Case Study : ส่อง 3 Power Brand แชร์ประสบการณ์ใช้นวัตกรรม เห็นผลจริงทางธุรกิจ

 

 

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ นวัตกรรม คือ สิ่งสำคัญในการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่กลับพบว่าผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้นวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ ลองมาฟังบทเรียนจาก 3 Power Brand เพื่อใช้นวัตกรรมสร้างโอกาสให้ธุรกิจจากภาวะวิกฤต จากเวทีงานเปิดตัว The Founder II ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อนำเสนอมุมมองของบุคคลตัวอย่างที่สามารถสร้างทางรอดในวิกฤตจำนวน 25 ราย ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. Pandemic ผู้ก่อตั้งองค์กรที่สามารถปรับตัวได้ดีในช่วงวิกฤตโควิด–19 2. Climate Change ผู้ก่อตั้งองค์กรที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และ 3. Economic Crisis ผู้ก่อตั้งองค์กรที่มีแนวทางดำเนินงานสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจโลกยุคใหม่

ชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ

กรรมการผู้จัดการ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด

กลยุทธ์ : ใช้นวัตกรรมสร้างโอกาส อย่าหยุดแค่ลูกค้ากลุ่มเดิม

     “อ้วยอันโอสถ เราเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพรโบราณที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 75 ปี โดยเริ่มต้นจากร้านขายยาจีนและยาสมุนไพรโบราณมาก่อน และพัฒนาเปิดโรงงานผลิตยาเพื่อจำหน่ายเมื่อ 36 ปีที่แล้ว ซึ่งหลักในการดำเนินธุรกิจที่เราใช้มาตลอด ก็คือ 1. การผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ และ 2.การสื่อสารการตลาดที่ดีเพื่อไปให้ถึงผู้บริโภค โดยก่อนหน้านั้นคนมักมองภาพว่าสมุนไพรเป็นยาของผู้ใหญ่ เราจึงได้มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อผลิตยาสมุนไพรสำหรับเด็กเพิ่มขึ้นมาด้วย ให้มีรสชาติรับประทานได้ง่ายขึ้นในรูปลักษณ์แพ็กเกจจิ้งสีสันสดใส เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเด็กได้มากขึ้น จากนั้นเราก็เริ่มต่อยอดไปยังกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยมีใครนึกถึงมาก่อน เช่น ยาสมุนไพรสำหรับนักกีฬา

      “โดยจากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามา ฟ้าทะลายโจรกลายเป็นสมุนไพรยอดนิยมที่ขายดีมาก และยังช่วยกระตุ้นให้สมุนไพรอื่นๆ ขายดีขึ้นด้วย หน้าที่ของเรานอกจากพยายามผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคแล้ว สิ่งที่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมนอกจากการเจาะตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างๆ ก็คือ เราควรทำให้สมุนไพรจากที่ใช้เพื่อเป็นยารักษามาเป็นการใช้เพื่อการดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้นด้วย รวมถึงส่งเสริมให้เป็นอีกหนึ่งของดีของไทยไม่ต่างจากการนวดแผนไทย หรือสปา ทำให้เกิดมุมมองนำไปต่อยอดธุรกิจในอนาคต โดยทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้จากการศึกษาอย่างชัดเจนรู้จริง การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย และการตลาดที่ดี”

แง่คิด : “การนำนวัตกรรมมาใช้ อย่างแรก คือ ควรเข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจตัวเองให้ท่องแท้ก่อนนำสิ่งใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ DNA ของคนรุ่นเก่ายังคงอยู่เป็นแกนกลางคุณค่าทางใจ”

สรณัญช์ ชูฉัตร

บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้ารายแรกของไทย

กลยุทธ์ : นวัตกรรมจะเป็นผลสำเร็จได้ ต้องทำให้เกิดอิมแพค

      “การจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาตัวหนึ่งจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องเลือกทำจากสิ่งที่ทำให้เกิดอิมแพคได้มากๆ ก่อน เหมือนเช่นที่เราตัดสินใจสร้างรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าขึ้นมาเป็นเจ้าแรกในไทย แทนที่จะสร้างรถสปอร์ตหรูซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า เพราะเรามองถึงปริมาณจำนวนการใช้งานจริง เพื่อผลิตออกมาแล้วสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ทันที โดยตั้งแต่เริ่มการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตผู้คน หนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตขึ้นมาก ก็คือ Food Delivery ทำให้มีไรเดอร์ขับรถรับ-ส่งของเกิดขึ้นมากมาย เราจึงมองที่กลุ่มนี้ก่อน ซึ่งหากเราผลิตรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าขึ้นมาน่าจะสามารถสร้างอิมแพค ช่วยลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับโลกได้มากกว่า และยังช่วยประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ใช้งานจริงได้ด้วย

     “โดยการจะตัดสินใจสร้างนวัตกรรมอะไรขึ้นมาก็ตาม เราต้องตอบทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ให้ได้ก่อน ได้แก่ 1.เป้าหมายธุรกิจ คือ เรามีความตั้งใจสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะให้กับโลกอยู่แล้ว 2.ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเองก็อยากส่งเสริมธุรกิจที่นำนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนมากขึ้นอยู่แล้ว และ 3. ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้ โดยรถที่เราทำออกมาไม่เพียงลดมลภาวะให้สิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยให้ผู้ขับขี่เองมีรถคุณภาพดีใช้ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้เขาได้ด้วย เมื่อทั้ง 3 ส่วนมีความต้องการและดำเนินไปในเส้นทางเดียวกัน โอกาสที่สินค้าจะได้รับการยอมรับและไปต่อได้ก็มีมากกว่า”

แง่คิด :  “เมื่อ 10 - 20 ปีก่อน เราพูดถึงเทคโนโลยีกันมากว่าจะมาช่วยเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ดีขึ้นได้ ยุคต่อมา ก็คือ การเอาลูกค้ามาเป็นศูนย์กลาง แต่ผมมองว่าวันนี้ถึงยุคแล้วที่เราควรเปลี่ยนเป็นคำว่า “เอาโลกมาเป็นศูนย์กลาง” ได้แล้ว จากแต่ก่อนเราอาจเคยแก้ปัญหาให้คนสิบคน ได้เงินมาก็ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาให้โลกได้ โอกาสมันเยอะมากกว่า ใหญ่กว่า และเราอาจได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ยังไม่มีการแข่งขันมากก็ได้”

สุนทร เด่นธรรม

บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน)

กลยุทธ์ : แม้จะเริ่มจากธุรกิจสิ่งเล็กๆ แต่อย่าหยุดที่จะมองภาพใหญ่ด้วย

     “เดิมเราก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาจาก Business Model แบบพื้นฐานเลย คือ รับจ้างบริหารทรัพยากรบุคคล คิดเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง หักวันมาสาย วันลาของพนักงาน ทำภาษีให้กับองค์กรต่างๆ โดยเน้นไปที่องค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งการจะรับทำสเกลที่ใหญ่ได้ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ช่วงแรกเราก็ใช้ของต่างประเทศ จนทำมาได้ 3 ปี เราก็พัฒนาซอฟแวร์ของตัวเองขึ้นมา จากซอฟต์แวร์การคิดภาษี, จ่ายเงินเดือน ฯลฯ ก็ค่อยๆ ขยับมาทำซอฟร์แวร์การพัฒนาบุคคลมากขึ้น เช่น การคัดเลือกบุคลากร การวัดผลงาน วัดศักยภาพ จนถึงการฝึกอบรม จากเล็กๆ จนตอนนี้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว

     “โดยเรามีพันธกิจ คือ ช่วยพนักงานของลูกค้าเราให้ทำงานได้ดีขึ้น และมีชีวิตส่วนตัวที่มีความสุขมากขึ้น ซึ่งเรามีแพลตฟอร์มช่วยฝึกฝนต่างๆ จากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เรามองเห็นเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของคนทำงานมากขึ้น องค์กรต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในรูปแบบการทำงานที่มีทางเลือกมากขึ้น การทำงานไม่ได้หมายถึงที่ออฟฟิศอย่างเดียวเสมอไป นอกจากนี้ควรมีการดูแลพนักงานแบบเฉพาะเจาะจงลงเป็นบุคคลอีก เพราะคนแต่ละเจนเนอเรชั่นมีความต้องการไม่เหมือนกัน ซึ่งผมมองว่าการที่จะทำให้องค์กรต่างๆ ปรับตัวไปรอดได้เวลาเกิดวิกฤต สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่คือ Business Model Innovation การคิดหรือการแก้ไขปัญหาอย่างมีนวัตกรรม ซึ่งสามารถทำได้เร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งจะทำให้เราแตกต่าง ทำให้ได้เปรียบกว่าการแข่งขันในเรื่องต้นทุน ราคา และสามารถสร้างประสบการณ์และมูลค่าได้ยั่งยืนกว่า เหมือนเช่นที่บริษัท ฮิวแมนิก้าฯ เราพยายามนำมาใช้ขับเคลื่อนองค์กรจนปัจจุบันมีผู้ใช้บริการด้าน HR Solutions มากกว่า 3,000 องค์กร ซึ่งเราเองก็เริ่มมาจากเล็กๆ จากที่ไม่มีเทคโนโลยีของตัวเองด้วยซ้ำ แต่เราก็ไม่หยุดพัฒนา โดยมองภาพใหญ่ว่าสักวันเราต้องให้บริการซอฟร์แวร์ที่มีราคาย่อมเยา แต่คุณภาพเทียบเคียงไม่แพ้บริษัทระดับโลกให้ลูกค้าได้เลือกใช้งานได้ ดังนั้นอยากฝากทุกคนว่าแม้จะเริ่มทำจากเล็กๆ แต่อย่าหยุดฝันที่จะมีภาพใหญ่ สร้างแผนของตัวเองขึ้นมา และทบทวนตัวเองตลอดเวลา นี่คือ หัวใจของการมี Business Model Innovation ที่ดี”

 แง่คิด : เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ แต่ความคิดเชิงนวัตกรรม การบริหารจัดการที่ดีในการสร้างโมเดลธุรกิจต่างหาก คือ สิ่งสำคัญ

 

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน