ทำอย่างหนึ่งให้ดีที่สุด สูตรสร้างธุรกิจยืนหยัดกว่า 3 ศตวรรษ Twinings แบรนด์ชาชื่อดังจากอังกฤษ

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     หากพูดถึงแบรนด์สินค้าที่เก่าแก่สุดในโลก แน่นอนว่า Twinings แบรนด์ชาจากประเทศอังกฤษ ย่อมติดอันดับต้นๆ เพราะก่อตั้งเมื่อ 300 กว่าปีก่อน จนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ยั้งยืนยง อีกทั้งภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็ดีคงเส้นคงวามาตลอด เป็นไปได้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจชาเติบโตอย่างมั่นคงเพราะชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำนั่นเอง 

     เครื่องดื่มชาถูกค้นพบในยุคจักรพรรดิเสินหนง โดยครั้งหนึ่งน้ำดื่มที่ข้าราชบริพารนำมาถวายมีสีน้ำตาลและส่งกลิ่นหอม เพราะมีใบไม้ชนิดหนึ่งตกลงไปในหม้อต้มโดยบังเอิญ เมื่อลองเสวยดูก็พบว่า น้ำต้มนั้นมีรสชาติดี อีกทั้งยังให้ความรู้สึกสดชื่น หลังจากนั้นชาก็กลายเป็นที่รู้จักและนิยมดื่มกันทั่วไปในเมืองจีน ชาได้เดินทางมาถึงประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2158 จากการแนะนำของบริษัทอีสต์ อินเดีย จำกัด ส่วนผู้ที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการดื่มชาของสังคมอังกฤษมากที่สุดคนหนึ่งคือ แคเธอรีน เดอ บรากันซา ราชินีชาวโปรตุเกสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ที่มักเชิญพระสหายมาร่วมดื่มชาและสังสรรค์กัน หลังจากนั้นไม่นาน วัฒนธรรมการดื่มชาก็ได้รับความนิยมในสังคมอังกฤษอย่างรวดเร็ว

     สำหรับที่มาของ Twinings ผู้ที่ให้กำเนิดชาแบรนด์นี้จนกลายเป็นตำนานคือ โธมัส ทไวนิง อดีตพนักงานบริษัทอีสต์ อินเดีย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการนำเข้าชาจากทั่วโลก ในวัยเพียง 26 ปี เขาเริ่มคิดเปิดธุรกิจนำเข้าชาเป็นของตัวเอง เริ่มด้วยการซื้อกิจการร้าน TOM'S COFFEE HOUSE บนถนน Strand ในกรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ.2249 สถานที่ตั้งนี้เองถือเป็นหนึ่งในกุญแจสู่ความสำเร็จทางธุรกิจของ Twinings เพราะตั้งอยู่ระหว่างกรุงลอนดอน และเมืองเวสต์มินสเตอร์ พื้นที่ที่ชนชั้นสูงนิยมมารวมตัวกันเพื่อพบปะสังสรรค์ หรือทำธุรกิจ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน เช่น นักกวี ทหาร ฯลฯ

     ที่ร้าน TOM'S COFFEE HOUSE โธมัสตั้งใจนำชามาเป็นจุดขายเพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านกาแฟอื่นๆ ที่กำลังเป็นที่นิยม ด้วยวิสัยทัศน์ของเขาที่มองเห็นว่าชาจะกลายเป็นที่นิยมในอนาคต และด้วยภาษีนำเข้าของชาที่แพงมากขนาดทำให้ชาเขียวกันพาวเดอร์ (Gun Powder Green Tea) ของ Twinings ที่ขายในปี พ.ศ.2249 มีราคาสูงถึง 160 ปอนด์ต่อ 100 กรัม ชาจึงเป็นเครื่องดื่มสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น นอกจากนั้น เขายังสามารถจำหน่ายใบชา Twinings ไปสู่ร้านกาแฟอื่นๆ ได้อีกด้วย

     สำหรับสาวสังคมชั้นสูง การจะเข้าไปในโลกของผู้ชายที่ร้านกาแฟถือเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ในสมัยนั้น แต่ที่ TOM'S COFFEE HOUSE ของโธมัส ทไวนิง พวกเธอสามารถได้รับการต้อนรับและบริการอย่างดีด้วยชาคุณภาพสูงรสเลิศ จึงไม่แปลกที่จะมีสาวสังคมชั้นสูงจำนวนมาก รวมถึง เจน ออสเตน นักเขียนชื่อดังมาเป็นลูกค้าประจำที่ร้าน และทำให้ TOM'S COFFEE HOUSE ได้รับความนิยมสูงมากจนประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แม้แต่สมเด็จพระราชินีแอนน์ยังทรงแต่งตั้ง โธมัส ทไวนิงให้เป็นผู้นำชามาส่งให้ในวังเครื่องดื่มประจำราชสำนัก และภายหลังพระนางเจ้าวิกตอเรียทรงพระราชทานตรารับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นเครื่องดื่มประจำราชสำนักตราบจนถึงทุกวันนี้

     การผ่านกฎหมายลดภาษีชาของรัฐบาลอังกฤษส่งผลต่อธุรกิจชาอย่างยิ่งคือ ทำให้การบริโภคชาในประเทศเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปี พ.ศ.2292 Twinings ส่งออกชาเป็นครั้งแรก โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจุดหมายปลายทางแห่งแรก และผู้ว่าการแห่งนครบอสตัน ในขณะนั้นก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของชา Twinings ปี พ.ศ.2330 มีการออกแบบโลโก้ Twinings เป็นครั้งแรก เป็นเวลา 220 ปีเต็มที่โลโก้นี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องหมายการค้ามาจนถึงปัจจุบัน  

     Twinings พัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการปรุงชาสูตรต่างๆ ขึ้นมา ชายุคแรกๆ ที่ถูกปรุงและยังจำหน่ายทุกวันนี้ ได้แก่ English Breakfast Tea, Irish Breakfast, Earlgrey และ Ceylon พร้อมๆ กับที่ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก นวัตกรรมชาซองก็ถูกแนะนำสู่ผู้บริโภค ภายใต้การบริหารและจัดการของบริษัท Associated British Food & Beverage ตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 ปัจจุบันชาภายใต้แบรนด์ Twinings วางจำหน่ายกว่า 200 รสชาติ และยอดขายชาซองเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 7,000 ล้านซอง

     ทายาทรุ่นที่ 10 จากตระกูลทไวนิงคนเดียวที่ยังคลุกคลีในธุรกิจชา คือ สตีเฟ่น ทไวนิง ซึ่งนั่งเก้าอี้ Director of Corporate Relations หน้าที่ของเขาคือ การเป็น Tea Ambassador ที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อผลักดันวัฒนธรรมการดื่มชาให้เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในสังคม

     ต่อคำถามที่ว่าอะไรถึงทำให้ Twinings ยืนหยัดอยู่ได้ยาวนานขนาดนี้ คำตอบของสตีเฟ่น คือ... 

     “เรามีปรัชญาทางธุรกิจที่เรียบง่ายมาก นั่นคือทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ดีที่สุด เสาะหาใบชานำมาปรุงเพื่อให้ได้ชาคุณภาพสูง ที่ Twinings เราจะมีคนชิมชาที่ผ่านการฝึกจนเชี่ยวชาญ นอกจากนั้น มาตรฐานการผลิตก็ต้องสูง กระบวนการผลิตพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเลือก การปรุง การชิม การทดสอบรวม 7 ขั้นตอนเพื่อให้แน่ใจว่าชานั้นจะออกมาอย่างที่ควรต้องเป็น จึงสร้างความไว้วางใจให้ผู้บริโภค เมื่อพูดถึงชา พวกเขาจึงนึกถึง Twinings”

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกธุรกิจย่อมมีคู่แข่ง วงการชาก็เช่นกัน Twinings ไม่ได้เพิกเฉยต่อการแข่งขันทางธุรกิจ แม้จะเป็นแบรนด์ดังที่อยู่คู่โลกมานานกว่า 300 ปี ทั้งยังเป็นชาประจำราชสำนักที่ราชวงศ์อังกฤษให้ความไว้วางใจ แต่ Twinings ไม่มีไร่ชาเป็นของตัวเองเลยสักแห่ง นอกเหนือจากชื่อเสียงและการเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่ถือเป็นแต้มต่อเหนือคู่แข่ง การไม่มีไร่ชาของตัวเองก็เป็นข้อได้เปรียบเช่นกัน เนื่องจากไม่ต้องจำกัดว่าจะต้องใช้จากไร่ตัวเอง แต่มีความเป็นอิสระสูงในการคัดเลือกใบชาแหล่งต่างๆ รวมแล้วกว่า 30 ประเทศทั่วโลก 

     ไม่เพียงเท่านั้น การผลิตชาให้ตรงกับรสนิยมผู้บริโภคในท้องถิ่นก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ อย่างในตลาดจีนที่วัฒนธรรมการดื่มชาฝังรากลึกมานาน Twinings ซึ่งเป็นชาต่างประเทศกลับเอาชนะคู่แข่งและได้รับการยอมรับจากชาวจีน โดยกลยุทธ์ที่นำมาใช้คือ การนำเสนอสินค้าที่ไม่มีขายตามร้านชาท้องถิ่นทั่วไป และการพัฒนาคุณภาพและรสชาติอย่างต่อเนื่อง 

     “ในตลาดจีน ธุรกิจของ Twinings เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก และถือเป็นตลาดที่โตเร็วที่สุดในบรรดา 140 ประเทศที่สินค้าของบริษัทเข้าไปวางจำหน่าย คาดว่าตลาดชาในจีนจะเติบโตไปอีกหลายปี”

     แม้การแข่งขันจะเข้มข้นดุเดือด แต่กระแสเพื่อสุขภาพจะยิ่งส่งเสริมให้คนหันมาดื่มชามากขึ้น ตลาดชาจึงยังส่อแววสดใสอีกยาวนาน เชื่อว่า Twinings จะยังเป็นชาอังกฤษแท้ที่คงรสชาติเยี่ยมละเมียดละไม และยังสร้างสรรค์สูตรชาใหม่ๆ หลากหลายสูตรออกมาจนเป็นที่ยอมรับจากนักดื่มชาทั่วโลกเฉกเช่นไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมากว่า 300 ปี

7,000 ล้านซอง คือ ยอดขายชาซอง Twinings ต่อปี โดยปัจจุบันมีวางจำหน่ายกว่า 200 รสชาติด้วยกัน 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น