The Big Short เดิมพันกับวิกฤต ร่ำรวยบนความพินาศ บทเรียนสำหรับผู้สนใจเรื่องการลงทุน

 

 

     เรามักเรียนรู้จากอดีต เพื่อมารับมือปัจจุบัน ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องการลงทุนก็เริ่มหันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในบรรดาหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญๆ The Big Short ได้สรุปภาพรวมของวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ที่เราเรียกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ให้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจเข้าใจง่ายขึ้นและเห็นภาพรวมได้ว่าเกิดอะไรในตอนนั้น เพื่อย้อนกลับมาทำความเข้าใจการลงทุนท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้                 

      สมัยก่อนงานธนาคารเคยเป็นงานน่าเบื่อ เช้าชามเย็นชาม จนกระทั่งมีคนหนึ่งชี้ช่องทางที่เปลี่ยนชีวิตคนทำงานธนาคารด้วยไอเดียง่ายๆ คือนำสินเชื่อบ้านมาแปลงสภาพเป็นหลักทรัพย์จำหน่ายให้นักลงทุน โดยมัดรวมสัญญากู้ซื้อบ้านที่ความเสี่ยงต่ำ เมื่อรวมกันมากๆ ทำให้ผลกำไรกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ ขณะที่ความเสี่ยงยังต่ำเท่าเดิม พันธบัตรที่มีสินเชื่อบ้านค้ำประกันนี้เรียกย่อๆ ว่า MBS (Mortgaged backed securities) กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากเชื่อว่าผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงต่ำ มีเรทติ้งหรือความน่าเชื่อถือระดับ AAA ดีกว่าฝากเงินธนาคาร และเสี่ยงน้อยกว่าการเล่นหุ้น ทำให้มีนักลงทุนเข้ามาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อย กองทุนรวม ธนาคาร หลักทรัพย์ บริษัทประกัน หรือแม้กระทั่งกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ เกิดกระแสการเก็งกำไรมากมาย รวมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่มากมายที่ผูกกับ MBS นั้น

     ไมเคิล เบอร์รี หรือ ดร.เบอร์รี หรือ ไมค์ ผู้สูญเสียดวงตาข้างหนึ่งไปตั้งแต่อายุสองขวบเนื่องจากโรคมะเร็งจอตาในเด็ก จึงใส่ลูกตาเทียมไว้แทน และมีความบกพร่องเรื่องการสื่อสารกับคนอื่นๆ (เขาวินิจฉัยตัวเองว่ามีอาการแอสเพอเกอร์นิดๆ) โดยเขาเริ่มเล่นหุ้นเป็นงานอดิเรกมาตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยม หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ ก็หันเหไปเรียนเตรียมแพทย์ แต่ก็ออกจากการเป็นแพทย์ประจำบ้านที่ศูนย์การแพทย์สแตนฟอร์ดกลางคัน มาเป็นนักลงทุนเต็มตัว ในปี 2000 เขาได้ก่อตั้ง ไซออน แคปปิทอล บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์

     ปี 2005 ขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น ตลาดบ้านกำลังรุ่งเรือง ไมค์กลับคิดว่าเป็นฟองสบู่ เขาตรวจสอบพันธบัตรสินเชื่อบ้านที่ขายดีที่สุด เจาะลึกสัญญากู้ กลุ่มที่จ่ายค่างวดล่าช้า กลุ่มที่จ่ายตรงเวลา วิเคราะห์ข้อมูลเป็นพันเป็นหมื่นหน้า พบว่า MBS กว่าครึ่งไม่ได้มีเรทติ้ง AAA จริง หมายถึงตลาดบ้านกำลังเติบโตขึ้นด้วยสินเชื่อด้อยคุณภาพ และคาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤตซับไพรม์ขึ้นในไม่ช้า จึงตัดสินใจชอร์ตตราสารซับไพรม์ (มาจากคำว่า Short หมายถึง การทำกำไรจากมูลค่าที่ลดลง)  โดยติดต่อแบงก์ใหญ่ๆ หลายแห่ง เสนอซื้อสวอป (สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่จะได้เงินถ้าหากสินทรัพย์อ้างอิงล้มเหลว) พันธบัตรสินเชื่อบ้าน หรือว่าง่ายๆ ก็คือเดิมพันกับตลาดบ้านนั่นเอง พันธบัตรจะล้มเหลวก็ต่อเมื่อคนเป็นล้านๆ ไม่จ่ายค่าผ่อนบ้าน

     ในขณะนั้นทุกคนเชื่อว่าพันธบัตรสินเชื่อบ้านมีความมั่นคงในตัวเอง ตลาดบ้านยังแข็งแรงดี มีหนี้สูญน้อยมาก ไม่มีทางล้มเด็ดขาด สำหรับวอลสตรีทเมื่อมีคนบ้าเอาเงินมาให้ฟรีๆ ก็ไม่มีใครปฏิเสธ การขายสวอปมีแต่ได้ ไมค์ไปยื่นข้อเสนออีกหลายแห่ง มูลค่ารวม 1300 ล้าน พอข่าวขายชอร์ตพันธบัตรสินเชื่อบ้านเข้าหู จาเร็ต เวนเน็ตต์ จากดอยช์แบงก์ เขาเห็นช่องทางทำเงินโดยการขายชอร์ตตราสารบ้านด้อยสิทธิ์ ที่เรทติ้งต่ำกว่า AAA ซึ่งไม่มีใครสนใจ เว้นแต่ มาร์ค บาม ผู้จัดการกองทุนฟรอนต์พอยต์ ในเครือมอร์แกน สแตนลีย์ ผู้เกรี้ยวกราด ซึ่งมีจมูกเทพเรื่องฉ้อฉล และไม่กลัวที่จะโพนทะนาออกไป

      จาเร็ดอธิบายความซับซ้อนของสัญญากู้บ้านในแต่ละระดับ ตั้งแต่รุ่นเปิดตัวที่มัดสัญญากู้บ้านเรทติ้ง AAA นับพันๆ รวมกัน มีรัฐบาลรับประกัน และรุ่นหลังที่เรทติ้งต่ำลงมา ทั้ง AA, BBB ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามลำดับ เมื่อมาร์คเดินทางไปตรวจสอบหมู่บ้านจัดสรรในสัญญากู้ ก็พบป้ายประกาศขายบ้านเต็มไปหมด ไม่ว่าจะไร้งาน ไร้เงิน ไม่มีเครดิต กลุ่มคนต่างด้าว สาวอะโกโก้ ฯลฯ ทุกคนกู้ผ่านหมด เขาเห็นว่ามีฟองสบู่เกิดขึ้นจริงๆ จึงซื้อสวอป MBS เรทติ้ง BBB จากจาเร็ด ซึ่งจะได้ส่วนแบ่งก้อนใหญ่ในวันที่กองทุนของมาร์คได้กำไร  

     นอกจากนี้ยังมี ชาร์ลี เกลเลอร์ กับ เจมี ชิปลีย์ สองหนุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่จากกองทุนบราวน์ฟันด์ กองทุนส่วนตัวที่เริ่มต้นด้วยเงินเก็บ 110,000 เหรียญ ซึ่งเพิ่มพูนเป็นยอดกองทุน 30 ล้านภายใน 4 ปี พวกเขาคิดว่าถึงเวลาลุยวอลสตรีท เพื่อทำข้อตกลง ISDA ซึ่งจะทำให้นักลงทุนทั่วไปสามารถทำดีลระดับสูงได้ แต่ก็ต้องหน้าแตกยับ เพราะเงินทุนยังน้อยเกินไป เมื่อบังเอิญไปเจอเอกสารที่บอกว่า “ตลาดบ้านคือฟองสบู่ยักษ์” หายนะของตลาดบ้านสำหรับพวกเขาก็คือบทเพลงแห่งสวรรค์ ที่ผ่านมาพวกเขามีกลยุทธลงทุนกับสิ่งที่คนไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น ถ้าพลาดก็ไม่เจ็บตัวมาก แต่หากฟลุกขึ้นมาก็รวยอื้อ

    ชาร์ลีกับเจมี ขอความช่วยเหลือจาก เบน ริกเคิร์ต อดีตนักค้าของแบงก์ใหญ่อย่างเจพี มอร์แกน ซึ่งพอแล้วกับโลกการเงิน และหันมาเป็นสายออร์แกนิก ปลูกผักบริโภคเอง เขายังเชื่ออีกว่าสักวันเมล็ดพันธุ์จะมาแทนที่ระบบเงิน แม้วางมือแล้วเบนก็ยังช่วยให้สองหนุ่มได้ ISDA เป็นใบเบิกทาง เพื่อชอร์ต CDO ในกลุ่ม BB กับ BBB ที่ให้ตอบแทนมากถึง 25 เท่า  

    ทั้งหมดต่างวางเดิมพันแทงสวนทางตลาด ลุ้นโอกาสรวยจากการที่ระบบการเงินของประเทศล่ม  

     เดือนมกราคม 2007 การผิดนัดชำระสินเชื่อบ้านพุ่งทะลุสถิติใหม่ หนี้บ้านสูญทะลุเพดาน สินเชื่อซับไพรม์เน่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพันธบัตรที่มาจากสินเชื่อนี้กลับมีราคาสูงขึ้น สิ่งที่คาดการณ์ไว้กลับตรงกันข้าม ไม่มีใครเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไมค์ถูกกดดันจากนักลงทุนของเขาอย่างหนัก ตัวเลขมูลค่าหุ้นกองทุนไซออนของเขาลดลงจนติดลบ ส่วนสองหนุ่มฟังข่าว สินเชื่อบ้านมีแต่หนี้สูญเพิ่มขึ้น แต่ CDO กลับมีมูลค่าสูงขึ้น บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังคงให้เรทติ้ง AAA เหมือนเดิม ทุกอย่างกลับตาลปัตร พวกเขาต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับปลาเน่า และเริ่มกังวลว่าที่เดิมพันไปหมดหน้าตัก แทนที่จะร่ำรวยอาจทำให้หมดตัวได้ ส่วนมาร์คตรวจสอบดูก็ได้พบความจริงที่น่ากลัวว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือขายเรทติ้งแลกกับเงิน

 

     จาเร็ด มาร์ค เบน และสองหนุ่ม มุ่งหน้าไปลาสเวกัส ณ งานแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นงานรวมพลคนขาย CDO คนให้ยืมซับไพรม์ คนขายสวอป เพื่อเช็คว่านี่ใช่สุดยอดดีลในชีวิตจริงๆ หรือไม่

     ชาร์ลีหาสวอปที่จะซื้อได้และธนาคารยอมขาย คำตอบคือ AA ซึ่งให้ผลตอบแทน 200 เท่า ทุกแห่งยินดีขายไม่ว่าจะซื้อเท่าไหร่ สองหนุ่มตื่นเต้นดีใจจนเนื้อเต้นที่ได้ “สุดยอดดีลของชีวิต” ส่วนเบนแม้จะเอ่ยปากชม แต่ก็มีท่าทีตรงกันข้าม เพราะสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่คือการพนันกับเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา แปลว่าถ้าพวกเขาคิดถูก ผู้คนจะสูญเสียบ้าน สูญเสียงาน สูญเสียเงินเก็บเพื่อเกษียณ สูญเสียบำเหน็จบำนาญ การตกงานเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ คือมีคนตาย 4 หมื่นคน สองหนุ่มได้ฟังแล้วก็นิ่งไป         

    เพื่อมาจ่ายค่าเบี้ยประกันสวอปสินเชื่อบ้าน เขาไม่เข้าใจว่าทำไมพันธบัตรสินเชื่อบ้านจึงราคาไม่ตกเลย หากเขาไม่ได้คิดผิด ก็หมายถึงทั้งระบบโกงกันแบบสุดโต่ง ไมค์ถูกกดดันอย่างหนักจากเหล่าลูกค้าที่ให้เขาบริหารเงินลงทุน  

     2 เมษายน 2007 สินเชื่อบ้านยังพังไม่หยุด ธนาคารใหญ่ๆ ต่างเจ็บหนักจากซับไพรม์ การเติบโตของเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกธนาคารยังคงขายพันธบัตรเน่าๆ ให้ลูกค้าที่ไม่เฉลียวใจ ขณะที่ใครๆ ก็หันไปซื้อสวอป มาร์คได้รู้ว่ากองทุนของเขากำลังเดิมพันอยู่กับ มอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่งก็คือองค์กรที่ตัวเองสังกัดอยู่ เมื่อมอร์แกน สแตนลีย์ล้ม กองทุนมาร์คก็อยู่ในบัญชีด้วย มาถึงตอนนี้เขาต้องขายสวอปออกไปให้ได้ก่อนที่ตลาดจะพัง และสิ่งที่ถือในมือไม่เหลือมูลค่า

     เบนที่กำลังไปท่องเที่ยวกับครอบครัวที่ประเทศอังกฤษ ต้องเข้าไปอยู่ในผับเล็กๆ ที่เหม็นสาบเพื่อหาสัญญาณต่ออินเตอร์เน็ต ทำการปล่อยขายสวอปที่ซื้อไว้ หากปล่อยขายไม่ทัน สองหนุ่มก็จะหมดตัว ซึ่งสองหนุ่มได้กำไรทั้งหมด 80 ล้านเหรียญ

     มาร์คเทขายสวอปออกไปหมด กองทุนของเขาได้กำไรเกือบพันล้าน ตัวเขาเองได้ 200 ล้านเหรียญ จาเร็ด ได้เช็คเงินสดสั่งจ่ายชื่อเขา 47 ล้านเหรียญ เป็นโบนัสก้อนใหญ่ หลังจากถูกคนที่ทำงานธนาคารด้วยกันเหยียดหยามมาตลอดสองปี   

      ขณะที่รับรู้ว่าตัวเองกำลังจะร่ำรวย พวกเขาอาจรู้สึกสิ้นหวังและผิดบาปไปพร้อมกัน ในปี 2008 ทั้งระบบก็พังทลาย หลายธนาคารล้ม ธนาคารกลางนำขายทอดตลาด วิกฤตนี้เลวร้ายที่สุดในยุคสมัยใหม่ เป็นหายนะการเงินที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของสหรัฐฯ และอาจปิดฉากยุครุ่งเรืองของอเมริกา คนแปดล้านคนตกงาน คนหกล้านคนสูญเสียบ้าน ซึ่งเป็นเพียงแค่ตัวเลขในสหรัฐอเมริกา วิกฤตครั้งนี้ยังกระทบไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย พันธบัตรสินเชื่อบ้านกลายพันธุ์เป็นอสูรที่คว่ำเศรษฐกิจทั้งโลก

      มีนาคม 2008 ตัวเลขบนกระดานของ ไซออน แคปปิตอล +489% ผลกำไรรวม 2.69 พันล้าน เขาทำกำไรเข้ากระเป๋าตัวเอง 100 ล้านเหรียญ ลูกค้ากองทุนของเขาได้ไปรวมกันกว่า 750 ล้านเหรียญ เหล่าลูกค้าที่เคยกดดันไมค์ต่างเปลี่ยนท่าทีเป็นตรงกันข้าม เขาแจ้งเหล่าลูกค้าถึงการปิดบริษัท เขาหันมาฉายเดี่ยวเป็นนักลงทุนของตัวเอง ไมค์เขียนอีเมลบอกผู้ลงทุน แจ้งว่าอาชีพนักลงทุนไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด ธุรกิจนี้ได้ฆ่าส่วนนึงในชีวิตของเขาไป เหมือนภายในได้กัดกินตัวเอง ทุกคนที่เคารพนับถือไม่พูดกับเขาอีกแล้ว เว้นแต่ทนายความ เขารู้ตัวว่าควรยุติกิจการกองทุนเสียที แต่ชื่อ ไมเคิล เบอร์รี ก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะคนแรกที่คาดการณ์วิกฤต เขายังคงบริหารกองทุนของตัวเอง บางครั้งก็โผล่มาทวีตข้อความไว้ ก่อนที่จะลบหายไป ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 เขาโพสต์ข้อความบน Twitter เตือนถึงฟองสบู่รอบใหม่ และกระแสการเก็งกำไรเงินสกุลดิจิทัลว่ามีความเสี่ยงมากกว่าโอกาส  

     ย้อนกลับไปในปี 2015 ปีที่หนังเรื่อง The Big Short ออกฉาย ธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่งเริ่มทำเงินหลายพันล้านจากการขาย "อนุพันธ์จัดสรรโอกาสตามสั่ง" ซึ่งอ้างตามรายงานข่าวของบลูมเบิร์กก็คืออีกชื่อหนึ่งของ CDO  
                                               
 ข้อคิดจาก The Big Short   

1. แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งผลตอบแทนมาก ความเสี่ยงก็ยิ่งสูง แม้จะได้อนุมัติสินเชื่อก็ต้องดูกำลังของตัวเอง
เมื่อพบคำว่า ดอกเบี้ยลอยตัว หมายถึงวันหนึ่งค่างวดอาจเพิ่มสูงเกินกว่าจะจ่ายไหว
2. อย่าให้ความโลภนำทาง ต้องวิเคราะห์ให้ดี และถามตัวเองว่าเข้าใจในสิ่งที่เราลงทุนจริงหรือเปล่า          
3. ไม่ควรกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน
4. การฝากเงินในธนาคารใหญ่ๆ มีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งเราเคยคิดว่าปลอดภัย ก็อาจเสี่ยงได้เช่นกัน
5. เมื่อเกิดวิกฤตโดยไม่ได้วางแผนรับมือ การไม่มีหนี้เป็นความปลอดภัยและอุ่นใหญ่อย่างที่สุด   

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
     

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง