คุยกับ FLOWLOW คนทำท่าเรืออัจฉริยะ ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวภูเก็ต สู่นวัตกรรม “กักตัวบนเรือยอชต์”

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : FLOWLOW




               
     ในวันที่ประเทศไทย เพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ที่อยากเข้ามาเที่ยวไทยในช่วงโควิด ด้วยโมเดล “การกักตัวบนเรือยอชต์” (Digital Yacht Quarantine) เพื่อปลดล็อกและฟื้นฟูการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง จ.ภูเก็ต  หนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับอานิสงส์และอยู่เบื้องหลังนวัตกรรมรับมือการกักตัวบนเรือยอชต์ คือ บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารจัดการความปลอดภัยท่าเรือและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี เจ้าของแพลตฟอร์ม FLOWLOW ผลงานลูกหลานคนภูเก็ตวัย 28 ปี “ธนภัทร ทั่วไตรภพ” กรรมการบริหาร บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เคยทำท่าเรืออัจฉริยะ (ท่าเรืออ่าวปอ) พัฒนาสายรัดข้อมือ QR Code และระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ชื่อ Flowpay เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมาแล้ว


       วันนี้พวกเขาพลิกวิกฤตโควิดให้กลายเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ จะเป็นอย่างไรนั้นมาติดตามกัน



 
 
Q :  FLOWLOW ให้บริการด้านใด แล้วมาทำเรื่องของการกักตัวบนเรือยอชต์ได้อย่างไร


A : เดิมเราเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับระบบท่าเรืออยู่แล้ว เป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางทะเลโดยใช้ท่าเรือเป็นหลักในการควบคุมนักท่องเที่ยว และใช้สายรัดข้อมือที่มีทั้งแบบ QR Code แล้วก็ GPS  บันทึกข้อมูลส่วนตัวและใบหน้านักท่องเที่ยว เพื่อที่จะได้รู้ว่าใครลงทะเลไปบ้าง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นที่ไหนจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทัน เป็นพื้นฐานด้านความปลอดภัยในทุกๆ ท่าเรือที่เราทำมาก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิด เนื่องจากคุณลุงของผม (ไชยา ระพือพล ประธานกรรมการ บริษัท พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป จำกัด) ได้รับสิทธิสัมปทานในการบริหารท่าเทียบเรืออ่าวปอ และมีประสบการณ์มากว่า 20 ปี  หลังจากเกิดเหตุการณ์เรือฟีนิกซ์ล่มเมื่อปี 2561 เราก็มาคุยกันว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่สามารถติดตามนักท่องเที่ยวที่ลงเรือไปท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ได้ รวมถึงการดูแลเรื่องการประกันภัยของนักท่องเที่ยวด้วย จึงได้พัฒนาท่าเรืออัจฉริยะขึ้นที่อ่าวปอ


      หลังจากเราทำโครงการเสร็จ ทางจังหวัดก็เห็นศักยภาพในตัวท่าเรือของเราว่ามีการควบคุมนักท่องเที่ยวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อมีโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ (Digital Yacht Quarantine) เราจึงได้รับโอกาสให้นำแพลตฟอร์มของ FLOWLOW มาใช้ในการควบคุมจัดการนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวโดยเรือยอร์ช



 

Q : อยากให้ช่วยอธิบายวิธีการทำงานของ FLOWLOW ในกระบวนการกักตัวบนเรือยอร์ช ตัวระบบของ FLOWLOW เข้าไปตอบโจทย์ในเรื่องใดบ้าง


A : กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่นักท่องเที่ยวทำการติดต่อผ่านตัวแทน (Agent) เข้ามา ทางเอเยนต์ก็จะส่งรายชื่อนักท่องเที่ยวมาทาง FLOWLOW  เพื่อคีย์ข้อมูลเข้าไปในระบบหลังบ้าน แล้วเตรียมอุปกรณ์ (นาฬิกาข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ) ให้พร้อมสำหรับการใช้งาน ในวันแรกที่เรือเข้าจอดเทียบอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร การตรวจครั้งแรกคุณหมอจะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวที่สามารถทำการขึ้นเรือนักท่องเที่ยวได้ เราก็จะฝากนาฬิกาไปกับทางคุณหมอ โดยเราจะใส่ระบบหลังบ้านเจาะจงชื่อบุคคลในแต่ละเรือนมาเรียบร้อยแล้ว คุณหมอแค่มีหน้าที่เอาไปแจก  ส่วนตัวหลังบ้านเราเองก็จะมอนิเตอร์นักท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นข้อมูลแบบ Real Time โดยเราจะทำการมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Monitoring) ของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้เราจะเห็นจากระบบหลังบ้านทั้งหมด และสามารถแยกแยะความเสี่ยงได้


     โดยหากอุณหภูมิเกิน 37 องศาขึ้นไปจะแจ้งเตือนเป็นสีส้ม ถ้าเกิน 4 ชั่วโมงจะอัพเกรดเป็นสีแดง ที่ต้องรอเวลาเพราะเรือลอยลำอยู่กลางทะเลซึ่งบางลำไม่มีแอร์ หรือบางวันนักท่องเที่ยวเขาอาบแดดฉะนั้นอุณหภูมิร่างกายก็จะสูงกว่าปกติ เราเลยทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง ถ้าเกิดยังไม่ลดลงเราก็จะติดต่อไปทางเอเยนต์ให้เขาสอบถามไปยังเรือว่าเกิดอะไรขึ้น กรณีที่มีคนป่วยเราก็จะติดต่อไปยังคุณหมอที่รับผิดชอบเคสนี้เพื่อให้ดูแลตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งเราให้บริการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2563 จนถึงวันนี้รวม  147 ราย ยังไม่พบเคสที่มีอาการป่วยเลยแม้แต่รายเดียว หลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน (ปัจจุบันอยู่ที่ 10 วัน) ก็จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ก่อนอนุญาตให้เดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป


      ตั้งแต่ให้บริการมาเรามีการอัพเกรดนาฬิกา และระบบหลังบ้านไปแล้ว 2-3 เวอร์ชัน ปัจจุบันนาฬิกาของเราจะเป็นคล้ายๆ Garmin เลย คือหน้าจอสี มีการวัดค่าต่างๆ ได้มากขึ้น ตรวจจับได้นานขึ้น โดยอุปกรณ์ต่างๆ เราไปร่วมกับพาร์ทเนอร์ บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง (POMO) ผู้ให้บริการโซลูชั่น Tracking และ Monitoring ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา



 

Q : นอกจากการกักตัวบนเรือยอร์ช ตัวระบบของ FLOWLOW ยังสามารถนำไปใช้กับบริการด้านใดได้อีกบ้าง


A : ในส่วนของนาฬิกานอกจากนำไปใช้ในสถานการณ์โควิดนี้แล้ว  เรายังมองที่จะไปใช้ดูแลในงานอื่นๆ ด้วย เช่น งานวิ่ง โดยจะเป็นการให้เช่าเพื่อใส่วิ่งมาราธอน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพให้กับนักกีฬา เป็นต้น โดยจะเริ่มจากระบบให้เช่า แล้วเราจะทำหน้าที่ซ่อมบำรุง (Maintenance) อย่าง กรณีจอเสีย แบตเสื่อม ก็จะไปเปลี่ยนให้ แล้วก็ทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนส่งกลับคืนลูกค้า รวมถึงให้บริการในเรือทั่วไปด้วย เช่น เรือสำราญที่ให้บริการท่องเที่ยวล่องเรือรับประทานอาหาร (Dinner Cruise) ซึ่งที่ผ่านมาเรามีโปรเจ็กต์ที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่ขึ้นเรือสวมใส่นาฬิกาของเรา เพื่อดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เช่น อาจมีเด็กหรือผู้สูงอายุไปด้วย ก็สามารถตรวจจับได้


       แต่ก่อนคนจะมองแค่ในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่พอมีโควิดเข้ามาคนก็จะมองเห็นประสิทธิภาพของมันมากขึ้น ทางเราเองก็มองว่า นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหลังโควิดนั้น จะเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่ใช่กลุ่มใหญ่เหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นกลุ่มเล็กที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพด้านความปลอดภัยและคุณภาพด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น เราจึงทำตรงนี้เพื่อมาตอบโจทย์ เพื่อให้ภูเก็ตมีมาตรฐานในการท่องเที่ยวทางทะเล เพราะภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอันดับ 1 ของประเทศ โดยก่อนโควิดมีคนออกทะเลทั้งเกาะสูงถึงประมาณ 4-5 หมื่นคนต่อวัน


      ณ ปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้มีนักท่องเที่ยวน้อยลงกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากระบบของ FLOWLOW เป็นมาตรฐานความปลอดภัยของท่าเรือที่สามารถใช้ได้กับทุกท่าเรือในประเทศไทย ฉะนั้นท่าเรือไม่จำเป็นต้องรอลูกค้า แต่สามารถสร้างมาตรฐานนี้เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตได้ ธุรกิจของเราจึงยังคงเดินหน้าต่อไป เพียงแต่ว่าอาจจะเดินช้าหน่อยเพราะท่าเรือในภูเก็ตกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เองก็ยังคงปิดให้บริการอยู่ เราเลยต้องมูฟไปทำอย่างอื่นแทน เช่น งานวิ่ง รวมถึงการใช้ติดตามผู้ป่วยติดเตียง เหล่านี้เป็นต้น



 

Q : FLOWLOW วางเป้าหมายให้กับตัวธุรกิจของเราต่อไปอย่างไร


A : เรามองว่าการสร้างมาตรฐานในการท่องเที่ยวนั้นสำคัญที่สุด เลยต้องการขยายไปยังท่าเรือทุกท่าในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เราต้องการทำให้ชีวิตหรือการท่องเที่ยวสะดวกสบายมากขึ้น มีมาตรฐานและมีคุณภาพที่ดีขึ้น พยายามหาบริการที่สอดคล้องและส่งเสริมกันเข้ามารวมไว้ในที่เดียวกัน ปัจจุบัน ตัวแพลตฟอร์ม FLOWLOW ครอบคลุมทั้ง ข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวอันดามัน, คำแนะนำในกรณีฉุกเฉิน, ประกันการเดินทาง และระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ในชื่อ Flowpay เพื่ออํานวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย


      ซึ่งในอนาคตเราอยากเป็นที่ 1 สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดย FLOWLOW จะต้องสามารถตอบโจทย์ในการท่องเที่ยวได้ทุกอย่าง มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เพื่อทำให้ทั้งภูเก็ตและบริษัทของเราเติบโตมากขึ้น มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เป็นตัวกลางที่มีมาตรฐาน ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการท่องเที่ยวให้กับลูกค้า ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่างคนเดียว แต่สามารถไปร่วมมือกับคนอื่นเพื่อทำให้ภาพนี้มันเกิดขึ้นจริงได้ โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นโลโคด้วยกันเอง เราต่างถนัดในพื้นที่โซนนี้ก็ต้องพยายามผลักดันให้เต็มที่ที่สุด เพื่อมาช่วยกันพัฒนาภูเก็ตให้ดีขึ้น


     วันนี้มีคนที่ทำระบบแบบเราทั้งรายใหญ่และรายเล็ก แต่ข้อได้เปรียบของ FLOWLOW คือเรามีท่าเรือของเราเองทำให้เราสามารถนำระบบไปใช้ได้ทันที ขณะที่บริษัทอื่นจะต้องใช้เวลาในกระบวนการยื่นขอใบอนุญาตต่างๆ มากกว่า 1 ปี เราเลยมีโอกาสที่จะเริ่มได้เร็วกว่าคนอื่น ได้ลองได้พัฒนาไปก่อนคนอื่น แต่ในอนาคตแน่นอนว่าการแข่งขันก็คงจะรุนแรงขึ้น เราจึงต้องพยายามครอบคลุมทุกแขนงของการท่องเที่ยวให้มากที่สุด เราจะวิ่งไปเรื่อยๆ เขาตามเรา เราก็วิ่งต่อไป รวมถึงการพัฒนาด้านความสะดวกสบาย การตลาด และรูปลักษณ์ของแบรนดิ้งภูเก็ตที่จะทำให้สอดคล้องกันไปด้วย เราเชื่อว่าการที่บริษัทโลโคทำงานกับโลโคด้วยกัน มันน่าจะมีสัมพันธภาพที่ดีกว่า และมีความแข็งแกร่งที่มากกว่า





Q : ทราบมาว่าก่อนมาทำ FLOWLOW คุณเคยทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มมาก่อน ได้เรียนรู้อะไรจากธุรกิจแรกแล้วได้นำมาใช้ในวันนี้หรือไม่ อย่างไร


A : ธุรกิจเดิมของเราคือม็อกเทลน้ำผลไม้ชื่อว่า Anyfriday ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นปี 2 คณะบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับน้องชายและเพื่อนอีก 2 คน ทำตัว  Anyfriday ขึ้นมาด้วยความบังเอิญ เนื่องจากตอนนั้นมีงานตลาดนัด ARTBOX  เข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก แล้วมีบูธว่างอยู่พอดี เรามีเวลา 1 เดือนที่จะคิดไอเดียออกมาว่าจะขายอะไร ก็ลองทำอะไรที่มันแปลกดู ปรากฎว่าได้รับความนิยม จนสามารถขยายแฟรนไชส์ไปทั้งในและต่างประเทศได้ ซึ่งตอนนี้เราได้ขายธุรกิจให้กับบริษัทที่อินโดนีเซียไปแล้ว ตอนนั้นก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง พวกผมเองยังเด็กมากๆ และยังไม่มีประสบการณ์ ก็แค่ลองทำดูและเรียนรู้ไป ซึ่งก็ใช้จ่ายไปค่อนข้างเยอะในการขยายร้าน และพบว่าธุรกิจมีวงจรของมัน มีขึ้นแล้วก็มีลง แต่ตอนนั้นเราได้เรียนรู้เยอะเหมือนกัน ทั้งเรื่องการทำแบรนดิ้ง เรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ได้ประสบการณ์อะไรมาเยอะมาก


     ตอนนั้นผมอายุประมาณ 20 ปี ตอนนี้ผมอายุ 28 ปีแล้ว ในแพสชันส่วนตัวของผม ผมยังอยากทำโปรเจ็กต์อะไรก็ได้ที่จะมาช่วยพัฒนา จ.ภูเก็ต พัฒนาพื้นที่ที่เราอยู่ให้มีศักยภาพมากขึ้นในการรองรับนักท่องเที่ยว ถามว่าทำไมถึงอินกับ จ.ภูเก็ตนัก เนื่องจากผมเองมองว่าวันนี้ทุกอย่างไปกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ หมด แต่ประเทศไทยเรามีตั้ง 77 จังหวัด ซึ่งผมยังเชื่อว่าแต่ละคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาจังหวัดของตัวเองได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ภูเก็ต แต่จังหวัดเล็กๆ ก็สามารถช่วยกันยกระดับและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เช่นกัน เหมือนที่ผมกำลังทำกับภูเก็ตในวันนี้


     สำหรับคนที่อยากกลับไปทำอะไรที่จังหวัดของตัวเอง โดยเฉพาะการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี สิ่งที่คุณต้องเข้าใจก็คือคนต่างจังหวัดการรับรู้ในเทคโนโลยีจะต่างกับกรุงเทพฯ ฉะนั้นเราจะต้องเจอกับสิ่งที่ยากแน่นอน โดยเฉพาะการทำให้หลายๆ คนในต่างจังหวัดปรับตัวเข้าถึงเทคโนโลยี การใช้ App ของเรา ใช้บริการของเรา ใช้สินค้าของเรา สำหรับผมรู้สึกว่านี่เป็นจุดที่ท้าทายที่สุด แล้วก็มีโอกาสที่จะทำแล้วไม่สำเร็จด้วย จริงๆ แล้วนอกจากเทคโนโลยี ยังมีอีกหลายอย่างมากเลยที่สามารถทำได้ แต่โดยส่วนตัวผมมองว่า เทคโนโลยีมันสามารถที่จะขยายตัวได้ (Scale up) นั่นหมายความว่า ถ้าทำตัวนี้ได้สำเร็จ มันก็จะสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ด้วย นอกจากในจังหวัดของเราเอง และนั่นก็จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของเราได้อีกมากในอนาคต





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน