Jello Boom เรื่องเล่าของแบรนด์เกือบพัง กลับมาปังทำตังค์ได้ด้วยแพ็กเกจจิ้งใหม่

Text: วันวิสา งามแสงชัยกิจ

 

     “แพ็กเกจจิ้ง” เปรียบเสมือนด่านแรกที่จะหยุดความสนใจของลูกค้า ต่อให้สินค้าดีแค่ไหนแต่ถ้าแพคเกจจิ้งไม่โดน ยอดขายที่หวังว่าจะปังๆ อาจจะพังไม่เป็นท่าเลยทีเดียว

     เช่นเดียวกับแบรนด์ Jello Boom เจลลี่บุกไส้หยดน้ำผลไม้แท้ ของ 2 สาว  รสรินทร์ รุจนานนท์ และ สันต์อาวี กรรณล้วน ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท วีที สวีท แอนด์ ฟู้ด อินโนเทค จำกัด ที่ร่วมพัฒนานวัตกรรมเจลลี่รูปแบบใหม่ที่เคี้ยวแล้วระเบิดในปาก ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ในตลาดที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

     แต่นวัตกรรมนี้ กลับต้องมาพลาดท่า เพราะเริ่มต้นด้วยแพ็กเกจจิ้งที่ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ทำให้ยอดขายไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งครั้งใหญ่ของธุรกิจคนตัวเล็ก

     มาดูกันว่า ผู้ผลิตที่เป็น SME รายเล็กๆ แบบนี้ เขาจะมีวิธีแก้ปัญหาแพ็กเกจจิ้งอย่างไร

ปัญหาแพ็กเกจจิ้ง ตัวการใหญ่ฉุดธุรกิจ

     Jello Boom แม้ตัวสินค้าจะถูกคิดค้นจากงานวิจัย กลายเป็นสินค้านวัตกรรมที่แปลกใหม่ในตลาด แต่ในสายตาลูกค้า กลับมองไม่เห็นถึงความแปลกใหม่ที่ว่านี้เลย นั่นเป็นเพราะ สินค้านี้ถูกห่อหุ้มด้วยแพ็กเกจจิ้ง ที่ไม่ได้ส่งเสริมให้สินค้านั้นดูโดดเด่นขึ้นมา

     ตั้งแต่ตัว Primary Packaging หรือ แพ็กเกจจิ้งชั้นในสุดที่ห้อหุ้มสินค้า เป็นถ้วยวุ้นธรรมดาๆ รวมถึง Secondary Packaging หรือ แพ็กเกจจิ้งด้านนอกก็เป็นเพียงกล่องใส ติดสติกเกอร์แบรนด์ไว้เท่านั้น ซึ่งเป็นแพ็กเกจจิ้งที่หาได้ตามท้องตลาดทั่วไป นั่นหมายความว่า “แพ็กเกจจิ้งเหมือนกัน = สินค้าก็เหมือนๆ กัน ในสายตาลูกค้า

สรุปปัญหา Jello Boom

  • ผู้บริโภคตีความว่า Jello Boom คือ วุ้นทั่วไป จากแพ็กเกจจิ้งที่เหมือนๆ กันในท้องตลาด แต่ทำไมถึงขายแพงกว่าคนอื่น
  • ผู้บริโภคไม่รู้ว่า Jello Boom คือ สินค้ามีนวัตกรรมผ่านการวิจัยมาแล้ว เพราะกล่องใสๆ ที่ติดเพียงสติ๊กเกอร์ชื่อแบรนด์ ไม่ได้ช่วยสื่อสารกับลูกค้าได้เลย
  • ผู้บริโภคไม่มั่นใจในคุณภาพ ความสะอาด เพราะจากแพ็กเกจจิ้งที่เป็นเพียงกล่องธรรมดา ทำให้มีปัญหาน้ำของวุ้นที่เยิ้มออกมานอกกล่อง

 

เรียนรู้จากปัญหา ที่มาของแพ็กเกจจิ้งใหม่

      การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ไม่ใช่แค่เดินไปบอกนักออกแบบว่า...

     “อยากให้แพ็กเกจจิ้งดูดีขึ้น สวยขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น ออกแบบให้หน่อย แล้วจบ!!

     แต่การออกแบบที่ดี คือ การเข้าไปช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นทุกๆ ปัญหาที่ Jello Boom เจอทั้งหมดจะต้อง

     ถูกถ่ายทอดให้กับนักออกแบบเข้าใจ เพื่อหาแนวทางพัฒนาร่วมกัน สำหรับโจทย์ของการออกแบบแพ็กเกจจิ้งใหม่ คือ

     “ต้องการได้แพ็กเกจจิ้งที่มีเอกลักษณ์ ดึงดูดลูกค้า และที่สำคัญคือ สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้”

      ที่ผ่านมาแพ็กเกจจิ้งไม่มีพลังมากพอที่จะหยุดลูกค้าได้ จึงต้องอาศัยการอธิบายของเจ้าของสินค้า เพื่อเรียกให้ลูกค้าสนใจและรับฟัง ดังนั้นแพ็กเกจจิ้งใหม่จะต้องสื่อสารแทนได้ เมื่อลูกค้าเห็นแพ็กเกจจิ้งต้องเข้าใจและรู้ได้ว่า Jello Boom คืออะไร เป็นเจลลี่รูปแบบใหม่ที่เคี้ยวแล้วระเบิดโป๊ะในปาก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตัวสินค้า

     แพ็กเกจจิ้งใหม่ที่เป็น Secondary Packaging ได้ถูกออกแบบมาเป็นซอง และสื่อสารด้วยรูปตัวสินค้าที่เป็นเจลลี่บุกสอดไส้น้ำผลไม้ปั่น ที่มีการระเบิดแตกออกมา เพื่อสะท้อนความเป็นแบรนด์ Jello Boom ให้ได้มากที่สุด ภายใต้สีฟ้าสดใส สื่อถึงความสนุกสนาน และแปลกใหม่สะดุดตา

     ในขณะที่ Primary Packaging ได้มีการออกแบบถ้วยใหม่ ให้มีลักษณะเหมือนเป็นระเบิดลูกเล็กๆ ซึ่งเป็นดีไซน์ใหม่และผลิตขึ้นมาเพื่อแบรนด์ Jello Boom โดยเฉพาะ

     นอกเหนือจากแพ็กเกจจิ้งจะมีเอกลักษณ์ ดึงดูดสายตา และสื่อสารกลับลูกค้าได้แล้ว ยังทำให้การขนส่งและจัดเก็บรักษาสินค้าดียิ่งขึ้นอีกด้วย เมื่อบวกรวมกับทาง Jello Boom ที่ได้มีการปรับสูตรการผลิตใหม่ เพื่อยืดอายุสินค้าให้มากขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยการแช่เย็นในการขนส่ง ทำให้โอกาสในการขายของ Jello Boom ไปได้ไกลขึ้นทันที โดยไม่มีปัญหาเรื่องของระยะทางและการขนส่งที่เป็นอุปสรรค

ต้นทุนเพิ่ม โอกาสเพิ่มมากกว่า

     การปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งมาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รสรินทร์ และ สันต์อาวี ยอมรับว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากการปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง แต่เลือกที่จะทำ เพราะเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งการลงทุนครั้งแรกอาจต้องใช้เงินลงทุนมากหน่อย แต่เมื่อเทียบในระยะยาวจะส่งผลดีต่อธุรกิจ เพราะหลังจากเปิดตัวแพ็กเกจจิ้งใหม่ มองเห็นโอกาสของการขายที่เพิ่มขึ้น 5-6 เท่าตัว  

เงินทุนน้อย ต้องหาตัวช่วย

     ปัญหาของผู้ประกอบการรายเล็กๆ  คือ ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย ดังนั้นการจะไปจ้างบริษัทใหญ่ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญเก่งๆ มาช่วยออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้ใหม่ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย

      ทางออกหนึ่งของปัญหานี้ที่ Jello Boom เลือกใช้ คือ การพาตัวเองเข้าไปร่วมกับโครงการสนับสนุน SME ต่างๆ ของภาครัฐที่จัดขึ้น และหนึ่งในโครงการที่เข้าร่วมนั้น ทำให้ได้เจอกับบริษัทออกแบบด้านแพ็กเกจจิ้ง และนำมาสู่การปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งในครั้งนี้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ