"บ้านใบ" คิดต่างขายชาเบลนด์สูตรเฉพาะ เอาชนะวิถีเดิมที่เกือบทุกร้านในเมืองใต้มีน้ำชาให้กินฟรี!

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • “บ้านใบ” ร้านชาในอำเภอตะกั่วป่า ของคู่รักประดิษฐ์ต้นไม้จิ๋ว หรือ ต้นไม้สายย่อ ที่วันหนึ่งตัดสินใจย้ายตัวเองจากเมืองกรุง กลับไปตั้งรกรากอยู่ที่บ้านเกิด

 

  • นอกจากจะยืดอาชีพทำต้นไม้จิ๋วอย่างที่ถนัดแล้ว ทั้งคู่ยังได้เพิ่มเติมอาชีพการปรุงชาเบลนด์สูตรต่างๆ ออกมาด้วย จริงจังจนถึงขั้นคิดทำสูตรเบลนด์ชาขึ้นมาให้เหมาะกับสุขภาพและร่างกายของลูกค้าแต่ละคนด้วย

 

     ด้วยสถานการณ์ของโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงบ่อยจนยากจะคาดเดาได้ COVID-19 คือ ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน จนทำให้บางคนรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองปลอดภัยสำหรับพวกเขาอีกต่อไป ‘บ้านใบ” จึงกลายเป็นผลพวงของการเอาตัวรอดที่อัดฐานแน่นด้วยแรงบันดาลใจจากความรักของทั้ง เฟรม - รัตมา เกล้านพรัตน์ และ บอส - ชัยพร เวชไพรัตน์ ในช่วงเวลาที่ทั้งคู่รู้สึกว่าตะกั่วป่าเหมาะสมกับการโอบอุ้มครอบครัวเล็กๆ ให้เติบโตในเชิงคุณภาพมากกว่าการใช้ชีวิตต่อที่เมืองกรุง

     ตะกั่วป่า คือ เมืองเล็กๆ ในปัจจุบัน ที่เคยรุ่งเรืองในยุคที่แร่ดีบุกเฟื่องฟู ความรุ่งโรจน์ยังสว่างไสวในความทรงจำของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน หากใครนึกภาพเหล่านั้นไม่ออก ภาพยนตร์เรื่อง “มหา’ ลัยหมืองแร่” ตอบคุณได้

     “บ้านใบ มาจากชื่อ ชูใบ ลูกสาวค่ะ แล้วเพื่อนลูกเวลาขับรถผ่านร้านจะชอบพูดว่า บ้านใบ บ้านใบ เราก็เลย อ่ะ..ชื่อบ้านใบก็ได้ แล้วก็บังเอิญที่มาคล้องกับ บอนไซ ชา และสลัดพอดี ที่มีแต่ตระกูลใบ ใบไม้ ใบชา ผักสลัดใบ” เฟรมเล่าที่มาของชื่อร้าน

     “เฟรม เป็นคนตะกั่วป่า ผมเคยมาลองใช้ชีวิตที่นี่ เห็นความสวยงามของชีวิตในเมืองเล็กๆ นี้ แต่พอมาอยู่จริงหนึ่งปีกับเดือนเดียว มันรู้สึกกันคนละอย่างเลย ยิ่งช่วงล็อคดาวน์ที่เฟรมชวนมาอยู่ตะกั่วป่า แล้วไม่ได้ติดเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากินอะไรมาเลย ทำให้ยิ่งยาก เลยตัดสินใจทำต้นไม้จิ๋วต่อ เพราะเติบโตมากับต้นไม้ตลอด ตั้งแต่คุณพ่อแล้ว ได้ลงมือสร้างเพิงขายต้นไม้และเผื่อพื้นที่ไว้ใช้เวิร์กชอปในอนาคต”

     บอสเล่าให้ผมฟังถึงความแตกต่างของมุมมองระหว่างการใช้ชีวิตระยะยาวกับการมาเที่ยวชั่วครั้งชั่วคราว ตะกั่วป่าเมืองเล็กๆ เต็มไปด้วยความสวยงามของธรรมชาติ แต่พอมาอยู่จริง แทบไม่ได้โฟกัสกับสิ่งรอบข้างเหล่านี้เลย เพราะใช้เวลาไปกับการมองหาความมั่นคงของชีวิตมากกว่า

     ในขณะที่เฟรมเสริมให้ผมฟังว่า มีความตั้งใจจะกลับมาอยู่ที่ตะกั่วป่าอยู่แล้ว แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วกว่าแผนที่วางไว้ ตอนแรกคิดแค่ว่าจะสร้างเพิงเก็บดินและขายต้นไม้เท่านั้น เพราะทั้งคู่เคยทำแบรนด์ miNATURE_c ขายต้นไม้จิ๋วที่กรุงเทพมาก่อน พอสร้างเสร็จฉุกคิดได้ว่า คนทั่วไปที่นี่ ตื่นมาเขาก็เจอกับต้นไม้ ภูเขาแล้ว เลยไม่แน่ใจว่า ต้นไม้ที่ทำจะกลายเป็นสิ่งน่าสนใจอยู่หรือเปล่า จากเพิงขายต้นไม้เลยกลายเป็นรูปเป็นร่างของร้านเครื่องดื่มแทน

     “จริงๆ เราอยากทำชาอยู่แล้ว แต่ติดตรงที่เคยมีคำถามว่า ชาจะขายได้หรือ ในเมืองใต้ที่มีน้ำชากินฟรีเกือบทุกร้าน ทำให้อยากใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองก่อน โดยค่อยๆ เอาชาเข้ามาในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ เรียนรู้ เราอยากทำให้เกิดการรับรู้ว่าจริงๆ แล้วชายังมีอีกมากมายหลายชนิด บ้านใบจึงกลายเป็นร้านที่จริงจังเรื่องชาขึ้นมา” เฟรมเล่า

     เริ่มแรกร้านขึ้นชื่อเรื่องสลัด เพราะทั้งคู่ปลูกผักกันเอง แต่ด้วยปัญหาของโรงเรือนออกแบบมาไม่เหมาะสม ทำให้ผักสลัดโตไม่เต็มที่ เลยหาชาวบ้านที่มีความชำนาญกว่าผลิดส่งให้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นผักปลอดภัย ปลูกดินเท่านั้น เพราะโดยนิสัยส่วนตัวของทั้งสอง มักมองหาแต่วัตถุดิบที่มั่นใจว่าคนในบ้านกินแล้วปลอดภัย โดยเฉพาะลูกสาวที่มีอาการแพ้กลูเตนและไข่ เลยส่งผลไปถึงการหาวัตถุดิบเข้าร้าน

     เมื่อพูดถึงเรื่องชาอีกครั้ง เฟรมบอกว่าเธอสนใจมาประมาณ 8 ปีแล้ว ด้วยที่บ้านเป็นคนเชื้อสายจีน ดื่มชาเป็นประจำ แต่ไม่เคยมานั่งตกผลึกว่าจะทำเป็นอาชีพ จนเมื่อไม่นานบอสขอให้ทลายกำแพงความไม่มั่นใจ จากที่เคยช่วยบอสเรื่องต้นไม้จิ๋วมาแล้ว วันนี้ขอให้ทำชาสักทีเถอะ จึงเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เธอตัดสินใจมาศึกษาเรื่องชาจริงจัง

     แต่ปัญหาสิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่เจอ ก็คือ คนมักมองว่าทั้งต้นไม้จิ๋วและชาเป็นแค่กิจกรรมของคนมีอายุ กลายเป็นเรื่องท้าทายให้บอสและเฟรมต้องแก้โจทย์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและเปิดกว้างมากขึ้น

     “จริงๆ คนเราน่าจะรู้จักชามาก่อนกาแฟเสียอีก โตมาก็เจอชาแล้ว เสียดายที่ชาอาจจะเป็นเป็นสิ่งแรกที่เราเจอ แต่กลายเป็นสิ่งแรกที่เราลืม” เฟรมสะท้อนความในใจเรื่องชา

     บอสบอกว่า พวกเขาไม่ได้จะทำธุรกิจโดยการขายของบนความฝัน อย่างน้อยการมีเครื่องดื่มและอาหารจะทำให้ร้านอยู่รอดได้ โดยอิงแนวคิดการทำธุรกิจแบบพอแล้วดี แผนต่อไปของบ้านใบ คือ การทำให้คนทั่วไปรู้จักชามากขึ้น ชั้นสองของร้านจะทำเป็นส่วนของชาทั้งหมด มีเรื่องของการเบลนด์ชาโดยคิดจากองค์ประกอบพื้นฐานของลูกค้าคนนั้นๆ และเชื่อมโยงกับเรื่องอาหารการกินเพื่อสุขภาพ โดยมีการศึกษาร่วมกับเพื่อนๆ ในแวดวงทั้งแพทย์แผนไทยและแผนจีน จะมีการทำตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน นอกจากนี้อนาคตอาจจะทำเป็นมุมอ่านหนังสือที่ลูกชอบด้วย

     “ร้านอาหารปลอดภัย ที่มีเครื่องดื่มชา” เฟรมนิยามร้านในที่สุด

     บอสกับเฟรมให้ผมชิมชาเบลนด์สกัดเย็น “คำหอม”  โปรดักต์ใหม่ที่บอสบอกว่าสามารถเก็บในตู้เย็นได้ ดื่มหมดแล้วเติมน้ำได้อีก 4-5 รอบโดยรสชาติยังคงที่

     แค่เวลาไม่กี่ชั่วโมง ผมรู้สึกเหมือนได้นั่งคุยกับเพื่อน ในบทสนทนาที่เป็นกันเองนั้น สัมผัสได้ถึงความตั้งใจแน่วแน่ของคนทั้งสอง ที่กำลังจะสร้างเรื่องราวใหม่ให้ตะกั่วป่า เป็นเมืองผ่านสวยงามที่ต้องเยี่ยมเยียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

บ้านใบ

รายละเอียดเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/baanbai.takuapa

โทร. 098 578 2695

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น