ทำเลไม่ดีก็มีร้านได้ SIP Coffee ผู้ฉีกกฎการตลาด เปลี่ยนหน้าบ้านเป็นที่ขาย เข้าถึงลูกค้าแบบไร้คู่แข่ง

TEXT / PHOTO : นิตยา สุเรียมมา
 
 
             
     ทฤษฎีการตลาดแบบเดิมอาจกล่าวไว้ว่า หากคิดจะทำธุรกิจหรือเปิดร้านขึ้นมาสักอย่าง ทำเลที่ตั้งต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปนำพาความทันสมัยของเทคโนโลยีสื่อสารให้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ข้อจำกัดดังกล่าวอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุดอีกต่อไป

              
     เพราะต่อให้ถึงอยู่ลึก อยู่ไกล ไปยากลำบากแค่ไหน หรืออยู่ในทำเลที่ตั้งที่แทบจะไม่มีจุดเด่นอะไรเลย แต่ถ้าร้านคุณเจ๋งจริง สินค้าดี อาหารอร่อย บรรยากาศน่ารัก ก็ย่อมถูกค้นพบได้ง่ายบนโลกโซเชียลเช่นกัน


     เหมือนกับ “SIP Coffee” ร้านกาแฟน่ารักสไตล์มินิมอลที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ แม้จะตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ บ้านแม่คี ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งไม่ว่าใครที่ผ่านไปมาได้เห็น ก็มักเกิดคำถามขึ้นมาเหมือนกันว่าทำไมร้านน่ารักๆ ถูกใจสายแชะสายเช็คอินแห่งนี้ ถึงได้มาตั้งอยู่ในชุมชนเงียบสงบที่แทบจะไม่มีจุดเด่นหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอะไรเลย

 



ยืนหนึ่งในทำเลเงียบ ดีกว่าเป็นตัวเลือกในทำเลทอง

 

     รวิชญ์ วิคี (ดง) และพัฒน์ธนันท์ อารีย์ (ปุ้ม) คู่รักเจ้าของร้าน SIP Coffee เล่าถึงที่มาธุรกิจให้ฟังว่าร้านกาแฟดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของตัวเองที่อยากมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง โดยพัฒน์ธนันท์เองนั้นมีความชอบและสนใจการทำเบเกอรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วบวกกับเริ่มเบื่อชีวิตมนุษย์เงินเดือน ทั้งคู่จึงตัดสินใจเปิดร้านกาแฟขึ้นมา โดยพัฒน์ธนันท์ได้ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลร้านเต็มตัว ส่วนรวิชญ์ยังคงเป็นครูอัตราจ้างสอนวิชาพละศึกษาในโรงเรียนใกล้บ้าน เพื่อเป็นหลักไว้คนหนึ่งก่อนและใช้เวลาว่างที่มีช่วยดูแลร้านอีกแรง




“SIP” แปลว่า จิบ นอกจากมีความหมายเข้ากับธุรกิจร้านกาแฟแล้ว ยังมาจากอักษรตัวแรกหน้าชื่อของเจ้าของร้านทั้งสองคนด้วย




     แต่แทนที่ทั้งคู่จะเลือกเปิดอยู่ในตัวเมืองหรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนพลุกพล่าน รวิชญ์กลับเลือกที่จะใช้พื้นที่ว่างหน้าบ้าน ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรอยู่แล้วมาปรับปรุงและสร้างเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ขึ้นมา โดยมองว่าการเลือกเปิดอยู่ที่บ้านแม้จะอยู่ในชุมชนเล็กๆ ไม่มีผู้คนผ่านไปมามากมาย แต่ก็ทำให้ร้านของพวกเขากลับดูโดดเด่นดีกว่าเข้าเมืองไปเจอกับคู่แข่งนับสิบที่แม้ต่อให้สร้างเอกลักษณ์จุดเด่นขึ้นมาแค่ไหน ก็เป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้น
 




     “เรารู้เลยว่าถ้าไปเปิดอยู่ในเมืองหรือพื้นที่เจริญ ต่อให้โดดเด่นแค่ไหนเราก็จะถูกกลืนไปด้วยร้านที่มีอยู่มากมาย แต่การเลือกเปิดอยู่ตรงนี้ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีใครเหมือนเราแน่นอนจะทำให้เรากลายเป็นจุดเด่น ใครเห็นก็สะดุดตา เพราะมีร้านเราแค่ร้านเดียว ถึงจะอยู่เข้ามาในซอยไม่ติดถนนใหญ่ แต่ด้วยความที่ตั้งอยู่กึ่งกลางเส้นระหว่างแม่สาย – เชียงแสนก็มีคนนิยมใช้เป็นเส้นทางลัดไม่ต้องผ่านไฟแดงอยู่บ้าง เราจึงได้ลูกค้าจากตรงนี้ด้วย” รวิชญ์เล่า
 

พลังแห่งโซเชียลมีเดีย

 

     ฟังดูแล้วการตัดสินใจของรวิชญ์และพัฒน์ธนันท์ค่อนข้างมีเหตุผลและเป้าหมายที่ชัดเจนของตัวเอง แต่แน่นอนว่าการจะทำให้คนรอบข้างเห็นหรือเข้าใจไปด้วยเหมือนกันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย





     “ช่วงเปิดร้านแรกๆ เกิดคำถามเยอะมากว่าทำไมถึงเลือกมาเปิดตรงนี้ เปิดแล้วจะขายให้กับใคร หรือเปิดแล้วจะขายได้เหรอ ซึ่งเขาไม่ได้มองหรือคิดเหมือนกับเรา แต่เรารู้ดีว่าลูกค้าของเราเป็นใคร ถึงแม้จะเปิดอยู่ในหมู่บ้าน แต่ไม่ใช่ว่าลูกค้าของเราจะต้องเป็นคนในหมู่บ้านเท่านั้น ทุกวันนี้โลกการสื่อสารไปไกลกว่าเดิมมาก ทุกอย่างอยู่บนอินเตอร์เน็ต ถึงจะอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็ทำให้ร้านของเราเป็นที่รู้จักจากบุคคลภายนอกได้
             

     “ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาก็มีทั้งคนทำงานอยู่ในพื้นที่ ข้าราชการ พนักงานบริษัท นักศึกษา จนถึงนักท่องเที่ยวที่เขาเห็นรีวิว ช่องทางโอกาสที่ลูกค้าจะมาเจอกับเราจะไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ผ่านทำเลที่ตั้งหรือหน้าร้านอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ต่อให้อยู่ลึกอยู่ไกลแค่ไหน ถ้าร้านน่าสนใจจริงๆ เขาก็ดั้นด้นมาหาได้”


เด่นอย่างเดียวไม่พอ ต้องดีด้วย

 

     นอกจากตัวร้านที่ตกแต่งสวยงามแล้ว จุดเด่นอีกอย่างของร้าน SIP Coffee ก็คือ การทำเบเกอรีแบบโฮมเมดที่ทำสดใหม่วันต่อวัน ซึ่งในละแวกนี้ยังไม่ค่อยมีใครทำอย่างนี้เช่นกัน เมนูเด่น ได้แก่ บราวนี่, ชีสเค้กหน้าไหม้





     “อย่างที่บอกว่าเรามีความสนใจอยากทำเบเกอรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอได้มาลองเปิดร้านของตัวเองเลยอยากทำเป็นแบบโฮมเมด ทำเล็กๆ ไม่ต้องเยอะ แต่ทำสดใหม่ ซึ่งก็ยังไม่ค่อยมีใครทำสไตล์นี้ออกมา เราจึงเป็นเหมือนทางเลือกให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นมาด้วย”





นอกจากบริการขายเครื่องดื่มและเบเกอรี สไตล์มินิมอลเหมือนกับตัวร้านแล้ว หากใครอยากช้อปต้นไม้เล็กๆ ติดไม้ติดมือกลับไปด้วย เขาก็มีเพาะขายด้วยนะ


     นอกจากจะทำเสิร์ฟให้กับลูกค้าที่ร้านแล้ว พัฒน์ธนันท์เล่าว่าเธอยังรับทำเค้กวันเกิดและทำขนมส่งให้ร้านอาหารและร้านกาแฟต่างๆ ในอำเภอแม่จันเพิ่มช่องทางหารายได้เข้าร้านขึ้นมาอีกทางด้วย


     “เรารู้ดีว่าการทำธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่การสร้างจุดเด่นให้คนสนใจ ก็คือ การทำร้านให้น่ารักถ่ายรูปออกมาสวยเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามา แต่อย่าลืมว่าถ้าเขาได้เคยมาเช็คอินถ่ายรูปแล้ว ถ้าเราไม่ได้มีอะไรใหม่หรือจุดเด่นอย่างอื่นทำให้เขาสนใจอีก โอกาสที่จะกลับมาอีกโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวหรือลูกค้าขาจรที่เข้ามาก็เป็นไปได้ยากกว่า นอกจากหาลูกค้าประจำในพื้นที่แล้ว เราเลยต้องมีช่องทางอื่นเพื่อหารายได้เสริมเข้ามาด้วย ธุรกิจถึงจะไปรอดได้” พัฒน์ธนันท์กล่าว
 




ร้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ

 

     สุดท้ายเมื่อถามถึงข้อดีของการตัดสินใจทำธุรกิจที่เลือกเปลี่ยนหน้าบ้านของตัวเองให้กลายเป็นที่ทางทำมาหากินได้กับการต้องเอาตัวเองออกไปแข่งขันกับโลกภายนอก รวิชญ์และพัฒน์ธนันท์ได้ให้แง่คิดและคำแนะนำสำหรับคนอื่นๆ ที่สนใจอยากทำเหมือนกันว่า


     “อย่างแรกเลยที่ได้ คือ นอกจากไม่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่มีมากแล้ว ก็คือ การประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าเช่าร้าน อย่างทุกวันนี้เศรษฐกิจเงียบๆ เพราะโควิดถ้าตอนนี้เราต้องเช่าร้านอยู่คงเครียดกว่านี้มาก แต่อันนี้ถึงการลงทุนก้อนแรกจะสูงแต่สุดท้ายก็ได้เป็นของเราเอง วันหนึ่งถึงไม่ทำร้านกาแฟ เราก็อาจปรับเปลี่ยนทำอย่างอื่นก็ได้ หรือต่อให้วันหนึ่งเราอาจไม่ทำอะไรเลยก็ใช้เป็นห้องนั่งเล่นที่ทำงานส่วนตัวเล็กๆ ได้เช่นกัน มันไม่ได้หายไปไหน


     “สิ่งที่อยากฝากสำหรับคนที่คิดอยากทำอะไรอยู่ที่บ้านเหมือนกับเราบ้าง หรือแม้แต่คนที่คิดอยากเริ่มต้นทำธุรกิจเองก็ตาม อยากให้ศึกษาและเก็บสะสมประสบการณ์ให้เยอะๆ ก่อน ไปดูว่าคนอื่นเขาทำยังไงถึงจะได้ขาย ทำไมร้านเขาอยู่ไกล แต่ก็ยังมีลูกค้าเข้าไปหา หรือเขาทำยังไงทำไมธุรกิจถึงอยู่ได้ยาวๆ เห็นเราเปิดขึ้นหน้าง่ายๆ หน้าบ้านแบบนี้ แต่เราก็มีการศึกษาและเก็บประสบการณ์มาพอสมควรนะ ไม่ใช่ตัดสินใจอยากทำก็ทำเลย เพราะทำแล้วก็ต้องทำให้ดี ให้อยู่รอดได้ด้วย” คู่รักเจ้าของร้าน SIP Coffee ฝากทิ้งท้ายเอาไว้
 




SIP Coffee

Facebook : SIP Coffee

โทร. 064 994 6142

เปิดทุกวัน 09.00 – 17.00 น.
 

 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน