จากยอดนักขายสู่อาชีพ “shaman” ธุรกิจที่ปรึกษาด้านจิตวิญญาณ ฟันรายได้ปีละกว่า 30 ล้าน

 

 

     หากเป็นแถบเอเชีย อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะแสวงหาที่ยึดเหนี่ยว หรือความมั่นใจในการตัดสินใจกระทำการใด ๆ โดยการปรึกษา “ผู้หยั่งรู้” ที่มาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ หมอดู หมอผี พระ ซินแส ร่างทรง หรือผู้มีเวทมนตร์ จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นอาชีพสร้างรายได้ไปเลย

     แต่ถ้าเป็นฝั่งตะวันตกอย่างยุโรปหรืออเมริกา อาชีพแบบนี้อาจไม่แพร่หลายแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี วันนี้เลยจะพาไปรู้จักแคนดิส พิตต์ สาวอเมริกันวัย 33 ปีผู้ทิ้งงานประจำในตำแหน่งฝ่ายขายเพื่อมาเปิด “The Royal Shaman” บริการให้คำปรึกษาด้านจิตวิญญาณ ธุรกิจของเธอสร้างรายได้เดือนละกว่าแสนดอลลาร์สรัฐฯ (ราว 4 ล้านบาท) และปี 2021 ที่ผ่านมาเธอโกยรายได้ 972,000  ดอลลาร์หรือเกือบ 33 ล้านบาท

     อาชีพที่แคนดิสทำอยู่นี้เรียกว่า “เชมัน” (shaman) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกลุ่มบุคคลที่เชื่อว่ามีความสามารถในทางวิญญาณ มีความสามารถในการรักษาโรคด้วยวิญญาณ ในบางวัฒนธรรมจะเชื่อว่าสามารถควบคุมสภาพอากาศ สามารถเดินทางไประหว่างโลกมนุษย์ โลกวิญญาณ นรก และสวรรค์ เชมันแบ่งออกได้หลากหลายประเภท หลัก ๆ ก็คือ คนทรง (medium) ผู้เผยพระวจนะ (prophet) ผู้เห็นสิ่งต่าง ๆ (seer) และผู้ร่ายคาถา (sorcerer)

     แคนดิสเล่าว่าก่อนที่จะมาเริ่มกิจการของตัวเอง เธอเป็นคนที่มีหัวทางธุรกิจ เริ่มตั้งแต่ 8 ขวบก็ช่วยครอบครัวทำพายไปขายตามตลาดนัด หลังเรียนจบวิทยาลัย เธอก้าวสู่อาชีพขายตรงและกลายเป็นยอดนักขายอันดับต้น ๆ ของบริษัท ทำให้ได้สิทธิประโยชน์มากมาย ทั้งได้เดินทางท่องเที่ยว ได้สิ่งของเป็นสินค้าแบรนด์เนมหรูหรา ได้ร่วมปาร์ตี้ตามคฤหาสน์หรูหรา สำหรับหญิงสาววัย 24 ปีจากเมืองเล็ก ๆ ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเกินความคาดฝันไปมาก

     แม้จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่แคนดิสก็ยังรู้สึกว่ามีบางอย่างขาดหายไป เธอจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง ฉันเป็นใคร ฉันมาทำอะไรที่นี่ ฉันใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายหรือไม่ คำถามเหล่านี้ได้จุดประกายและนำไปสู่การก่อตั้ง The Royal Shaman เพื่อช่วยเหลือผู้คน แคนดิสกล่าวว่าเธอรู้เสมอว่าตัวเองมีพรสวรรค์บางอย่าง เช่น การหยั่งรู้หรือมองเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น เมื่อไม่สนุกกับงานประจำที่ทำ เธอจึงตัดสินใจทำตามสัญชาตญาณ

     ปี 2013 แคนดิสลาออกจากงานและเดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อศึกษาวิถี “เชมัน” ผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงโลกในมิติต่าง ๆ เธอใช้เวลา 5 ปีในการฝึกศาสตร์ทั้งหลายเพื่อบำบัดผู้คนทั้งด้านกาย ใจ และจิตวิญญาณ วิธีการก็หลากหลายแตกต่าง มีตั้งแต่พูดคุยเพื่อประเมินปัญหา ไปจนถึงการประกอบพิธีกรรมเพื่ออัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษให้ช่วย จนสามารถประสานกายใจให้ทำงานเป็นปกติ    

      ปี 2018 แคนดิสเดินทางกลับคืนสู่สหรัฐฯและก่อตั้ง The Royal Shaman ในเดือนกันยายนเพื่อบริการให้คำปรึกษาด้านจิตวิญญาณ ซึ่งเธออธิบายว่ามีความแตกต่างจากคำแนะนำของไลฟ์โค้ชที่เน้นการเติบโตทางความคิด และการประสบความสำเร็จในชีวิต แต่สิ่งที่แคนดิสทำคือการช่วยยกระดับจิตสำนึก และจิตวิญญาณอันเป็นวิถีปฏิบัติมาแต่โบราณและได้รับการยอมรับ

     แคนดิสใช้ชื่อ Makhosi Nejeser ในการเป็นเชมัน ครั้งแรกที่ให้บริการ เธอตั้งราคาไว้ที่ 197 ดอลลาร์ซึ่งเป็นราคาเท่า ๆ กับที่เชมันคนอื่นคิด และทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย ลูกค้ารู้จักเธอผ่านทางกลุ่มในเฟซบุ๊กที่เธอมักเข้าไปเล่าประสบการณ์การเดินทางทางจิตวิญญาณ หลังเปิดบริการได้ไม่กี่เดือน แคนดิสก็เพิ่มบริการในรูปแบบสมาชิกในอัตรา 97 ดอลลาร์ต่อเดือน สมาชิกสามารถเข้ากลุ่มเพื่อฟังคำแนะนำได้ทุกสัปดาห์ เดือนแรกมีสมาชิก 20 คน

     ปีแรกของการเปิดบริการ The Royal Shaman ทำรายได้ 17,000 ดอลลาร์ซึ่งไม่มากพอจะใช้จ่าย แคนดิสจึงต้องรับงานให้คำปรึกษาด้านการตลาดด้วย กระทั่งปี 2020 แคนดิสเกิดความคิดขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ตลาดบนที่มีรายได้สูง เรียกง่าย ๆ ว่าจับกลุ่มไฮโซและผู้ประกอบการระดับบนนั่นเอง ด้วยเหตุนี้เธอจึงหันเหจากการทำการตลาดในเฟซบุ๊กไปยังสื่อรูปแบบอื่น ได้แก่ พอดแคสต์ การให้สัมภาษณ์สื่อ และการฝังตัวใน Mighty Networks ชุมชนสำหรับนักธุรกิจต้องการปั้นแบรนด์    

     คำแนะนำที่แคนดิสให้แก่กลุ่มลูกค้าเหล่านี้มีผลต่อการตกลงทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล ทำให้เธอปรับอัตราค่าบริการให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก ปัจจุบัน เธอคิดค่าบริการแบบสมาชิกเริ่มต้นที่ 15,000 ดอลลาร์สำหรับการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม และสูงถึง 200,000 ดอลลาร์หากเป็นการปรึกษาแบบส่วนตัว โดยเธอมีทีมงาน 5 คนเป็นผู้ช่วย และมีแผนจะจ้างทีมงานเพิ่มมากขึ้นกว่านี้  แม้ช่วงปี 2021 จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด แต่ธุรกิจของเธอก็ยังทำรายได้ 972,000 ดอลลาร์ และเธอตั้งเป้าจะผลักดันให้รายได้ขยับไปอยู่ที่ 2 ล้านดอลลาร์

     แคนดิสกล่าวว่าที่เธอมาถึงจุดนี้ได้เพราะการอนุญาตให้ตัวเองได้ทำในสิ่งที่ชอบและทำตามเป้าหมายที่วางไว้ เธอยังได้แนะเคล็ดลับสู่ความสำเร็จว่าให้กำหนดเป้าหมาย โดยเป้าหมายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ทำแต่คือตัวตนของเรา แต่สิ่งที่ทำกับตัวตนของเราก็ไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งต่อไปคือรู้จักและเข้าใจลูกค้ามากกว่าที่เจ้าตัวจะรู้จักตัวเอง ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงแค่รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่ต้องรู้ไปถึงเบื้องลึกเบื้องหลังว่าทำไมลูกค้าถึงต้องการสิ่งนั้น และในการทำธุรกิจเปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอนที่ไม่ได้แค่สปรินท์เพื่อให้ถึงเป้าหมายอย่างเดียว มีบางช่วงที่อาจชะลอลงเพื่อทบทวนสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 ข้อมูล

www.cnbc.com/2022/03/22/this-33-year-old-quit-her-sales-job-to-start-her-own-business-now-she-brings-in-110000-per-month.html

https://medium.com/authority-magazine/total-health-makhosi-nejeser-of-the-royal-shaman-on-how-we-can-optimize-our-mental-physical-69408ed46fc1

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน