“Farm Behind the Barn” โมเดลความสุขของหนุ่มวิศวะ ที่หันมาเอาดีกับอาชีพเกษตรในบุรีรัมย์

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO :  Farm Behind the Barn





     “ที่ตรงนี้เคยเป็นไร่เผือก ไร่มันสัมปะหลัง ไร่อ้อย และเคยเป็นที่สำหรับกางเต็นท์ นั่งรอบกองไฟในหน้าหนาว ณ ตอนนี้ ที่ตรงนี้ เราจะทำมันให้เป็นไร่หน่อไม้ฝรั่ง แต่วันนี้ เวลาผ่านไป เราทำเกษตรผสมผสาน ปลูกทั้ง มัลเบอร์รี, กล้วยน้ำว้า, กล้วยหอม, ผักสลัด, ป่า, เลี้ยงไส้เดือน,เลี้ยงไก่...เพราะเรารู้สึกได้ถึงความสุขของการได้พึ่งพาตนเอง มากขึ้นทีละนิดๆ”


     นี่คือคำแนะนำตัวที่อยู่หน้าเพจ Farm Behind the Barn” (ฟาร์มบีไฮด์เดอะบาร์น) หรือ “ไร่หลังฉาง” ฟาร์มเล็กๆ ใน จ.บุรีรัมย์ ผลงานของเกษตรกรหนุ่ม “อรรถ - อรรถพล ไชยจักร” เจ้าของไร่หลังฉาง (Farm Behind the Barn) และแบรนด์ Made In Farm  อดีตวิศวกรสื่อสารที่ผันมาเอาดีกับอาชีพเกษตร
               

      สำหรับเขาไร่หลังฉางไม่ใช่พื้นที่ทำเงิน แต่คือพื้นที่แห่งความสุข กับรูปแบบชีวิตที่เขาได้เลือกแล้ว



               
           
เมื่อหนุ่มวิศวกรจะมาทำเกษตรอินทรีย์ที่ไร่หลังฉาง
           

      อรรถพลเป็นคนบุรีรัมย์ แต่ได้ไปเรียนและทำงานที่กรุงเทพมาตั้งแต่อายุ 11-12 ปี  เขาเรียนจบปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เคยทำงานเป็นวิศวกรสื่อสาร ของบริษัท สามารถคอมเทค จำกัด เป็น Project Fiber Optic Consult วิศวกรสื่อสาร ของบริษัท คอมเซิร์ฟ สยาม จำกัด


      จนวันหนึ่งเขาเริ่มสังเกตเห็นว่า พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เล็ก เริ่มอายุมากขึ้น ผมขาวโพลน และแก่ตัวลงอย่างเห็นได้ชัด คำถามบางอย่างเกิดขึ้นในใจเขา ว่าอะไรกันแน่ที่เขาต้องการที่สุดในชีวิต


     “ตอนแรกผมเคยคิดว่า ผมอยากทำงานอยากมีเงินเยอะๆ จะได้ไปเที่ยวไปทำอะไร แต่ในจังหวะที่ทำงานแล้วได้เงินเยอะ เงินก็หมดไปเยอะเช่นกัน เพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ผมเริ่มกลับมาคิดว่า อะไรกันแน่ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต ซึ่ง “เวลา” น่าจะสำคัญที่สุด และถ้ามนุษย์เราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เวลากับอะไรมันก็น่าจะดี ก็เลยบอกตัวเองว่า ถ้าอย่างนั้นผมจะหางานที่กลับมาอยู่ต่างจังหวัดได้ เพราะจะได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่ และใช้เวลาค้นหาสิ่งอื่นที่ผมอาจจะยังไม่เคยทำ แล้วลองทำมันดูสักครั้ง” เขาบอกจุดเริ่มต้นของการหวนกลับบ้าน



 

วิศวกรฟูลไทม์ เกษตรกรพาร์ตไทม์


      อรรถพลไม่ได้เริ่มจากการเป็นเกษตรกรเต็มเวลา แต่เขาทำงานเป็นวิศวกรฝ่ายขาย (Sale Engineer) ของ บริษัท บิทิชีโน (ประเทศไทย) จำกัด วิ่งงานอยู่เขตอีสานตอนล่าง ระหว่างนั้นก็ใช้เงินและเวลาที่ว่างจากงานมาก่อตั้งไร่หลังฉาง (Farm Behind the Barn) ขึ้น เมื่อประมาณปี 2555 โดยคำว่า “ฉาง” มาจาก “ยุ้งฉาง”  หรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับเก็บพืชผลทางการเกษตร ซึ่งตรงกับคำว่า “Barn” ในภาษาอังกฤษนั่นเอง โดยเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ที่อยู่ข้างหลังฉางของพ่อแม่ จากพื้นที่เกษตรของครอบครัวที่มีอยู่ประมาณ 15-16 ไร่ เขาแบ่งมาทำไร่หลังฉางที่ประมาณ 6 ไร่ แน่นอนว่าเขาจะไม่ทำแบบเดิม แต่จะคิดใหม่ทำใหม่ ที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้จะไม่ใช่แค่สร้างมูลค่าให้เกิดขึ้น แต่ต้องตอบความสุขในชีวิตของเขาด้วย


     “ในช่วงแรกผมก็คิดว่าจะทำพื้นที่ของบ้านให้มีมูลค่าสูงสุด แต่พอทำหลายๆ ปีเข้า ก็เริ่มมองใหม่ว่า ทำแบบไหนที่เราจะใช้ชีวิตแล้วมีความสุข โจทย์เปลี่ยนคำตอบมันเปลี่ยนตาม ผมเริ่มศึกษาหาความรู้ด้านเกษตรก็มาเจอเรื่องของเกษตรอินทรีย์ การไม่ใช้สารเคมี การเข้าใจดิน เข้าใจอินทรีย์มากขึ้น ก็เลยเลือกทำแบบนั้นมา แต่ก็มีสิ่งที่ไม่เข้าใจอยู่เยอะเช่นกัน อย่าง เราไม่ใช้สารเคมีก็จริงแต่เราก็ยังปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่  ซึ่งเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ตอนที่เริ่มต้น เราทำหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ สักพักหนึ่งหน่อไม้ฝรั่งก็เกิดปัญหาพวกเชื้อราสะสม แม้เราทำของที่ดี แต่มันก็ยังไม่สามารถอยู่แบบยั่งยืนได้อยู่ดี”


     เขาบอกปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นที่มาของการเริ่มต้นทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีมัลเบอร์รีเป็นจุดเปลี่ยน


     “ผมน่าจะเป็นคนแรกในบุรีรัมย์ที่ปลูกมัลเบอร์รี่พันธุ์ผล เพราะส่วนใหญ่ที่เขานิยมปลูกกันก็คือพันธุ์ใบ ซึ่งจะมีใบขนาดใหญ่และหนาใช้ในการเลี้ยงหนอนไหมเพื่อเอามาทำผ้าไหมเป็นหลัก แต่มันมีสายพันธุ์ที่ใบเล็ก แต่ได้ผลผลิตปริมาณมาก และมีรสหวาน  ซึ่งคนยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไร ผมไปกินครั้งแรกแล้วรู้สึกว่าอร่อยดี ก็เลยตัดสินใจเอามาปลูก ตอนนั้นคิดแค่ว่า อย่างน้อยเราก็ได้กินเอง และการที่ยังไม่มีคนทำ เป็นตลาดที่ยังเล็กอยู่ เราก็ไม่ต้องไปสู้กับตลาด Red Ocean”


      มัลเบอร์รีใช้คนดูแลน้อยกว่าหน่อไม้ฝรั่ง และดูแลง่ายเพราะเป็นพืชระยะยาว เขาบอกว่าใช้คนงานนานๆ ที ใช้แค่1-2 คน เดือนละ 2-3 ครั้ง เท่านั้น เพราะเป็นพืชยืนต้นและเก็บผลผลิตเป็นฤดูกาล ซึ่ง 1 ปี เก็บผลผลิตได้ 3 ครั้ง



 

แก้ปัญหาผลผลิตสู่เกษตรแปรรูป


     เกษตรผสมผสานของไร่หลังฉาง มีผลผลิตหลายอย่างที่เกิดจากความชอบของคนทำ ทั้ง มัลเบอร์รี, กล้วยน้ำว้า, กล้วยหอม, ผักสลัด, ปลูกป่า, เลี้ยงไส้เดือน, เลี้ยงไก่, มีสวนดอกไม้เพิ่มความสุนทรีย์ จนวันที่ผลผลิตเริ่มเยอะขึ้นก็ต้องมาคิดต่อว่า แล้วจะจัดการอย่างไรกับผลผลิตนั้นดี


     “อย่างตัวผลมัลเบอร์รี่ พบปัญหาว่าอายุการเก็บรักษา (Shelf Life) มันสั้นมาก เก็บวันนี้พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ก็เน่าเสียแล้ว เลยกลายเป็นโจทย์ว่าทำยังไงดี ในสมัยนั้นบ้านเรายังไม่ค่อยมีใครทำแปรรูปมัลเบอร์รี ผมเลยตามดูตัวอย่างในต่างประเทศ เลยเริ่มจากทำแยมมัลเบอร์รีโดยเป็นคนแรกที่ใส่ผลลงไปทั้งผลเลย ทำบดละเอียดครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งใส่ทั้งผล เพื่อที่นอกจากจะเอาไว้ทาขนมปังทั่วไป ยังสามารถไปออนท็อปบนบลูเบอร์รีครีมชีส หรือกินกับโยเกิร์ตโดยที่มีผลมัลเบอร์รีอยู่ด้วยได้ ตอนนั้นเราแปรรูปเป็นน้ำมัลเบอร์รี กับแยมมัลเบอร์รี ใช้ชื่อแบรนด์ว่า Farm Behind the Barn”


     ผลผลิตในไร่ไม่ได้มีแค่มัลเบอร์รี่แปรรูป แต่ยังมีผักสลัด มีปุ๋ยไส้เดือน น้ำหมักมูลไส้เดือน มีไข่ไก่ มีกล้วยแปรรูป กระทั่ง กิ่งชำต้นมัลเบอร์รี ฯลฯ ระหว่างพักจากงานเกษตร พวกเขายังแตกไลน์มาทำงานคราฟต์ และมีแบรนด์ลูกออกมาในชื่อ Made In Farm ทำพวกผ้าย้อมมะเกลือ เสื้อผ้าผู้หญิง เสื้อยืด สบู่ และงานไม้ที่ได้จากกิ่งมะเกลือเหลือทิ้ง ขายผ่านช่องทางออนไลน์และในจังหวัดเป็นหลัก


      ในภาคของเกษตร เขาก็ได้ใช้ทักษะวิชาแบบวิศวะมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการทำระบบ Smart Farming ควบคุมการทำงานของระบบน้ำ ระบบไฟในฟาร์ม พัฒนาตัว “Board Fork" ที่รูปร่างเหมือนส้อมขนาดใหญ่ อุปกรณ์เตรียมดินที่นิยมใช้กันในต่างประเทศ เพื่อช่วยทุ่นแรง ประหยัดเวลา  ช่วยให้ดินร่วนซุย อากาศในดินถ่ายเท  ทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดีขึ้น   


      “ทุกวันนี้ผมแทบไม่ใช้แรงงานคนเลย ใช้แค่ตัวผมกับภรรยาเป็นหลัก เพราะฟาร์มเรามีแค่ 6 ไร่ ผมปลูกป่าไปแล้ว 3 ไร่  ส่วนที่เหลือเรามีบ่อปลา มีบ้าน มีแปลงผัก ซึ่งมันแทบเต็มพื้นที่แล้ว จริงๆ เราทำเป็นฟาร์มเปิด มีที่พัก แต่ตัวฟาร์มเองยังต้องจัดระเบียบอีกนิดหน่อย ถึงจะสามารถเปิดเป็นฟาร์มสเตย์ได้ รวมถึงในอนาคตอาจทำเป็นคาเฟ่เล็กๆ ซึ่งก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะว่าเราเองก็ทำกินกันอยู่แล้ว ก็แค่เอาสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราทำอยู่แล้วในชีวิตของเรานั่นแหล่ะ ส่วนรายได้ก็คงตามมาเอง ผมเชื่ออย่างนั้นนะ” เขาบอก



 

ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่คือการสร้างระบบนิเวศแห่งความสุข


      อรรถพลเริ่มต้นจากเกษตรอินทรีย์ แต่วันนี้เขาขยายความสนใจไปสู่เกษตรธรรมชาติและระบบนิเวศ เขาบอกว่าโจทย์ในชีวิต ไม่ใช่ใช้พื้นที่ให้ได้ผลกำไรสูงสุด แต่คือการใช้พื้นที่เพื่อให้อยู่แล้วมีความสุขมากที่สุด เลยกลายเป็นว่าเริ่มจากสร้างที่อยู่ให้น่าอยู่ เช่น มีความหลากหลาย มีอากาศที่ดี มีของกินที่อุดมสมบูรณ์


     “พอทำมาหลายๆ ปี ก็สะสมความรู้ สะสมสิ่งที่เราชอบ เราชอบปลูกผักเพราะชอบกินผัก เราเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา เราปลูกป่า เพราะต้องการอากาศที่ดี ต้องการผลผลิตจากป่า ฉะนั้นโจทย์คือการทำให้นิเวศที่เราอยู่มันน่าอยู่สำหรับเรา และใส่ความชอบของผมลงไปอย่างละนิดอย่างละหน่อย จนกลายเป็นทุกอย่างในวันนี้”


      สำหรับเป้าหมายในอนาคต อรรถพล บอกเราว่า นอกจากรายได้จากการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ Farm Behind The Barn และ Made In Farm หากทำให้ระบบนิเวศดีและสวยงามขึ้นก็อาจก่อเกิดรายได้จากช่องทางอื่นๆ เช่น ทำคาเฟ่ หรืออาจทำ Stock Photo ที่เกี่ยวกับภาพในฟาร์ม เหล่านี้เป็นต้น


      เมื่อถามถึงชีวิตในวันนี้ อรรถพลยอมรับว่า สิ่งที่เขาทำมันไม่ได้สำเร็จมากมาย และก็ไม่ง่ายนักเมื่อต้องทิ้งรายได้จากวิศวกรฝ่ายขาย เพื่อมามุ่งหารายได้ทางเดียวจากการทำเกษตร ยังคงใช้ชีวิตแบบมีความสุขและทุกข์ปะปนกันไปในทุกๆ วัน แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นชีวิตในแบบที่เขาเลือกแล้ว


      “เพราะรู้สึกได้ถึงความสุขของการได้พึ่งพาตนเอง มากขึ้นทีละนิดๆ”
               

      ซึ่งนั่นก็ตอบความต้องการของเขาที่สุดแล้ว
 





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง