กรณีศึกษา องค์อร เฟอร์นิเจอร์ ถอดสูตรจากทฤษฎี สู่การเรียนรู้จริงนอกตำรา  ในศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์

Text : นิตยา สุเรียมมา

Photo : เจษฎา ยอดสุรางค์

     ความสำเร็จของการบริหารและจัดการธุรกิจแบบ TOYOTA กลายมาเป็นองค์ความรู้ และตำราที่ถูกเขียนขึ้นมาหลายต่อหลายเล่ม เพื่อเป็นต้นแบบและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการธุรกิจของการทำธุรกิจ และเพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ให้กระจายออกไปสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ ได้มากขึ้น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จึงได้ริเริ่มการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” หรือ Toyota Social Innovation (TSI) ขึ้นมา ด้วยปณิธานที่มุ่งสนับสนุนชุมชนอย่างยั่งยืน

     โดยนำปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ อันได้แก่ วิถีโตโยต้า, ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ธุรกิจท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน อันเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ถอดสูตรจากทฤษฎี สู่การเรียนรู้จริงนอกตำรา

     บริษัท โตโยต้าฯ ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2559 ณ กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อต่อยอดนำองค์ความรู้ในการผลิต การทำงาน และปรัชญาของโตโยต้ามาถ่ายทอดต่อในรูปแบบการเรียนรู้จริงที่สามารถจับต้องได้ และล่าสุดได้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ 3 ขึ้นมา ณ บริษัท รตาวัน จำกัด จังหวัดเชียงราย ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ภายใต้แบรนด์ “องค์อร เฟอร์นิเจอร์” เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของภาคเหนือ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

     โดยบริษัท รตาวัน ได้เข้าร่วมโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อปรับปรุงพัฒนาธุรกิจตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งในขณะนั้นปัญหาหลักของธุรกิจ ก็คือ การขาดการวางแผนงานที่เป็นระบบ จึงทำให้เสียโอกาสในการขาย ถึงแม้ฝ่ายขายจะขายงานมาได้ แต่ก็ไม่สามารถรับออร์เดอร์จากลูกค้าได้ เนื่องจากให้คำตอบระยะเวลาการผลิตที่ชัดเจนไม่ได้ โดยเคยมีลูกค้ารอออร์เดอร์นานสูงสุดถึง 6 เดือน ซึ่งปัญหาใหญ่ๆ เกิดจาก

     1. ใช้วิธีผลิตแบบ Single station คือ ช่าง 1 คนต่อ 1 โมเดล โดยลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่แบกไม้ ตัดไม้ เลื่อยไม้ ไสไม้ ไม่มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนให้กับผู้ช่วย ทำให้ต้องใช้เวลาในการผลิตจากการเตรียมวัสดุและขึ้นโครงนานเฉลี่ยมากกว่า 50 ชั่วโมง/เฟอร์นิเจอร์ 1 ตัว ต้นทุนการผลิตจึงสูงขึ้น

     2. ปัญหางานพ่นสีที่มีขั้นตอนมากเกินไปจากการทำงานซ้ำซ้อน เช่น การขัดผิวไม้และพ่นสีทำอยู่ในบริเวณใกล้กัน ไม่ได้มีการแยกห้องออกมาให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ทำให้ขณะที่พ่นสีอยู่ฝุ่นจากการขัดมาติดที่ชิ้นงานได้ ต้องกลับไปแก้ไขใหม่ โดยเคยต้องซ่อมงานใหม่สูงสุดมากถึงกว่า 200 จุด นอกจากนี้เมื่อพ่นสีเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องใช้เวลารอสีแห้งอีกกว่า 7 ชั่วโมงจึงจะสามารถเคลื่อนย้ายได้ งานใหม่จึงไม่สามารถทำต่อได้เลยทันที ทำให้รวมๆ แล้วต้องเสียเวลาในขั้นตอนการพ่นสีจนเสร็จเรียบร้อยต่อเฟอร์นิเจอร์ 1 ตัวนานกว่า 43 ชั่วโมง นอกจากนี้ห้องพ่นสียังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีกลิ่นสีฟุ้งกระจายออกมา จนเกิดการร้องเรียนจากชุมชน

     3. เก็บสต็อกไว้มากเกินความจำเป็น ทำให้ต้นทุนจม เมื่อเก็บไม้ไว้นานยังอาจสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้ด้วย เช่น ไม้ขึ้นรา แตกหัก นอกจากนี้ยังไม่มีการจัดแยกประเภทและขนาดให้ชัดเจน ขาดการจัดลำดับการใช้งานก่อนมาหลัง ทำให้ต้องเสียเวลาในการค้นหาเมื่อต้องนำมาใช้งานจริง

ผลลัพธ์จากการเรียนรู้จริง ลงมือทำจริง

     โดยหลังจากที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ ทำให้แก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจได้ ดังนี้

     1.ใช้ระบบ Share workload ปรับการทำงานระหว่างผู้ช่วยช่างกับช่าง โดยให้ช่างเป็นผู้ประกอบอย่างเดียวประจำโต๊ะ  และให้ผู้ช่วยเป็นคนเดินงาน เพื่อเตรียมขึ้นรูปชิ้นส่วนต่างๆ ให้เบื้องต้น ทำให้ลดขั้นตอนการทำงานลง สามารถส่งมอบงานได้เร็วขึ้น เช่น จากการผลิตโครงไม้สามารถลดลงจาก 50 ชั่วโมง เหลือเพียง 43 ชั่วโมง

     2. ทำ Dolly เพื่อรองรับชิ้นงานเมื่อพ่นสีเสร็จ ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยใช้เศษไม้ที่มีอยู่แล้วมาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์ขึ้นมา ทำให้ตัดขั้นตอนการรอสีแห้งซึ่งใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมงออกไป โดยสามารถพ่นสีตัวใหม่ต่อได้ในทันที จากขั้นตอนการพ่นสีทั้งหมดที่ต้องใช้เวลา 43 ชั่วโมงก็ลดเหลือเพียง 25 ชั่วโมงเท่านั้น

     3. จัดทำบอรด์มาตรฐานการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ประเภทของไม้ที่ใช้ จำนวน ขนาด และบอรด์ควบคุมงานเข้า - ออก ตั้งแต่คำสั่งซื้อ จนถึงกำหนดเวลาส่งมอบงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางและกำหนดเป้าหมายในการทำงาน จากปัญหาที่ทำให้สูญเสียโอกาสในการขาย เพราะไม่สามารถให้คำตอบระยะเวลาการผลิตที่แน่นอนได้ ก็สามารถทำได้

     4. เคลียร์สต็อกเก่าออก วางระบบสต็อกใหม่ อะไรที่ไม่ใช่ ก็ทิ้ง อะไรที่ยังใช้ได้ แต่นานแล้ว ก็จัดทำโปรโมชั่นขายออกไป เพื่อให้ได้ทุนคืนกลับมา และประหยัดพื้นที่จัดเก็บ จากนั้นลองบริหารจัดการสต็อกใหม่ให้พอดีกับจำนวนการผลิต เช่น จากไม้อัดที่เดิมสั่งมาตุนไว้เดือนละแสนกว่าบาท ก็ปรับลดลงมาเหลือเพียง 5 หมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้น ทำให้ช่วยลดต้นทุนจมในธุรกิจลงได้

SME เข้ามาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

     โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจ สามารถเรียนรู้ได้จากศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในแต่ละแห่ง ก็คือ รูปแบบของทฤษฎีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริงและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม จากผู้ประกอบการเคสตัวอย่างที่ได้เข้าร่วมพัฒนาปรับปรุงกับโตโยต้า ซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ จากในชีวิตจริง

     ยกตัวอย่างเช่น ภายในศูนย์การเรียนรู้โตโยต้าฯ แห่งที่ 3 นี้ นอกจากจะได้เข้ามาดูตัวอย่างการทำงานจริงของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังได้เรียนรู้การวางแผนธุรกิจตลอดทั้งกระบวนการตั้งการผลิต จนถึงการส่งมอบงานให้ลูกค้า,  การลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้ธุรกิจจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยระบบไคเซ็น (Kaizen) ซึ่งประกอบด้วย รู้ – รู้ปัญหาในกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้น, เห็น – เห็นแนวทางการแก้ไข, เป็น – ทำเป็น ลงมือแก้ไขด้วยตัวเองก่อน โดยไม่ต้องใช้การลงทุนเยอะ, ใจ – เข้าใจ ใส่ใจ ดูแลทุกส่วนของธุรกิจอย่างใกล้ชิด, การบริหารจัดการสต็อกให้พอดี ช่วยลดต้นทุนจม เป็นต้น

     โดยนอกจากศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 3 แล้ว ในอนาคตบริษัท โตโยต้าฯ ยังมีเป้าหมายในการขยายศูนย์การเรียนรู้ฯ ต่อเนื่องให้ครบ 12 จังหวัด ตามเขตเศรษฐกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเฟ้นหานวัตกรรมทางความคิดใหม่ๆ อาทิ การนำระบบกลไกอัตโนมัติ (Automation) มาปรับใช้กับโครงการฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มธุรกิจชุมชน นำไปต่อยอดในการขับเคลื่อนเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไปด้วย

     นับเป็นอีกตัวอย่างโครงการดีๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่หันมาให้ความสำคัญกับท้องถิ่นชุมชน อันเป็นฐานรากสำคัญต่อไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน