รู้จัก กุมภวาปี – น้ำตาลตราช้อน ก่อนปิดตำนานน้ำตาลเมืองอุดร ผลิตในไทยแต่ไปเป็นเบอร์ 1 อยู่ในญี่ปุ่น

TEXT : กองบรรณาธิการ
 

 


               
     นับเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการธุรกิจไทยกับการประกาศปิดกิจการของโรงงานน้ำตาลกุมภวาปีที่อยู่คู่เมืองอุดรธานีมานานกว่า 58 ปี การจากลาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตพนักงานเกือบร่วม 300 คน ลูกจ้างชั่วคราวตามฤดูกาลอีกพันกว่าคน ไปจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอีกนับไม่ถ้วน แต่ยังเหมือนเป็นการสูญเสียสัญลักษณ์สำคัญที่อยู่คู่ชาวกุมภวาปีมาช้านานด้วย ซึ่งหลายชีวิตหลายครอบครัวก็ผูกพันกับโรงงานแห่งนี้เสมือนเป็นบ้านหลังที่สองไปแล้ว เพื่อเป็นการร่วมส่งท้ายอีกหนึ่งตำนานน้ำตาลเมืองอุดรธานี วันนี้เราจึงขอนำเสนอเรื่องราวธุรกิจของโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ให้ได้รู้จักกัน
 
 
ย้อนประวัติโรงงานน้ำตาลเมืองอุดรธานี

 

     ย้อนไปเมื่อสมัย 80 กว่าปีก่อน ราวปี พ.ศ. 2480 จากข้อมูลวารสารหอการค้าจังหวัดอุดรธานีได้บันทึกไว้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลขึ้นมาในอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมีการก่อสร้างขึ้นมาทั้งหมด 11 แห่งด้วยกัน ภายใต้การดูแลของบริษัท ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัด ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ต้นกำเนิดของโรงงานน้ำตาลกุมภวาปีรวมอยู่ด้วย






     ต่อมาภายหลังได้ถูกขายต่อให้กับบริษัทและหน่วยงานภาครัฐอีกหลายทอดด้วยกัน จนสุดท้ายได้ตกมาอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท บุญเกื้ออุตสาหกรรม จำกัด กระทั่งเมื่อปี 2506 เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลล้นตลาด มีโรงงานผลิตน้ำตาลเกิดขึ้นมามากกว่า 48 แห่ง จึงได้มีการขายต่อให้กับกลุ่มทุนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีกลุ่มบริษัทมิตซุยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งนับเป็นทุนต่างชาติเพียงกลุ่มเดียวในอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย


     โดยมีแนวทางหลักในการบริหารธุรกิจ คือ การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ซึ่งนอกจากจะมีนายทุนจากญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว ยังมีการเปิดให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม นักธุรกิจชาวไทย ไปจนถึงเกษตกรชาวไร่อ้อย และพนักงานบริษัทสามารถเข้ามาร่วมถือหุ้นได้ด้วย ซึ่งน้อยนักที่จะมีบริษัทกล้าทำเช่นนี้ได้ โดยเหตุผลที่มาก็เพื่ออยากให้ชาวกุมภวาปีทุกคนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของนั่นเอง







      หลังจากนั้นในปี 2517 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด หรือ KP Sugar Group นับรวมระยะเวลาแล้วจนถึงปัจจุบันภายใต้การดูแลของกลุ่มทุนต่างชาติแห่งนี้ จึงเป็นเวลา 58 ปีพอดีจนปิดดำเนินการ


     โดยผลผลิตส่วนใหญ่ของน้ำตาลกุมภวาปีนั้น จะเน้นการส่งออกขายไปยังต่างประเทศเป็นหลักกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน โดยเฉพาะการส่งป้อนกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ Spoon ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปช้อน จนต่อมาภายหลังได้กลายเป็นเบอร์ 1 ในตลาดญี่ปุ่นตามรายงานข่าวที่เคยลงไว้ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่ได้มีการพูดถึงการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม KP Sugar Group เพื่อป้อนให้กับกลุ่มประเทศ AEC นั่นเอง


 
 
โลโก้เดียว แต่ 2 โรงงานผลิต

 
               
     แต่ภายใต้โลโก้แบรนด์รูปช้อน ไม่ได้มีเพียงน้ำตาลกุมภวาปีโรงงานเดียวเท่านั้นที่ใช้ตราสัญลักษณ์นี้ ยังมีโรงงานรุ่นน้องอย่าง “น้ำตาลเกษตรผล” ก่อตั้งเมื่อปี 2534 มาร่วมใช้แบรนด์เดียวกันด้วย ในโลโก้รูปช้อนสีแดงและสีเหลือง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ KP Sugar Group เช่นกัน






     ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แม้โรงงานน้ำตาลกุมภวาปีจะปิดตัวไป แต่ยังมีโรงงานน้ำตาลเกษตรผลที่ยังคงอยู่ โดยจากรายงานข่าวล่าสุดกล่าวว่าชาวไร่อ้อยที่มีสัญญากับโรงงานน้ำตาลกุมภวาปีจะสามารถถ่ายโอนสัญญามายังโรงงานน้ำตาลเกษตรผลได้ เนื่องจากเป็นโรงงานในกลุ่มเดียวกัน แต่ด้านพนักงาน-ลูกจ้างจะไม่มีการโอนไปอัตโนมัติเนื่องจากตำแหน่งมีไม่มากพอ
               

     โดยนอกจาก 2 โรงงานดั้งเดิมในเมืองอุดรธานีแล้ว ในปี 2561 กลุ่มทุนมิตซุยและบริษัท มิตซุย ชูการ์ จำกัด ได้จับมือร่วมกับบริษัท โทเร อินดัสตรีส์ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ประกาศจัดสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากกากอ้อยขึ้นที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีด้วย ภายใต้ชื่อ “บริษัท เซลลูโลซิก ไบโอแมส เทคโนโลยี จำกัด” โดยมีการสนับสนุนจากองค์กรอีกหลายสถาบันในญี่ปุ่นร่วมกับทุนตนเองรวมแล้วเป็นเงินลงทุนกว่า 1,700 ล้านบาท นับเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกในโลกที่ใช้กรีนเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 494,982,922 บาท คิดเป็น 72.79 เปอร์เซ็นต์ของทุน
               





     จากที่เล่ามาทั้งหมด ทั้งเรื่องราวความเป็นมา และแนวทางการบริหารธุรกิจ จึงอาจกล่าวได้ว่าโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี คือ หนึ่งในธุรกิจและสัญลักษณ์สำคัญที่อยู่ในใจของชาวกุมภวาปีมาช้านาน จึงไม่แปลกที่หากวันนี้ต้องจากไป จะทำให้หลายคนต้องใจหายและนึกเสียดาย เพราะความผูกพันที่อยู่ร่วมกันมานานนั่นเอง


     โดยแม้จะต้องจากไป ก็ไม่เสียแรงที่ชาวกุมภวาปีจะรักโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ เพราะแม้จะต้องปิดตัวลงแต่ก็มีการ รับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ปิดหนี ไม่หนีหาย โดยมีการจัดตั้งโครงการขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า MIARI : จากกันด้วยดีสู่อนาคตใหม่ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลายธุรกิจ ที่แม้วันนี้จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้แล้ว แต่มีความพยายามที่จะดูแลทุกคนให้เป็นอย่างดีที่สุดนั่นเอง

 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น