ทายาทงัดสูตรลับประจำตระกูล เต้าหู้ยูนนาน สู่สินค้าส่งออกซิดนีย์ในปีเดียว

Text: จีราวัฒน์ คงแก้ว

 Photo: เจษฏา ยอดสุรางค์

 

     หลังสถานการณ์โควิดทำให้ร้านอาหารทะเลขวัญใจชาวต่างชาติ Aloha Hot & Juicy ที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว “แนน-ปานรดา ปัญญาอธิสิน” ผู้ประกอบการนักคิด จึงตัดสินใจฟื้นสูตรลับประจำตระกูลกว่า 70 ปี มาแจ้งเกิด “เต้าหู้ยูนนาน”​ (Yunnan Tofu) แบรนด์เต้าหู้น้องใหม่ที่ขายดิบขายดีในออนไลน์ มีหน้าร้านทั้งในกรุงเทพและตัวแทนจำหน่ายในภูเก็ต เพียงปีเดียวสามารถส่งขายได้ทั่วไทย และไปไกลถึง ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

     ภาพผลิตภัณฑ์เส้นเต้าหู้ แบรนด์เต้าหู้ยูนนาน ที่ถ่ายคู่สัญลักษณ์ของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในเพจเฟซบุ๊ก เต้าหู้ยูนนาน สะท้อนความไม่ธรรมดาของแบรนด์น้องใหม่ ที่แจ้งเกิดในตลาดพร้อมกับโควิด-19 และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลงานของผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในธุรกิจอาหารมาหลายปี โดยเริ่มจากขายหมูปิ้งในตลาดนัดรถไฟใช้ชื่อ “หมูปิ้งแม่หมู” เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน และเคยออกรายการดังมาแล้ว ก่อนจะเป็นที่รู้จักอีกครั้งหลังมาเปิดร้านอาหารทะเลในชื่อ Aloha Hot & Juicy ที่เริ่มจากตลาดนัด ART BOX  ก่อนย้ายมา เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา

     ก่อนเกิดวิกฤตไวรัส ธุรกิจขายดิบขายดี จนมาหยุดชะงักลงเพราะสถานการณ์โควิด ปานรดา เลยใช้เวลาว่างทั้งหมดที่มี มามองหาธุรกิจใหม่ จนได้คำตอบเป็นมรดกใกล้ตัวอย่าง “เต้าหู้”   

     “มานั่งคิดว่าจะขายอะไรดีในสถานการณ์แบบนี้ พบว่าที่บ้านเคยทำเต้าหู้สูตรยูนนานมาก่อน แต่ขาดช่วงไปนานเพราะไม่มีใครมาสานต่อ คุณพ่อเองก็จำได้ลางๆ เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมจนเจอว่า เต้าหู้สูตรยูนนานยังไม่ค่อยมีคนทำเท่าไร จึงมาลองทำดู เป็นเต้าหู้สูตรยูนนานที่ใช้กรรมวิธีผลิตแบบดั้งเดิม และทำจากถั่วเหลือง​ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ผสมแป้ง ไม่ใส่สารกันบูด เต้าหู้จะไม่แข็งและไม่อ่อนจนเกินไป เหมาะกับการทอด มีความกรอบนอกส่วนเนื้อสัมผัสด้านในจะคล้ายๆ ชีส นุ่ม อร่อย แม้ทานเปล่าๆ” เธอบอกความอร่อยจากสูตรลับประจำตระกูลที่กลายมาเป็นโอกาสธุรกิจใหม่

     เพราะต้องการจะรักษาความเป็นสูตรดั้งเดิมและธรรมชาติของการทำเต้าหู้ยูนนานไว้ เลยเลือกกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ใช้เครื่องจักร แม้ในตลาดจะมีเครื่องผลิตเต้าหู้ที่ทำได้ง่ายๆ อยู่มากมายก็ตาม โดยเธอยังคงเน้นการผลิตแบบโฮมเมดเป็นหลัก ปานรดาให้เหตุผลแบบคนทำธุรกิจว่า เลือกวิธีนี้เพราะ “เลียนแบบยาก”