“28 Days Off” ร้านกาแฟที่เปิด - ปิด 28 วัน ธุรกิจลงตัวของหนุ่มแท่นขุดเจาะน้ำมัน ที่เปลี่ยนจุดอ่อนให้กลายเป็นกิมมิก

TEXT :   นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : 28 Days Off
 

 
 
             

     ผ่านไปบนถนนสุวรรณศรที่เชื่อมระหว่างนครนายก – ปราจีนบุรี จะพบร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่งลักษณะเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงห้องกระจกให้นั่งรับชมวิวจากสวนภายนอก โดยมีชื่อว่า “28 Days Off - Specialty Coffee” ร้านที่คอกาแฟพิเศษหรือ Specialty Coffee คนปราจีนบุรีและนครนายกมักมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ จิบกาแฟดีๆ อยู่เสมอๆ เป็นอีกหนึ่งร้านน่านั่งที่อยากแนะนำหากได้มีโอกาสแวะผ่านมา
             

     แต่เดี๋ยวก่อน! หากใครคิดจะมาเป็นลูกค้าที่นี่ ไม่ใช่จู่ๆ นึกอยากจะมาก็มาได้เลยนะ อาจผิดหวังกลับไปก็ได้ เพราะร้านนี้เขาเปิดขายเป็นรอบๆ ละ 28 วันเท่านั้น หากมาไม่ทันต้องเว้นไปอีก 28 วันจึงค่อยกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งตามชื่อร้านที่ตั้งไว้ เหตุผลไม่ใช่เพื่อสร้างกิมมิกขึ้นมาเท่ๆ แต่เพราะความจำเป็นบางอย่างของชีวิต


     แต่เปิด-ปิดบ่อยแบบนี้ลูกค้าจะหายไหม แล้วอะไร คือ กลยุทธ์มัดใจที่ทำให้แม้จะห่างหายไปนานเป็นเดือนๆ แต่ยังมีลูกค้าที่เฝ้ารอเพื่อจะได้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง ลองไปฟังคำตอบจาก เสนีย์ วงษ์มณฑล หนุ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันเจ้าของร้านกัน

 




 
ระหว่างหน้าที่ และความรัก (ในกาแฟ)
 
           

     เสนีย์ หรือ นัท เล่าจุดเริ่มต้นไอเดียธุรกิจร้านกาแฟเปิด - ปิด 28 วันให้ฟังว่า เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของเขาและภรรยา เสาวรส วงษ์มณฑล (ผึ้ง) ที่วันหนึ่งอยากมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา เพราะเป็นนักดื่มกาแฟกันอยู่แล้ว หากมีเวลาว่างก็มักจะพาครอบครัวไปเสาะแสวงหาร้านกาแฟดีๆ กัน จนในที่สุดด้วยความลงตัวในหลายๆ อย่าง จึงตัดสินใจเปิดเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ขึ้นมาในพื้นที่บ้านของตัวเอง ซึ่งเป็นสวนอยู่ติดริมถนนสุวรรณศรที่เชื่อมระหว่างจังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี แต่ด้วยเหตุผลที่ตัวเขาเองนั้นทำงานอยู่แท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่กลางทะเลอ่าวไทย ส่วนภรรยาทำหน้าที่เป็นแม่บ้านคอยดูแลลูกๆ และโดยส่วนใหญ่ยังดูแลร้านกันเอง ไม่ได้มีพนักงานมาช่วย ทำให้ช่วงเวลาที่เขาต้องกลับไปทำงาน จึงต้องปิดร้านไว้ จนกลายเป็นที่มาของการตั้งชื่อร้าน 28 Days Off ในที่สุด เพื่อบอกให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงคอนเซปต์ของร้าน
             

     “แรกๆ ก็กังวลกันนะ เพราะเราเองยังไม่เคยเห็นใครทำธุรกิจแบบนี้ แต่เราทำเพราะความจำเป็น ไม่ใช่แค่คิดขึ้นมาสนุกเฉยๆ คิดเหมือนกันว่าเปิดเดือนเว้นเดือนแบบนี้ ลูกค้าจะกลับมากินเราไหม แต่กลายเป็นว่าในช่วง 2 รอบที่ผ่านมายอดขายกลายเป็นเพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเจนเลย จึงกลายเป็นว่าทุกคนโอเคกับสิ่งที่เราทำ จากจุดอ่อนเลยกลายเป็นกิมมิกให้กับร้านไปในที่สุด” เสนีย์เล่าถึงความกังวลใจในช่วงแรกให้ฟัง






     โดยวิธีการที่เสนีย์และภรรยาเลือกใช้เพื่อสื่อสารออกไปยังลูกค้า คือ ในทุกๆ รอบของการเปิดร้านพวกเขาจะแจ้งวัน เวลาไว้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม รวมถึงการแจ้งกับลูกค้าโดยตรงเมื่อเข้ามาใช้บริการที่ร้าน และบางครั้งก็มีลูกค้าช่วยแชร์บอกต่อๆ กันให้ด้วย


     “ทุกครั้งที่โพสต์รูปลงไปในเพจหรืออินสตราแกรมของร้าน ผมจะต้องแนบติดท้ายไปเสมอว่ารอบนี้ผมจะเปิดถึงวันที่เท่านี้นะ ปิดวันไหน และเปิดอีกทีเมื่อไหร่ เวลาลูกค้าเข้ามานั่งรอกาแฟในร้านได้คุยกันก็จะแจ้งบอกให้เขาทราบไปด้วย หรือบางทีเวลามีลูกค้ามาเช็คอินที่ร้านเขาก็จะเขียนแนะนำให้ด้วยว่ารอบนี้ร้านเปิดถึงวันนี้นะ จะเปิดอีกทีเมื่อไหร่ เป็นการช่วยกระจายข่าวบอกต่อๆ กันไป”
             

     โดยในวันธรรมดาลูกค้าหลักส่วนใหญ่ของร้านจะเป็นคนทำงานในจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก ส่วนเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนัตขัตฤกษ์ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนผ่านทางมา ซึ่งคอนเซปต์ของร้าน 28 Days Off จะเป็นร้านกาแฟแบบ Slow Bar อุปกรณ์การชงจะเน้นแบบไม่ใช้เครื่องชงไฟฟ้า แต่สำหรับลูกค้าที่ต้องการความเร่งด่วนก็มีเครื่องอัตโนมัติสำรองไว้ให้บริการด้วย โดยเขาจะทำหน้าที่ในการชงกาแฟเป็นหลัก ส่วนภรรยาจะเป็นคนทำขนมโดยมีโดนัทหน้าต่างๆ เป็นเมนูชูโรง แต่จริงๆ แล้วก็สามารถสลับดูแลและทำแทนกันได้         
 




 
คุณภาพ – เซอร์วิสมายด์ สูตรลับคลาสสิกคู่ธุรกิจ
 


     ถึงแม้จากจุดอ่อนอาจกลายเป็นกิมมิกหรือสร้างจุดเด่นขึ้นมาให้กับธุรกิจ แต่เสนีย์เล่าว่าเขาและภรรยาเองยังให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและการบริการมาเป็นที่หนึ่งอยู่เสมอ เพราะเชื่อมั่นว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจและทำให้ลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ได้


     “ผู้บริโภคทุกวันนี้อาจเปิดรับมากขึ้นในรูปแบบธุรกิจที่มีความหลากหลายหรือมีข้อจำกัดบางอย่างเหมือนกับเรา แต่สิ่งที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ ก็คือ คุณภาพ ผมจะคุยกับแฟนเสมอเลยว่ายังไงเรื่องคุณภาพและการบริการที่ดีต้องมาเป็นอันดับหนึ่งก่อน ร้านสวยร้านน่ารักอาจเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ลูกค้าอยากเข้ามา แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ลูกค้ายอมจ่าย และกลับมาใหม่ได้”


     โดยทุกวันนี้หลังจากปิดร้านในแต่ละรอบ ทั้งคู่ก็จะมานั่งคุยกันว่าตลอดเวลา 28 วันหรือเกือบหนึ่งเดือนที่เปิดร้านไปนั้น มีสิ่งใดบ้างที่ทำได้ดีแล้ว หรือมีสิ่งใดอีกบ้างที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข รวมถึงการวางแผนเตรียมตัวเพื่อการเปิดร้านรอบหน้าต่อไป






     “เวลาขายจบรอบทีหนึ่งผมกับภรรยาก็จะมานั่งคุยกันว่าที่ผ่านมาอะไรบ้างที่เราทำไว้ดีแล้ว หรือมีอะไรอีกที่ยังติดขัดและขาดตกบกพร่องไป และเราจะสามารถแก้ไขได้ยังไง เช่น เอาระบบ POS เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลการขาย เช็คสต็อกสินค้าไหม หรือมีเครื่องมืออะไรอีกบ้างที่เราจะสามารถให้บริการลูกค้าได้เร็วและสะดวกขึ้น หรือมีวัตถุดิบอะไรบ้างที่เราต้องซื้อมาเตรียมเอาไว้เพิ่ม หรือรอบหน้าเราจะพรีเซ็นต์เมนูอะไรดี อย่างที่ผ่านมาเป็นหน้าของมะยงชิดที่บ้านมีปลูกไว้ เราก็เลยเอามาทดลองทำเมนูกาแฟและขนม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราต้องคุยกันตลอดทุกครั้งหลังจากปิดร้านแต่ละรอบ”

 
จาก 28 Days Off ถึง 24 / 7
 

     เสนีย์เล่าว่าทุกวันนี้แม้การเปิด-ปิดร้านครั้งละ 28 วันของเขาอาจกลายเป็นจุดเด่นให้กับธุรกิจ จนใครๆ ก็สามารถจดจำได้ แต่เขาก็ไม่ได้สนับสนุนให้ใครทำตาม เพราะมันอาจไม่ใช่แนวทางการทำธุรกิจที่ถูกต้องนัก แต่อยากให้เริ่มต้นที่ความพร้อมและความเหมาะสมมากกว่า และในอนาคตข้างหน้าวันหนึ่งหากมีโอกาสเขาก็อยากเลือกที่จะเปิดร้านได้ทุกวันเหมือนกับคนอื่นๆ เช่นกัน






     “อย่างที่บอกว่าเราต้องทำธุรกิจขึ้นมาในรูปแบบนี้ ก็เพราะความจำเป็นบางอย่าง ซึ่งเราคิดแล้วว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับชีวิตของเราในตอนนี้ แต่ถ้าอยู่ดีๆ นึกอยากเปิดก็เปิด อยากปิดก็ปิด โดยที่ยังไม่มีความพร้อม ยังไม่ได้จริงจังกับมัน หรือไม่มีเหตุผลอะไรที่ดีมารองรับ ผมว่าจากข้อดีอาจกลายเป็นข้อเสียแทนก็ได้ อีกอย่างที่ทำแบบนี้ได้ เพราะเราเอาสิ่งที่ชอบสิ่งที่รักเป็นตัวนำ และทำอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่า ค่าใช้จ่ายเหมือนกับคนอื่นๆ เงินที่นำมาสร้างก็มาจากเงินเก็บของตัวเองไม่ได้ไปกู้ยืมใคร เลยทำให้ไม่เครียดและอยู่ได้ จริงๆ แล้ววันหนึ่งหากมีโอกาสหรือสามารถหาคนเป็นตัวแทนผมกับแฟนผมได้ที่เราไว้ใจได้ ผมก็อาจเปิดทุกวัน เพราะยังไงการทำธุรกิจถ้าเราสามารถรันให้ต่อเนื่องได้ทุกวันก็ย่อมดีกว่า และถ้าถึงวันนั้นเราอาจเปลี่ยนชื่อร้านเป็น 24/7 ก็ได้ (หัวเราะ)” เสนีย์กล่าวทิ้งท้าย


     จะว่าไปสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากร้าน 28 Days Off ในวันนี้ นอกจากจะได้รู้จักไอเดียธุรกิจแปลกใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งแล้ว ยังทำให้รู้ว่ารูปแบบการทำธุรกิจทุกวันนี้จริงๆ แล้วไม่มีหลักการอะไรตายตัว ไม่มีอะไรถูกอะไรผิด ขอเพียงทำแล้วมีความตั้งใจจริง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ ไม่ว่าธุรกิจอะไร รูปแบบไหน ก็ย่อมสำเร็จได้ไม่แตกต่างกันเลย
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน