ทำความรู้จัก Taksa Toys แบรนด์ของเล่นไซส์มินิที่เกิดจากวิทยานิพนธ์ เริ่มต้นปีแรกก็ไปบุกงานของเล่นใหญ่สุดในโลกได้

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : Taksa Toys

 

 
               

     ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ สำหรับแบรนด์เล็กที่คิดว่าวันหนึ่งจะไปยืนอยู่ในตลาดโลกได้ ซึ่งหลายแบรนด์อาจต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์นานหลายปี แต่อาจไม่ใช่กับ Taksa Toy (ทักษะทอยส์) แบรนด์ของเล่นไทยเสริมพัฒนาการที่เพียงเริ่มต้นธุรกิจปีแรกก็ไปบุกงานของเล่นใหญ่สุดระดับโลกได้ แถมจุดเริ่มต้นที่มาของธุรกิจก็ไม่ธรรมดา เพราะเกิดขึ้นมาจากผลงานวิทยานิพนธ์ที่ภายหลังได้คิดนำมาต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจขึ้นมา
               

     ฟ้าดล ณ นคร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์เล่าที่มาของธุรกิจให้ฟังว่าทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้น​ขึ้นมาจาก​ผล​งาน​วิทยานิพนธ์​ของ​ลูกชาย​ (นคร ณ นคร) ​ภายใต้​หลักสูตร​ของ​คณะ​สถาปัตยกรรม​ศาสตร์​และ​การ​ออกแบบ​ ​(SoA+D)​ ​มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี​พระจอมเกล้า​ธนบุรี​ ซึ่งมักเป็นเรื่องที่มักถูกนำมาถกเถียงและพูดถึงอยู่เสมอบนโต๊ะกินข้าวหรือทุกครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยกัน โดยเมื่อเห็นว่ามีศักยภาพและมีประโยชน์มากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่วิทยานิพนธ์ ตนและภรรยา (อรณี ณ นคร) จึงช่วยกันคิดสร้างเป็นธุรกิจขึ้นมาในปี 2558 โดยใช้ชื่อว่า “Taksa Toys” ซึ่งหมายถึงของเล่นที่มีทั้งประโยชน์และความสนุก สามารถช่วยเสริมสร้างทักษะและพัฒนา​ไปสู่การ​เป็น​ผู้ใหญ่​ที่ดี​​มี​คุณภาพ​และ​มี​ศีลธรรมได้ จึงเป็นเหมือนแบรนด์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างคน 2 รุ่น คือ พ่อแม่และลูกชาย
 



 
แบรนด์เล็ก บุกตลาดใหญ่
 

     โดยเพียงปีแรกที่เริ่มต้นธุรกิจ เขาก็คิดที่จะไปเปิดตัวอยู่ในงานของเล่นระดับโลกเลย ในงานที่มีชื่อว่า “Spielwarenmesse International Toy Fair” ณ เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นงานที่รวบรวมผู้ประกอบการแบรนด์ของเล่นต่างๆ จากทั่วโลก ตั้งแบรนด์ดังระดับโลก ไปจนถึงแบรนด์น้องใหม่ให้มารวมตัวกัน เรียกว่าหากใครทำธุรกิจเกี่ยวกับของเล่นควรมาให้ได้สักครั้งหนึ่ง
               

     “จริงๆ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเยอะ คิดเพียงแค่ว่าอยากนำศักยภาพของเล่นที่เราช่วยกันคิดขึ้นมานี้เผยแพร่ออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้เท่านั้น โดยเราก็แค่ลองเริ่มต้นจากงานที่เราเคยไปมา ต้องย้อนกลับไปให้ฟังว่าก่อนหน้าที่จะนำมาทำเป็นวิทยานิพนธ์ ลูกชายเคยไปทำเวิร์กช้อปกับสมาคมอุตสาหกรรมของเล่นไทยมาก่อน และได้รับรางวัลที่ 2 เขาจึงพาไปดูงานที่เยอรมนี ตอนนั้นเราก็เลยติดสอยห้อยตามไปด้วย โดยเรามองเห็นแล้วว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก ทำให้คิดว่าถ้าทำเป็นธุรกิจแล้วเข้ามาที่นี่ได้ก็น่าจะมีโอกาสมากกว่า”
               

     ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจากการตัดสินใจครั้งนั้นจะทำให้แม้เป็นเพียงปีแรกที่ไปออกงาน ก็สามารถได้ออร์เดอร์ลูกค้ากลับมาในทันที 3 ประเทศด้วยกัน



     

     “ยอมรับว่าตอนนั้นที่ไป เราเป็นแบรนด์ที่ตัวเล็กมาก มีสินค้าแค่ตัวเดียวเอง ตัวบูธก็ไม่ได้ตกแต่งอะไรมาก มีแค่ป้ายไวนิลแผ่นเดียวติดไปแขวนโชว์เท่านั้น แต่เราก็ค่อนข้างมั่นใจในสินค้าของตัวเอง ทำให้แม้เป็นเพียงปีแรกที่ไปออกงานเราได้ออร์เดอร์กลับมาถึง 3 ประเทศเลยทีเดียว ซึ่งเป็นอะไรที่น่าแปลกใจมาก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีคนเตือนเอาไว้แล้วว่ามาปีแรกถ้าไม่ได้ออร์เดอร์กลับไป ไม่ต้องเสียใจ เพราะส่วนใหญ่มักจะได้ก็หลังจากออกงานครั้งที่ 2  - 3 ไปแล้ว ลูกค้าจึงจะเชื่อใจกล้าทำการค้าด้วย


     “โดยใน 3 ปีแรก เราไปร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมของเล่นไทย ภายใต้ Thai Pavilion ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นโรงงานผลิตและรับจ้าง OEM ซึ่งก็ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเราสักเท่าไหร่ ในปีหลังๆ เราจึงลองทำเรื่องติดต่อเอง จนได้ย้ายมาอยู่ในฮฮลล์เดียวกับผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ ซึ่งได้เจอทั้งแบรนด์ดังเจ้าใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีไอเดียแตกต่างกันไป ทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น มีออร์เดอร์จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น รวมๆ แล้วตอนนี้สินค้าของเรากระจายไปกว่า 15 ประเทศทั่วโลกแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เกาหลี ญี่ปุ่น ใต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ”
 
 
นิยามของเล่น ของคนทำของเล่น
 
               
     ในส่วนการทำของเล่นแบรนด์ Taksa Toys นั้น ฟ้าดลเล่าว่าเขาและครอบครัวไม่ได้ต้องการทำของเล่นออกมาเพื่อความสนุกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องการเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตที่ดีมอบให้กับเด็กๆ ผู้เล่นด้วย โดยการออกแบบของเล่นแต่ละชิ้นอับดับแรกจะคำนึงถึงประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับก่อน ต่อมาจึงค่อยมาคิดถึงการออกแบบของเล่นเพื่อให้ตอบโจทย์ได้ทั้งประโยชน์และความสนุกไปพร้อมๆ กัน





     “เราไม่ได้มองว่าตลาดต้องการอะไร แต่เรามักจะมองว่าควรมีของเล่นอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกบ้าง เพื่อให้สามารถปูพื้นฐานที่ดีให้กับเด็กๆ ได้ ทุกครั้งที่คิดออกแบบมานั้นเราจะคิดเสมอว่าควรมอบคุณค่าหรือทักษะบางอย่างให้กับเด็กๆ ได้ด้วย เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ ความรักธรรมชาติ ทักษะทางสังคม ทักษะวิชาการบางอย่าง คือ เราคิดว่าเด็กควรได้อะไรจากการเล่นด้วย ไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว”


     ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวนี้ ฟ้าดลกล่าวว่าของเล่นของเขาจึงอาจไม่ใช่ของเล่นตามกระแสที่ถูกใจ เป็นที่ชื่นชอบ และขายดีที่สุดสำหรับเด็กๆ และลูกค้าตัวจริงส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ซื้อ ก็คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง แต่เขาก็มีความสุขกับการได้มอบของเล่นที่มีคุณค่า มีความคิดเชิงบวก และเสริมสร้างทักษะให้กับเด็กๆ ได้บ้าง มากกว่ายอดขายที่พุ่งพรวดจากการทำของเล่นตามกระแสโดยที่เด็กๆ อาจไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย





     “ของเล่นของเรา อาจไม่ใช่ของเล่นที่ขายดีที่สุด หรือของเล่นตามกระแสที่ถูกใจเด็กๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไป แต่เราเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพและคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเอง ของเล่นเราก็ไม่แพ้ใครในโลกเหมือนกัน ซึ่งเราได้รับรางวัลด้านการออกแบบจากหลายสถาบันทั่วโลกมากมายเป็นเครื่องการันตี เพียงแต่ตอนนี้สิ่งที่เป็นจุดด้อย คือ เราไม่ได้มีโรงงานผลิตเอง และทำกันเองแบบเล็กๆ การเติบโตและกำไรที่ได้กลับมา จึงอาจจะยังไม่ได้มากมายนักเมื่อเทียบกับศักยภาพที่มีอยู่ ซึ่งแนวทางต่อไปในอนาคตเราคาดหวังว่าวันหนึ่งจะได้เจอกับพาร์ตเนอร์ที่มีแนวคิดเดียวกัน มองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำคล้ายๆ กันมาช่วยผลักดันให้กระจายออกไปได้มากขึ้นกว่าเดิม” ฟ้าดลกล่าวทิ้งท้าย





     โดยปัจจุบันของเล่นของ Taksa Toys มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ซีรีส์ คือ 1. Resources ตัวต่อรูปแบบใหม่ที่มีรูปทรงล้อเลียนทรัพยากรธรรมชาติในชีวิตจริง ได้แก่ หิน ไม้ ทราย เหล็ก อิฐ ต้นไม้ เเละนํ้า เพื่อสอนทักษะให้เด็กๆ ได้รู้จักทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว 2.Arch-Kid-Tech ชุดตัวต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณ ที่ทั้งสนุกและได้สาระ เพื่อทำความเข้าใจด้านโครงสร้าง ได้ฝึกสมาธิ เเละการวิเคราะห์ไปในตัว และ 3.Locomo ของเล่นที่ใช้​คอนเซปต์​การ​เรียนรู้​เเบบ​ ​“​WALDORF​ ​Education​”​ ​ที่ออกแบบมาให้เด็กๆ สามารถเล่นและ​เรียนรู้โดยผ่าน​ประสบการณ์​จริงร่วมกับธรรมชาติ และในระยะเวลาอันใกล้นี้ยังมีต้นแบบที่พร้อมสมบูรณ์รอผลิตออกมาอีก 2 – 3 ชุดด้วยกัน


     นับเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการ SME ที่แม้เป็นแบรนด์ไทยเล็กๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพจนสามารถทำธุรกิจอยู่ในตลาดโลกได้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน