​Mushroom Cottage Farm กระท่อมเห็ดของ 2 พีอาร์สาว

 




 


เรื่อง รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ 
ภาพ ชาคริต ยศสุวรรณ



    “เห็ดจ้าเห็ด เห็ดต้านมะเร็ง” 

    เสียงตะโกนแข่งกับแม่ค้าในตลาดบางบัวทอง ของ 2 สาวพีอาร์ที่แปลงร่างมาเป็นแม่ค้าขายเห็ด ธุรกิจแรกของทั้งคู่  เห็ดบรรจุถุงสวยงามกว่า 100 ถุง สามารถขายเกลี้ยงแผงภายใน 2 ชั่วโมงเท่านั้น  นี่คือจุดเริ่มต้นที่เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ในการทำฟาร์มเห็ด ของ นัยนา ยังเกิด และ ปรียนันท์ แสงดี 2 สาวเพื่อนซี้

    อันที่จริงการทำการเกษตร ไม่ใช่อาชีพที่นัยนาคาดคิดมาก่อน  แต่หลังจากที่ทำงานประจำในตำแหน่งพีอาร์ธนาคารธนชาติ จึงมีความคิดที่จะทำธุรกิจที่สามารถทำงานประจำไปด้วยได้เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอนาคตของตนเอง จึงลงมือค้นอ่านข้อมูลอยู่หลายธุรกิจ จนสุดท้ายเมื่อมีคนแนะนำให้ลองทำฟาร์มเห็ด นัยนาจึงตระเวนดูฟาร์มเห็ดของหลายที่ และลงทุนลางานไปเรียนการเพาะเห็ดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่หลายวัน จนเมื่อตกผลึกความคิดเป็นที่แน่นอนจึงชักชวนปรียนันท์ ซึ่งเคยร่วมงานด้วยกันและได้ออกไปทำธุรกิจร้านไอศกรีมมะม่วงน้ำดอกไม้ Hi Mango ที่ตลาดนัดจตุจักรมาร่วมหุ้นด้วย 

 



    “เป็นอะไรที่ท้าทายแล้วเราไม่รู้เรื่องเกษตรมาก่อน และด้วยความที่เราไม่ได้เตรียมเรื่องการตลาดมาก่อน จนเมื่อวันที่เห็ดจะออกดอก จึงไปตลาดเที่ยวถามแม่ค้าว่าจะรับเห็ดไปขายไหม ไม่มีใครรับเลย  เลยตัดสินใจไปเช่าแผงตลาดสดใกล้ๆ ฟาร์ม ทำแพคเกจจิ้งสวยงามไม่เหมือนใคร เขียนสรรพคุณว่าเห็ดต้านมะเร็ง  เห็ดสร้างภูมิคุ้มกัน ขายดีมาก และมีแม่ค้ามาแย่งกันรับของเรา จากนั้นเราไม่เคยต้องไปเดินหาตลาดอีกเลย มีแม่ค้ามารับถึงฟาร์ม” นัยนา เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจที่แม้จะขรุขระไปบ้างแต่เมื่อสามารถพลิกอุปสรรคกลายเป็นโอกาส ก็ทำให้ได้รับผลลัพธ์เกินความคาดหมาย 

    เหตุผลที่เลือกทำฟาร์มเห็ดตระกูลนางฟ้าภูฎาน นางรมฮังการี นางนวลสีชมพู และเห็ดเป๋าฮื้อ ก็เป็นเพราะว่าเห็ดทั้ง 4 ชนิดนี้สามารถเพาะในโรงเดียวกันได้ และเป็นเห็ดที่ชอบอุณหภูมิร้อนชื้นที่เหมาะกับประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ และมีราคาค่อนข้างสูงกว่าเห็ดทั่วไป  

 


    โดยแม้ว่าภาพของ 2 สาวสวยช่างแต่งตัว อาจจะดูขัดกับธุรกิจด้านการเกษตร  แต่นั่นก็เป็นแค่ภาพลักษณ์ภายนอก เพราะทั้งคู่นั้นเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากใช้เวลาไม่นานจากแม่ค้าที่ขายเฉพาะดอกเห็ด ก็ต่อยอดกระท่อมเห็ดออกมาเป็นโรงงานผลิตก้อนเห็ด เปิดศูนย์อบรมการเพาะเห็ด และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำเห็ดมาจัดกระเช้า ช่อดอกไม้ ฯลฯ 

    “เนื่องจากก้อนเห็ดมีอายุ 4-6 เดือน จึงมีความคิดกันว่าควรต้องทำก้อนเห็ดเองเพื่อลดต้นทุน  ลงทุนซื้อเครื่องจักร และจ้างคนเพิ่มเพื่อผลิตก้อนเห็ด ซึ่งนอกจากจะประหยัดต้นทุนแล้วเรายังสามารถขายก้อนเห็ดได้ด้วย ที่นี้หลังจากขายก้อนแล้ว เราก็เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การเพาะเห็ด เพื่อสอนคนที่อยากเพาะเห็ดเป็นอาชีพและเราก็จะสามารถขายก้อนเห็ดให้กับนักเรียนได้ด้วย ซึ่งบางฟาร์มขายแต่ก้อนเห็ดอย่างเดียว ไม่เปิดให้ใครมาเรียนรู้เพราะถือเป็นความลับในอาชีพ ทำให้ต้องซื้อก้อนเห็ดที่ฟาร์มนั้นไปตลอด” ปรียานันท์ กล่าว 

 


    อย่างไรก็ตาม ด้วยคำถามแรกที่ผู้มาเรียนมักจะถามเสมอว่า ‘จะเอาเห็ดไปขายได้ที่ไหนบ้าง’ สิ่งนี้ทำให้นัยนาและปรียานันท์ สร้างเครือข่ายการกระจายเห็ดไปยังตลาด โดย Mushroom Cottage Farm เป็นศูนย์กลางในการจัดการ ซึ่งนัยนากล่าวว่า

    “เราจะแนะนำให้หาตลาดบริเวณใกล้เคียงบ้านดูก่อน ถ้าไม่มีเราจะเป็นศูนย์กลางให้ เราก็พยายามสร้างเครือข่ายจากนักเรียนให้ส่งเห็ดมาที่เรา หรือถ้าของใครไม่พอส่งให้แม่ค้าไม่ได้ เราก็จะหาจากที่อื่นส่งไปให้” 

    ดังนั้น Mushroom Cottage Farm จึงเป็นฟาร์มที่มีความครบวงจร กล่าวคือ จำหน่ายก้อนเห็ด ดอกเห็ด อบรม และช่วยในเรื่องการหาตลาด 

 


     ปรียานันท์ เล่าว่า ดอกเห็ดนั้นมีเสน่ห์ความสวยงาม พวกเธอจึงเกิดไอเดียนำมาจัดเป็นช่อเสมือนดอกไม้ให้สวยงาม และกระเช้าเห็ดเพื่อสุขภาพ เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ วาเลนไทน์ ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเห็ดได้ดีทีเดียว

    หากจะว่าไป ‘เห็ด’ นอกจากจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว ยังสามารถแปรรูปได้อีกด้วย และการแปรรูปนี่เองที่ นัยนาและปรียานันท์กำลังขมักเขม่นพัฒนาเพื่อหวังต่อยอดธุรกิจออกไปอีก… แทบไม่น่าเชื่อว่า จากกระท่อมเห็ดเล็กๆ จะสามารถต่อยอดธุรกิจออกไปได้อีกมากมายเช่นนี้ 

Create by smethailandclub.com


RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน