ช่างตัดเสื้อหัวใสเปลี่ยนขยะเป็นเงิน รับออกแบบชุดจับกลุ่มลูกค้าตั้งแต่เจ้าสาวถึงวงการนางงาม

 

 

     หากพูดถึงเทรนด์แฟชั่นซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างต่อเนื่องไม่มีแผ่วก็เห็นจะต้องยกให้เป็นเทรนด์ของ Upcycling Fashion ซึ่งเป็นแนวคิดการดัดแปลงเสื้อผ้า สิ่งทอหรือกระทั่งวัสดุที่ไม่ใช้ได้แล้วให้กลายเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ เทรนด์นี้มีมานานนับทศวรรษแล้ว และเพิ่งมีการขานรับในวงกว้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นแบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ ล้วนดีไซน์เสื้อผ้าแนวนี้ออกสู่ตลาด         

     ไม่เฉพาะแบรนด์แฟชั่น แม้กระทั่งร้านตัดเสื้อร้านเล็ก ๆ นอกกรุงมะนิลา เมืองหลวงฟิลิปปินส์ยังไม่พลาดที่จะเกาะกระแสแฟชั่นรักษ์โลกกับเขาด้วย นอร่า เบียนจา ช่างตัดเสื้อวัย 51 ปีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าเมื่อ 7 ปีก่อน  ร้านของเธอซึ่งอยู่ในย่านเซนทา ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางตะวันออก 15 กม.เริ่มให้บริการออกแบบและตัดเย็บชุดราตรีจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เรียกง่าย ๆ ว่า “ขยะ” นั่นเอง โดยวัสดุที่ว่าประกอบด้วยกระสอบข้าวสาร หนังสือพิมพ์ พลาสติกจากสิ่งต่าง ๆ เช่น ถุงพลาสติก และพลาสสติกกันกระแทก

     ชุดที่ตัดเย็บจากวัสดุเหลือใช้เหล่านี้เป็นชุดเดรสที่ลูกค้าสวมใส่เพื่อออกงาน อาทิ ชุดปาร์ตี้วันเกิด ชุดสวมใส่ไปงานแต่งงาน ชุดที่ใส่บนเวทีประกวดนางงาม ไปจนถึงชุดที่ใส่ในงานอีเวนต์ต่าง ๆ กลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการจะเป็นสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลาเลน อัลคาเดล ลูกค้าคนหนึ่งของนอร่าแสดงทัศนะว่าการนำวัสดุที่เหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย          

      ขณะที่นอร่าเองก็มองว่าการนำขยะมาดัดแปลงให้เป็นเสื้อผ้า นอกจากเป็นแฟชั่นเข้ากระแสยังประหยัดเงินอีกด้วย เธอเล่าว่าเคยมีลูกค้ามาสั่งตัดชุดเพื่อใส่ประกวดนางงาม เธอรู้สึกดีใจที่ลูกค้าชนะการประกวดแม้ว่าชุดที่สวมใส่จะเป็นชุดเรียบ ๆ ไม่หวือหวาก็ตาม สิ่งที่ช่างตัดเสื้อวัยกลางคนผู้นี้ใช้มีเพียงจักรเย็บผ้าแบบใช้เท้าถีบกับทักษะและความชำนาญในการออกแบบและตัดเย็บให้ออกมาตามที่ลูกค้าต้องการ

     นอร่าเล่าอีกว่าวัสดุที่นำมาตัดเย็บแล้วทำให้ชุดดูดีคือพลาสติกกันกระแทกทั้งสีขาวและสีดำ โดยมากสีขาวจะนำมาตัดเป็นชุดเจ้าสาว หรือชุดเจ้าหญิงในเทพนิยาย ชุดที่นอร่ารังสรรค์ สนนราคาจะอยู่ระหว่าง 30-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,000-1,600 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นราคาสมเหตุสมผลเพราะบางชุดมาพร้อมเครื่องประดับศีรษะด้วย

     อย่างไรก็ตาม ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของนอร่าพอสมควรเนื่องจากการประกวดเวทีต่าง ๆ รวมถึงการจัดแฟชั่นโชว์ หรืองานอีเวนต์ต้องหยุดชะงัก เธอได้แต่หวังว่าเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ หากมีโอกาสเธอก็อยากจะจัดงานแสดงแฟชั่นเสื้อผ้าจากวัสดุเหลือใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมอาชีพ

     ข้อมูลในหัวข้อ Our World in Data ประจำปี 2021 โดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดระบุภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตขยะจำนวนมาก ประมาณ 80 เปอร์เซนต์ของพลาสติกในทะเลทั่วโลกมาจากแม่น้ำในเอเชีย เฉพาะฟิลิปปินส์ประเทศเดียว สร้างขยะในทะเลมากถึง 1 ใน 3 ของขยะ 80 เปอร์เซนต์ที่กล่าวมา 

     การตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกในอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นมีมาระยะหนึ่งแล้ว ผู้บริโภคเริ่มตระหนักว่า fast fashion ซึ่งบ่มเพาะพฤติกรรมการบริโภครวดเร็ว เบื่อเร็ว เปลี่ยนง่าย ทิ้งเร็วเป็นแฟชั่นที่ทำร้ายโลก ข้อมูลระบุ ปี 2018 ร้อยละ 4 ของขยะทั่วโลกหรือราว 92 ล้านตันเป็นขยะที่มาจากอุตสาหกรรมแฟชั่น และเคยมีรายงานจนเป็นเรื่องอื้อฉาวว่าปี 2017 แบรนด์แฟชั่นหรูแบรนด์หนึ่งจากอังกฤษทำลายสต็อคเสื้อผ้าที่ขายไม่ออกมูลค่า 36.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่แบรนด์รองเท้ากีฬาดังก็แอบทิ้งรองเท้าค้างสต็อกเช่นกัน รวมถึงแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอีกรายที่เคยถูกกล่าวหาว่าเผาสินค้าตกทิ้งรุ่นปีละ 12 ตัน

     อย่างไรก็ดี หลังโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แบรนด์แฟชั่นเหล่านั้นก็เริ่มปรับนโยบายใหม่เพื่อลดขยะ และสร้างสรรค์แฟชั่นที่ยั่งยืนขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา ยกตัวอย่าง Burberry ที่ร่วมมือกับแบรนด์ Elvis & Kresse นำสินค้าเครื่องหนังตกรุ่น 120 ตันมาดัดแปลงจนกลายเป็นสินค้าใหม่  หรือไนกี้ที่จับมือกับ MINIWIZ บริษัทไต้หวันที่ขึ้นชื่อด้านการสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะในการสร้างช้อป Nike Kicks Lounge ในไทเปด้วยสนีกเกอร์กว่า 250 คู่ และผนังจากขวดพลาสติกรีไซเคิล 12,000 ขวด

     การอิงกระแสแฟชั่นยั่งยืนอาจช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์แต่อย่าลืมว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีผลต่อผู้บริโภคเช่นกัน นิตยสารฟอร์บรายงานว่า 93 เปอร์เซนต์ของผู้บริโภคคาดหวังว่าบริษัทหรือแบรนด์ที่ตัวเองชื่นชอบจะสนับสนุนประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านนี้ การซื้อสินค้าแฟชั่น upcycled ทำให้พวกเขามั่นใจและรู้สึกดีในแง่ของการไม่สร้างขยะเพิ่ม ไม่เพิ่มภาระให้กับโลก การจับกระแสแฟชั่นยั่งยืนจึงตอบโจทย์และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดภาพลักษณ์เชิงบวกต่อแบรนด์ด้วย

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3170918/gowns-made-plastic-waste-newspapers-and-rice-sacks

https://miniwiz.medium.com/why-the-upcycling-fashion-industry-will-play-an-essential-role-in-the-future-of-fashion-71bb8ccc252d

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน