“น่านดูโอ คอฟฟี่” x “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” โมเดลจับคู่ธุรกิจกาแฟเหนือ-อีสาน เชื่อมต่อเครื่องสำอางกาแฟไทยสู่ตลาดโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ





      นับเป็นความร่วมมือที่ไม่ธรรมดาเลยสำหรับผู้ประกอบการกาแฟเหนือและอีสาน อย่าง “หจก.น่านดูโอ คอฟฟี่” จ.น่าน และ “หจก.โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” จ.นครราชสีมา ที่ล่าสุดได้ผนึกกำลังกันเชื่อมต่อถนนสายกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ พร้อมนำส่งแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก โดยน่านดูโอ คอฟฟี่ รับบทเป็นคนต้นน้ำ นำส่งวัตถุดิบกาแฟออร์แกนิกจากเครือข่ายเกษตรกรในภาคเหนือ ให้โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว เพื่อแปรรูปเป็น Cosmetic Coffee เครื่องสำอางจากกาแฟ ส่งออกตลาดโลก
 
               
จากกาแฟเหนือเชื่อมสู่กาแฟเหนือเพิ่มความแข็งแกร่งธุรกิจ
           

      “น่านดูโอ คอฟฟี่” คือผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟครบวงจรของ จ.น่าน ที่ทำตั้งแต่การปลูก คั่ว และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งกาแฟคั่ว และกาแฟ 3 in 1 มีแบรนด์เป็นที่รู้จักของคอกาแฟในชื่อ “ภูมิใจ๋ คอฟฟี่”, “ภูคอฟฟี่” และ “ดูโอ คอฟฟี่” ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เริ่มต้นจากวันแรกที่มีลูกไร่เพียง 30 ครัวเรือน ปัจจุบันกลายเป็นเครือข่ายเกษตรกรกว่า 1,400 ครัวเรือน มีผลผลิตกาแฟคุณภาพนับ 100 ตันต่อปี
               

      ขณะที่ “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” เป็นธุรกิจกาแฟครบวงจรใน จ.นครราชสีมา ที่มีผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพ รวมถึงโปรดักต์ไฮไลท์อย่าง Cosmetic Coffee เครื่องสำอางจากกาแฟพรีเมียม ในชื่อ “โรงคั่วกาแฟ” หรือ Coffee Factory ที่พวกเขามุ่งมั่นส่งออกสู่ตลาดโลก แต่ด้วยข้อจำกัดผลผลิตกาแฟในพื้นที่ยังมีน้อยขณะที่ความต้องการของผลิตภัณฑ์ในตลาดยังมีอีกมาก นั่นเองที่นำมาสู่การจับมือกับ น่านดูโอ คอฟฟี่ เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบกาแฟคุณภาพ ให้ตอบรับกับโอกาสที่เกิดขึ้น





      “เราต้องการวัตถุดิบเพิ่ม แต่พื้นที่ปลูกผลผลิตไม่พอ ขณะที่น่านดูโอ กระบวนการทำงานคล้ายๆ เรา คือปลูก ผลิต และแปรรูป ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เหมือนกัน ที่สำคัญเขายังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟทดแทนการปลูกข้าวโพดและบุกรุกทำลายป่า โดยที่เขามีการควบคุมพื้นที่ปลูกให้เป็นออร์แกนิกทั้งพื้นที่ และยังมีใบ Certificate ต่างๆรับรองคุณภาพและส่งออกได้ด้วย เราเลยได้คุยกัน โดยในส่วนของต้นน้ำผมจะให้ทางน่านดูโอดูแล เป็นทั้งฝ่ายควบคุมคุณภาพและควบคุมวัตถุดิบส่งมาให้โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว เพื่อทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วส่งต่อไปยังลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต้นน้ำสำคัญมากเพราะว่าช่วยให้เราลดเวลา ลดต้นทุนในการดูแลลง เราเหมือนทำงานเป็นทีมเวิร์ก และแบ่งงานกันทำ และยังส่งเสริมเกษตรกรรากหญ้าให้มีรายได้กันถ้วนหน้าอีกด้วย”


        “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” เจ้าของกิจการ โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว  บอกที่มาของความร่วมมือหลังธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank  แนะนำให้รู้จักกับ “วัชรี พรมทอง”  เจ้าของกิจการ น่านดูโอ คอฟฟี่ จ.น่าน กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) จึงได้เริ่มต้นขึ้น



 

ลดต้นทุนเวลา นำพาแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก


       โดยเบื้องต้นในปีแรก โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว จะรับผลผลิตกาแฟจากน่านดูโอ คอฟฟี่ ที่ประมาณ 50 ตัน โดยวางแผนว่าตลอดทั้งปีจะรับผลผลิตกาแฟจากเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ รวม 100 ตัน โดยครึ่งหนึ่งในนั้นมาจากเครือข่ายเกษตรกรของน่านดูโอ เพื่อมาทำเป็น Cosmetic Coffee คุณภาพ ที่นอกจากจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้มากขึ้นด้วยกาแฟคุณภาพจากน่านดูโอแล้ว ยังช่วยขยายตลาดได้กว้างและเร็วขึ้นด้วย


        “เบื้องต้นเรายังไม่มีการสร้างแบรนด์ร่วมกัน แต่เป็นการทำงานแบบทีมเวิร์ก และส่งต่อ จากต้นน้ำส่งมากลางน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อนจะส่งต่อไปยังผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งเราคงขาดใครคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเกษตรกรรากหญ้า รวมถึงพันธมิตรอย่างน่านดูโอเอง ทุกคนล้วนมีความสำคัญเหมือนกันหมด”


      ในปีนี้พวกเขาวางแผนที่จะนำพา Cosmetic Coffee แบรนด์ไทยไปโลดแล่นสู่ตลาดโลก โดยเริ่มที่ตลาดอาเซียนก่อนขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งความร่วมมือกับน่านดูโอ ก็จะทำให้ฝันของพวกเขาเป็นจริงได้เร็วขึ้น


        “ถามว่าทำไมต้องน่านดูโอ ผมดูจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ที่มีความตั้งใจ ใส่ใจ มีความรักในอาชีพที่ทำ รักในเรื่องของกาแฟแล้วก็มีใจที่เอื้อเฟื้อไปยังเพื่อนพี่น้องเกษตรกรด้วย ซึ่งแนวคิดของเรามีความใกล้เคียงกัน ที่สำคัญเราไม่อยากทำงานคนเดียว แต่อยากกระจายงานมากกว่า เพราะการทำงานคนเดียวมันยุ่งยาก เหนื่อย แล้วก็ใช้เวลามาก แต่การกระจายงานกันทำ แบ่งงานกันทำ  เราสามารถที่จะวางระบบ ควบคุมให้แต่ละส่วนงานทำงานไปได้อย่างรวดเร็ว และขยายตลาดได้เร็วขึ้น เพราะทุกวันนี้เราต้องทำงานแข่งกับเวลา ยุคดิจิทัลเราจะช้าไม่ได้”




 

หมดยุคการแข่งขัน ธุรกิจต้องร่วมกันทำ


       ในอดีตคนที่ทำธุรกิจเหมือนกัน จะถูกนิยามว่า “คู่แข่ง” แต่ในปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นพันธมิตรที่เกื้อหนุนธุรกิจซึ่งกันและกันได้ เหมือนโมเดลของ น่านดูโอ คอฟฟี่ และ โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว ในวันนี้


        “การทำธุรกิจในยุคนี้ ยุคของออนไลน์ จะเน้นเรื่องการแชร์ แบ่งปันกัน การตลาดก็แชร์กัน ธุรกิจก็แชร์กัน จับมือกันทำ ไม่ได้เป็นการแข่งขัน แต่คือการมาร่วมกันทำเพื่อให้ธุรกิจไปได้ดีขึ้น ถ้าเราเป็นทีมเวิร์ก มีการแชร์งานกัน แล้วเกิดการกระจายงานกัน มันจะส่งผลถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ถ้าเราอยากรวยคนเดียว ถามว่าถ้าเกษตรกรรากหญ้าเขาแย่อยู่ สุดท้ายเราก็ไปไม่ได้อยู่ดีจริงไหม เพราะฉะนั้นถ้าเราช่วยกันเป็นทีม จับมือแล้วเดินไปด้วยกัน ทำให้ชุมชนของเราดี ภาพลักษณ์ของจังหวัดเราดี จังหวัดแต่ละจังหวัดดี ประเทศเราก็ดีตามไปด้วย โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ นี้


       วันนี้เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ แต่คอนเน็กชันจะทำให้เราไปได้เร็วขึ้น ผมเชื่อว่ามันไม่มีใครเก่งไปทุกอย่าง แต่เราเก่งกันคนละอย่าง ถนัดกันคนละแบบ เพราะฉะนั้นการทำงานเป็นทีม มันจะได้คุณภาพและความยั่งยืนมากกว่า วันนี้สิ่งใหม่ๆ ทำให้เราต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แม้แต่สภาวะที่เราเจอวิกฤตแบบนี้ก็ยังมีช่องว่าง มีโอกาสในวิกฤต ขอแค่เราจับมือกัน ผมพูดในภาพรวมของทั้งประเทศนะ ไม่ใช่แค่ธุรกิจกาแฟ ผมอยากเอาโปรดักต์ของคนไทย ความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศไปบอกกับชาวโลกว่า นี่คือสิ่งที่ไทยทำ มันไม่ได้แพ้ใครเลย และทุกอย่างเกิดได้เพราะเราร่วมมือกัน”





       วันนี้ถนนสายกาแฟถูกเชื่อมจากภาคอีสานสู่ภาคเหนือ จากภาคเหนือย้อนลงสู่ภาคอีสาน และอนาคตการเชื่อมต่อจะกระจายไปทั้งภาคใต้ ตะวันออก ตะวันตก กลายเป็นถนนสายกาแฟที่เชื่อมถึงกันทั้งประเทศ ด้วยจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของคนทำกาแฟอย่างพวกเขาในวันนี้
 
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น