เกษตรกรแฮปปี้..แต่ ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์-ผู้ผลิตอาหารสัตว์ รับศึกหนักราคาสินค้าเกษตรโลกพุ่ง

TEXT : กองบรรณาธิการ 





         รู้หรือไม่ว่า เพียงครึ่งแรกของปี 2564 “ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก” ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ธัญพืชต่างๆ รวมถึงยางพารา ปาล์มน้ำมัน และน้ำตาล ต่างทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาของวัตถุดิบอาหารสัตว์ อย่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ที่พุ่งสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ถึงกว่า 104 เปอร์เซ็นต์ และ 79 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 8 ปี! และยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดลงเร็วๆ นี้อีกด้วย


       สถานการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และกระทบกับผู้ประกอบการกลุ่มไหนบ้าง มาดูกัน



 

ภาวะโลกร้อน-ภัยแล้ง กระทบต่อผลผลิตเกษตร


        ในช่วงที่ผ่านมาผลผลิตเกษตรโลกมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง โดยเกิดจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อสภาพอากาศแปรปรวน และภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ความต้องการผลผลิตจะมีเพิ่มขึ้น แต่ห่วงโซ่อุปทานกลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด ทำให้หลายประเทศประสบกับปัญหาราคาอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่แพงขึ้น จึงเกิดความวิตกกังวลต่อไปว่า ภาคครัวเรือน ที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ตอนนี้แล้ว อาจยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าเดิมจากสถานการณ์นี้อีกด้วย
               

        เมื่อย้อนดูราคาสินค้าเกษตรในประเทศไทย พบว่า ราคาเฉลี่ยของเนื้อสัตว์และอาหารในปี 2564 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 0.08 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ฝั่งผู้ผลิตดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย (PPI) พบว่า ราคาผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6.4 เปอร์เซ็นต์  จากข้อมูลพอจะทำให้คลายความกังวลในส่วนของภาระฝั่งผู้บริโภคได้ แต่ต้นทุนส่วนของผู้ผลิตเนื้อสัตว์ พบว่า ได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นของตลาดโลก เนื่องจากไทยไม่สามารถผลิตพืชอาหารสัตว์ได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตามแผนอาหารสัตว์ 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2564-2566) ไทยยังต้องการนำเข้ากากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คิดเป็น 64 เปอร์เซ็นต์ และ 51 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณความต้องการทั้งหมดตามลำดับ



 

ส่งผลต่อเนื่องถึงรายได้และต้นทุนของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง


         นอกจากนี้ ปัจจัยสินค้าประเภทอาหารต่าง ๆ อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมจากภาครัฐ ทำให้การปรับตัวของราคาอาหารไม่ว่าจะเป็นเนื้อสุกร เนื้อไก่ หรือไข่ไก่ รวมไปถึงการกำกับปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบประเภทพืชในประเทศเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ได้แก่ ถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อเกิดสภาวะตลาดสินค้าไม่พอเพียง  จึงส่งผลกระทบต่อ “ต้นทุน” และ “รายได้” ของธุรกิจ จากสภาวะที่เกิดขึ้นข้างต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ต้องมีการปรับตัวรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสูตรอาหารเป็นวัตถุดิบที่มีราคาต่ำกว่า และพึ่งพาการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้น



 
               
ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์-ผู้ผลิตอาหารสัตว์กระทบหนักสุด


         ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า ราคาสินค้าเกษตรโลกที่พุ่งสูงขึ้นทำให้วัตถุดิบพืชอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นส่งผลต่อผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะ ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์เป็นต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจฟาร์ม โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 55-60 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนฟาร์มไก่ และ 20-25 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนฟาร์มสุกร ทำให้ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบพืชสำหรับอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นตามตลาดโลกไปด้วย
               

          อย่างไรก็ดียังมีกลุ่มที่ได้รับผลดี นั่นคือ เกษตรกรผู้ผลิตพืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดและถั่วเหลือง) ชาวนาผู้ผลิตข้าว และโรงสีที่ได้รับผลพลอยได้จากข้าวทั้งรำละเอียด และปลายข้าว เนื่องจากธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น และหันมาเพิ่มสัดส่วนการใช้รำละเอียด และปลายข้าว เพื่อลดต้นทุนในการผลิตนั่นเอง



               
           
ต้องปรับกลยุทธ์ใช้วัตถุดิบในประเทศลดต้นทุนการผลิต


         จากสถานการณ์ราคาสินค้าวัตถุดิบเกษตรในตลาดโลก สะท้อนถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างสินค้าเกษตรของไทย ที่ยังจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแผนระยะยาว นั่นคือการเป็น เกษตรก้าวหน้า (Advance Agricultural) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย (S-Curve Industry) โดยการหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ลดการนำเข้าลง โดยภาครัฐควรเร่งส่งเสริมการเพาะปลูกพืชอาหารเชิงพาณิชย์ ไปพร้อมกับการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ผลิตอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ


       ซึ่งนั่นเองที่จะช่วยให้ธุรกิจทั้งห่วงโซ่แข็งแกร่งขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้ในที่สุด
 

          เรียบเรียงข้อมูลจาก : ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี
 
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน