เปิดใจเจ้าของโรงงานพีคถ่านอัดแท่ง ทำรายได้ปีละ 8 หลัก มีวันนี้เพราะคำ bully เป็นแรงฮึด

TEXT: Neung Cch.

 
               
        “คนเผาถ่าน” คำพูดที่ติดอยู่ในใจ บอย-ปราโมทย์ เตือประโคน มากว่า 20 ปี กลายเป็นคำที่ทำให้เขายอมตัดสินใจลาออกจากงานประจำทันทีตอนที่ขายถ่านได้ 10 ตัน พร้อมกับไปดาวน์รถหนึ่งคันเพื่อเอาจริงเอาจังกับธุรกิจนี้ แต่เหมือนสายฟ้าฟาดลงมาเมื่อสุดท้ายลูกค้ายกเลิกออร์เดอร์ทันทีเช่นกัน งานประจำก็ไม่มี แต่กลับมีภาระผ่อนรถกระบะพ่วงเข้ามาอีก


       นาทีนั้นถึงจะไม่มีคนเอาถ่านของเขา แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนที่เอาถ่าน ปัญหาจึงถูกสะสางพร้อมกับสร้างออร์เดอร์ล็อตใหม่ที่ใหญ่กว่าเก่าและก้าวสู่เจ้าของโรงงานถ่านอัดแท่งที่ทำรายได้ปีละ 8 หลักในเวลาสองปี พร้อมกับพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าวันนี้เขาคือนักธุรกิจคนหนึ่ง





คนเอาถ่าน



          ใครจะคิดว่าการตามไปช่วยพ่อเผาถ่านมาใช้ไว้ที่บ้าน จะทำให้เด็กหนุ่มบุรีรัมย์โดนเพื่อนๆ ล้อ แม้จะไม่มีการโต้ตอบแต่เขาเก็บคำพูดนั้นไว้ในใจตลอดมา จนได้มาระบายออกกับการศึกษาที่เขามุ่งทำทำธีซิสเรื่องถ่านอัดแท่งก่อนที่จะเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่โปรเจ็กต์ถ่านอัดแท่งที่เขาศึกษาไว้ก็ต้องพับเก็บไว้ที่หิ้ง เมื่อเขาได้งานในตำแหน่งพนักงานขายที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก


         กระทั่งวันหนึ่งที่บอยได้ไปเจอรุ่นพี่คนหนึ่งแนะนำให้ไปขายน้ำส้มควันไม้ หรือ กรดไพโรลิกเนียส เป็นของเหลวใส ที่เกิดจากการเผาไม้ ใช้ไร่แมลง ดับกลิ่น เมื่อเขาลองนำน้ำส้มควันไม้ไปเสนอขายปรากฏว่าลูกค้าทุกแห่งก็จะถามถึงแต่ถ่านอัดแท่ง เหมือนเป็นการจุดประกายให้บอยกลับมาสนใจเรื่องถ่านจริงจังอีกครั้ง
               

        “ประมาณ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีออนไลน์ เราก็ใช้วิธี walk in ไปหาลูกค้าส่วนใหญ่เป็นร้านหมูกระทะ ใช้วิธีอธิบายว่าข้อดีของถ่านอัดแท่งคือ ตัดปัญหาเรื่องควัน อยู่ได้นาน ความสม่ำเสมอเรื่องความร้อน จุดได้นานกว่าถ่านทั่วไป 2-3 เท่า แต่ช่วงแรกๆ ลูกค้าก็ปฏิเสธ แต่หลังจากนั้นเริ่มขายได้


               


ออร์เดอร์ทิพย์



          จนกระทั่งผ่านไปสองเดือนเขาสามารถทำได้ตามเป้าหมายคือขายถ่านอัดแท่งได้ 10 ตัน บอยจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำทันที แต่แทนที่จะได้จับเงินก้อนโตและเริ่มธุรกิจอย่างราบรื่น กลับต้องกลืนน้ำลายเฮือกใหญ่เมื่อลูกค้าขอยกเลิกออร์เดอร์กระทันหัน ความหวังที่จะใช้รถกระบะคันงามที่เพิ่งถอยมาใหม่เป็นเพื่อนร่วมทางหารายได้ก็กลายเป็นภาระเพิ่มหนี้สินทันที


         “ตอนนั้นเรายังขาดความรู้ ศึกษาไม่ดีพอว่าถ่านดีมันมีคุณสมบัติอย่างไร เหมือนเราโดนย้อมแมว เอาถ่านผสมทรายผสมดินมาขายให้เรา ค่าความร้อนมันไม่ถึงตามที่เราไปเสนอขายไว้กับลูกค้าทำให้เขายกเลิกออร์เดอร์”

 
        ถือเป็นบทเรียนล้ำค่าสอนให้บอยหันไปศึกษาข้อมูลสินค้ามากขึ้น รวมทั้งมีความรอบคอบ ต้องมีการทดลองสินค้าทุกครั้งก่อนซื้อ ตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่จะรับของและทดสอบคุณภาพอีกครั้งก่อนจะส่งถึงมือลูกค้า


       “หลังจากวันนั้นผมเอาตัวไปคลุกคลีกับถ่าน เหมือนนั่งคุยกับถ่าน ลองจุดถ่านทั้งวัน ดูว่าถ่านดีไม่ดีเป็นอย่างไร จุดไปมีควันไหม ลองจับเวลาดูว่าจุดไฟแล้วถ่านอยู่ได้นานเท่าไหร่ ถ่านชื้นเป็นอย่างไร ถ่านแข็งเป็นอย่างไร เราต้องหมกหมุ่นศึกษาสินค้าให้ดี เพื่อที่จะได้เดินหน้าไปต่อ”


        ส่วนการที่โดนลูกค้ายกเลิกออร์เดอร์บอยมองว่าปัญหานี้แก้ได้ด้วยการทำให้มากขึ้นให้ความสำเร็จมันกลบปัญหาให้มิด


       “พยายามหาลูกค้าให้มากขึ้น ถ้าเรามีลูกค้า 300 รายโดนแคนเซิลไป 5-6 ราย ก็กระทบน้อยกว่าการมีลูกค้าไม่กี่ราย ฉะนั้นเราต้องสร้างฐานลูกค้าเพิ่มเข้าไป”
 



          ถ่านจะดีหรือไม่ดี วัตถุดิบเป็นตัวกำหนดคุณภาพ ถ้าเป็นกะลามะพร้าวถือเป็นวัตถุดิบดีที่สุด ให้ค่าความร้อนสูง แต่ขี้เถ้าและควันจะน้อย วัตถุดิบที่รองลงมาคือไม้เบญจพรรณ


 




สองปีมีโรงงานอัดแท่งของตัวเอง



          ความหวังที่จะได้เงินก้อนโตแต่ต้องมาถูกยกเลิกออร์ไปบอยยอมรับว่ามีท้อบ้าง แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นเหมือนถึงทางตันหลังชนฝา ถ้าไม่เดินหน้าต่อก็คงไม่ได้ พอเช้าวันรุ่งขึ้นเขาจึงออกไปหาลูกค้าใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้เพิ่มความมุ่งมั่น และความเข้าใจในตัวสินค้ามากขึ้น หนึ่งเดือนถัดมาบอกก็ได้ลูกค้าใหม่ๆ พร้อมกับยอดขายที่ขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 20-30 ตัน เมื่อผ่านไปหนึ่งปียอดขายทะยานขึ้นไปถึง 150 ตัน


          “พอขายได้มากขึ้นเกิดปัญหาตรงที่ว่าซัพพลายเออร์ไม่สามารถซัพพอร์ตผมได้ ผมก็เลยตัดสินใจเปิดโรงงานผลิตเอง ไปศึกษาเรื่องกระบวนการผลิตเพิ่ม ยิ่งทำให้เราเข้าใจลึกไปอีก เพราะว่าเราเริ่มจากไปศึกษาเรื่องตลาด ซื้อมาขายไป ตอนหลังศึกษาการผลิต เราเข้าใจหมดทั้งเรื่องการตลาด ลูกค้า การผลิต ทำให้เรามั่นใจในการขายของมากขึ้น”





บทเรียนจากโควิด

               

         จากยอดขายที่เคยพุ่งเมื่อร้านหมูกระทะไม่สามารถเปิดให้คนมานั่งทานในร้านได้ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายถ่านหายไป 70-80 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ให้บทเรียนกับเจ้าของโรงงานพีคถ่านอัดแท่งหลายอย่าง อาทิ จากที่เน้นออร์เดอร์ใหญ่ก็ปรับหันมารับทุกออร์เดอร์ไม่มีขั้นต่ำ รวมทั้งไปเพิ่มช่องทางขายใหม่ๆ ที่เขากลายเป็นผู้ล้มแชมป์ทำยอดขายถ่านอัดแท่งได้เป็นอันดับหนึ่งบนแพลตฟอร์มของ shopee
               

        “ไม่เคยคิดว่าจะขายถ่านผ่าน shopee ได้ แต่ตอนนั้นว่างมาก ความคิดฟุ้ง จะเพิ่มยอดขายวิธีไหน เหมือนธุรกิจต้องมีโอกาสก็ลองดู แล้วเราก็ไม่ได้ขายถูก ไปดัมพ์ราคาคนอื่นนะ ที่ขายได้น่าจะเป็นเรื่องแพ็กเกจจิ้งทำให้ดูน่าซื้อรวมถึงเน้นเรื่องบริการ ถ้าส่งผิดส่งของให้ใหม่ ของเก่าไม่ต้องคืน”
               

         อีกหนึ่งบทเรียนจากโควิดที่บอกได้เรียนรู้คือ อย่ามั่นใจกับการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันทำธุรกิจสำรองเพิ่ม อาทิ นำเข้าโซลาเซลล์ ทำฟาร์มสุนัข ขายอาหารบาร์ฟ รับจ้างตัดต้นไม้  
 



       "เคล็ดลับความสำเร็จของผมคือ ตัวผมเองไม่เคยตื่นสายเลยตื่นมาประมาณตี 5 การที่ตื่นเช้าในแต่ละเดือน หรือในแต่ละปีจะได้เวลาเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่ ช่วงเช้าอากาศดีมีเวลาเยอะขึ้น"



 


การเผาถ่านคือธุรกิจ



       ถ้าถามว่าอาชีพในความฝันของแต่ละคนอยากทำอะไรเชื่อว่า งานเผาถ่าน คงไม่ใช่คำตอบแรกๆ ในขณะที่บอยมองว่าการเผาถ่านก็คืออาชีพหนึ่งที่ทำให้เขาสุขสบาย
               

        “ผมมองว่าการเผาถ่านเป็นธุรกิจๆ มันสามารถเติบโตได้ ถ้าเราวางระบบ วางแผนให้ดี มันก็ไม่ได้ลำบาก ทุกวันนี้ผมมองว่าตัวผมเป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่อยากจะทำให้เห็นว่าการเผาถ่านเป็นธุรกิจได้ มันอาจจะมาจากแรงฮึดๆ ที่มันแว่วอยู่ในหูตลอด มันมีจุดๆ หนึ่งที่ทำให้ผมชอบธุรกิจนี้มากเลย คือ เป็นธุรกิจที่ใช้แล้วหมดไปคนต้องมาซื้อซ้ำ และการเผาถ่านทำให้ผมมีทุกอย่างในปัจจุบันนี้”
 

        นี่คือความน่าภาคภูมิใจของ “คนที่เอาถ่าน”
 
 

Facebook: www.facebook.com/paperthai999
Website: www.peakcharcoal.com
Line: @peak999
Tel: 0985036416
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน