New Normal กาแฟไทย รสชาติที่ดื่มด่ำกับความลับแห่งสายพันธุ์

 

     สองปีเต็มที่เราใช้ชีวิตอยู่กับไวรัสโควิด-19 แทบทุกเรื่องในชีวิตถูกปรับเปลี่ยน เพื่อความอยู่รอด รวมถึงเรื่องกาแฟด้วย เรามีกาแฟโบราณ เราดื่มมันมาหลักร้อยปี แต่เราแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกกาแฟเลย

บาเที่ยนสายพันธุ์คาดหวังตัวใหม่แห่งชาติเคนย่า ต้นนี้อยู่ที่เคนย่าอายุสามปี ทนทาน ลูกดก อร่อย

1.

     ย้อนไปครึ่งศตวรรษ คนไทยเพิ่งเริ่มรู้จักกาแฟอราบิก้าแบบคร่าวๆ ว่าเจตนาในการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ ก็เพื่อทดแทนพืชเสพติดทั้งหลายที่ปลูกมาก่อนหน้าและทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ

     เกษตรกรชาวเขาชาวดอย เคยต้องปรับเปลี่ยนระดับ New Normal มาแล้ว ชัดๆ ก็ตั้งแต่การเปลี่ยนครั้งใหญ่จากพืชเสพติดมาเป็นพืชเศรษฐกิจทดแทนอื่นๆ กาแฟเป็นตัวเลือกหนึ่งในหลายตัวเลือก ซึ่งทุกวันนี้ตัวเลือกต่างๆ เหล่านั้นก็กระจายอยู่รวมกันในสวน ทั้งกาแฟ ทั้งผลไม้ พืชผักสมุนไพร นับเป็นข้อดีที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของสวนกาแฟไทยอันหลากหลาย แม้บางพื้นที่จะเริ่มจากดอยโล้น แต่ก็กลับคืนความเป็นป่ามาเรื่อยๆ เพราะกาแฟดีควรอยู่กับป่า เป็นอันรู้กัน

กาแฟที่ดีจากต้นน้ำควรปลูกใต้ร่มเงาไม้บังร่ม หรืออีกนัยหนึ่งสวนกาแฟควรมีสภาพเหมือนป่า สวนนี้คือ ป่าเมี่ยง 9-1 คอฟฟี่ฟาร์ม เชียงใหม่

     ยังไม่นับรวม ช่วงยาวๆ ของความเคว้งคว้างในช่วงหลังจากส่งเสริมจนได้ผลผลิต แต่ไม่มีตลาดรองรับ ที่เป็นปัญหามายาวนาน หลายคนเลือกที่จะทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่เก็บเกี่ยวปล่อยเป็นไม้ป่าไปก็เยอะ หลายคนตัดทิ้งปลูกพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ แทนเปลี่ยนไป แล้วก็เปลี่ยนมา จนถึงวันนี้วันที่ผู้คนเข้าใจการมีอยู่ของกาแฟและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับป่ามากขึ้นเรื่อยๆ

2.

     ยุคบุกเบิก สายพันธุ์กาแฟถูกนำพากระจายโดยแรงสนับสนุนทั้งจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ หน่วยงานส่งเสริมภาคเกษตรของรัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน รวมทั้งโครงการในพระราชดำริต่างๆ อีกมากมาย เราอาจรู้เพียงว่าเมืองไทยปลูกกาแฟสายพันธุ์อราบิก้าบนดอยสูงทางภาคเหนือ และปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าทางภาคใต้

  • (จากซ้าย) กาแฟอราบิก้า สายพันธุ์บาเที่ยนจากเคนย่าปลูกที่สถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน เชียงใหม่ ต้นนี้อายุสามปี ปีนี้จะได้ชิมเพื่อตัดสินใจเรื่องการขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายสู่เกษตรกรต่อไป
  • บ้านแม่จันใต้ เชียงราย สูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเล 1300 ถึง 1400 เมตร ปลูกกาแฟมาเกือบสามสิบปี ผ่านยุคที่ต้องโค่นกาแฟไปปลูกอย่างอื่น แล้วก็กลับมาปลูกกาแฟอีกรอบเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ปัจจุบันกาแฟเป็นรายได้หลักมีแบรนด์กาแฟเป็นของตน

     ถึงวันนี้ วันที่เราได้ยินคำติดปากคุ้นหูอย่าง คำว่า "กาแฟพิเศษ" ที่ดูจะมาเปลี่ยน New Normal ของกาแฟไทยอีกครั้ง แต่ก็เป็นครั้งที่ไปในแนวทางที่ชัดเจนขึ้น จากกาแฟไม่กี่สายพันธุ์ที่เราเคยรู้จัก เคยดื่ม ถึงวันนี้เรากำลังเจอกับอะไรเดิมๆ ที่แปลกและน่าสนใจขึ้นกว่าเดิม

     แต่เดิมกาแฟในยุคเริ่มแรกที่ถูกนำเข้ามาส่งเสริมในบ้านเราในแถบภาคเหนือ มีความหลากหลายของสายพันธุ์อย่างมากอยู่แล้ว เพราะเป็นอะไรที่เราต้องลองผิดลองถูกกับพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกันไป โดยเฉพาะสายพันธุ์อราบิก้าที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องปลูกบนดอยสูงเกินกว่า 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป ถึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

อราบิก้าสายพันธุ์เกชา ปลูกที่บ้านมณีพฤกษ์ น่าน ปี2021 ได้รับรางวัลที่หนึ่งในการประกวดของสมาคมกาแฟพิเศษไทยถึงสองรางวัล ในประเภทฮันนี่โปรเซส และดรายโปรเซส

     เรายังมีสายพันธุ์แยกย่อยอีกเป็นจำนวนมากที่กระจัดกระจายปนเป โดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่รู้ที่มาแน่ชัด ไม่ได้แยกแยะอย่างชัดเจนก่อนปลูก ทั้งสายพันธุ์อราบิก้าดั้งเดิมออริจินัล อย่างเช่น “ทิปปิก้า เบอร์บอน” ที่ถูกนำเข้ามาทดลองปลูกในยุคแรกๆ หรือสายพันธุ์ปรับปรุงวิจัยจากแล็บ และสายพันธุ์ไฮบริดที่ถูกวิจัยจากแนวคิดเดิม ซึ่งเน้นปริมาณผลผลิตและความต้านทานต่อโรคเป็นหลัก ส่งผลให้กาแฟ Normal ที่เราปลูกกินดื่มกันทั่วไปในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ยังมีข้อจำกัดด้านรสชาติ และค่อนข้างธรรมดา แถมติดภาพเชิงลบในสายตาชาวโลกกาแฟ

"เราต้องร่วมมือกัน" (จากภาพซ้าย) ซ้ง กาแฟจอมป่า อุ้มผาง ทำกาแฟไปด้วยดูแลป่าในฐานะเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ, เอโกะ ปราชญ์กาแฟชาวอินโดฯ อาจารย์ของพวกเรา เจ้าของสายพันธุ์ใหม่จากชวาที่เราจิ๊กมา (ปัจจุบันแกทราบเรื่องแล้ว แกใจดีมาก), สินธพ จือปา ผู้ใหญ่บ้านแม่จันใต้ ทำกาแฟมาตั้งแต่ยุคเริ่มของแม่จันใต้ เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว และผมเองครับ ^^ ภาพนี้ถ่ายที่บ้านแม่จันใต้ เมื่อห้าปีที่แล้ว ในโปรเจกต์ลอง อาจารย์เอโกะมาให้ความรู้เรื่องการดูแลสวน
 

     ทางออกจึงมีสองทาง คือ 1.) แยกแยะสายพันธุ์ที่มีรสชาติดี ที่เรามีอยู่แล้วมาขยายให้ชัดเจน พร้อมทั้งส่งตรวจหารากเหง้าของมันจากแล็บที่ได้มาตรฐาน และ 2.) หาสายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากต่างประเทศที่รสชาติดีมาปลูก โดยมุ่งเน้นฟื้นฟูสภาพสวนให้คืนความร่มเงา เพราะต้องไม่ลืมเด็ดขาดว่ากาแฟดีต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

สวนกาแฟที่บ้านแม่จันใต้ เชียงราย มีต้นบ๊วยเป็นร่มเงา กาแฟและบ๊วยเป็นพืชทดแทนพืชเสพติดที่ถูกส่งเสริมมาในยุคไล่เลี่ยกัน

3.

     กระแสกาแฟพิเศษในระดับสากลของโลก แม้จะเกิดขึ้นมานาน แต่โลกก็ยังคงตื่นเต้นกับการแยกแยะรสชาติที่แตกต่างอันหลากหลายของสายพันธุ์กาแฟ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่โลกเพิ่งค้นพบ หรือสายพันธุ์วิจัยที่คาดหวังผลลัพธ์เรื่องรสชาติเป็นสำคัญ เราก็กำลังทำเรื่องเดียวกันกับโลกสากล คือ การตามหารสชาติที่ดีที่ให้คุณแก่ทุกส่วนอย่างเท่าเทียม และยั่งยืน

     กาแฟไทยเหมือนโดนล็อคดาวน์มาตลอด เรามีกำแพงภาษี ต้นทุนเราสูง เรากินกันเอง ซื้อขายกันเองเสียเป็นส่วนมาก นำเข้ามาก็ไม่น้อย หลายคนเลิก หลายคนเริ่ม คนที่ยังสู้อยู่จนถึงวันนี้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เรามี แลกเปลี่ยนถ่ายเทให้เข้ากับองค์ความรู้สากลที่มากขึ้นตามโลก คนรุ่นใหม่ไฟแรงเริ่มมารับช่วงต่อจากคนรุ่นก่อน ฝีไม้ลายมือความมานะพยายามของเราก็ไม่ได้ขี้เหร่ เรายังไปได้อีกไกล

  • (จากซ้าย) การเก็บแบบคละสีคละต้นเป็นเรื่องปกติมานานในบ้านเรา หลังจากเกษตรกรเริ่มแยกเก็บและแยกโปรเซส จะพบว่าแต่ละสีแต่ละต้นที่มันต่างกัน รสชาติต่างกันในมิติต่างๆพอสมควร หลายคนทำรายได้เพิ่มจากการแยกขาย แต่หลายครั้งก็พบรวมกันมันนัวร์กว่า
  • การทำสาวหรือการตัดแต่งต้นกาแฟอายุเยอะ สูงชะลูดเก็บยาก หรือต้นที่โทรม เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องวางแผนทำในระยะยาว ควบคู่ไปกับการเพิ่มไม้ร่มเงาให้ถึงสัดส่วนที่ดีในสวนกาแฟ เพื่อให้ผลผลิตได้ตามคาดหวังทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ

     ไม่นาน เมื่อเราเรียนรู้จากสภาพธรรมชาติอันแปรปรวนและไม่แน่นอนแล้วว่า ไม่ว่าเราจะเลือกทำปริมาณหรือเลือกทำคุณภาพ หรือเลือกทั้งสองอย่าง เราก็จะเจอปัญหาเดิมอยู่ดี New Normal ของกาแฟไทยนอกจากจะต้องเล่นเรื่องสายพันธุ์กันอย่างจริงจังทุกมิติแล้ว การดูแลปรับปรุงสภาพแวดล้อมของสวนและพื้นที่ป่าโดยรอบก็มีความจำเป็นเร่งด่วน

อราบิก้าสายพันธุ์อารูช่า จากปาปัว ทดลองปลูกในแปลงทดลองสายพันธุ์ ที่ป่าเมี่ยง เชียงใหม่

     จะกาแฟธรรมดาๆ ที่เรามีอยู่มานานดั้งเดิมเก่าแก่ครึ่งทศวรรษ จนปรับเปลี่ยนเข้ากับพื้นที่นั้นๆ ไปแล้วก็ดี หรือจะสายพันธุ์แปลกๆ ใหม่ๆ ที่เขาให้มาบ้าง ขอมาบ้าง จิ๊กมาบ้าง ไม่ทางใดทางหนึ่งก็ดี เกษตรกรกำลังซุ่มต่างคนต่างปลูกกันได้สักระยะ เฝ้าประคบประหงมดูแลสุดใจ หลายสวนที่ยังเป็นความลับ แน่นอนว่าสายพันธุ์เหล่านี้ล้วนมีศักยภาพทางรสชาติ เมื่อไรที่ถึงเวลาเก็บลูกเก็บผลมาพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ปีนั้นกาแฟไทยคงจะอร่อยสุดๆ น่าดู

     นี่แหละคุณค่าที่ New Normal กาแฟไทยคู่ควร

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ