ออกแบบบรรจุภัณฑ์ยังไงให้ถูกใจตลาดโลก ถอดแนวคิด“ สมชนะ กังวารจิตต์” นักออกแบบมือรางวัลระดับโลก

TEXT : Surangrak Su.





        เรียกว่าเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงที่สร้างความตื่นเต้นและน่าเหลือเชื่อให้กับวงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทยได้อยู่เสมอๆ สำหรับ “สมชนะ กังวารจิตต์” ผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อม ดีไซน์ เอเชีย จำกัด หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Prompt Design” โดยเมื่อปีที่แล้วได้คว้า 3 รางวัลจากการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ของโลกอย่าง Dieline Awards มาครองจนเป็นที่ฮือฮามาแล้วครั้งหนึ่ง ในปีนี้ก็ไม่พลาดอีกเช่นกันสร้างความตื่นเต้นด้วยการคว้ารางวัลที่ 1 จำนวน 3 รางวัลจากรายการเดิมมาครองได้เหมือนเคย และยังมีอีกหลายรางวัลมากมายตามมา


          วันนี้เราจึงขอหยิบสุดยอด 5 ผลงานการออกแบบที่ภาคภูมิใจ เป็นที่ชื่นชอบในสายตาของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ แถมแต่ละชิ้นงานยังมีดีกรีรางวัลระดับโลกมารับรองอย่างไม่ต่ำกว่า 5 รางวัลมาฝากกัน


 

ชื่อผลิตภัณฑ์ :  C2 Water No Label
ดีกรี : 7 รางวัล
จุดเด่น : ขวดน้ำดื่มไร้ฉลาก


แนวคิด


           “ไอเดียชิ้นนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ลูกค้า ซึ่งเดิมทำธุรกิจ OEM รับจ้างผลิตน้ำดื่มให้กับแบรนด์ดังต่างๆ จนวันนี้อยากลองลุกขึ้นมาผลิตแบรนด์ของตัวเองบ้าง เราจึงพยายามมองหาช่องว่างในตลาดที่มี ซึ่งมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง โดยคิดคอนเซปต์ทำน้ำดื่มเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ซึ่งเรามองเห็นเทรนด์เลิกใช้ฉลากในขวดน้ำดื่มมาแล้วพักหนึ่ง ก็มีความสนใจ แต่ก็ต้องมาคิดต่อยอดออกไปให้มากขึ้นกว่าเก่า โดยพบว่าส่วนใหญ่ คือ เอาฉลากออกอย่างเดียวแล้วก็ปั๊มนูนโลโก้เฉยๆ เราจึงทำการศึกษาเพิ่มว่าจริงๆ แล้ว ผู้บริโภครู้สึกโอเคไหมกับการเอาฉลากสวยๆ ออก ก็พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ได้ทำเพื่อโลก แต่ขณะเดียวกันกลับรู้สึกว่าเป็นการลดต้นทุนทำให้ผลประโยชน์ตกไปอยู่ที่เจ้าของแบรนด์มากกว่าหรือเปล่า


          “เมื่อเห็นดังนั้น เราจึงคิดหาวิธีสร้างขวดให้ดูดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ว่าถึงไม่มีฉลาก แต่เราก็ไม่ได้ละเลยที่จะใส่ใจเรื่องความสวยงาม จึงคิดขึ้นมา 2 ส่วน คือ 1. ตัวขวดแทนที่จะปั๊มโลโก้ลงไปเฉยๆ เราก็ปั๊มนูนเป็นลวดลายต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องตามจุดประสงค์ของแบรนด์ ส่วนที่ 2 คือ เครื่องหมายต่างๆ ด้านการค้า และข้อมูลผลิตภัณฑ์ เราตั้งใจอยากทำเป็นคิวอาร์โค้ดขึ้นมาและปั๊มนูนลงบนผลิตภัณฑ์ แต่ด้วยความที่เป็นขวดใสไม่สามารถยิงบาร์โค้ดได้ จึงต้องเปลี่ยนไปปั๊มลงฝาขวดแทน ทำให้กลายเป็นเจ้าแรกๆ ของโลกที่นำคิวอาร์โค้ดมาปั๊มลงบนฝาขวดน้ำ
               

         “ที่มาของชื่อ C2 Water เป็นคำพ้องเสียงมาจากคำว่า “See Through” ที่แปลว่า มองทะลุ เนื่องจากเราต้องการออกแบบเป็นน้ำขวดดื่มไม่มีฉลาก กับความหมายอีกนัยยะหนึ่ง ก็คือ C = “Circular Economy” เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วน 2 (ทรู) เราต้องการล้อเสียงกับคำว่า Together ความหมายโดยรวม คือ การออกแบบอย่างยั่งยืนที่ต้องคิดควบคู่กันไป”
 




ชื่อผลิตภัณฑ์ :  SRISANGDAO RICE
ดีกรี : 15 รางวัล
จุดเด่น : กล่องใส่ข้าวสารพรีเมียม ผลิตมาจากแกลบของเหลือใช้ในกระบวนการผลิต


แนวคิด :
               

          “ตัวนี้เรียกว่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ภาคภูมิใจของวงการข้าวไทยก็ว่าได้ที่ทำให้ข้าวสาร 1 กิโลกรัม สามารถขายส่งออกได้ถึงถุงละ 200 บาท ทั้งที่ในตลาดทั่วไปแล้วปกติข้าวถุง 5 กิโลกรัมก็ขายกันที่ร้อยกลางๆ จนถึงสองร้อยกว่าบาทอยู่แล้ว โดยข้าวตัวนี้เป็นข้าวเกรดพรีเมียมมาจากทุ่งกุลาร้องไห้ แต่ติดปัญหา คือ สินค้าขายได้ยาก ก็เลยพยายามหาเทรนด์ที่น่าสนใจในตอนนั้น ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่ค่อยมีข้าวแบรนด์ไหนทำ
               

        “จากนั้นเราเลยมาดูว่าในกระบวนการผลิตว่ามีเศษวัสดุอะไรที่สามารถนำมารีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้บ้าง จนมาเจอกับแกลบหรือเปลือกข้าวที่สีออกมา ก็เลยทดลองนำมาอัดขึ้นรูปเป็นกล่องบรรจุข้าวสาร เพื่อให้กลับมาทำหน้าที่ห่อหุ้มข้าวอีกครั้งหนึ่งเหมือนตอนที่เป็นข้าวเปลือกอยู่ จากกล่องใส่ข้าว ถ้าใช้เสร็จแล้วยังสามารถนำมาดัดแปลงทำเป็นกล่องใส่ทิชชูได้ด้วย เป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งได้ถึง 3 ครั้งด้วยกัน จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลมากถึง 15 รางวัล มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในบ้านเราเลยทีเดียว”
 




ชื่อผลิตภัณฑ์ : 
 ไร่ไม่จน
ดีกรี : 12 รางวัล
จุดเด่น : กระป๋องน้ำอ้อยที่ออกแบบให้นำมาใช้ต่อกันได้เหมือนปล้องอ้อย


แนวคิด :
               

        “ชิ้นนี้เป็นแนวคิดที่ทำขึ้นมาร่วมกับผู้ประกอบการ SME รายเล็กๆ เลย ที่เดิมมีไร่อ้อยของตัวเองและอยากสรี่มูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์และผลิตน้ำอ้อยออกมาขาย ชื่อนี้ลูกค้าก็เป็นคนตั้งให้เลย ความโดดเด่นของบรรจุภัณฑ์ตัวนี้ คือ เป็นการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่าย มีฟังก์ชั่นชักชวนให้คนมาซื้อซ้ำได้ คือ สามารถนำไปเรียงต่อกันได้เหมือนปล้องอ้อยได้
               

        “ซึ่งโดยปกติแล้วบรรจุภัณฑ์ไม่สามารถทำหน้าที่จูงใจผู้บริโภคให้ทำการซื้อซ้ำได้ เพราะหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ คือ ดึงดูดให้ลูกค้าสนใจซื้อตั้งแต่ครั้งแรกได้ ส่วนจะซื้อซ้ำหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้า ถ้าลองแล้วติดใจเขาก็จะจำแบรนด์ จำรูปลักษณ์ภายนอกแล้วมาซื้อซ้ำ นั่นเป็นอีกครั้งที่บรรจุภัณฑ์ทำงาน แต่ในรูปแบบที่กระตุ้นให้คนอยากซื้อเองได้ตั้งครั้งแรก เพื่อนำมาเรียงต่อๆ กัน ยังไม่มี”





ชื่อผลิตภัณฑ์ :  กาแฟดอยช้าง
ดีกรี : 6 รางวัล
จุดเด่น : นำรูปเกษตรกรตัวจริงมาพิมพ์ติดอยู่บนฉลากซองกาแฟ


แนวคิด :
               

          “ชิ้นนี้เป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์อีกบริบทหนึ่งที่นอกจากจะช่วยทำหน้าที่หุ้มห่อปกป้องสินค้า, ยืดอายุสินค้า, ส่งเสริมการขาย สร้างความสะดวกสบายในการขนส่งแล้ว ยังเพิ่มเข้าไปอีกข้อ คือ การสร้าง “Unity” หรือความกลมกลืน ความเป็นน้ำใจเดียวกัน
               

           “เนื่องจากการรับซื้อผลผลิต บางครั้งแม้จะผูกขาดไปแล้ว แต่มักมีการแข่งขันตัดราคากันอยู่เสมอ การนำรูปเกษตรกรมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ติดอยู่บนซอง โดยนอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นแหล่งเพาะปลูกตัวจริงมาเองแล้ว ยังช่วยทำให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ และเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่หนีเอาผลผลิตไปขายให้เจ้าอื่น ซึ่งเราก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าบรรจุภัณฑ์จะสามารถทำหน้าที่นี้ได้”



 

ชื่อผลิตภัณฑ์ :  Supha Bee Farm
ดีกรี : 8 รางวัล
จุดเด่น : บรรจุภัณฑ์กล่องใส่น้ำผึ้งพรีเมียมรูปร่างคล้ายรังผึ้ง ผลิตจากกล่องใช้ขนสินค้า


แนวคิด :
               

         “ไอเดียตัวนี้เกิดมาจากที่ตอนนั้นลูกค้า ซึ่งก็คือ สุภาบีฟาร์มอยากให้ช่วยออกแบบ Gift Box New Year ให้ โดยจะขายเป็นน้ำผึ้งเกรดพรีเมียมที่หากินได้ยาก ตอนนั้นก็มาคิดว่าจะออกแบบเป็นรูปแบบยังไงดี ซึ่งเราอยากทำออกมาเป็นช่องหกเหลี่ยมเล็กๆ เรียงต่อกันเหมือนกับรังผึ้ง ซึ่งจะฉีดพลาสติกขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่อง จะทำกราฟฟิกก็ธรรมดาไป เลยลองใช้วิธีหาวัสดุอื่นที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนรวงผึ้ง


          “จนมาเจอเข้ากับกระดาษ “ Honeycomb Core” เป็นลังกระดาษที่ไว้ใช้รองเครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้เป็นพาเลตในการวางของเพื่อจัดส่งสินค้า จึงค่อนข้างมีความแข็งแรงมาก โดยเมื่อลองลอกพื้นผิวออกมาพบว่าด้านในเป็นช่องๆ คล้ายกับรังผึ้ง จึงนำมาทดลองทำดู ปรากฏว่าใช้ได้ คือ ได้รูปทรงที่ต้องการและแข็งแรงทนทานสามารถปกป้องสินค้าจากภายในได้ด้วย ชิ้นนี้เคยมีฝรั่งมาขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปใช้ทำที่ต่างประเทศเลยทีเดียว ซึ่งให้ไม่ได้เพราะเป็นลิขสิทธิ์เจ้าของแบรนด์ ความพิเศษของผลงานชิ้นนี้อยู่ที่การเลือกใช้แมตทีเรียลอื่นจากภายนอกมาดัดแปลงทำเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา”





 
www.smethailanclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน