นแอดมินในบริษัทก่อสร้าง และรู้สึกเบื่อกับงานประจำ จึงตัดสินใจกลับมาบุกเบิกพื้นที่ว่างเปล่าของที่บ้าน เพื่อทำเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ เธอเล่าว่า ทำเกษตรไม่เป็นแต่อาศัยไปศึกษาจากคนที่ทำ และหาโอกาสเข้าอบรมเพื่อเรียนรู้วิธีทำการเกษตร แล้วลองเอามาปรับกับสวนของตัวเอง จนกลายเป็น สวนนริสา ที่อยู่ในโลกเกษตรอินทรีย์ มาได้ประมาณ 3-4 ปีแล้ว
               

     “ที่มาทำเกษตรอินทรีย์เพราะเรื่องของสุขภาพด้วย อยากให้ตัวเองได้กินของดี เลยเริ่มจากตัวเองก่อน เพราะเดี๋ยวนี้สารเคมีอยู่รอบตัวเราเยอะมาก เลยเลือกทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยความที่มันไม่ใช่สารเคมี ก็น่าจะดีต่อสุขภาพ” เธอเล่า
               

      ขณะที่ “อุษณีย์กรณ์” เจ้าของแหลมโพธิ์ออร์แกนิกฟาร์ม มีประสบการณ์ที่แตกต่างจากคนอื่น โดยเธอเป็นทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เคยทำงานขายประกันชีวิต และยังมีร้านขายสินค้าทางการเกษตรของตัวเอง ถามว่าทำไมถึงตัดสินใจลุกมาทำเกษตรอินทรีย์ เธอเล่าให้ฟังว่า


      “ตัวเองเป็นผู้นำหมู่บ้านแล้วก็มีร้านขายสินค้าทางเกษตร ได้เห็นชาวบ้านเขาใช้เคมีในทางที่ผิดกันเยอะมาก ฉีดเช้าเก็บเย็นฉีดเย็นเก็บเช้า บางทีก็ประสบภัยเพลี้ยลงเป็นปัญหาต้องขาดทุน คุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น เลยอยากลองทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นว่า แม้ไม่ใช้สารเคมีเราก็อยู่รอดได้”
               

       สิ่งที่เธอทำเริ่มจากจุดเล็กๆ คือเปลี่ยนตัวเองและทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า การปลูกเกษตรอินทรีย์ดีกว่าเกษตรเคมีอย่างไร ผักอินทรีย์มีราคาที่ดีกว่าผักเคมีทั่วไปแค่ไหน เมื่อมีราคาเป็นแรงจูงใจ ชาวบ้านเห็นก็อยากที่จะลงมือปลูกผักอินทรีย์แบบพวกเธอมากขึ้น



               

รวมกลุ่มทำงานเป็น N-Do Fulltime เพื่อเติบโตไปด้วยกัน
               

       แม้แต่ละคนจะมีสวนเกษตรของตัวเอง มีผลผลิตและผลิตภัณฑ์จำหน่ายอยู่ในตลาดบ้างแล้ว แต่พวกเธอเลือกที่จะรวมตัวกันเพื่อตั้งเป็นกลุ่มชื่อ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ N-Do Fulltimeชื่อน่ารักน่าเอ็นดูที่มาจากการรวมกันของชื่อแต่ละคน  เริ่มต้นทำธุรกิจเกษตรแบบไม่โดดเดี่ยว ช่วยกันผลิต ช่วยกันค้า ช่วยกันขาย เพื่อเติบโตยั่งยืนไปด้วยกัน
               

       “เรารวมกลุ่มกันเพื่อส่งผักเดลิเวอรีให้กับลูกค้าถึงบ้าน ทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ ผ่านกลุ่มไลน์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ N-Do Fulltime มีออกบูธขายผักที่วัดวังหินทุกวันอาทิตย์ และยังทำสลัดโรลส่งลูกค้าตามออเดอร์อีกด้วย นอกจากนี้เรายังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตรของเราเอง อย่าง กิมจิ แชมพูมะกรูด น้ำยาล้างจานมะกรูด และเก๊กฮวยอินทรีย์อบแห้ง เป็นต้น”
               

       ทั้ง 3 คน มีประสบการณ์ทำงานที่แตกต่างกัน ถามว่าได้นำมาใช้กับการทำงานในวันนี้อย่างไรบ้าง อุษณีย์กรณ์ บอกว่า เธอเรียนจบมาทางด้านบัญชี เอกการเงินการธนาคาร จึงนำความรู้มาดูแลแผนกบัญชีของทางกลุ่ม ดูแลเรื่องรายรับรายจ่าย หัวใจของการทำธุรกิจให้อยู่รอด รวมถึงช่วยคิดเรื่องการแปรรูปสินค้า หาความรู้เรื่องการแปรรูป เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตในช่วงที่เกิดภาวะล้นตลาดอีกด้วย
               

      ด้านนริสา มาดูแลเรื่องการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก และเสาะหาชีวภัณฑ์ที่เป็นอินทรีย์เข้ามาให้ทางกลุ่มได้ใช้ รวมถึงช่วยเรื่องการหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของการทำเกษตรให้เป็นธุรกิจ


     ส่วนนิภาพร เธอบอกว่า ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นทั้งคนปลูกผัก เป็นเดลิเวอรีแมนส่งสินค้า เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายการตลาด เป็นวิทยากร ตลอดจนฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ เธอบอกว่าพูดให้ดูหรูหราไปอย่างนั้นเอง เพราะง่ายๆ สั้นๆ คือ “ทำทุกอย่าง” ที่พอจะช่วยให้กลุ่มเล็กๆ ของพวกเธอเดินหน้าต่อไปได้



               
               
      ในขณะที่ความวุ่นวายของเมืองใหญ่ทำให้เด็กหลายคนฝันอยากกลับไปทำธุรกิจเกษตรที่บ้านเกิด ในฐานะรุ่นพี่ที่ผ่านความเหนื่อยยากมาก่อน พวกเธอบอกว่า ทำเกษตรถ้าไม่มีหนี้ก็อยู่รอดได้ แต่ไม่ใช่เป็นอาชีพที่จะทำเงินให้มากมาย ต้องอาศัยใจรักและน้ำอดน้ำทน ที่จะฝ่าฟันทุกอุปสรรคไปให้ได้ ที่สำคัญการวางแผนสำคัญมาก เพราะหากลงมือทำอย่างไม่มีแผน ก็อาจจะต้องเสียทั้งเงินและเวลา
               

       “การจะทำเกษตรให้กลายเป็นธุรกิจ การวางแผนสำคัญมาก ไม่ว่าจะวางแผนการใช้เงิน วางแผนการใช้ชีวิต วางแผนว่าแต่ละวันเราจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะถ้าเราไม่ได้วางแผน ทุกอย่างจะหายไปหมดเลย ไม่ว่าจะเงินลงทุนหรือเวลาที่เราลงแรงไป พืชผลที่เราลงทุนปลูกไป มันเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราอาจคิดแค่ว่า อยากกลับไปทำเกษตรสวยๆ ได้อยู่เงียบๆ ไม่ต้องวุ่นวายกับใคร แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าคุณไม่มีความรู้ มันจะประสบความสำเร็จไปไม่ได้เลย อย่างพวกเราเองทุกวันนี้ก็ไม่ได้คิดว่าสำเร็จหรืออะไร เพียงแต่ว่าเราทำต่อไปได้ โดยที่ไม่ได้ล้มเลิก ไม่ได้ถอดใจเหมือนคนอื่น ฉะนั้นมองว่า ถ้าอยากจะทำเกษตรมันต้องใจรักจริงๆ ยอมที่จะใช้ชีวิตทุกเวลาไปกับมัน เพราะว่าเกษตรอินทรีย์ต้องดูแล ต้องทุ่มเท และต้องมีใจให้ ซึ่งถ้าทำสำเร็จคุณก็จะอยู่รอด และมีความสุขไปกับมัน”




               

      และนี่คือเรื่องราวของกลุ่มเกษตรกรตัวเล็กๆ ที่ลงมือทำสิ่งดีๆ เพื่อบ้านเกิดและชุมชนของตัวเอง โดยใช้พลังของความร่วมมือ ประสบการณ์ความรู้ที่มีมา บวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ทำให้ความฝันเล็กๆ ไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต



 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ