เที่ยวเมืองเก่าเล่าอดีต ครบวาระ 255 ปี การกอบกู้กรุงศรีฯ อยุธยาไม่เคยสิ้น รากเราไม่เคยสูญ

TEXT : วิชชุ ชาญณรงค์

PHOTO : อรุโณทัย

 

     อยุธยาอดีตราชธานีอันรุ่งโรจน์ รากลึกแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเคลื่อนย้าย หลายคนปฏิเสธท่องเที่ยวเมืองเก่าเพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ซากอิฐหินปรักหักพัง แต่เมื่อประวัติศาสตร์ไม่ได้มีเพียงการรบราฆ่าฟัน โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัดเก่าแก่ ซึ่งยังคงขรึมขลังทรงคุณค่า รูปธรรมที่สะท้อนความมั่งคั่งร่ำรวยและสุนทรียะอันล้ำเลิศ ขณะเดียวกันก็สะท้อนปรัชญาการใช้ชีวิตอันละเอียดอ่อนในชุมชนพหุวัฒนธรรม อยุธยาจึงเต็มไปด้วยลมหายใจที่ยังมีชีวิต ยังคงน่าเรียนรู้ สัมผัสมิเสื่อมคลาย

     นักท่องเที่ยวฝรั่งมังค่าผู้รักเรื่องราวประวัติศาสตร์ บางคนถึงขั้นเอ่ยว่าคนไทยโชคดีหลังจากได้เข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมที่จับต้องได้เฝ้ามองความหลากหลายของผู้คน ซึ่งอยู่ร่วมกันมีทั้งโบสถ์คริสต์ วัด มัสยิด และศาลเจ้า วัดเก่าโบราณมากกว่าร้อยแห่งในพื้นที่รอบเกาะกรุงเก่าเสมือนสื่อสะท้อน ศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนาที่บรรจงวาดไว้ในพุทธศาสนสถาน ผนวกกับประติมากรรมอยุธยาตอนปลาย เสน่ห์ที่ผสมผสานการสืบทอดทางวัฒนธรรมจากรากอารยธรรมดั้งเดิมในภูมิภาค ผสานรับเอารสนิยมจากภายนอกมาปรับใช้เกิดเป็นรูปแบบศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์กระทั่งยังส่งต่อมายังปัจจุบัน

     ความมีเสน่ห์ของเมืองเก่าแห่งนี้จึงยังเป็นที่หมายปองสำหรับผู้หลงใหลรากอันเก่าก่อน หากใครติดตามข้อมูลข่าวสารคงทราบดีว่า เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2560) คือ ปีที่ครบวาระ 250 ปี การกอบกู้กรุงศรีอยุธยา และการสถาปนากรุงธนบุรี 2 ยุคสมัยแห่งการสร้างสรรค์รอยเชื่อมต่อแห่งความงดงาม มีนิทรรศการ และเสวนาหลายเวทีหยิบยกเมืองมรดกโลกแห่งนี้มาเล่าในมุมต่างๆ เพราะยังมีผู้คนมากมายให้ความสนใจ ประเด็นแห่งการฟื้นฟูรากให้กลับมาแข็งแรงดั่งเดิมและต่อยอดประยุกต์ให้ร่วมกับสมัย โดยเฉพาะเรื่องราวของชาวบ้าน ความเป็นอยู่ การค้า และสภาพสังคม นอกเหนือไปจากเรื่องสงคราม

     “เมื่อไหร่ก็ตามที่เรานึกถึงแง่มุมทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็แปลกอยู่เหมือนกันที่อยู่ดีๆ เราก็จะนึกถึงอยุธยาในฐานะของสงครามบ้างล่ะ ยุทธหัตถีบ้างล่ะ ประหลาดดีนะครับที่ทำไมภาพจำของอยุธยา ที่คนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึงในแง่มุมของประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องของการเสียกรุงครั้งที่ 2”

     อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระกล่าวในสารคดีเรื่อง “อยุธยาที่ไม่รู้จัก” ตอน “อยุธยาที่หายไป”

     ความรู้เหล่านี้จึงเป็นพรมแดนของอยุธยาที่คนอีกไม่น้อยยังไม่ค่อยจะรู้จักกัน เช่นเดียวกับเรื่องของการค้าที่ส่วนใหญ่พูดกันแค่ว่า “อยุธยาถือเป็นเมืองท่าสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ว่า คนเป็นตัวแทนการค้าให้กับทางอยุธยาล้วนเป็น “คนนอก” ซึ่งคนไทยเรียกว่า “แขก” และ “เจ๊ก” เพราะคนไทยท้องถิ่นจริงๆ เดินเรือทะเลไม่เป็นจึงต้องให้ “เจ๊ก” เป็นกรมท่าซ้ายช่วยเจรจาค้าขายกับฝ่ายจีน และให้ “แขก” เป็นกรมท่าขวาทำการค้ากับกลุ่มชนชาติที่อยู่ถัดไปจากฝั่งทะเลอันดามัน

     หรือเรื่องราวของคนนอกศาสนา (ไม่ใช่พุทธ) เราก็ไม่ค่อยจะพูดถึงกันสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้ต่างมีบทบาทที่สำคัญในสังคมอยุธยาเช่นกัน เช่น เรื่องของบาทหลวง หรือคนเข้ารีตและเรื่องราวเหล่านี้ ก็มักจะมีการจดบันทึกเป็นอย่างดี (ตามประสาฝรั่ง) แต่เรากลับไม่รู้กันเลยว่า ลูกครึ่งอยุธยารายหนึ่งเคยไปเรียนต่อเมืองนอกถึงนครวาติกันและได้ดิบได้ดีจนเกือบจะได้เป็นพระคาร์ดินัล แต่ด้วยความอยากกลับบ้าน นักเรียนนอกท่านนี้จึงปฏิเสธและเดินทางกลับมาตายที่บ้านเกิด

     การไปเที่ยวอยุธยาจึงมีมุมน่าสนใจมากกว่าแค่ไปซื้อโรตีสายไหมหรือไปกินกุ้งแม่น้ำเผาตัวโตๆ เช่นเดียวกับสถานที่และเรื่องราว Hidden Gems อีกหลายแห่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงทั้งในเรื่องราวของวัดวาอาราม คีตกรรมและนาฏกรรม ลองซอกแซกไปตามถนนอู่ทองเลียบรอบเกาะเมือง เลาะไปตามถนนสายเล็ก มุ่งไปยังคลองสระบัวไกลห่างจากย่านวัดเก่าเดิมๆ ที่เคยไปแวะชมตรงใต้ร่มไม้ใหญ่คุณจะพบอาณาขอบเขตของวัดตะไกรตั้งอยู่นอกเกาะเมืองภายในเขตพุทธาวาส มีเจดีย์แปดเหลี่ยม ล้อมรอบกำแพงแก้ว มีอุโบสถ วิหาร พระปรางค์ และเจดีย์ราย

     ว่ากันว่าวัดแห่งนี้ปรากฏชื่อในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผนตามเรื่องเล่าในเสภาซึ่งได้เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตามตำนานระบุว่า วัดแห่งนี้นี่เองที่ขุนช้างบวชให้นางพิม บริเวณหน้าวัดมีสระน้ำถึง 2 บ่อ แถมยังมีต้นตะเคียนเก่าแก่ ซึ่งน่าจะมีเพียงที่นี่ที่เดียวในอยุธยา ไม่ไกลกันเลาะไปทางตลาดคลองสระบัว ท้องทุ่งกว้างมีคลองขนาดกลาง ล้อมรอบเป็นที่ตั้งของวัดพระยาแมนเป็นวัดประจำรัชกาลของพระเพทราชา ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่นี่มีอุโบสถใหญ่ตั้งตระหง่านผนังมีการเจาะช่องเพื่อตั้งเชิงเทียน ทางโบราณคดียังชี้ด้วยว่าอุโบสถหลังนี้มีการสร้างทับซ้อนกันถึง 3 สมัย

     นอกจากนี้ งานหัตถศิลป์สานปลาตะเพียนก็น่าแวะชม อีกอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่า ความประณีตละเอียดอ่อนของงานสะท้อนผ่านความหวานของรูปร่าง ลวดลายบนตัวปลา และความสมดุลของการประกอบเป็นรูปเป็นร่างงานประดิษฐ์สืบทอดกันมานานนับกว่าร้อยปีที่อยู่คู่ชาวอยุธยา รวมถึงบ้านทำโขน หรือ พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น (เกริก ยุ้นพันธ์) มีของเก่าโบราณมากมายให้ได้ยลน่าสนใจไม่น้อยในแง่ท่องเที่ยวเรียนรู้

     ออกไปไกลนอกเมืองหน่อยนั่งกระเช้าข้ามฟากไปชมความงดงามของวัดนิเวศธรรมประวัตินอกเกาะด้านใต้ วัดนี้มีความแปลกสวยงามตามพระราชประสงค์ขององค์รัชกาลที่ 5 โปรดให้ถ่ายแบบ วัดคริสตศาสนาศิลปะแบบโกธิกมาสร้างเป็นพระอุโบสถ ความสวยงามเร้นซ่อนอยู่ตรงเหนือประตู อีกทั้งยังคงความวิจิตรบรรจงไว้อีกหลายส่วน ขณะที่ใครจะเอาฤกษ์เอาชัยไหว้พระวัดดังอย่างวัดพนัญเชิง วัดใหญ่ชัยมงคล วัดมหาธาตุ หรือวัดท่าการ้องที่มีตลาดน้ำเต็มไปด้วยขนมไทยหากินยาก แถมยังได้แวะสักการะพระพุทธรูป ศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อยิ้มเติมบุญกันให้อิ่ม เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตรับปีใหม่อีกด้วย 

     น่าเสียดายหากความงดงามเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาของชาติที่เราเองยังรู้สึกเบื่อ ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งล้วนทรงคุณค่าและสมควรได้รับการสืบทอด เริ่มต้นปีด้วยการเดินทางแบบเรียบง่าย มีสติ ชีวิตที่ดีงามคืออะไร? ขอให้ได้รับคำตอบที่สมปรารถนา...โชคดีและสวัสดีปีใหม่

Information

     ขอแนะนำเส้นทางที่สามารถขี่จักรยานได้ประมาณ 9 เส้นทาง สอบถามรายละเอียดเส้นทางเพิ่มเติมได้ที่สำนักงาน ททท.พระนครศรีอยุธยา โทร. 0-3524-6076-7, สำนักงานตำรวจท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยา (บางวันมีตำรวจอาสาท่องเที่ยวนำปั่น) และสามารถหาเช่าจักรยานได้ที่บริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟ บริเวณตลาดเจ้าพรหมและตามเกสต์เฮาส์ต่างๆ ได้ในอัตราคันละประมาณ 30-70 บาทต่อวัน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน