ทำธุรกิจยังไงให้อยู่ได้กว่า 300 ปี “Lock & Co“ ร้านขายหมวกที่เก่าสุดในโลก ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 
               
          หมวกเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายมาหลายศตวรรษแล้วด้วยวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ครั้งหนึ่ง การสวมหมวกเวลาออกจากบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องทำ แม้ช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 หมวกจะมีบทบาทลดน้อยลง และสวมใส่บ้างเป็นบางโอกาส แต่แฟชั่นหมวกก็ไม่ได้สูญหายไปไหน แถมยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในบางสังคมอีกด้วย รวมถึงกลุ่มคนรักหมวก นิยมสะสมหมวกก็เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
               

         สำหรับคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เครื่องแต่งกายประเภทหมวก เชื่อว่าจะต้องเคยได้ยินชื่อ “Lock & Co” ร้านผลิตและจำหน่ายหมวกชื่อดังจากอังกฤษที่บริการผลิตหมวกตามสั่ง ทั้งหมวกโบราณ หมวกสมัยใหม่ หมวกคลาสสิก และหมวกร่วมสมัย โดยมีการวัดขนาดศีรษะ และให้ลูกค้าเลือกแบบและชนิดวัสดุ หมวกที่ทางร้านผลิตจะใช้วัสดุหลากหลาย อาทิ ผ้าสักหลาด ผ้าทวีด ผ้าแคชเมียร์ และผ้าทั่วไปที่คุณภาพดีที่สุดโดยเสาะหามาจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก
               

         แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Lock & Co คือนอกจากเป็นร้านจำหน่ายหมวกที่เป็นงานหัตถกรรม ยังเป็นร้านที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่สุดในโลก จนถึงปัจจุบัน เปิดบริการมานาน 345 ปีแล้ว ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ครอบครองโดยทายาทของเจ้าของเดิมผู้ก่อตั้งอีกด้วย



                     

         โรเจอร์ สตีเฟนสัน รองประธาน Lock & Co ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 7 เล่าว่าธุรกิจเริ่มต้นเมื่อปี 1676 โดยเจมส์ ล็อคบนถนนเซนต์เจมส์ในลอนดอน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นย่านเมย์แฟร์อันแหล่งรวมร้านหรู หมวกที่รับผลิตให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจะเป็นเปลี่ยนไปตามยุค เช่น ในต้นคริสต์ศตวรรษ 1700 เป็นหมวกทรงสูง (Top hat) ก่อนที่ปลายคริสต์ศตวรรษจะเปลี่ยนไปนิยม หมวกสามมุมหรือหมวก Tricon
               

         กระทั่งปี 1849 Lock & Co ก็สร้างชื่อด้วยการออกแบบมวกชนิดหนึ่งเรียกว่า bowler hat หรือหมวกทรงกะลาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หากย้อนกลับไปยุควิคตอเรีย หมวกดังกล่าวเป็นหมวกที่คนงานรถไฟใส่ แต่ Lock & Co นำมาออกแบบใหม่ให้ชนชั้นสูงที่เข้าแข่งขันในเกมล่าสัตว์สวมใส่เพื่อให้คล่องตัวกว่าหมวกทรงสูงที่มักเกี่ยวกิ่งไม้หรือต้นไม้ หมวก bowler hat นี้เองที่ชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลดชาวอังกฤษสวมใส่จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวพอๆ กับไม้เท้า



               

          ลูกค้าของ Lock & Co มีตั้งแต่สมาชิกราชวงศ์ บุคคลมีชื่อเสียงในสังคมไปจนถึงประชาชนทั่วไป สตีเฟนสันเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าแบรนด์ของตระกูลได้รับใช้ราชวงศ์มาช้านาน รวมถึงวินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลก และฌอน คอนเนอรี นักแสดงชื่อดังที่สวมหมวก bowler hat ของ Lock & Co ในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ แต่โดยมากจะพบเห็นหมวก Lock & Co ถูกสวมใส่ตามงานต่างๆ อาทิ รอยัล แอสคอต หรืองานแข่งขันม้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปีของอังกฤษ พระราชพิธีในพระราชวัง และงานแต่งงานทั่วไป   
               

           ซู ซิมพ์สัน กรรมการผู้จัดการ Lock & Co ให้สัมภาษณ์ว่าหมวกทำให้การแต่งกายสมบูรณ์ขึ้น และเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นตัวตนหรือสไตล์ของคนๆ นั้น Lock & Co สามารถตอบโจทย์รสนิยมของลูกค้าได้เนื่องจากมีเลือกมากมายหลายประเภทให้เลือก ก่อนหน้านั้น ทางร้านอาจจะเน้นบริการลูกค้าชาย แต่เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ขยายกลุ่มลูกค้าไปยังสุภาพสตรี และกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วสุดของบริษัทจนต้องจัดตั้งทีมดีไซเนอร์ขึ้นมาโดยเฉพาะ



               

          สำหรับหมวกสุภาพสตรีจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ “Couture Millinery” เป็นหมวกรุ่นสั่งทำพิเศษ ต่อมาก็ “Casual Hats” เป็นหมวกลำลองที่ใส่ได้ทุกฤดูกาลและสามารถนำติดตัวได้ตลอด และ “Hat-a-Porter” เป็นหมวกสำเร็จรูปสำหรับฤดูร้อนและฤดูหนาว 
               

          ซิมพ์สันกล่าวอีกว่าลูกค้าของทางร้านได้ขยายจากกลุ่มคนชั้นสูงไปยังประชาชนทั่วไปมากขึ้น ยกตัวอย่าง คนขับแท็กซี่ในลอนดอนจำนวนมากก็เป็นลูกค้าที่ร้าน และมีลูกค้าอีกมากมายที่เข้ามาสำรวจสินค้าบนเว็บไซต์ของบริษัทแล้วเริ่มเก็บเงินเพื่อซื้อหมวกรุ่นที่ตัวเองชอบ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาพลักษณ์การเป็นร้านหรูหราที่คนมีฐานะชอบใช้บริการจึงอาจทำให้ลูกค้าทั่วไปไม่กล้าเดินเข้าร้านเพราะความเกร็ง แต่ผู้บริการ Lock & Co ยืนยันว่าพนักงานที่ร้านยินดีต้อนรับและปฏิบัติต่อลูกค้าทัดเทียมกัน 

               


         ทั้งนี้ หมวกของ Lock & Co ส่วนใหญ่ผลิตในอังกฤษโดยผู้เชี่ยวชาญด้านหมวกในแมนเชสเตอร์ ส่วนหมวกสุภาพสตรีจะผลิตที่ร้านโดยทีมดีไซเนอร์และช่างทำหมวกประจำของร้าน มีเพียงประมาณ 20 เปอร์เซนต์ของสินค้าทั้งหมดที่ผลิตจากที่อื่นโดยเน้นประเทศในยุโรป เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ Lock & Co จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานที่ผลิตซึ่งมีไม่กี่แห่ง และมีพนักงานแผนกตรวจสอบความสมบูรณ์ของสินค้าทุกชิ้นอีกทีก่อนส่งมอบให้ลูกค้า   
               

         Lock & Co ไม่เหมือนร้านหมวกทั่วไป ขั้นตอนการใช้บริการจะซับซ้อนกว่า เริ่มตั้งแต่ลูกค้ามาเลือกดูหมวกที่ร้าน วัดขนาดศีรษะ เลือกแบบ และสั่งทำ การสั่งทำมี 2 แบบ สั่งทำตามตัวอย่างหมวกที่มี หรือสั่งทำตามแบบที่ลูกค้าต้องการโดยการเลือกวัสดุและรายละเอียดต่างๆ ยิ่งถ้าเป็นหมวกที่ใช้ในพิธีสมรสจะยิ่งซับซ้อน ลูกค้าอาจต้องนำชุดที่จะสวมในงานมาไว้ที่ร้านเพื่อเทียบสีให้เข้ากันที่สุด เมื่อหมวกสำเร็จแล้วก็ถึงเวลานักหมายลูกค้ามาลองหมวกที่ร้าน หากไม่พอดีก็จะทำการแก้ไขจนสมบูรณ์แบบที่สุด



               

         มาถึงคำถามที่ว่าเหตุใดธุรกิจ Lock & Co ถึงได้ยืนยาวมานานกว่า 300 ปี ในขณะที่ร้านอื่นๆ ต่างล้มหายไปก็เยอะ ซิมพ์สันกล่าวว่าก่อนหน้านั้น บนถนนเซนต์เจมส์อันเป็นย่านไฮโซมีร้านรับตัดหมวกอยู่ 5 ร้านด้วยกัน แต่ตอนนี้เหลือ Lock & Co เพียงร้านเดียว การหายไปของร้านเหล่านั้นบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านแฟชั่นหมวก แต่ปัจจัยที่ทำให้ Lock & Co ยืนหยัดอยู่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากความเหนียวแน่นในการเป็นธุรกิจของครอบครัว
               

           Lock & Co เองก็ไม่ต่างจากร้านอื่นที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านแฟชั่น แต่ทิศทางธุรกิจที่กำหนดโดยเจ้าของกิจการซึ่งเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำไม่เพียงยังผลให้ธุรกิจอยู่ได้แต่ยังกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์  สำหรับแผนในอนาคต Lock & Co ยังไม่มีแผนขยายร้านสาขาไปต่างประเทศ แต่ต้องการมุ่งไปที่ธุรกิจค้าส่งให้กระจายในยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องจากฐานลูกค้านอกประเทศมากที่สุดอยู่ในสหรัฐฯ นอกจากนั้น Lock & Co ยังเปิดกว้างที่จะร่วมงานกับดีไซเนอร์อื่น ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยทำงานกับวิเวียน เวสต์วู้ด ดีไซเนอร์สายพังก์ชื่อก้องโลก และสแวกเกอร์ กับ อะเบทธิงเอพ ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นจากญี่ปุ่น
 

         ที่มา : http://www.merchantandmakers.com/lock-and-co-hatters/
          https://www.huntsmansavilerow.com/huntsman-get-top-tips-top-hats-ascot-lock-co/
 
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น