“ใช้ใบโกโก้ส่งพัสดุ” ไอเดียเล็กในวิกฤตของ “Cocoa Valley” ที่ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาขยะ แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : Cocoa Valley Resort





       เริ่มต้นจากต้องปรับเปลี่ยนช่องทางธุรกิจ เพื่อหันมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงทำให้ “มนูญ ทนะวัง” เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Cocoa Valley Resort อาณาจักรโกโก้ครบวงจรที่มีตั้งแต่ที่พัก คาเฟ่ สวนโกโก้เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไปจนถึงการนำโกโก้มาใช้ประโยชน์ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผ้าย้อมสีจากเปลือกโกโก้ คิดหาวิธีลดปริมาณจากขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น จนมองไปถึงสิ่งใกล้ตัวอย่างใบโกโก้ ซึ่งมีขนาดใหญ่และหนา จึงทดลองนำมาใส่ลงไปกล่องพัสดุเพื่อกันกระแทกก่อนส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า ผลปรากฏนอกจากจะบรรลุวัตถุประสงค์อย่างที่ต้องการแล้ว


       ไม่น่าเชื่อว่าไอเดียเล็กๆ ดังกล่าวยังสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้อีกหลายข้อ ไม่เชื่อลองมาพิสูจน์ไปพร้อมกันเลย



               

      ก่อนที่จะเล่าถึงข้อดีที่เกิดขึ้น มนูญได้เท้าความถึงที่มาของไอเดียให้ฟังดังนี้
               

       “จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การระบาดครั้งแรกมาจนครั้งล่าสุดหรือระลอก 3 ที่ผ่านมานี้ ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจและหันมาเน้นขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการต้องส่งสินค้าไปให้กับลูกค้า ทำให้เกิดปริมาณขยะพลาสติกจำนวนมาก เลยอยากลองคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา เพราะจริงๆ แก่นในการทำธุรกิจของเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และชุมชนเป็นหลักอยู่แล้ว อย่างการปลูกโกโก้ของเราก็เป็นฟาร์มอินทรีย์ ในกระบวนการผลิตเราก็เน้นใช้แรงงานคนในชุมชนมากกว่าเครื่องจักร จึงลองเริ่มมองจากสิ่งใกล้ตัวก่อนว่าจะสามารถหาอะไรมาทดแทนได้บ้าง


      “จนมาเห็นใบโกโก้ ซึ่งปกติเราต้องตัดแต่งทิ้งเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะโกโก้เป็นต้นไม้ที่มีใบหนามาก ด้วยขนาดใบที่ใหญ่และหนาเราจึงคิดว่าน่าจะสามารถนำมาใช้ทดแทนบับเบิ้ลหรือพลาสติกกันกระแทกในการใช้ส่งสินค้าได้ ปรากฏว่าพอนำมาทดลองใช้ก็สามารถใช้ได้ดีระดับหนึ่ง ส่วนสินค้าที่มีความจำเป็นต้องการการปกป้องจริงๆ เราก็ใช้พลาสติกเสริมอยู่บ้าง แต่เท่านี้ก็ช่วยลดปริมาณขยะไปได้เยอะแล้ว ลูกค้าก็ชื่นชอบด้วย กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับของไป คือ มีการส่งข้อความกลับมาชื่นชมบอกว่าไอเดียน่ารักดี บางคนไม่เคยเห็นใบโกโก้มาก่อน บางคนก็ถ่ายรูปเซลฟี่กลับมาให้ดู ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาดจากที่เราคิดไว้เหมือนกัน”





       ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นไอเดียเล็กๆ ในการคิดสร้างสรรค์นำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่มนูญก็มีการวางแผนการนำใบโกโก้มาใช้อย่างจริงจัง โดยในแต่ละวันหลังจากมีการสรุปยอดสั่งสินค้าของลูกค้าแล้ว จะมีการวางแผนเพื่อไปตัดใบโกโก้มาใช้ ซึ่งปริมาณก็ขึ้นอยู่กับจำนวนพัสดุที่ต้องส่งให้กับลูกค้า โดยในการส่งพัสดุให้กับลูกค้าจะใช้ปริมาณใบโกโก้วางกันกระแทกประมาณ 15 – 20 ใบต่อกล่องหนึ่งใบ


      นอกจากจะบรรลุเป้าหมายช่วยลดปริมาณขยะลงได้อย่างที่คิดไว้แล้ว หากลองมาวิเคราะห์ประโยชน์ของโซลูชั่นที่คิดขึ้นมา มนูญสามารถสรุปประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นมาได้ดังนี้ คือ


       1. ลดต้นทุน - ทำให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อบรรจุภัณฑ์เพิ่ม โดยทดแทนจากวัตถุดิบที่มีอยู่ได้ ทำให้สามารถนำรายจ่ายที่ลดลงไปสร้างโปรโมชั่น หรือส่วนลดให้กับลูกค้าได้


       2. สร้างแบรนด์ – สร้างความแปลกใหม่ ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้อย่างง่ายๆ


      3. ลดงาน – โดยปกติจะต้องมีการตัดแต่งใบโกโก้เป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อดูแลรักษาต้น เศษขยะดังกล่าวจะต้องถูกนำไปทิ้งเพื่อใช้เป็นปุ๋ยบ้าง ปกคลุมดินบ้าง ดังนั้นเมื่อถูกนำมาใช้ส่งพัสดุจึงทำให้ช่วยลดงานในการจัดเก็บจัดทิ้งลงได้บ้าง โดยที่ลูกค้ายังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้เช่นกัน


      4. ปลูกฝังทัศนคติที่ดี –ทำให้พนักงานมีมุมมองที่กว้างขึ้น ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวมากขึ้น ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ได้มากขึ้น 





      นับเป็นอีกหนึ่งไอเดียธุรกิจที่แม้อาจเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางวิกฤต แต่ลองมองไปรอบตัวเพิ่มอีกหน่อย บางทีเราอาจได้อะไรกลับมาไม่น่าเชื่อก็ได้ และยังสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้อีกมากทีเดียว เหมือนอย่างที่เขาได้ฝากทิ้งท้ายว่า
 
               
       “สิ่งที่เราทำอาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่ก็อยากช่วยจุดประกายให้เห็นว่ามันสามารถทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาได้ ขอแค่เราลองใส่ใจกับสิ่งรอบตัวให้มากขึ้น ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้มากที่สุดก่อน เราอาจจะได้อะไรกลับมาอีกหลายอย่างๆ ไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว หรือแม้แต่การที่เรายังสู้อยู่ เราอาจจะไม่ได้รอดอยู่คนเดียวก็ได้ แต่ยังสามารถช่วยเพื่อนๆ หรือผู้อื่นให้รอดไปด้วยได้ ยกตัวอย่างสินค้าอีกตัวของเราที่ลูกค้านิยมสั่งกันมาก คือ โกโก้ฟองดูว์ ตัวเตาฟองดูว์ที่แจกให้กับลูกค้าเราก็สั่งผลิตมาจากโรงงานที่กำลังจะเลิกกิจการไปแล้ว หรือช่วงต้นปีที่ทำเป็นเซ็ตโกโก้ฟองดูว์สตอรว์เบอร์รี เราก็ช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ขายผลผลิตไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งเล็กๆ ที่เราคิดขึ้นมา ความจริงแล้วอาจส่งผลกระทบและประโยชน์ได้มากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้” มนูญกล่าว



               

        ไม่แน่ว่าแม้จะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้แล้ว เราก็อาจจะยังได้เห็นผลิตภัณฑ์โกโก้จาก Cocoa Valley Resort ส่งมาในแพ็กเกจที่มาพร้อมคู่กับใบโกโก้อยู่เหมือนเดิมก็ได้
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน