กว่าจะเป็น “Asava Group” ผู้ออกแบบชุดนางงาม – นักร้องดัง ที่เคยกือบเจ๊งเพราะมีสต็อกผ้ากว่า 50 ล้าน

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : Asava Group

 


     เรียกว่าเป็นแบรนด์แฟชั่นที่สร้างความตื่นเต้นและเซอร์ไพรส์ให้ได้อยู่เสมอๆ สำหรับ “Asava Group” ที่มีชายซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์อย่าง “พลพัฒน์ อัศวะประภา” หรือ หมู อาซาว่า เป็นเจ้าของ ล่าสุดกับผลงานออกแบบชุดผ้าไหมไทยให้กับนักร้องสาวชื่อดัง “ลิซ่า - ลลิษา มโนบาล” แห่งวง BLACKPINK ที่กำลังโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในขณะนี้


     ซึ่งก่อนหน้านี้ 13 ปี ชื่อเสียงของ Asava ก็เป็นที่ยอมรับและรู้จักดีอยู่แล้วทั้งในวงการแฟชั่นบ้านเราและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชุดประกวดสาวงามไทยบนเวทีโลก กูรูด้านแฟชั่นเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ไปจนถึงการเป็น Personal Stylist ด้านแฟชั่นดีไซน์ และนายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์ กรุงเทพ คนแรกของไทย





     แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้ รู้ไหมว่าครั้งหนึ่งแบรนด์เคยเกือบเจ๊งเพราะบริหารจัดการผิดพลาดด้วยสต็อกผ้ามากกว่า 40 – 50 ล้าน เสื้อผ้าอีกกว่าเป็นหมื่นๆ ชุด จนต้องปิดร้านสาขาบางแห่งไปในที่สุด แต่ยังไงแล้วบนเส้นทางธุรกิจของแบรนด์ Asava ก็มีเรื่องราวให้น่าจดจำ บางอย่างสร้างแรงบันดาลใจ บางอย่างให้แง่คิด เหมือนกับเสื้อผ้าของเขาที่ค่อยๆ เฉิดฉายอยู่บนแคตวอคแฟชั่นให้เราได้คอยลุ้นคอลเลคชั่นใหม่ๆ ว่าแต่ละครั้งจะมีเรื่องเซอร์ไพรส์อะไรออกมาบ้าง
 

เติบโตในธุรกิจรถยนต์ แต่มาทำงานสายแฟชั่น

 
              
     ถึงวันนี้จะยืนหนึ่งอยู่ในวงการแฟชั่นบ้านเรา แต่จริงๆ แล้วชีวิตของหมู อาซาว่า กลับเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ พี่ชายพี่สาวทุกคนเรียนต่อทางด้านบัญชี บริหาร เพื่อมารับช่วงต่อกิจการของครอบครัว ชีวิตของเขาช่วงแรกนั้นก็ดูจะดำเนินรอยตามครอบครัวเช่นกัน จนกระทั่งได้เริ่มอ่านนิตยสารแฟชั่นหลายฉบับ เช่น ลลนา, Vogue รวมถึงนวนิยายอย่าง พันธุ์หมาบ้า จนทำให้เขาเริ่มมองเห็นชีวิตนอกกรอบ ความอิสระ และโลกศิลปะ
             

     ชีวิตเขาเริ่มหลงรักแฟชั่นตั้งแต่อยู่มัธยม เคยขอเงินที่บ้านซื้อเสื้อจากห้องเสื้อแบรนด์ดังของดีไซเนอร์ไทยตัวละหลายพันบาท กระทั่งตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเขาพยายามเบนเข็มมาเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ โดยให้เหตุผลกับที่บ้านว่ามีคนเรียนด้านบัญชีและเศรษฐศาสตร์ไปแล้ว น่าจะมีคนรู้เรื่องการตลาดบ้างจะได้มาช่วยบริหารธุรกิจได้ครบ





     กระทั่งสุดท้ายเขาก็ได้พยายามเบนเข็มตัวเองเข้าไปสู่โลกของแฟชั่นด้วยการบินไปสมัครเรียนที่ Parsons School of Design ในนิวยอร์ก ทั้งที่เพิ่งหัดเรียนวาดรูปได้เพียงหกสัปดาห์ ยอมขายบ้าน ขายรถทิ้ง เพื่อเอาเงินไปเรียน กระทั่งสุดท้ายได้ฝึกงานที่ Marc Jacobs ชีวิตเขาก็เริ่มเข้าสู่คนทำงานแฟชั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกลับมาเมืองไทยและก่อตั้งห้องเสื้อเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาใช้ชื่อว่า Asava เมื่อปี 2551 ในที่สุด
 

แฟชั่นตัวแรกในชีวิตที่ออกแบบ คือ ชุดนอน ตอนอายุ 13

 
             
     หากจะถามว่าผลงานการออกแบบชิ้นแรกของหมู อาซาว่า ว่า คือ ชุดอะไร เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ น่าจะเป็นชุดนอนลายทางที่เขาออกแบบไว้เมื่อตอนอายุ 13 จากโจทย์ที่ครูให้ตัดเย็บชุดนอนมาส่งเป็นการบ้าน ซึ่งนักเรียนทุกคนนำชิ้นงานส่งไว้ตามปกติ แต่เขากลับเรียกเพื่อนมาใส่ให้ครูดู เพื่ออยากให้เห็นรายละเอียดตอนใส่จริงว่าสวยกว่ายังไง ถือเป็นแฟชั่นโชว์ครั้งแรกในชีวิต จนกระทั่งเริ่มหัดทำเครื่องประดับไปซื้อวัสดุอุปกรณ์จากสนามเสือป่ามาทดลองทำขาย จนม.6 ก็เริ่มบินไปจีนดูเสื้อผ้ามาขายมาดัดแปลงเป็นรูปแบบของตัวเองและฝากขายที่สยามสแควร์
 




เป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นถึง 5 แบรนด์ ร้านอาหารอีก 2 แห่ง

 
             
     โดยหลังจากก่อตั้งแบรนด์แฟชั่นแบรนด์แรกของตัวเองออกมา หมู อาซาว่า ก็เริ่มแตกแบรนด์แฟชั่นของตัวเองออกมาอีกเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันมีแบรนด์แฟชั่นอยู่ในมือภายใต้เครือ Asava Group ถึง 5 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ ASAVA – ชุดสตรีที่ดูเรียบหรู แต่ก็มีความเท่ในตัว, ASV- ชุดสตรีที่ดูเรียบง่าย แต่มีความสดใสในตัว, White ASAVA - แฟชั่นชุดเจ้าสาว , Uniform by ASAVA – แบรนด์เสื้อผ้าชุดยูนิฟอร์ม และ MOO – แฟชั่นเสื้อผ้าผู้ชาย
             

     นอกจากนี้ยังแตกไลน์ธุรกิจด้วยการเปิดร้านอาหารเพิ่มขึ้นมาอีก 2 แบรนด์ ได้แก่ SAVA Dining – สร้างสรรค์มาจากเมนูในบ้านของเขาที่ชอบทำรับประทานกันในครอบครัว และ Co Limited (โค ลิมิเต็ด) ร้านอาหารสำหรับคนชอบสายเนื้อทุกประเภท
 




5 DNA ที่อยู่ในแบรนด์ Asava คือ ? 

             

     หากจะถามว่า DNA ของแบรนด์ Asava คือ อะไร หมู อาซาว่าเคยให้คำตอบไว้ 5 ข้อ คือ ผู้หญิงทำงานในเมืองใหญ่, ความโก้หรู ที่ไม่หวือหวา, สามารถสวมใส่ได้จริง, ฉลาดและรู้จักใช้ชีวิต และซื่อตรงต่อสไตล์อันเด่นชัดของตัวเอง ซึ่งราคาเสื้อผ้าในเครือ Asava Group จะอยู่ที่ราว 4,000 ถึงหลักหมื่นบาทขึ้นไป
 

เชื่อในการมีวินัย มากกว่า Passion จากจินตนาการอย่างเดียว

 
             
     แม้จะทำงานด้านศิลปะ แต่หมู อาซาว่าเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในสื่อหลายสำนักว่า เขาเชื่อในความมีวินัยในการทำงานมากกว่าการมีแพสชั่นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเป็นอาชีพที่อิสระ ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ มาบังคับ การจะสร้างสรรค์งานให้ออกมาดีได้ จึงต้องใช้การฝึกฝนด้วยตนเองและมีวินัยมากกว่าอาชีพอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ และพัฒนางานต่อไปได้เรื่อยๆ  
 




เคยเกือบเจ๊งเพราะมีสต็อกล้นกว่า 50 ล้าน
และเสื้ออีกกว่าสองหมื่นตัว

 
             
     ถึงจะแตกไลน์ธุรกิจออกมามากมาย แต่ครั้งหนึ่งหมู อาซาว่า ก็เกือบทำธุรกิจของเขาเจ๊งด้วยการมีสต็อกผ้าอยู่ในมือมากกว่า 40 – 50  ล้านบาท และเสื้ออีกราวสองหมื่นกว่าตัวอยู่ในโกดัง จนทำให้ตัวเลขในบัญชีติดลบ เหตุผลมาจากความลำพองคิดว่าใครๆ ก็อยากได้เสื้อผ้าของตัวเอง จึงขยายธุรกิจรวดเร็วเกินไป ทั้งการขยายสาขาและการผลิตจำนวนมาก บวกกับมาเจอวิกฤทางการเมืองราวปี 2553 ห้างปิด ไม่สามารถขายของได้ นักท่องเที่ยวไม่มี จนโดนยื่นคำขาดจากที่บ้านให้ปิดแบรนด์ แต่เขาไม่ยอม


     จนสุดท้ายจึงตัดสินใจปิดสาขาแรกที่พารากอนเนื่องจากมองว่าเป็นรูรั่วใหญ่ เพื่อช่วยพยุงธุรกิจที่เหลือไว้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกเที่ยว หยุดดื่ม ตั้งสติและค้นหาตัวตนใหม่อีกครั้ง จนสามารถกลับมาตั้งหลักได้ในที่สุด
 




ทำรายได้ปีที่ผ่านมา 200 กว่าล้านบาท

 

     หลังจากผ่านพ้นวิกฤชีวิตมาได้ Asava Group ก็เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีที่ผ่านมาล่าสุด (ปี 2563) มีทรัพย์สินรวม
170,028,056.53 บาท รายได้รวม 201,037,738.67 บาท กำไร 15,747,356.03 บาท
             

     เหตุผลหนึ่งที่ทำให้แม้จะต้องเจอเข้ากับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ธุรกิจของเขาก็ยังสามารถมีกำไรอยู่ได้นั้น เป็นเพราะการคิดใหม่ ซึ่งจากเดิมนั้นธุรกิจเสื้อผ้าของเขามีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติอยู่ถึง 1 ใน 3 จากยอดขายทั้งหมดทีเดียว ทำให้ต้องหาวิธีทำตลาดกับลูกค้าในประเทศให้มากขึ้น โดยการหันมาสู่การขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สร้างปรากฏการณ์ใหม่จากแคตวอคสู่ออนไลน์
             

     โดยนอกจากจะจัดจำหน่ายผ่านช่องทางของแบรนด์ เช่น เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้ว ยังได้ขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือขึ้นระหว่างสมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพฯ (Bangkok Fashion Society) และแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง Lazada เพื่อเปิดตัว Thai Designer Club รวบรวมแฟชั่นจากไทยดีไซน์เนอร์ชั้นนำ ผลักดันสินค้าแฟชั่นในกลุ่มพรีเมียมสู่ตลาดออนไลน์ ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของวงการอีคอมเมิร์ซและแฟชั่นพรีเมียมในเมืองไทยที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย
             

     และนี่คือ เรื่องราวทั้งหมดของแบรนด์ที่มีชื่อว่า Asava และผู้ชายชื่อ หมู อาซาว่า เชื่อว่าถึงตรงนี้คงมีคนรู้จักเขาดียิ่งขึ้นมากกว่าการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชุดไทยในเอ็มวีของนักร้องสาว ลิซ่า BLACKPINK อย่างแน่นอน!
 

 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน