ถอดบทเรียนธุรกิจ จากหนังสุดฮิต คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ

 

 


       ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งหนังอินเดียจะมาแรงแซงทางโค้งเกาหลีฟีเวอร์ชนิดไม่เห็นฝุ่น เมื่อ คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ (Gangubai Kathiawadi) หนังบอลลีวูดที่ฉายทาง Netflix ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2565 จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพียงไม่ถึงเดือนเรื่องราวของราชินีมาเฟียนางนี้ ก็ถูกกล่าวถึงในหลายแวดวง แถมยังกลายเป็นกระแสเหล่าดาราและคนดังพากันแต่งโคฟเวอร์ถ่ายภาพแชร์ลงโซเชียลกันทั่วบ้านทั่วเมือง ดังนั้นเรามาเก็บตกแง่ถ้อยคำจากหนังเรื่องนี้กันดีกว่า

1.

       ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1960 ใจกลางเมืองมุมไบ หรือบอมเบย์ในประเทศอินเดีย ณ กามธิปุระ ย่านเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงด้านการค้าประเวณีมากว่าร้อยปี ว่ากันว่าเด็กสาวที่เข้ามาที่กามธิปุระแล้ว จะกลับออกไปไม่ได้อีก เพราะสิ่งที่ต้องเผชิญไม่ใช่แค่ความทารุณโหดร้ายในสถานประกอบการที่เรียกว่า “ซ่อง” หากยังเป็นความเชื่อ วัฒนธรรม ค่านิยมในสังคมด้วย ครั้งหนึ่งเคยมีหญิงสาวได้กลับบ้าน แต่ก็ถูกครอบครัวจับแขวนคอต่อหน้าสาธารณะชน ไม่มีผู้หญิงคนใดสามารถเลือกทางชีวิตได้อีก หากไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ก็มีเพียงความตายให้เลือกได้ เว้นแต่หญิงสาวที่ถูกเรียกขานนามว่า “คังคุไบ” ผู้ได้รับฉายา “ราชินีมาเฟีย” ที่ยิ้มรับโชคชะตา

       คังคุไบถูกเรียกตัวมาเจรจากับเด็กสาวที่ถูกสามีจับมาขายซ่อง ผู้หญิงที่นี่เจอเรื่องแบบเดียวกันหมด รวมถึงตัวเธอเอง คังคุไบแบ่งปันเรื่องราวในอดีต เธอเป็นลูกสาวทนายความ เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่ดี แต่ก็ไม่พ้นถูกชายคนรักหลอกมาขายซ่อง ล่อลวงด้วยความฝันอยากเป็นดาราของตัวเอง พาเธอขึ้นรถไฟไปบอมเบย์ตามหาความฝัน ป้าของเขามีเส้นสายมากมาย เธอจะได้ไปพบโปรดิวเซอร์ และได้เล่นหนังกับ เทพ อนันต์ พระเอกและผู้กำกับชื่อดัง ผู้เป็นไอดอลของเธอ  

       ณ บ้านเลขที่ 290 ในกามธิปุระ คงคาได้รู้ว่าความฝันและความเชื่อใจของเธอถูกชายคนรักขายในราคา 1,000 รูปี (เป็นเงินไทยประมาณ 450 บาท ในยุค 60 กว่าปีที่แล้ว คิดง่ายๆ ถ้าเทียบกับราคาก๋วยเตี๋ยวสมัยนั้นชามละ 25 สตางค์ ทุกวันนี้ชามละ 50 บาท ค่าเงินเพิ่มขึ้น 200 เท่า ก็จะราวๆ 90,000 บาท) เธอถูกขังไว้ในห้องมืดๆ ไร้แสงสว่าง ก่อนเตรียมให้พร้อมเข้าสู่ธุรกิจขายร่างกาย เธอกลายเป็นหนึ่งในโสเภณีของกามธิปุระ เธอกล้ำกลืนความทุกข์ เรียนรู้วิถีโสเภณี ลูกค้ารายแรกพอใจให้ทิปอย่างงาม ตั้งชื่อใหม่ให้เธอว่า “คังคุ” และบอกว่าวันหนึ่งเธอจะได้ปกครองกามธิปุระ คำพูดนั้นทำให้เธอตัดสินใจตั้งเป้าหมายว่าสักวันหนึ่งจะปกครองเมืองนี้ให้ได้

       เธอกลายเป็นดาวเด่นของซ่อง วันครบรอบหนึ่งปี เธอประกาศว่าวันนี้เป็นวันหยุด และชวนเพื่อนร่วมงานไปดูหนัง เธอบอกแม่เล้าที่บ่นก่นด่าเรื่องขาดรายได้ว่า “กำไรและขาดทุนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ที่อื่นเขาก็มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ป้าเองก็ควรพักสักวัน” เธอสู้กลับ ตบตี เมื่อถูกชายที่โรงหนังลวนลามเพราะเห็นเป็นโสเภณี และด้วยความรู้ที่ติดตัวมา เธอช่วยเพื่อนโสเภณีที่ไม่รู้หนังสือ เขียนจดหมายส่งกลับบ้าน สื่อสารในสิ่งที่สาวๆ ทุกคนรวมถึงตัวเธอเองอยากบอกพ่อแม่ว่า “สุขสบายดี ไม่ต้องเป็นห่วง”

       คืนหนึ่งเธอถูกลูกค้าทำร้ายอย่างทารุณจนบาดเจ็บสาหัส แขนหัก ถูกกรีดเป็นเส้นทแยงตั้งแต่ไหล่ด้านหนึ่งไปจนถึงเอวอีกด้าน เย็บไป 15 เข็ม และเย็บปากอีก 4 เข็ม พยาบาลที่มีหน้าที่ดูแลคนไข้ยังย้ายเตียงเธอแยกไปอยู่ในห้องเก็บของที่สกปรก บอกว่าที่นี่เหมาะกับโสเภณีอย่างเธอ

2.

       หลังจากได้ชื่อของแขกปาทานลูกค้าโรคจิตคนนั้นและรู้ว่าเป็นคนของ ราฮิม ลาลา ราชามาเฟียแห่งบอมเบย์ ซึ่งตำรวจก็ยังเกรงบารมี ลือว่าเขาเป็นคนมีหลักการและซื่อตรง พออาการทุเลาขึ้น คังคุจึงไปพบลาลาเพื่อทวงความยุติธรรม เธอเปิดรอยแผลให้เห็น ว่ากระทบกับธุรกิจและรายได้อย่างไร ถ้าเป็นแค่โดนซ้อมทั่วไปคงไม่เจ็บขนาดนี้ ลาลาส่งคนไปเฝ้าหน้าซ่อง พร้อมออกค่ารักษาพยาบาล บอกว่า “ถือว่าเป็นของขวัญจากพี่ชาย”

       พอหายดีทำงานได้ แขกปาทานโรคจิตก็กลับมาอีกครั้ง คังคุให้เพื่อนรีบส่งข่าวบอกลาลา ก่อนเข้าห้องไปกับลูกค้า ลาลามาจัดการเรื่องนี้ให้ด้วยตัวเอง แม่เล้าเริ่มกลัวเกรงความเป็นคนจริงของคังคุ และเริ่มหมดอำนาจ เช้ามืดวันหนึ่งก็มีคนพบร่างไร้วิญญาณของนางที่ในมือยังกำธนบัตรไว้ ตรงหน้ามีหีบสมบัติเปิดคาอยู่ คังคุให้สาวๆ นำเงินทองที่สมควรเป็นของพวกเธอไปแบ่งกัน ปลดแมงดาคุมซ่อง และตัดสินใจดูแลกันเอง เหล่าโสเภณีรวมตัวมอบส่าหรีสีขาวให้กับคังคุ และบอกว่าไม่ต้องรับลูกค้าแล้ว แค่ดูแลพวกเธอก็พอ ในฐานะคนเดียวในกามธิปุระที่เข้าใจชะตากรรมโสเภณีด้วยกัน เธอจึงกลายเป็น คังคุไบ นายหญิงของซ่องแห่งนี้เต็มตัว

       ด้วยประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจและดูแลช่วยเหลือโสเภณีด้วยกัน ทำให้คังคุไบกลายเป็นที่พึ่งพาของซ่องอื่นๆ ด้วย เมื่อมีปัญหาเด็กใหม่ไม่ยอมรับลูกค้า  

       หลังจากเล่าเรื่องราวของตัวเองจบ คังคุไบยื่นลูกกวาดสองสีให้เด็กสาวเลือก สีหนึ่งหมายถึงการอยู่ที่นี่เป็นโสเภณี อีกสีหมายถึงความตาย เมื่อเด็กสาวเลือกความตาย เธอตัดสินใจยื่นมือเข้าช่วยจ่ายเงินหนึ่งหมื่นรูปี สิบเท่าของเงินที่แม่เล้าลงทุนไป แลกกับอิสระของเด็กสาวที่ยังไร้ราคี และสั่งลูกน้องให้พาเด็กสาวส่งถึงบ้านอย่างปลอดภัย  

       การเลือกตั้งนายกของกามธิปุระใกล้เข้ามา คังคุไบเริ่มต้นสร้างฐานเสียงด้วยการสั่งให้ลูกน้องกระจายข่าวการช่วยเหลือเด็กหญิงบริสุทธิ์วัย 15 ปี และส่งกลับบ้านอย่างปลอดภัย คู่แข่งที่ไม่มีใครคิดว่าเธอจะเอาชนะได้ ก็คือ ราเซียไบ สาวประเภทสองที่มีอำนาจเหนือชุมชนแห่งนี้ ผู้เป็นนายกสองสมัยของกามธิปุระ เธอไปหาลาลาด้วยความกังวลใจ เขาให้กำลังใจในฐานะพี่ชายให้เธอเชื่อมั่นในตัวเอง  

       “แต่ความเชื่อไม่ได้ทำให้ชนะเลือกตั้ง เงินต่างหากที่ช่วยได้” คังคุไบขอดูแลธุรกิจเหล้าของลาลาในย่านกามธิปุระ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มมาใช้ในการหาเสียง เธอต้องชนะการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนชีวิตโสเภณีให้ดีขึ้น ต่อสู้เพื่อให้คนนับถือทั้งตัวเธอและผู้หญิงทุกคนในกามธิปุระ หากเธอพ่ายแพ้ราเซียไบก็จะทำให้ชีวิตพวกเธอเหมือนตกนรกเช่นที่เป็นอยู่ เธอกลายเป็นหุ้นส่วนธุรกิจของลาลา ได้ส่วนแบ่ง 20 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายเหล้าในกามธิปุระมาเป็นทุนหาเสียง

       และต่อไปนี้ คือ กลยุทธ์ธุรกิจที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องราวของคังคุไบ

กลยุทธตอบโต้คู่แข่ง          

       ตำรวจจึงบุกเข้าค้นซ่องของคังคุไบ เมื่อได้ข่าวว่าแม่เล้าขายเหล้า เพื่อหาหลักฐานปิดกิจการ พวกเขากลับไปพร้อมกับเงินสินบน คังคุไบรู้ว่าราเซียไบเป็นตัวการเบื้องหลัง จึงตอบโต้ด้วยกลยุทธตั้งจอฉายหนังกลางแปลงกลางถนนหน้าซ่อง มอบความบันเทิงในเวลาเดียวกับกำหนดการปราศรัยของราเซียไบ ทำให้ทุกคนในกามธิปุระมารวมตัวกันดูหนังแทนที่จะไปฟังปราศรัย ถือเป็นการประกาศสงครามโค่นบัลลังก์


การจัดงานแต่งงานในซ่อง : ฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง  

      โสเภณีในซ่องของคังคุไบ มอมลูกสาววัย 15 ปีของตัวเองด้วยยาฝิ่นและจับขังไว้ในกรง เพื่อซ่อนไม่ให้ลูกค้ามาเห็น เพราะไม่ยอมให้ลูกเป็นโสเภณี ความฝันของโสเภณีที่ซ่อนลูกสาวไว้ในซ่อง คือ การจัดงานแต่งงานที่กามธิปุระ เป็นเหมือนฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงได้ คังคุไบพาสองแม่ลูกไปบ้านช่างตัดเสื้อ เป็นแม่สื่อจัดการให้เด็กสาวแต่งงานกับลูกชายช่างตัดเสื้อ พร้อมเสนอทองคำ 350 กรัม (เท่ากับทองประมาณ 23 บาท) เงินสด 50,000 รูปี (เทียบกับเงินยุคนี้ก็ถือว่าเป็นหลักสิบล้าน) และขนมหวาน 25 รูปี ให้กับพ่อแม่เจ้าบ่าว การแต่งงานนี้จะช่วยไม่ให้เด็กสาวต้องลงเอยด้วยการเป็นโสเภณี และอันที่จริงเจ้าบ่าวก็เป็นชายคนรักของคังคุไบเอง

       เธอจัดการกับชีวิตชายคนรักและช่วยเหลือเด็กสาว เขาจะได้เป็นเจ้าบ่าวคนแรกในประวัติศาสตร์ของกามธิปุระ เด็กสาวได้แต่งงาน ออกจากซ่องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ฝันของหญิงโสเภณีเป็นจริง ธุรกิจร้านเย็บผ้าที่ชักหน้าไม่ถึงหลังก็ได้มีเงินทุนก้อนใหญ่ที่จะทำให้ชีวิตอยู่สบาย ชายหนุ่มแต่งงานด้วยความจำยอม

       คังคุไบสละความสุขตัวเองเพื่อผู้หญิงในกามธิปุระ งานแต่งงานครั้งนี้สร้างประวัติศาสตร์หน้าแรก ที่ผู้หญิงจะได้เลือกเส้นทางตัวเอง เธอเจ็บปวดใจจนแทบบ้า รู้สึกเหมือนตายไปทีละนิด แต่คนสองคนที่รักกันนั้น ย่อมต้องมีหัวใจอันกล้าหาญ เป็นความรักในอีกรูปแบบ ขบวนงานแต่งงานครั้งนี้ก็เสมือนขบวนแห่ศพของราเซียไบ ผลการเลือกตั้งออกมาคังคุไบเอาชนะราเซียไบในถิ่นของอีกฝ่ายได้

แบ่งรายได้ ค่าใช้จ่ายไว้ใช้ออกเป็นส่วนๆ

คังคุไบ แบ่งรายได้ออกเป็น 4 กอง 

1. สำหรับจ่ายสินบนให้ตำรวจ (ถือเป็นการลงทุนที่จำเป็นต่อธุรกิจ)  
2. สำหรับการจัดงานนวราตรี ที่จะจัดให้ยิ่งใหญ่ เป็นการลงทุนเพื่อยกระดับชุมชน และเพื่อธุรกิจโดยรวม  
3. สำหรับเป็นเงินออมในบัญชีธนาคารสำหรับโสเภณี (พนักงานในองค์กร) ซึ่งขณะนั้นผู้จัดการธนาคารยังไม่ยอมให้โสเภณีเปิดบัญชีของตัวเอง คังคุไบจึงจัดการส่วนนี้ให้ ขณะที่พยายามผลักดันสิทธิโสเภณี  
4. สำหรับเป็นค่าเครื่องประดับของตัวเอง ให้รางวัลกับตัวเอง เสมือนเงินเดือนของผู้บริหารธุรกิจ  

3.

       ต่อมาโรงเรียนสตรีคริสต์ได้ยื่นคำร้องต่อภาครัฐ เพื่อปิดกิจการซ่องและไล่โสเภณีออกจากพื้นที่กามธิปุระ ด้วยเหตุผล ว่านักเรียนจะได้รับอิทธิพลที่ไม่ดี เบื้องหลังยังมีเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างตึกระฟ้าขึ้นแทนอาคารเก่าในย่านการค้า มีการเดินขบวนกลางถนนหลักของกามธิปุระ เพื่อไล่ธุรกิจค้าประเวณีออกไปจากชุมชน คังคุไบต่อสู้ด้วยการพาเลือดเนื้อเชื้อไขโสเภณีไปสมัครเรียน

       “ฉันเพิ่งรู้ว่าโรงเรียนนี้อยู่ที่นี่มา 40 ปีแล้ว แต่พวกเราน่ะอยู่ที่นี่มาเป็นร้อยปี ตอนพวกคุณสร้างโรงเรียนขึ้นมา พวกคุณไม่รู้หรือว่ามีซ่องอยู่ข้างๆ ถึงจะมาจากซ่องแล้วยังไง พวกเขามีสิทธิ์ได้รับการศึกษา ฉันจะทำให้พวกเขาได้เรียนให้ได้ ลองนึกดูว่าถ้าหนึ่งในนั้นได้เป็นหมอ วิศวกร หรือนักกฎหมาย ชีวิตเธอจะเปลี่ยนไปขนาดไหน”

       วันแรกที่เข้าเรียน เด็กหญิงทั้งแปดถูกซิสเตอร์ตีและไล่กลับบ้าน นักข่าวนำเสนอเรื่องนี้ทางนิตยสาร คังคุไบกลายเป็นคนดัง ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อสิทธิสตรีที่อาซาดไมดาน ในหัวข้อเรื่องการศึกษาสำหรับโสเภณี

1. “ทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ต้องมีอาชีพ มีการมีงานทำ เป็นหมอ วิศวกร หรือครู บ้างก็ขายขนม แอลกอฮอล์ เสื้อผ้า สบู่หรือเครื่องครัว คนที่มีความรู้จะขายสติปัญญา แต่เราขายร่างกายของเรา เราทำงานหนักมากด้วย แล้วมันผิดตรงไหน ทำไมถึงคัดค้านการทำมาหากินของเรา ทำไมมีแต่อาชีพเราที่ถูกมองว่าผิดศีลธรรม”

2.  “รู้ไหมว่าอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ อะไร โสเภณีไงล่ะ หากไม่มีเรา แม้แต่สวรรค์ก็ไม่สมบูรณ์ ช่วยเคารพพวกเราบ้างเถอะ บอกตามตรงนะ เรามีศักดิ์ศรีมากกว่าพวกคุณอีก ถ้าคุณเสียศักดิ์ศรีไปครั้งหนึ่ง มันจะหายไปตลอดกาล ส่วนพวกเราขายศักดิ์ศรีทุกคืน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่หมดสักที ไม่ว่าพวกคุณจะว่าอย่างไร เราเป็นผู้หญิงที่มีคุณธรรม ไม่ว่าใครจะโผล่มาที่ประตู เราก็ไม่ตัดสินพวกเขา ไม่ถามถึงศาสนาหรือวรรณะ จะผิวเข้มหรือผิวขาว จะรวยหรือจน ทุกคนจ่ายเท่ากัน พวกเราไม่ได้เลือกปฏิบัติกับคนอื่น แต่ทำไมผู้คนถึงเลือกปฏิบัติกับเรา ทำไมเราถึงถูกกีดกันออกจากสังคม”

3.  “เราสนองตัณหาของผู้ชายและปกป้องศักดิ์ศรีของผู้หญิง ลองคิดดูสิ ถ้าไม่มีกามธิปุระ เมืองนี้คงกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ผู้หญิงจะถูกข่มขืน ครอบครัวจะแตกแยก ความสัมพันธ์จะจบลง และวัฒนธรรมอินเดียที่รุ่งเรืองของเราจะสลายเป็นผุยผง พวกคุณมีส่วนรับผิดชอบเรื่องนี้ เราไม่เพียงปกป้องเกียรติของทุกคน แต่ยังปกป้องเกียรติของสังคมนี้ด้วย ฉันถึงภูมิใจกับการเป็นโสเภณี ไม่ต่างจากที่พวกคุณเป็นหมอหรือครู”

4. “พวกคุณปรบมือให้คำพูดของฉัน แต่ก็ตลกดี ที่สุดท้ายคุณก็ยังยืนกรานจะทำให้เราเป็นคนไร้บ้าน มิหนำซ้ำคุณยังไล่ลูกเราออกจากโรงเรียนด้วย ลูกๆ เราไม่มีสิทธิ์ได้รับการศึกษาหรือ ลูกหลานเราก็เป็นอนาคตของอินเดียเหมือนลูกหลานคุณไม่ใช่หรือ ดังนั้นคังคุตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ยอมให้สตรีกามธิปุระกลายเป็นคนไร้บ้าน ลูกหลานเราจะได้รับการศึกษา และเราจะมีสิทธิ์ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี”

      คังคุไบได้รับเสียงปรบมือท่วมท้น กลายเป็นคนดังที่มีนักการเมืองท้องถิ่นมาหาถึงซ่อง เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุน เป็นฐานเสียง เธอต่อสู้อย่างถึงที่สุด และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เยาวหราล เนห์รู เพื่อขอให้ช่วยทำให้การค้าประเวณีถูกกฎหมาย เธอกล่าวกับนายกรัฐมนตรีว่า

       "แต่ตราบใดที่สังคมยังดำรงอยู่ การค้าประเวณีก็เช่นกัน ขณะที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ มีผู้หญิงถูกขายหรือมีคนซื้อตัวเธอไป ผู้ขายและผู้ซื้อควรถูกลงโทษ แต่คนถูกลงโทษก็คือเด็กสาวไร้เดียงสา สิทธิทุกอย่างของเราถูกพรากไป ไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือโรงพยาบาล ที่ธนาคารหรือเวลาต่อคิวที่ร้านขายของชำ ความรักของแม่ การปกป้องของพ่อ ทุกอย่างถูกพรากไปจากเราจนหมด ตอนนี้แม้แต่บ้านก็ถูกพรากไปจากเรา พวกเขาอยากให้เราย้ายออกจากกามธิปุระ และลากเราไปขึ้นศาลด้วย เราเป็นเหยื่อแต่กลับถูกปฏิเสธเหมือนอาชญากร ลูกสาวของอีฟต้องการความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับยโสดา บุตรสาวของพระแม่ราธา ประเทศของนบีมูฮัมหมัด บุตรสาวของสุเลขา คนที่ภูมิใจในประเทศนี้ พวกเขาอยู่ไหนกัน”

       ท่านนายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ดูให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครพรากบ้านของเหล่าโสเภณีไป และมอบดอกกุหลาบให้เธอ ตราบใดที่คังคุไบยังมีชีวิตอยู่ จะไม่มีผู้หญิงคนไหนในกามธิปุระไร้บ้าน ทุกคนในกามธิปุระก็ให้ความเคารพคังคุไบ แม้แต่อดีตศัตรูอย่าง ราเซียไบ    

       เธอเคยฝันอยากเป็นดาราหนัง หน้าโรงหนังมีภาพดาราติดไว้ และถูกดึงออกไปทุกวันศุกร์ เมื่อหนังใหม่เข้ามาฉาย แต่คังคุไบก็เป็นหนึ่งในดาราของหนังฟอร์มยักษ์ ดวงดาราแห่งกามธิปุระ รูปเธอติดอยู่บนกำแพงของเมืองนี้ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ยาวนานกว่าภาพดาราคนใดๆ และหนังเรื่องนี้ ก็คือ เรื่องราวของ ราชินีมาเฟีย นักต่อสู้เพื่อสิทธิโสเภณี

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย